xs
xsm
sm
md
lg

สร้างพลังอำนาจชุมชน สู่ความเท่าเทียมที่ยั่งยืน

เผยแพร่:   โดย: นพ นรนารถ


การเสริมสร้างพลังอำนาจชุมชน เป็นหนึ่งในหัวข้อการปฏิรูปด้านความเท่าเทียมและการเติบโตอย่างมีส่วนร่วม ที่ถูกบรรจุอยู่ในแผนการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ

ประเทศไทยมีชุมชนกว่า 7,000 แห่ง มีวิสาหกิจชุมชนกว่า 102,140 แห่ง กองทุนสัจจะออมทรัพย์และกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตกว่า 30,000 แห่ง สหกรณ์กว่า 8,000 แห่ง ซึ่งเป็นเครือข่ายที่มีศักยภาพในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก แต่ยังขาดการสนับสนุนจากภาครัฐ จึงมีความจำเป็นในการปฏิรูปเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชน เพื่อให้ชุมชนเป็นกลไกสำคัญในการสร้างการพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมจากฐานราก ควบคู่ไปกับการดำเนินนโยบายระดับมหภาคของรัฐ อันจะนำไปสู่การเติบโตอย่างมีส่วนร่วมและยั่งยืน

เพื่อบรรลุเป้าหมายในการเสริมสร้างพลังอำนาจชุมชน แนวทางการปฏิรูปเพื่อความเท่าเทียมและการเติบโตอย่างมีส่วนร่วม จึงประกอบด้วย 3 ด้าน ได้แก่

1.การสร้างความเข้มแข็งให้แก่ระบบสถาบันการเงินชุมชน ผ่านการยกระดับการบริหารจัดการของสถาบันการเงินชุมชนเข้าสู่โครงข่ายสถาบันการเงินประชาชน

2.การพัฒนาธุรกิจชุมชน โดยการสนับสนุนทั้งด้านการรวมกลุ่มสร้างเครือข่าย การสร้างกลไกพัฒนาร่วมกับภาคเอกชน การจัดตั้ง E-Commerce Platform รวมถึงการจัดตั้ง Center of Excellence เพื่อเพิ่มโอกาสในการเติบโตของธุรกิจชุมชน สร้างการเติบโตทางรายได้ เพิ่มการเข้าถึงตลาดและทรัพยากร

3.การจัดตั้งกองทุน Social Investment Fund (SIF) เพื่อสร้างเครือข่ายผู้นำชุมชนเพื่อเป็นผู้ขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในพื้นที่

นอกจากนี้ การปฏิรูปเพื่อเสริมสร้างพลังอำนาจชุมชนยังมาจากการสร้างปัจจัยสนับสนุนอีก 2 ประการ ได้แก่

1.การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ลดความเหลื่อมล้ำ ผ่านการบริหารจัดการข้อมูล สร้างฐานข้อมูล Big Data ในระดับพื้นที่เพื่อให้รัฐออกแบบนโยบายการช่วยเหลือได้อย่างตรงจุด รวมทั้งเอื้อต่อการสร้างระบบประเมินผลที่มีประสิทธิภาพในอนาคต และ

2.การสนับสนุนด้านการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตแก่ชุมชน โดยเฉพาะสถาบันการเงินชุมชนในพื้นที่ เพื่อเป็นฐานในการสร้าง Real Time Data E-Commerce Platform และเชื่อมโยงทรัพยากรและความช่วยเหลือจากภาครัฐ

แนวทางการปฏิรูปเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ระบบสถาบันการเงินชุมชน เป็นการยกระดับสถาบันการเงินในชุมชนโดยการสร้างโครงข่ายสถาบันการเงินระดับประเทศ โดยการสนับสนุนจากธนาคารของรัฐ ซึ่งเป็นธนาคารผู้ประสานงานทำหน้าที่สนับสนุนด้านระบบ IT ให้แก่สถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงข่าย ยกระดับมาตรฐานการบัญชีผ่านการใช้นวัตกรรมทางด้านเทคโนโลยี เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงทางการเงินของประชาชนในชุมชนห่างไกล เนื่องจากในปัจจุบัน ประชาชนในชนบทยังเข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างจำกัด โดยได้รับบริการจากทางธนาคารเฉพาะกิจของภาครัฐเป็นหลัก อีกทั้งองค์กรการเงินระดับฐานรากที่มีอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ สถาบันการเงินชุมชน กลุ่มออมทรัพย์กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง สหกรณ์ กองทุนสวัสดิการชุมชน แม้จะมีจำนวนมาก แต่ก็ยังไม่สามารถทำให้เกิดการเข้าถึงทางการเงินอย่างแท้จริงและยั่งยืนได้

บทบาทของกองทุนดังกล่าวในการเป็นแหล่งทุนของชุมชนทำได้จำกัด ไม่สามารถพัฒนาต่อยอดได้ นอกจากนี้ ยังมีข้อจำกัดหลายประการได้แก่ การขาดโครงสร้างทางการเงินที่เหมาะสม การขาดแม่ข่ายในการสร้างศักยภาพ พัฒนามาตรฐาน และยกระดับการเชื่อมโยงระหว่างพื้นที่ต่างๆ รวมทั้งการขาดกฎหมายรองรับการเป็นนิติบุคคลขององค์กรการเงินระดับฐานรากบางส่วน และการขาดการรองรับการรวมกลุ่มข้ามชุมชน ส่งผลทำให้ระดับการพัฒนาขององค์กรการเงินระดับฐานรากเหล่านี้แตกต่างกันมาก มีข้อจำกัดในการเชื่อมโยงระหว่างกัน และการกู้ยืมข้ามกลุ่มที่เกิดขึ้นในปัจจุบันมีความเสี่ยงสูง

