xs
xsm
sm
md
lg

ความเห็นต่อมาตรา112 ของ “ปิยบุตร” ผู้ก่อตั้ง “พรรคอนาคตใหม่”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“หนึ่งความคิด”
“สุรวิชช์ วีรวรรณ”

กรณีมีคนออกมาเคลื่อนไหวไม่ให้กกต.รับจดทะเบียนพรรคอนาคตใหม่ เนื่องจากเกี่ยวเนื่องกับมาตรา112นั้น นายปิยบุตร แสงกนกกุล ผู้ร่วมยื่นคำขอจดแจ้งการเตรียมการจัดตั้งพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า กรณีดังกล่าวไม่เกี่ยวกับพรรค แต่ตัวเองเคยร่วมกับเพื่อนนักวิชาการและประชาชนในชื่อ “คณะรณรงค์แก้ไข ม.112” ผลักดันให้มีการแก้ไขเมื่อต้นปี 2555 เนื่องจากไม่อยากให้มาตราดังกล่าวถูกใช้เป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งกัน หรือแอบอ้างนำสถาบันพระมหากษัตริย์มาใช้ทำลายล้างกัน ทั้งนี้เพื่อให้สถาบันพระมหากษัตริย์ดำรงอยู่อย่างมั่นคง อย่างทรงพระเกียรติยศ ทันสมัย และสอดคล้องกับประชาธิปไตย เป็นการกระทำและความเห็นส่วนตัว

นายปิยบุตร กล่าวว่า การนำความเห็นส่วนตัวของเขาไปตีขลุมเอาเองว่า เป็นความคิดของพรรคอนาคตใหม่นั้น ย่อมไม่เป็นธรรมต่อพรรคอนาคตใหม่ สมาชิกพรรค และประชาชนผู้สนับสนุนพรรค และเพื่อให้สาธารณชนเข้าใจตรงกัน และเพื่อป้องกันมิให้กลุ่มบุคคลผู้ไม่ต้องการให้ประเทศไทยเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย ได้ฉวยโอกาสนำเรื่องเหล่านี้มาปลุกระดมโฆษณาชวนเชื่อ เพื่อขัดขวางการเกิดขึ้นของพรรคอนาคตใหม่ได้ ตนขอยืนยันว่าจะไม่นำเรื่องการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มาเกี่ยวข้องกับพรรค และไม่นำไปผลักดันในพรรค

โดยส่วนตัวนั้นผมไม่ได้ติดใจการเคลื่อนไหวที่จะนำมาพิจารณามาตรา 112 ในประเด็นสัดส่วนของโทษ แต่ผมเห็นว่า กฎหมายมาตรานี้จำเป็นต้องมีอยู่ เพราะในปัจจุบันมีความพยายามที่จะดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์มากขึ้น และมีการกระทำอย่างโจ่งแจ้งขึ้น และส่วนตัวผมก็สนับสนุนให้มีการบังคับใช้มาตรานี้อย่างเป็นธรรมไม่นำมากลั่นแกล้งกันทางการเมือง หรือมีคณะกรรมการขึ้นมาอย่างรอบคอบในการสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องในมาตรานี้ทั้งในชั้นตำรวจและอัยการ

แต่ผมคิดว่า การดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้าย อย่าว่าแต่พระมหากษัตริย์เลย แม้กระทำต่อบุคคลทั่วไปก็ไม่สามารถกระทำได้ ดังนั้นจะมาอ้างเรื่องนี้เป็นเสรีภาพไม่ได้

แต่ถามว่าจริงแล้วปิยบุตรคิดอย่างไรกับเรื่องนี้ เป็นไปตามที่เขาออกมาแก้ตัวในเรื่องนี้หรือไม่ ผมพบบทความในเว็บไซต์ชื่อ siamparade.wordpress.com เผยแพร่บทความชื่อ 9 ข้อสงสัย ทำไมต้องแก้ไขมาตรา 112! โดยอ้างในตอนท้ายว่า ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 6 ฉบับ 307 วันที่ 23-29 เมษายน พ.ศ. 2554 หน้า 5-7 คอลัมน์ ข่าวไร้พรมแดน โดย ปิยบุตร แสงกนกกุล

บทความนี้เผยแพร่มานานแล้ว และไม่เคยถูกปฏิเสธจากปิยบุตรมาก่อน และยังมีแหล่งอ้างอิงที่ชัดเจนจึงเชื่อว่า เป็นความเห็นของปิยบุตรจริง

