xs
xsm
sm
md
lg

ซีอีโอใหม่ปตท.กับภารกิจท้าทายธุรกิจยุคดิจิทัล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน360- “ชาญศิลป์”ว่าที่ซีอีโอปตท.คนใหม่ เผย 2ความท้าทายที่ต้องรับมือในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว คือความท้าทายด้านเทคโนโลยีดิจิทัล และMindset เน้นหาธุรกิจใหม่ ย้ำการทำงานเป็นทีมและสานต่อกลยุทธ์3D เพื่อนำพาองค์กรปตท.เติบโตอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีและวิศวกรรม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และว่าที่ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. คนใหม่ กล่าวถึงภารกิจและความท้าทายในฐานะว่าที่ซีอีโอ ปตท.คนใหม่ที่จะเข้ามาสานต่อในยุคเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว (disruptive technology) ว่า ความท้าทายมี 2เรื่อง คือความท้าทายด้านเทคโนโลยีดิจิทัล และความท้าทายเรื่อง คือ Mindset หรือกระบวนการทางความคิด หรือปรับทัศนคติ

โดยความท้าทายด้านเทคโนโลยีดิจิทัลนั้น ไม่มีปัญหาเพราะพนักงานปตท.ส่วนใหญ่มีพื้นฐานด้านช่าง วิศวกร ดังนั้นการเรียนรู้ด้านนี้ไม่ยาก แต่การเปลี่ยนแปลง Mindset เพื่อให้ไปทำธุรกิจอื่นที่ไม่เคยทำนั้น เนื่องจากธุรกิจเดิมที่ทำอยู่ก็ประสบความสำเร็จดีแล้ว ทำให้ไม่อยากเปลี่ยนแปลงหรือไม่กล้า ดังนั้นการศึกษาลงทุนธุรกิจใหม่(New S-Curve)โดยปตท.ตั้งทีมงานคนรุ่นใหม่ขึ้นมาดูแลสรรหาการร่วมลงทุนกับเวนเจอร์แคปปิตอล มีการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) Internet of Things (IoT) เพราะในอนาคตการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างน้ำมันจะชะลอตัวลง เนื่องจากมีเชื้อเพลิงอื่นทั้งก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG),ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) หรือรถยนต์ไฟฟ้า (EV) เข้ามาทดแทน รวมทั้งมีการร่วมมือกับบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญเพื่อหาโซลูชั่นใหม่ เพื่อให้กลุ่มปตท.ดำเนินธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ ปตท.มีพันธกิจที่คำนึงถึงผู้ที่มีส่วนได้เสีย ประชาชนและประเทศชาติเป็นสำคัญในหน้าที่สร้างความมั่นคงด้านพลังงานก็จะต้องดูแลและจัดหาเชื้อเพลิงเพื่อรองรับความต้องการใช้ โดยเฉพาะความต้องการใช้ไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้นตามการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศ ซึ่งการจัดหาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG)จะเป็นเรื่องที่สำคัญ เนื่องจากเป็นเชื้อเพลิงสะอาดและมีมากรวมถึงการเดินหน้าสร้างคลังรับก๊าซ LNG แห่งใหม่เพื่อรองรับการนำเข้า LNG ในอนาคต ตลอดจนการสร้างท่อส่งก๊าซธรรมชาติเส้นที่ 5 ซึ่งจะสามารถเชื่อมโยงก๊าซฯจากฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกของประเทศเพื่อให้เกิดความมั่นคงด้านการส่งก๊าซฯไปใช้ในโรงไฟฟ้าและโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆได้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

ด้านความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ โดยปตท.ทำธุรกิจน้ำมันและปิโตรเคมี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการต่อยอดไปทำผลิตภัณฑ์ต่างๆไม่ว่าจะเป็นบรรจุภัณฑ์ ชิ้นส่วนยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์นำไปสู่การจ้างงาน ส่งออกสนับสนุนเศรษฐกิจประเทศและ ด้านความยั่งยืน ยังต้องบาลานซ์ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม ตามหลักDJSIและSDG

ทั้งนี้ ตนยังคงสานต่อกลยุทธ์ 3D คือ Do now , Decide now และ Design now ต่อเนื่องจากซีอีโอปัจจุบัน เพื่อให้องค์กรปตท.เติบโตอย่างยั่งยืน โดยการทำงานยังเน้นทำเป็นทีม และเติบโตไปพร้อมกัน

นายชาญศิลป์ กล่าวต่อไปว่าสำหรับธุรกิจเหมืองถ่านหินในอินโดนีเซีย คงไม่ขยายเพิ่มขึ้น แต่มองโอกาสต่อยอดไปสู่ธุรกิจไฟฟ้า เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม แต่การดำเนินการนั้นยังต้องรอความชัดเจนจากรัฐบาลอินโดนีเซียด้วย ขณะที่ข้อพิพาทเกี่ยวกับคดีมอนทาราระหว่างกลุ่มปตท.กับรัฐบาลอินโดนีเซียนั้นเริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้นก็จะทำให้มีโอกาสเกิดการลงทุนใหม่มากขึ้นด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น