xs
xsm
sm
md
lg

ภาษาและการศึกษาคือหัวใจในการแก้ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

เผยแพร่:   โดย: ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์

แฟ้มภาพ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
ผู้อำนวยการหลักสูตร Ph.D. และ M.Sc. (Business Analytics and Data Science)
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


If you talk to a man in a language he understands, that goes to his head. If you talk to him in his language, that goes to his heart.
Nelson Mandela


ถ้าคุณพูดกับเขาด้วยภาษาที่เขาเข้าใจได้ สิ่งที่คุณพูดจะเข้าไปในหัวสมองของเขา แต่ถ้าคุณพูดกับเขาด้วยภาษาของเขาเอง สิ่งที่คุณพูดจะเข้าไปอยู่กลางใจเขา
เนลสัน แมนเดลา


ผมได้ลงไปสัมผัสพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เสียดายที่ได้ไปแค่ปัตตานีและยะลา ไม่ได้ไปถึงนราธิวาส เสียดายจริง ๆ เวลาไม่พอ แต่ก็พอทำให้ได้ทราบปัญหาอยู่บ้าง พื้นที่ยะลากับปัตตานีนั้นสวยงามมากเหลือเกิน ทะเล ภูเขา ป่าเขาลำเนาไพร บ้านเมืองสะอาดสะอ้าน อากาศดี ทรัพยากรต่าง ๆ มากมายเหลือเกิน ทั้งยังมีประชากรเบาบาง อาหารการกินอร่อยมาก มีความเป็นพหุวัฒนธรรม ทั้งไทย จีน และอิสลาม มีสถานที่ท่องเที่ยวงดงามมากมายหลายแห่งเหลือเกิน

เมื่อได้ฟังข่าวการจัดซื้อเครื่องกรองน้ำด้วย solar cell และเสาไฟฟ้า solar cell ราคาแพงแสนแพง ที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จัดซื้อและมีแนวโน้มว่าจะมีการทุจริตแล้วค่อนข้างจะเสียใจมาก พอได้ฟังข่าวการโกงเงินค่าหัวอุดหนุนการศึกษาของโรงเรียนปอเนาะในพื้นที่ ก็ยิ่งทำให้เสียใจ ไม่คิดว่าจะเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุดแต่อย่างใด

ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้คือปัตตานี นราธิวาส และยะลานั้น ออกนอกพื้นที่เขตเทศบาลออกไป ภาษาไทยคือภาษาต่างด้าว ภาษายาวีคือภาษาหลัก พี่น้องในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นแทบจะไม่พูดภาษาไทยเลย ภาษาไทยจึงมีฐานะเป็นภาษาต่างด้าว แม้กระทั่งเด็กนักเรียนนักศึกษา หลายคนก็อ่อนภาษาไทยมาก เมื่อเข้ามาเรียนในระบบการศึกษาของไทยนั้น เรียนได้ไม่ดีเลย ปัญหาคือฟังภาษาไทยไม่รู้เรื่อง อ่านภาษาไทยไม่ค่อยได้ และเขียนภาษาไทยไม่ค่อยได้เช่นกัน พูดง่าย ๆ คือชาวบ้านนั้นพูดกันไม่ได้ คุยกันไม่รู้เรื่อง แล้วจะเข้าใจกันได้อย่างไร จะอยู่กันด้วยความระแวงกันและกันเพราะมีความแตกต่างทางภาษาและวัฒนธรรม พูดกันไม่รู้เรื่อง และไม่อยากจะพูดกันเพราะไม่เข้าใจกันและกัน ที่ดินนั้นพอพ้นเขตเทศบาลราคาจะถูกมาก ไม่มีคนไทยพุทธยอมออกไปอยู่เพราะเกรงอันตราย

ที่น่าสนใจคือสตูล ซึ่งก็เป็นจังหวัดชายแดนภาคใต้เช่นกันกลับสงบดี ไม่เคยมีการก่อการร้าย ชาวบ้านที่แม้จะเป็นไทยมุสลิมแถวสตูลนั้นพูดได้ทั้งภาษาไทยและภาษายาวีเป็นส่วนใหญ่ ข้อนี้เมื่อได้ฟังแล้วก็สร้างความแปลกใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะพื้นที่นั้นติดต่อกัน แต่กลับแตกต่างกันมาก พื้นฐานความคิดก็แตกต่างกัน ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลจากภาษาอันเป็นเครื่องมือสื่อความคิด เมื่อพูดคุยกันรู้เรื่องก็ไว้วางใจกันมากขึ้นปัญหาก็ไม่มากเท่า