ผมจะคัดเอาบทความสาระสำคัญบางตอนมาถ่ายทอดให้ฟัง เพราะไม่สามารถนำทั้งหมดได้ ใครจะอ่านฉบับเต็มลองไปค้นหาในกูเกิลดู

ในบทความนี้ปิยบุตรได้ตั้งคำถามขึ้นมา แล้วตัวเองเข้ามาอธิบายโต้แย้ง เพื่อนำไปสู่ประเด็นที่ว่า ทำไมต้องแก้ไขมาตรา 112

ปิยบุตร ยกข้ออ้างที่ 1 ว่า มาตรา 112 ไม่ใช่เรื่องแปลก ประเทศอื่นๆ ที่เป็นประชาธิปไตยก็มีกฎหมายลักษณะเดียวกันนี้

จากนั้นปิยบุตร เข้ามาอธิบายว่า กฎหมายว่าด้วยความผิดฐานหมิ่นประมาทประมุขของรัฐมีอยู่จริงในหลายประเทศ สำหรับประเทศที่เป็นสาธารณรัฐก็มีความผิดฐานหมิ่นประมาทประธานาธิบดี สำหรับประเทศที่มีประมุขเป็นกษัตริย์ก็มีความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ แต่กฎหมายของประเทศเหล่านั้นแตกต่างจากมาตรา 112 อย่างสิ้นเชิง บางประเทศมีกฎหมายความผิดเกี่ยวกับหมิ่นประมาทกษัตริย์แต่ไม่เคยนำมาใช้ หรือไม่นำมาใช้นานแล้ว บางประเทศอาจนำมาใช้เป็นครั้งคราว แต่ก็เพียงลงโทษปรับ และทุกประเทศที่มีกฎหมายลักษณะนี้ล้วนแล้วแต่กำหนดโทษต่ำกว่ามาตรา 112 มาก

ความเห็นของผมคิดว่าเป็นคำตอบที่ขาดเหตุผลอย่างมากในประเด็นที่บอกว่า บางประเทศมีกฎหมายความผิดเกี่ยวกับหมิ่นประมาทกษัตริย์แต่ไม่เคยนำมาใช้ หรือไม่นำมาใช้นานแล้ว แน่นอนครับกฎหมายจะไม่ถูกบังคับใช้ถ้าไม่มีผู้กระทำความผิด แต่ถ้ามีผู้กระทำความผิด กฎหมายก็ต้องบังคับใช้ซึ่งเป็นหลักพื้นฐาน การจะอ้างประเทศนั้นบังคับใช้หรือไม่ต้องดูว่ามีผู้กระทำผิดหรือไม่ด้วย ส่วนโทษจะมากหรือน้อยเป็นอีกประเด็นหนึ่งครับ

จากนั้นปิยบุตรได้ยกข้ออ้างที่ 2 นำมาตรา 112 ไปเปรียบเทียบกับกฎหมายต่างประเทศไม่ได้ เพราะสถาบันกษัตริย์ของเรามีบารมีและลักษณะพิเศษ

แล้วปิยบุตรตอบว่า คนส่วนใหญ่ในประเทศนี้อาจเห็นว่าสถาบันกษัตริย์ไทยได้รับความเคารพอย่างสูง เปี่ยมด้วยบารมี เมตตา และคุณธรรม มีพระราชกรณียกิจและพระราชจริยวัตรที่ดีงาม และพสกนิกรชาวไทยล้วนแล้วแต่จงรักภักดี คนส่วนใหญ่ในประเทศนี้จึงยืนยันว่าสถาบันกษัตริย์ไทยมีลักษณะพิเศษ ไม่อาจนำไปเปรียบเทียบกับสถาบันกษัตริย์ของประเทศอื่นได้ ต่อให้เรายอมรับว่าจริง แต่ความพิเศษเช่นว่าไม่อาจนำมาเป็นเหตุให้กำหนดโทษสูงในความผิดฐานหมิ่น ประมาทกษัตริย์ หรือนำกฎหมายนี้มาใช้เพื่อทำลายล้างกัน นอกจากนี้ในเมื่อยืนยันว่าสถาบันกษัตริย์ไทยได้รับความเคารพอย่างสูง และคนไทยจงรักภักดีอย่างถึงที่สุดจนยากจะหาที่ใดมาเสมอเหมือนแล้วละก็ กฎหมายแบบมาตรา 112 ยิ่งไม่มีความจำเป็น

