ผู้จัดการรายวัน360- "บิ๊กตู่" บอกเสียดายงบประมาณ หากต้องทุบทิ้งบ้านพักตุลาการ สั่ง "คสช.-กองทัพภาคที่ 3 -มท." ทำความเข้าใจกับประชาชนที่คัดค้าน แนะเอาไปใช้ประโยชน์เรื่องอื่นดีกว่า "ผบ.ทบ." เผยกำลังหาทางออกให้ทุกฝ่ายพอใจ ไม่ควรใช้อารมณ์ตัดสินปัญหา ไม่ควรทุบทิ้ง แต่ทำเป็นศูนย์การเรียนรู้ให้ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน ไม่จำเป็นใช้ ม.44 ด้านผู้ตรวจการแผ่นดิน แนะใช้พระบรมราโชวาท ร.9 แก้ปัญหา อย่ายึดกฎหมายยอย่างเดียว ต้องคำนึงถึงศีลธรรม จรรยา เหตุและผล ตามความเป็นจริงด้วย
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. กล่าวถึง การแก้ไขปัญหาการก่อสร้างอาคารศาลอุทธรณ์ภาค 5 และที่พักข้าราชการตุลาการ ที่บริเวณเชิงดอยสุเทพ จ. เชียงใหม่ ว่า มีการอนุมัติให้ใช้พื้นที่ดังกล่าว ก่อนที่รัฐบาลนี้จะเข้ามา โดยมีพื้นที่ 3 ส่วน ส่วนแรก เป็นที่ตั้งสำนักงานศาลยุติธรรม ส่วนที่ 2 เป็นการก่อสร้างสถานที่พัก ซึ่งมีปัญหาอยู่ เนื่องจากประชาชนไม่เห็นด้วย และ พื้นที่ส่วนที่ 3 ซึ่งในส่วนนี้ ทำอะไรไม่ได้อยู่แล้ว ถึงจะมีการขออนุญาตมาแล้วก็ตาม อย่างไรก็ตาม รัฐบาลก็ต้องแก้ไขให้เกิดความชัดเจน ให้เป็นไปตามกฎหมาย และตามที่ประชาชนต้องการ ตนก็เสียดาย เพราะมีการก่อสร้างไปแล้ว เป็นไปตามขั้นตอนทุกอย่าง มีสัญญา จะไปรื้อทั้งหมดคงลำบาก ซึ่งรัฐบาลได้ให้คสช. และ กองทัพภาคที่ 3 กระทรวงมหาดไทย ไปทำความเข้าใจกับกลุ่มที่คัดค้าน ว่าจะทำอย่างไร
ทั้งนี้ ในส่วนของสำนักงานศาลยุติธรรม จากการหารือขั้นต้น คงไม่มีปัญหาอะไร แต่ในส่วนปัญหาของที่พัก ก็ต้องมาดู เพราะมีการอนุมัติงบประมาณของรัฐไปแล้ว จนใกล้จะเสร็จแล้ว ซึ่งมีสัญญาระหว่างรัฐ และผู้รับเหมา ก็มีโอกาสที่จะฟ้องร้องกันตรงนี้ ก็ต้องไปดูว่าจะแก้ไขกันอย่างไร แต่มีหลายคน เสนอให้ทุบทิ้ง แล้วงบประมาณที่ใช้ไปตรงนี้ จะทำอย่างไร จะต้องมีคนรับผิดชอบ ก็คงต้องไปดูว่า จะนำไปใช้ในด้านอื่นได้หรือไม่ หรือให้ประชาชนนำไปใช้ประโยชน์ ได้หรือไม่ เพราะศาลคงใช้ไม่ได้แล้ว เนื่องจากประชาชนคัดค้าน
"ขอให้ใจเย็น อย่ามาเดินขบวนกันอีกเลย คุยกันให้รู้เรื่อง ว่าจะนำไปใช้ประโยชน์อย่างไรดีกว่า ถ้าทุบทิ้ง ทำง่าย แต่ต้องมีคนรับผิดชอบงบประมาณตรงนี้ รัฐบาลก็ไม่ใช่คู่กรณีกับใคร ถูกผู้รับเหมาเรียกค่าเสียหาย แล้วใครเป็นคนทำสัญญากับเขา ก็คือ ข้าราชการ ซึ่งต้องไปดู และหาวิธีแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง และเกิดประโยชน์สูงสุด ขอร้องอย่ามาเดินบนวนกันอีกเลย ผมเห็นจากเวทีพูดคุย อีกคนพูดอย่าง อีกคนจะให้ทุบอย่างเดียว อย่างอื่นไม่สนใจก็ไม่ได้ รัฐบาลนี้เข้ามา ต้องแก้ปัญหา" นายกฯ กล่าว
**ไม่ควรทุบทิ้ง แต่ให้ปชช.ใช้ประโยชน์
ด้านพล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ. และเลขาธิการ คสช. กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า พล.ท.วิจักขฐ์ สิริบรรสพ แม่ทัพภาคที่ 3 ได้ประชุมหารือในพื้นที่ เมื่อ 9 เม.ย. ที่ผ่านมา กับผู้ไม่ยอมรับการก่อสร้างบ้านพักดังกล่าว ได้ข้อสรุปประเด็นสำคัญคือ เขาต้องการให้รื้อบ้านพัก 45 หลัง ที่อยู่บริเวณด้านบน โดยพื้นที่โครงการทั้งหมดมี 147 ไร่ แบ่งเป็น ด้านบนสุด 40 ไร่ ซึ่งไม่ได้ใช้งาน ยังคงเป็นป่าเหมือนเดิม ส่วนที่ 2 จำนวน 47 ไร่ ใช้สร้างพื้นที่บ้านพัก 45 หลัง ซึ่งส่วนนี้เป็นส่วนที่ผู้คัดค้านต้องการให้รื้อ และส่วนที่ 3 คือ พื้นที่ด้านล่าง ที่สร้างอาคารสำนักงานศาล และอาคารที่พัก ซึ่งกลุ่มผู้คัดค้านไม่ติดใจ