ถ้าสิ่งที่เนลสัน แมนเดลลาพูดนั้นเป็นเรื่องจริง ภาษาจะเป็นปัญหาใหญ่ของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และปัญหาก็เกิดจากการศึกษาที่ไม่ได้ทำหน้าที่ให้ประชาชนมีความรู้ทางภาษาเพียงพอ ทำอย่างไรให้ชาวไทยมุสลิม อันเป็นประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ ไม่นิยมเรียนโรงเรียนไทยของกระทรวงศึกษาธิการแต่นิยมส่งลูกหลานไปเรียนโรงเรียนปอเนาะและโรงเรียนสอนศาสนา เพื่อเรียนภาษาอารบิกและไปเรียนต่อด้านศาสนาในปากีสถานหรือตะวันออกกลางอันเป็นที่นิยมมาก แต่หลักสูตรของปอเนาะก็แทบจะไม่ได้เรียนภาษาไทย เด็กจึงได้แต่ภาษายาวีและภาษาอารบิก และภาษาอังกฤษก็ไม่ค่อยจะได้ด้วย ส่วนภาษาไทยนั้นไม่ได้เลย ส่วนนักเรียนไทยพุทธที่นิยมเรียนโรงเรียนของกระทรวงศึกษาธิการ ก็ได้แต่ภาษาไทย ภาษาอังกฤษก็ไม่ได้ดีเท่าที่ควรตามแบบอย่างโรงเรียนไทยทั่ว ๆ ไป ส่วนภาษายาวีอันเป็นภาษาหลักและภาษาอารบิกไม่ได้เรียนเลย

สรุปง่ายๆ เป็นข้อๆ ที่ได้ไปเห็นปัญหามาคือ

1. คนไทยพุทธไม่สามารถสื่อสารกับไทยมุสลิมได้ดีเท่าที่ควร เพราะพูดยาวีกันไม่ได้ โดยเฉพาะถ้าออกไปนอกเขตเทศบาล ก็คุยกันไม่รู้เรื่องแล้ว
2. คนไทยมุสลิมก็ไม่สามารถสื่อสารกับคนไทยพุทธได้ดีเท่าที่ควร เพราะที่บ้านใช้แต่ภาษายาวีและแทบจะไม่ได้เรียนภาษาไทย
3. นักเรียนที่เป็นไทยมุสลิมนิยมไปเรียนปอเนาะที่แทบไม่ได้เรียนภาษาไทย แต่ได้เงินอุดหนุนรายหัวทางการศึกษาจากกระทรวงศึกษาธิการ และมีการโกงกันจริง โดยที่ไม่ได้มีนักเรียนจริงแต่ได้เบิกเงินหลวงไป คนในพื้นที่ยืนยันเช่นนั้น บางส่วนของปอเนาะได้เงินสนับสนุนจากต่างประเทศด้วย
4. นักเรียนไทยที่นิยมไปเรียนโรงเรียนของกระทรวงศึกษาธิการไม่เคยได้เรียนภาษายาวีหรือภาษาอารบิก ทำให้พูดกันไม่รู้เรื่อง ทั้งยังไม่ได้เรียนรู้เข้าใจศาสนาอิสลามมากนัก แต่เรียนวิชาพุทธศาสนาเป็นวิชาบังคับ ทำให้ไทยมุสลิมยิ่งไม่อยากมาเรียน
5. ที่น่าสนใจมากคือนักศึกษาในมหาวิทยาลัยในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แทบไม่มีนักศึกษาผู้ชาย มีแต่นักศึกษาหญิง นักเรียนชายไปเรียนหรือไปเกเรที่ไหนหมดก็ไม่ทราบ หรือไปเรียนศาสนาในต่างประเทศกันหมดจึงทำให้มีแต่นักศึกษาหญิงคลุมฮิญาบเต็มไปทั้งมหาวิทยาลัย แทบไม่มีนักศึกษาชายเลย
6. ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ พลเรือน ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นคนมาจากนอกพื้นที่ พูดภาษายาวีแทบจะไม่ได้เลย จะพูดกับชาวบ้านประชาชนรู้เรื่องได้อย่างไร ถึงชาวบ้านพูดไทยได้แต่ก็คงไม่ถึงใจเท่ากับพูดภาษายาวีอยู่ดีนั่นเอง
7. ในบางพื้นที่ เช่น เบตง มีคนพูดไทยก็ไม่ได้ และพูดยาวีก็ไม่ได้ ส่วนใหญ่พูดภาษาจีน
แฟ้มภาพ
ปัญหาพื้นที่มีความหลากหลายทางพหุวัฒนธรรมเช่นนี้ การจัดการศึกษาต้องมีความหลากหลายให้เกิดความเป็นพหุภาษาและพหุวัฒนธรรม ไม่ควรนำหลักสูตรกลางของกระทรวงศึกษาธิการมาครอบ ข้อที่ต้องเร่งแก้ไขคือทำอย่างไรให้การศึกษาสร้างคนที่มีความไวต่อวัฒนธรรม (Cultural sensitivity) พูดได้หลายภาษา (Multi-lingual) นอกเหนือไปจากภาษามารดา หากพูดคุยกันรู้เรื่อง จะเกิดความเข้าใจกันมากขึ้น