ผมคิดว่า การอ้างว่า เมื่อยืนยันว่าสถาบันกษัตริย์ไทยได้รับความเคารพอย่างสูง และคนไทยจงรักภักดีอย่างถึงที่สุดจนยากจะหาที่ใดมาเสมอเหมือนแล้วละก็ กฎหมายแบบมาตรา 112 ยิ่งไม่มีความจำเป็น เป็นเรื่องที่ตลก ถ้าอย่างนั้นมีใครบอกว่า เมืองนี้มีแต่คนดี กฎหมายในการป้องกันลักขโมยก็ไม่ควรมีหรือ

ข้ออ้างที่ 3 ปิยบุตร พูดในประเด็นว่า ลักษณะความผิดไม่ได้สัดส่วนกับโทษคือ โทษสูงเกินไป ผมข้ามไปเพราะคิดว่าเป็นเรื่องที่หยิบมาถกเถียงกันได้

ข้ออ้างที่ 4 ปิยบุตรยกมาว่า ต่อให้มีบุคคลใดถูกลงโทษตาม 112 แต่ก็ได้รับพระราชทานอภัยโทษอยู่ดี

ปิยบุตรตอบว่า มีหลายคดีที่จำเลยรับโทษจำคุก ต่อมาได้ขอพระราชทานอภัยโทษ และในท้ายที่สุดก็ได้รับพระราชทานอภัยโทษ แต่มีอีกหลายคดีที่จำเลยไม่ได้รับพระราชทานอภัยโทษ หรือได้รับพระราชทานอภัยโทษเมื่อเวลาล่วงผ่านไปนานแล้ว เคยมีข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยเป็นชาวต่างชาติและขอพระราชทานอภัยโทษ เวลาผ่านไปไม่นานนักก็ได้รับพระราชทานอภัยโทษ (เช่น กรณีนายโอลิเวอร์ จูเฟอร์ และนายแฮร์รี่ นิโคไลดส์) แต่กรณีอื่นๆต้องใช้เวลานานพอสมควรถึงจะได้รับพระราชทานอภัยโทษ (เช่น กรณีนายสุวิชา ท่าค้อ) ซึ่งอาจให้เหตุผลได้ว่าแต่ละกรณีมีข้อเท็จจริงที่แตกต่างกันไป แต่ถึงกระนั้นนั่นก็หมายความว่าจำเลยจะได้รับพระราชทานอภัยโทษหรือไม่ไม่ใช่ เรื่องแน่นอนและเสมอกันทุกกรณี ยิ่งไปกว่านั้นการที่จำเลยถูกตัดสินว่าไม่มีความผิด, การที่จำเลยถูกตัดสินว่าผิด ต้องโทษจำคุก แต่รอลงอาญา, การที่จำเลยถูกตัดสินว่าผิดและต้องโทษจำคุก ต่อมาได้รับการพระราชทานอภัยโทษ ทั้ง 3 กรณีนี้มีผลทางกฎหมายไม่เหมือนกัน

ผมคิดว่า การพระราชทานอภัยโทษเป็นพระราชอำนาจที่ทรงให้อภัยต่อผู้กระทำผิด ซึ่งต้องดำเนินการเมื่อคดีถึงที่สุด ดังนั้นเรื่องนี้เป็นเหตุผลหนึ่งของการช้าหรือเร็ว แต่การช้าหรือเร็วให้หรือไม่ให้พระราชอภัยก็ไม่อาจเป็นเหตุผลที่จะมาลบล้างว่า ไม่ควรมีกฎหมายหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ เพราะการเช่นนั้นจะถือเป็นเสรีภาพไม่ได้ เปรียบเหมือนยืมเงินผู้อื่นเจ้าหนี้จะยกหนี้ให้ใครก็เป็นสิทธิ์ของเจ้าหนี้ จะบอกว่า ไม่ควรมีกฎหมายป้องกันการทำผิดสัญญาการกู้ยืมก็ไม่ถูก

ข้ออ้างที่ 5 ปิยบุตร ตั้งโจทย์ว่า ความผิดตามมาตรา 112 เกี่ยวพันกับความมั่นคงของรัฐ

จากนั้นปิยบุตร ตอบว่า โดยลักษณะของความผิดตามมาตรา 112 ไม่มีสภาพร้ายแรงถึงขนาดกระทบกระเทือนต่อการดำรงอยู่ บูรณภาพ และความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ความผิดตามมาตรา 112 เป็นกรณีที่เกิดจากการพูดแล้วทำให้กษัตริย์เสียหาย ไม่ได้กระทบกระเทือนถึงการดำรงอยู่ของกษัตริย์ ไม่ใช่กรณีประทุษร้ายหรือปลงพระชนม์กษัตริย์ และไม่ใช่การเปลี่ยนรูปแบบของราชอาณาจักร ความผิดตามมาตรา 112 จึงไม่เกี่ยวพันกับความมั่นคงของรัฐ