ในส่วนของฝ่ายศาลนั้น ทางสำนักงานเลขานุการศาลยุติธรรม ได้ทำหนังสือเสนอมาที่รัฐบาล โดยมีแนวทางเป็นเรื่องของรายละเอียดทางศาล ซึ่งจะต้องนำทุกส่วนมาบูรณาการ แก้ไขปัญหาเพื่อหาทางออกร่วมกัน ทั้งนี้ตนได้รับคำสั่งจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ที่รับผิดชอบดูแลเรื่องนี้ ว่า จะดำเนินการอย่างไรต่อไป
ทั้งนี้ แนวทางที่หารือเบื้องต้นคือ เพื่อไม่ให้มีผลกระทบกับผู้ประกอบการ ควรจะได้ข้อยุติเสร็จสิ้นภายใน 1-2 เดือนข้างหน้า ส่วนพื้นที่ที่สร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ต้องคิดว่าจะดำเนินการอย่างไรให้เกิดประโยชน์กับประชาชนในพื้นที่มากที่สุด คิดว่าศาลจะเข้าใจในประเด็นนี้ สำหรับประเด็นใครจะรับผิดชอบ ต่อการก่อสร้างบ้าน 45 หลัง เพราะมีบางกระแสเห็นว่า ควรทุบทิ้ง แต่ในแง่กฎหมาย คือเงินจำนวน 300 กว่าล้านบาทที่สร้างบ้านพัก และมีการทุบทิ้ง ใครจะรับผิดชอบ จะเป็นการเสียประโยชน์ไปโดยเปล่าประโยชน์หรือไม่ หรือเราควรใช้พื้นที่ดังกล่าวใช้เป็นพื้นที่ประโยชน์ในภาพรวมของ จ.เชียงใหม่ เพื่อให้ประชาชนในจังหวัดได้ประโยชน์ เช่น การสร้างศูนย์เรียนรู้ เป็นต้น และต้องมีการปรับภูมิทัศน์ ให้สอดรับกับพื้นที่ ซึ่งต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง และต้องมีหน่วยงานที่รับผิดชอบชัดเจน อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดต้องผ่านกระบวนการของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ และคิดว่าทางศาล คงไม่มีปัญหา ซึ่งตนจะเสนอ พล.อ.ประวิตร อีกครั้ง ว่าจะดำเนินการอย่างไร เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
"การทุบทิ้งเป็นสิ่งที่ง่าย แต่จะมีผลกระทบตามมา เพราะจะทำให้ภูมิประเทศกลับมาเป็นเหมือนเดิมได้ยาก และต้องใช้เวลา แต่จะทำอย่างไรไม่ให้ทรัพยากรธรรมชาติเสียหายไป และให้เป็นความรับผิดชอบของคนเชียงใหม่ ว่าจะปรับให้พื้นที่เป็นอย่างไร ทางแม่ทัพภาคที่ 3 ต้องไปคุยกับทางผู้ว่าฯ เชียงใหม่ เพื่อหาข้อสรุปให้ดีที่สุด และผมคิดว่า ขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ มาตรา 44 ในการแก้ไขปัญหา" ผบ.ทบ.กล่าว
**แนะใช้พระบรมราโชวาท ร.9 แก้ปัญหา
พล.อ.วิทวัส รชตะนันท์ ผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า หากมีผู้ร้องมาที่ผู้ตรวจฯ ก็พร้อมที่จะพิจารณา อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวมองว่า ปัญหาของผู้เป็นเจ้าของพื้นที่เขาก็ห่วงเรื่องป่า แต่ศาลยุติธรรม ก็ได้ที่ดินมาโดยชอบ และโครงการก็เดินหน้ามาค่อนข้างไกล จะยกเลิกเลย ศาลก็ไม่มีอำนาจ เพราะถ้ายกเลิก ก็ต้องมีเรื่องความรับผิดชอบของงบประมาณที่เสียไป เมื่อเรื่องมาถึงขั้นนี้แล้ว จึงคิดว่าป่ากับคนต้องอยู่กันให้ได้ โดยให้ยึดพระบรมราโชวาท ในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ว่า กฎหมายมันไม่ใช่ตัวความยุติธรรม เป็นแต่เพียงเครื่องมืออย่างหนึ่ง สำหรับใช้ในการรักษา และอำนวยความยุติธรรมเท่านั้น การใช้กฎหมายจึงต้องมุ่งหมายใช้เพื่อรักษาความยุติธรรม ไม่ใช่เพื่อรักษาตัวบทของกฎหมายเอง และการรักษาความยุติธรรมในแผ่นดิน ก็มิได้มีวงแคบอยู่เพียงแค่ขอบเขตของกฎหมาย หากต้องขยายออกไป ให้ถึงศีลธรรม จรรยา ตลอดจนเหตุและผล ตามความเป็นจริงด้วย อย่างไรก็ตาม หากจะมีผู้ร้องมาที่ผู้ตรวจฯ ซึ่งก็ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นคนที่ใช้พื้นที่ป่านั้น แต่อาจจะเป็นผู้ที่พบเห็นปัญหาความเดือดร้อน ก็สามารถร้องเรียนได้ ซึ่งผู้ตรวจฯก็มีหน้าที่ให้คำแนะนำกับครม.อยู่แล้ว ซึ่งการให้คำแนะนำ ก็ครอบคลุมไปถึงเรื่องของการรักษาป่าอยู่แล้ว