ปัญหาเร่งด่วนลำดับแรกคือ ข้าราชการ ไม่ว่าจะทหาร ตำรวจ พลเรือน หรือข้าราชการส่วนท้องถิ่นต้องพูดภาษายาวีได้ เพื่อให้สามารถใช้งานพูดจาสื่อสารกับชาวบ้านได้ จะเอาอย่างเอกชนเช่นธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่ง กำหนดให้พนักงานที่ทำงานด้านการเงินต้องรู้บัญชีและวิเคราะห์งบการเงินได้ จึงจ้างมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งทำบทเรียนออนไลน์สอนวิชาบัญชีและการวิเคราะห์งบการเงิน แล้วให้เรียนด้วยตนเองแล้วสอบให้ผ่าน หากภายในเวลาที่กำหนดไม่สามารถสอบได้ผ่านก็จะต้องย้ายออกไปทำงานอื่นที่ไม่ใช่งานด้านการเงิน หากสอบผ่านจะได้เงินเดือนเพิ่มขึ้นเดือนละ 1000 บาท

ถ้าเป็นเช่นนั้น ศอบต. เอาเงินรางวัลมาสร้างบทเรียนออนไลน์ภาษายาวี ให้ข้าราชการในสามจังหวัดเรียนและสอบให้ผ่านจนพูดกับชาวบ้านรู้เรื่อง แล้วตั้งเงินพิเศษเพิ่มเติมให้สำหรับผู้ที่รู้และสอบผ่านภาษายาวีจะดีกว่าไปซื้อเครื่องกรองน้ำโซลาร์เซลล์ราคาเกือบครึ่งล้านดีกว่าหรือไม่ ทำให้เข้าใจประชาชน และสื่อสารกับประชาชนรู้เรื่อง ลดช่องว่างทางจิตใจและทางวัฒนธรรมลงไปได้มาก

ปัญหาโรงเรียนของกระทรวงศึกษาธิการในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องปฏิรูปใหญ่ ให้มีการเรียนแผนกศาสนาอิสลาม และมีการเรียนการสอนภาษาอารบิกด้วย จะปรับหลักสูตรจากโรงเรียนอิสลามวิทยาลัยที่ทุ่งครุ กรุงเทพลงไปใช้ให้เหมาะสมก็จะดีมาก เด็กในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องได้เรียนภาษาไทย ภาษาอารบิก ภาษาอังกฤษ และภาษายาวี รวม 4 ภาษา การได้เรียนรู้หลายภาษาทำให้มีโลกทัศน์กว้างไกลมากขึ้น เข้าอกเข้าใจกันมากขึ้น พูดจาสื่อสารกันมากขึ้น เมื่อได้พูดภาษาเดียวกัน นอกจากนี้ภาษายังเป็นเครื่องมือเปิดความคิดให้กว้างขวาง ลดความเป็นอนุรักษ์นิยมลงไป เข้าใจโลกกว้างและวิทยาการ ทำให้เป็นคนทันสมัยมากขึ้น เด็กไทยพุทธเองก็ควรต้องได้เรียนภาษายาวี ภาษาอังกฤษ และภาษาอารบิกเช่นกัน เพื่อให้เข้าใจความคิดจิตใจของเพื่อนในพหุวัฒนธรรม เกิดความเคารพนับถือให้เกียรติในภาษาและวัฒนธรรมของกันและกัน ถ้าเป็นเช่นนี้ได้ เด็ก ๆ จะเป็นทูตวัฒนธรรมและส่งเสริมสัมพันธภาพและความเข้าใจของกันและกัน

