xs
xsm
sm
md
lg

จัณฑาลอินเดียลุกฮือทวงคืนสิทธิ!

เผยแพร่:   โดย: โสภณ องค์การณ์


อย่างน้อย 7 ชีวิตของคนอินเดียในวรรณะจัณฑาลได้ถูกสังเวยในการปะทะกันระหว่างกลุ่มชนชั้น “ดาลิท” กับเจ้าหน้าที่รัฐในหลายเมืองทั่วประเทศ ในการประท้วงคำวินิจฉัยของศาลสูงอินเดียซึ่งถูกมองว่าลดระดับการปกป้องคนในวรรณะต่ำสุดคือ “จัณฑาล”

มีกลุ่มดาลิท หรือจัณฑาลหลายหมื่นคนเดินขบวนประท้วง ทำให้รถไฟหยุดให้บริการ ถนนถูกปิดกั้นในหลายเมืองทั่วอินเดีย ถือว่าเป็นการลุกฮือครั้งใหญ่อีกครั้งของคนในวรรณะต่ำสุด เพื่อเรียกร้องสิทธิ แม้จะไม่ได้รับความสนใจจากคนในวรรณะอื่น

แม้โลกจะเข้าสู่ยุคดิจิทัล อินเดียมีจำนวนชนชั้นกลางมากขึ้นพร้อมกับความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี ประเทศในชมพูทวีปนี้ยังยึดมั่นอยู่กับระบบการแบ่งชั้นวรรณะซึ่งสืบทอดมาตั้งแต่ยุคก่อนพุทธกาล และยังไม่มีวี่แววว่าจะลดความเข้มข้น

“ดาลิท” นอกจากเป็นคนในวรรณะต่ำสุดจากวรรณะพราหมณ์ กษัตริย์ ไวศยะ (แพศย์) และศูทร คือจัณฑาล ที่เรียกกันว่า (Untouchables) นั่นเอง ดาลิทจึงเป็นคำใหม่ที่เรียกรวมกันสำหรับคนในชั้นจัณฑาล ที่มีอยู่ 170 ล้านคนกระจายอยู่ทั่วประเทศ

นั่นเท่ากับ 17 เปอร์เซ็นต์จำนวนประชากรของอินเดียซึ่งมี 1.3 พันล้านคน กลุ่มคนจัณฑาลไม่ได้มีในอินเดียเท่านั้นแต่กระจายทั่วไปเช่นกันในชมพูทวีป เช่น เนปาลปากีสถาน บังกลาเทศ ศรีลังกา และประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

รวมประชากรจัณฑาลแล้วมีมากถึง 260 ล้านคนทั่วโลก! จัณฑาลเป็นคนที่เกิดจากคนต่างวรรณะสมรสกัน จะถูกกีดกันจากสังคมของคนในวรรณะอื่นๆ ทำงานในกลุ่มชนชั้นแรงงานรายได้น้อย ไม่มีทางที่จะยกระดับชีวิตหรือมาตรฐานทางสังคมได้จนตาย

เกิดมาเป็นจัณฑาล ก็ต้องรับสภาพจัณฑาล เว้นแต่จะสร้างฐานะตัวเองให้มั่งคั่งหรือมีชื่อเสียง กว่าจะได้รับการยอมรับอย่างจริงจัง เปิดเผย ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นกัน

คนจัณฑาลถูกกีดกันสารพัด ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมในพิธีกรรมทางศาสนาในแห่งเดียวกับคนในวรรณะอื่นๆ ห้ามเข้าโรงเรียนของคนในวรรณะสูงกว่า แม้แต่จะดื่มน้ำก็มีข้อห้ามไม่ให้ใช้ภาชนะร่วมกัน ไม่ได้รับการศึกษา การงาน ถูกกดขี่ข่มเหงทางสังคม

ตั้งแต่เกิด จัณฑาลต้องทนกับการถูกเอารัดเอาเปรียบ ใช้งานหนัก และตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงเนื่องจากถูกกระทำโดยคนวรรณะสูงกว่า แม้จะแสวงหาความก้าวหน้าในชีวิตได้ในกลุ่มคนจัณฑาลหนุ่มสาว ก็ยังถูกกลั่นแกล้ง รังแก

การมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนจัณฑาลทำให้คนในวรรณะสูงกว่าทำใจยอมรับไม่ได้ ทำให้มีปัญหาอุปสรรค โดนกลั่นแกล้งอย่างไร้ความเป็นธรรม

กฎหมายที่มีอยู่ช่วยอะไรไม่ได้ เพราะเจ้าหน้าที่ไม่เต็มใจรักษากฎหมาย!