ผมถามว่า ถ้ามีคนทำพฤติกรรมอย่างนี้จำนวนมากแล้วจะไม่กระทบกระเทือนต่อรัฐได้อย่างไร ถ้าไม่มีมาตรา 112 แล้วปล่อยให้ทุกคนกระทำได้แล้วจะไม่เกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐอย่างไร เมื่อพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของรัฐ คำอธิบายข้อนี้เบาหวิวมาก

ข้ออ้างที่ 6 ปิยบุตร ยกคำถามมาว่า ในเมื่อรู้ผลร้ายของการกระทำความผิดตามมาตรา 112 แล้วก็จงหลีกเลี่ยงไม่ทำความผิด หรือไม่เสี่ยงไปพูดถึงกษัตริย์เสียก็สิ้นเรื่อง

ปิยบุตร ตอบว่า เมื่อกฎหมายเกี่ยวกับความผิดตามมาตรา 112 นี้เป็นกฎหมายที่มีปัญหาในตัวมันเอง ทั้งในทางตัวบทและการบังคับใช้เป็นกฎหมายที่ละเมิดเสรีภาพในการแสดงความคิด เห็นอย่างยิ่งก็ต้องยกเลิกหรือแก้ไขมาตรา 112 ไม่ใช่เห็นว่ามาตรา 112 มีโทษร้ายแรงก็จงอย่าไปเสี่ยง เลี่ยงได้ก็ควรเลี่ยง ข้ออ้างแบบนี้ไม่ต่างอะไรกับการบอกว่าไฟนั้นร้อน อาจลวกมือได้ จงอย่าใช้ไฟนั้น

ผมไม่รู้ว่ามาตรา 112 ตรงไหนที่มีปัญหาในตัวเองนะครับ ถ้าเราไม่พูดถึงโทษสูงไปหรือไม่ หรือกังวลเรื่องการบังคับใช้ที่ไม่เป็นธรรมซึ่งตอนนี้ก็มีการแก้ไขให้รัดกุมแล้ว และที่บอกไปแล้วว่า หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อผู้อื่นแม้จะไม่ใช่พระมหากษัตริย์ก็ไม่อาจอ้างว่าเป็นเสรีภาพไปได้

ที่ปิยบุตร บอกว่า ข้ออ้างแบบนี้ไม่ต่างอะไรกับการบอกว่าไฟนั้นร้อน อาจลวกมือได้ จงอย่าใช้ไฟนั้น เป็นการไม่สมเหตุสมผลและเป็นตรรกะที่ไม่สอดคล้องกัน จริงๆแล้วมันกลับกันคือเอาไฟไปลวกมือคนอื่นแล้วบอกว่าไม่ควรมีกฎหมายเอาผิด

ปิยบุตรยกข้ออ้างที่ 7 ว่า ในทุกประเทศล้วนแล้วแต่มีเรื่องต้องห้าม เรื่องอ่อนไหวที่ห้ามพูดถึงหรือไม่ควรพูดถึง ซึ่งเรื่องต้องห้ามนั้นก็แตกต่างกันไป ของไทยก็คือเรื่องสถาบันกษัตริย์

จากนั้นปิยบุตร เข้ามาตอบว่า จริงอยู่ที่แต่ละประเทศก็มีเรื่องต้องห้าม แต่หากสำรวจเรื่องต้องห้ามในประเทศเสรีประชาธิปไตยทั้งหลายแล้วจะเห็นได้ว่า เรื่องต้องห้ามเหล่านั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพ เช่น กรณีในเยอรมนีและหลายประเทศในยุโรปบุคคลไม่อาจพูดหรือแสดงความเห็นไปในทิศ ทางสนับสนุนฮิตเลอร์หรือนาซี หรือให้ความชอบธรรมแก่การกระทำของนาซีได้มากนัก กรณีหลายประเทศบุคคลไม่อาจพูดหรือแสดงความเห็นไปในทางเหยียดผิว เหยียดเชื้อชาติ เหยียดศาสนาได้ แต่กรณีของไทย เรื่องห้ามพูดคือกรณีสถาบันกษัตริย์ วิญญูชนโปรดพิจารณาว่าเป็นเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หรือไม่