การสร้างความเข้มแข็งให้แก่ระบบสถาบันการเงินชุมชน จึงเป็นแนวทางสำคัญที่จะพลิกโฉมการพัฒนาในระดับชุมชน ให้สามารถต่อยอดได้อย่างยั่งยืนโดยสถาบันการเงิน ประชาชนเหล่านี้จะสามารถเป็นเครือข่ายสำคัญในการทำหน้าที่ให้บริการทางการเงิน สร้างธุรกิจชุมชนผ่านการสนับสนุนวิสาหกิจชุมชน สร้างระบบสวัสดิการให้สมาชิก ในชุมชนทุกกลุ่มผ่านการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชน

แนวทางถัดมาได้แก่ การพัฒนาธุรกิจชุมชน ในปัจจุบันมีวิสาหกิจชุมชนกว่า 102,140 แห่งทั่วประเทศสร้างการจ้างงานให้คนในชุมชนกว่า 1.4 ล้านคน โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีสัดส่วนธุรกิจชุมชนมากที่สุด

อย่างไรก็ดี ปัญหาสำคัญในปัจจุบัน คือ ธุรกิจชุมชนยังไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างครบวงจรและ
ต่อเนื่องจากภาครัฐ ทำให้ไม่สามารถยกระดับได้ ซึ่งหากภาครัฐมีการปฏิรูปกลไกการสนับสนุนธุรกิจชุมชน จะทำให้เศรษฐกิจฐานรากสามารถเติบโตเพิ่มขึ้นได้ ลดช่องว่างทางการพัฒนาระหว่างเขตเมืองและชนบท

การสร้างกลไกสนับสนุนรูปแบบใหม่ เพื่อยกระดับธุรกิจชุมชน จึงประกอบด้วย การจัดตั้ง Center of Excellence ร่วมกับมหาวิทยาลัยในระดับพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อสร้างองค์ความรู้ให้กับธุรกิจชุมชนในการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ชุมชน สร้าง Product Champion ให้ความรู้กลุ่มธุรกิจชุมชนด้านการบริหารจัดการและหาช่องทางการตลาด

แนวทางประการสุดท้ายในการพัฒนาระดับชุมชนที่จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ได้แก่ การจัดตั้งกองทุน Social Investment Fund (SIF) ซึ่งจะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนทั่วประเทศ ผ่านกระบวนการคัดเลือกโครงการที่เสนอโดยชุมชนในพื้นที่ ดำเนินการในลักษณะกองทุนสมทบร่วมโดยชุมชน (Matching Fund) การสนับสนุนทางด้านการเงินแก่เครือข่ายชุมชนในลักษณะดังกล่าว จะช่วยสร้างผู้นำชุมชนรุ่นใหม่ที่มีความพร้อมในการขับเคลื่อนโครงการระดับชุมชนเพื่อยกระดับการพัฒนาชุมชนในด้านต่างๆ รวมทั้งเป็นการสนับสนุนวิสาหกิจเพื่อสังคมซึ่งดำเนินโครงการที่เข้าข่าย ซึ่งจะสร้างความเข้มแข็งในระดับฐานรากได้อย่างยั่งยืน และลดความเหลื่อมล้ำทางด้านงบประมาณเชิงพื้นที่ในปัจจุบัน ซึ่งงบประมาณกระจุกตัวในเมืองใหญ่ โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร

การจัดตั้งกองทุน Social Investment Fund (SIF) จึงเป็นการนำเครื่องมือในการลงทุนทางสังคมรูปแบบใหม่มาใช้แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในประเทศอย่างบูรณาการและยั่งยืน พัฒนาเครือข่ายผู้นำชุมชนและวิสาหกิจเพื่อสังคมที่มีศักยภาพทั่วประเทศ สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนและเศรษฐกิจฐานราก คู่ขนานไปกับการดำเนินนโยบาย ระดับมหภาคของภาครัฐ สนับสนุนการสร้างนวัตกรรมทางสังคมและการพัฒนาพื้นที่ผ่านกลไกการบริหารจัดการกองทุนแบบมีส่วนร่วม ตลอดจนสร้างระบบนิเวศโครงสร้างพื้นฐาน และตลาดการลงทุนทางสังคมในประเทศไทยเพื่อการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างบูรณาการและยั่งยืน ซึ่งจะสามารถลดภาระทางด้านงบประมาณของรัฐและ แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้

การปฏิรูปเพื่อเสริมสร้างพลังอำนาจชุมชน จะเป็นกลไกสำคัญในการเชื่อมโยงการส่งผ่านสวัสดิการรูปแบบต่างๆ จากภาครัฐลงไปยังพื้นที่ รวมทั้งสร้างนวัตกรรมทางสังคมให้กับชุมชนท้องถิ่นทั่วประเทศ

กำลังสำคัญในการร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม คือ เครือข่ายชุมชนเข้มแข็ง ซึ่งจะทำงานใกล้ชิดกับสำนักงานบูรณาการแก้ไขปัญหาความยากจน และความเหลื่อมล้ำ ในระยะต่อไป เพื่อสร้างความเข้มแข็งจากฐานรากนำไปสู่การเติบโตอย่างมีส่วนร่วมและยั่งยืน


กำลังโหลดความคิดเห็น