นอกจากมีสถานภาพต่ำชั้นแล้ว จัณฑาลยังเป็นเหยื่อของอาชญากรรม ความรุนแรงในสังคมอินเดียมาโดยตลอด ในปี 2560 มีคดีที่เกิดขึ้นเกี่ยวโยงกับจัณฑาลมากถึง 4 หมื่นคดี โดยทั่วไปจัณฑาลมักเป็นเหยื่อความรุนแรงโดยถูกมองว่าชีวิตจัณฑาลไร้ค่า

สัปดาห์ก่อน มีเด็กถูกทุบตีจนเสียชีวิตในแคว้นคุชราต เพียงแค่ขี่ม้าและขี่จักรยานเพราะคนวรรณะสูงกว่าไม่ยอมรับ เพราะพาหนะทั้ง 2 ประเภทเป็นของกลุ่มคนที่อยู่ในวรรณะสูงกว่า หนุ่มถูกรุมฆ่าเพราะไปร่วมงานแต่งงานของคนนับถือศาสนาฮินดู

ชายหนุ่มอีกคนถูกฆ่าตายด้วยสาเหตุโดนเขม่นเพราะไว้หนวดเครา!

การประท้วงในแคว้นมัธยมประเทศ มีผู้เสียชีวิต 6 ราย ทางการต้องประกาศห้ามออกนอกบ้านในยามวิกาลในบางเมือง การบริการรถไฟถูกระงับเพราะการปิดกั้นพื้นที่ ในแคว้นราชสถานก็มีผู้เสียชีวิต 1 ราย ในแคว้นปัญจาบต้องเลื่อนการสอบไล่ประจำปี

ห้างร้าน ธนาคาร รวมทั้งสถาบันธุรกิจการเงินต้องปิดทำการเพราะความรุนแรงในแคว้นปัญจาบ บริการอินเทอร์เน็ตต้องยกเลิก กลุ่มผู้ประท้วงได้ถือมีด ดาบ ท่อนไม้ ท่อนเหล็กและวัตถุอื่นๆ เพื่อใช้เป็นอาวุธในการปะทะกับเจ้าหน้าที่ ทำให้ต้องปิดหลายเมือง

ระบบการขนส่งสาธารณะต่างๆ ได้รับผลกระทบ ถนนในย่านธุรกิจสำคัญมีจราจรติดขัด ในตอนเหนือของประเทศเช่นแคว้นพิหาร อุตตรประเทศ และใกล้เคียงก็มีปัญหาการประท้วง จะยืดเยื้อรุนแรงแค่ไหน ขึ้นอยู่กับข้อเรียกร้องให้แก้ไขกฎเกณฑ์ต่างๆ

รัฐบาลกลางได้ออกกฎหมายในปี 1989 เพื่อคุ้มครองสิทธิ ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เพื่อปกป้องคนในวรรณะต่างๆ มีบทลงโทษรุนแรงพอสมควรในกรณีที่คนในวรรณะสูงกว่ากระทำผิดต่อร่างกายและทรัพย์สินของคนในวรรณะต่ำกว่า

เช่นถ้าเกิดเหตุรุนแรง ทำร้ายร่างกาย เจ้าหน้าที่สามารถจับกุมตัวผู้กระทำความผิดซึ่งหน้าได้ทันที ขาดสิทธิที่จะได้รับการประกันตัว และมีประวัติอาชญากรรมถ้าได้ประทุษร้ายด้วยวิธีต่างๆ ต่อคนในวรรณะต่ำกว่า โทษรุนแรงกว่านั้นคือการยึดทรัพย์

นอกจากนั้นทางการก็ปรับปรุงกฎหมายให้เจ้าหน้าที่ผู้ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ต้องได้รับโทษเพราะคนในวรรณะต่ำโวยเสมอว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมเพราะเจ้าหน้าที่เพิกเฉยในกรณีมีการร้องเรียนเรื่องต่างๆ ที่ตนเป็นเหยื่อของความรุนแรง ทำร้ายร่างกาย

เหตุที่ศาลสูงเปลี่ยนแปลงแนวการดำเนินคดีด้วยข้ออ้างว่าที่ผ่านมามีคำร้องเรียนไม่เป็นความจริง เป็นการฉกฉวยโอกาสเล่นงานคู่กรณี หรือมีข้อพิพาท เป็นการผิดวัตถุประสงค์ของกฎหมาย จึงยกเว้นการจับกุมซึ่งหน้าและบันทึกประวัติคดีอาญา

ศาลให้อำนาจเจ้าหน้าที่ไต่สวนหลักฐานมูลเหตุความผิดภายใน 7 วันก่อนดำเนินคดี ให้เจ้าหน้าที่ตำแหน่งงานอาวุโสออกหมายจับโดยพิจารณาด้วยความรอบคอบ ด้วยเหตุนี้ ทำให้ถูกมองว่าเปิดทางให้เจ้าหน้าที่ใส่เกียร์ว่าง ไม่ยอมทำคดี

ถ้าเป็นอย่างนี้สังคมการแบ่งชั้นวรรณะในอินเดียยังคงก่อเกิดปัญหาไม่สิ้นสุด!


กำลังโหลดความคิดเห็น