ปัญหาของโรงเรียนปอเนาะหรือโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา การให้เงินอุดหนุนควรให้แบบให้มีการส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ส่งเสริมให้รางวัลและเงินตอบแทนสำหรับโรงเรียนที่มีผลสอบแบบทดสอบมาตรฐานภาษาไทยและ/หรือภาษาอังกฤษ ได้คะแนนพัฒนาเพิ่มมากขึ้น สร้างแรงจูงใจให้โรงเรียนปอเนาะพยายามจัดให้มีการเรียนการสอนภาษาไทยและภาษาอังกฤษให้ได้คะแนนดีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จะได้เงินรางวัลเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นการแก้ปัญหาการโกงเงินค่าหัวอุดหนุนการศึกษาด้วย เพราะต้องมีการทดสอบจริง

สิ่งที่น่าจะศึกษาวิจัยคือนักเรียนชายและนักศึกษาชายในมหาวิทยาลัยในสามจังหวัดชายแดนภาคให้หายไปไหนหมด ทำไมจึงเหลือแต่นักศึกษาหญิงแทบทั้งนั้น เป็นปัญหาการวิจัยที่มหาวิทยาลัยในพื้นที่ต้องตอบให้ได้เช่นกัน

ปัญหาอีกอย่างที่ต้องปรับปรุงมากคือในมหาวิทยาลัยในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นภาษาไทยเป็นภาษาต่างด้าวสำหรับนักศึกษา เวลาเราไปต่างประเทศจะมี writing center เพื่อช่วยเหลือนักศึกษาในการเขียน เราน่าจะจัดตั้ง Thai writing center เพื่อช่วยให้เด็กนักศึกษาที่มีปัญหาการเขียนภาษาไทยได้มีที่พึ่งในการเรียน มีระบบที่สอนให้เด็กสามารถเขียนและใช้ภาษาไทยได้ดีมากขึ้น อาจจะเป็น Thai language help desk ก็ได้ สิ่งที่มหาวิทยาลัยในท้องที่ควรส่งเสริมเช่นกันคือนักศึกษาควรเรียนภาษายาวี (สำหรับไทยพุทธ) และภาษาไทย (สำหรับไทยมุสลิม) เป็นวิชาปรับพื้นฐานหรือการศึกษาทั่วไป น่าจะมีการศึกษาวิจัยด้วยว่าภาษาที่ใช้พูดที่บ้าน (First language: L1) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาษายาวี ภาษาที่สอง (Second language: L2) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาษาไทย และภาษาที่สาม (Third language: L3) ซึ่งอาจจะเป็นอารบิกหรืออังกฤษ มีผลต่อกันและกันอย่างไร และมีผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนนักศึกษาในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือไม่อย่างไร ทั้งนี้เด็กไทยพุทธที่มี L1 เป็นภาษาไทยจะได้เปรียบในการเรียนหรือไม่ เพราะภาษาเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้และสื่อความคิดได้ดีกว่า

อีกประการหนึ่งมหาวิทยาลัยในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ควรทำหน้าที่ในการพัฒนาครูภาษาไทย ให้เพียงพอ ควรให้โอกาสครูโรงเรียนปอเนาะได้มาเรียนภาษาไทยเพื่อเอาไปสอนนักเรียน และควรทำหน้าที่ในการพัฒนาครูภาษายาวีสำหรับโรงเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการในพื้นที่ด้วย โดยควรให้โอกาสครูในโรงเรียนได้มาเรียน มหาวิทยาลัยในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ควรมีหน้าที่เด่นทั้งด้านการสอนภาษาไทย อิสลามศึกษา การสอนภาษายาวีและการสอนภาษาอารบิก

ในการสร้างสันติสุขในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ควรเน้นที่ภาษาเป็นลำดับแรก จะทำให้ปฏิบัติการจิตวิทยา (Psychological operation) และงานการความมั่นคงทำได้สะดวกขึ้น

เพื่อให้คนไทยไม่ว่าจะเป็นไทยพุทธหรือไทยมุสลิม ได้พูดกันรู้เรื่องมากขึ้น ด้วยภาษาที่เป็นภาษามารดาของแต่ละฝ่าย เพื่อให้ใจถึงใจ เพื่อที่จะเข้าใจ เข้าถึง แล้วจึงพัฒนา ตามแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เรื่องวัตถุต่างๆ เช่น เครื่องกรองน้ำโซลาร์เซลล์ เสาไฟฟ้าโซลาร์เซลล์น่าจะเป็นเรื่องที่มาทีหลังมากๆ เรื่องภาษาคือความเข้าใจกันนั้นใช้เวลา แต่ต้องทำก่อน แล้วจะเห็นผลอย่างแน่นอน


กำลังโหลดความคิดเห็น