ผมคิดว่า ตลกดีครับ เพราะการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อผู้อื่นนั้น นั่นแหละเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพของผู้อื่น แต่ปิยบุตรกลับอ้างศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพ มาละเมิดเสรีภาพของผู้อื่น

ข้ออ้างที่ 8 ผมข้ามไปเพราะไม่ได้มีสาระมากนัก เพราะสังคมต้องอยู่ด้วยการบังคับใช้กฎหมายอยู่แล้ว

ปิยบุตร ยกข้ออ้างที่ 9 ว่า มาตรา 112 สัมพันธ์กับมาตรา 8 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

ปิยบุตร เข้ามาตอบค่อนข้างยาว ผมยกมาดังนี้

มาตรา 8 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” บทบัญญัติในลักษณะดังกล่าวปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญหลายประเทศ เป็นบทบัญญัติในลักษณะประกาศ (declarative) เพื่อให้สอดรับกับหลัก The King can do no wrong ไม่ใช่เป็นบทบัญญัติในลักษณะวางกฎเกณฑ์ปทัสถาน (normative) การอ่านมาตรา 8 ของรัฐธรรมนูญ และมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา ต้องอ่านแบบประชาธิปไตย ไม่ใช่อ่านแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หากอ่านแบบประชาธิปไตยจะเข้าใจได้ทันทีว่ามาตรา 8 มีเพื่อเทิดกษัตริย์ไว้เป็นประมุขของรัฐ ซึ่งไม่ทำอะไรผิด เพราะไม่ได้ทำอะไรเลย เมื่อไม่ได้ทำผิดและไม่ได้ทำอะไรเลยจึงไม่มีใครมาละเมิดได้ คำว่า “เคารพสักการะ” ก็เป็นการเขียนเชิงประกาศเท่านั้น ไม่ได้ส่งผลทางกฎหมายในลักษณะมีโทษแต่อย่างใด

นอกจากนี้ในระบอบประชาธิปไตย เอกสิทธิ์และความคุ้มกันต่างๆที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นๆมอบให้แก่กษัตริย์ ก็เป็นการมอบให้แก่กษัตริย์ในฐานะตำแหน่งกษัตริย์ที่เป็นประมุขของรัฐ ไม่ได้มอบให้แก่บุคคลที่มาเป็นกษัตริย์ หากกษัตริย์ปฏิบัติหน้าที่นอกกรอบของรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยเอกสิทธิ์และ ความคุ้มกันต่างๆก็ต้องหมดไป

การแก้ไขมาตรา 112 ให้โทษต่ำลงก็ดี การกำหนดเหตุยกเว้นความผิดตามมาตรา 112 ก็ดี การกำหนดเหตุยกเว้นโทษตามมาตรา 112 ก็ดี ไม่ได้ขัดหรือแย้งกับมาตรา 8 ของรัฐธรรมนูญ การแก้ไขมาตรา 112 ไม่ได้ทำให้กษัตริย์ไม่เป็นที่เคารพสักการะ กฎหมายแบบมาตรา 112 ยังคงมีอยู่ เพียงแต่ปรับปรุงให้ทันสมัยและสอดคล้องกับสังคมประชาธิปไตยเท่านั้น และหากสมมุติว่ามีการยกเลิกมาตรา 112 จริง หากมีผู้ใดหมิ่นประมาทกษัตริย์ก็ยังมีกฎหมายหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดาให้ใช้ได้

ณ เวลานี้มีความเข้าใจผิดกันในหมู่ผู้สนับสนุนมาตรา 112 และผู้เลื่อมใสอุดมการณ์กษัตริย์นิยมว่าการรณรงค์เสนอให้มีการแก้ไขหรือยก เลิกมาตรา 112 เป็นการกระทำที่มีความผิดฐาน “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” และเป็นพวก “ล้มเจ้า” ข้าพเจ้าขอยืนยันว่าการรณรงค์เช่นว่าไม่มีความผิดใดเลย เป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นว่าไม่เห็นด้วยกับมาตรา 112 ไม่ต่างอะไรกับการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นว่าไม่เห็นด้วยกับรัฐ ธรรมนูญ กฎหมายความมั่นคง กฎหมายสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือกฎหมายอื่นใด มาตรา 112 เป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมาย มิใช่สถาบันกษัตริย์ สมมุติว่ามาตรา 112 ถูกแก้ไขหรือยกเลิกจริง สถาบันกษัตริย์ก็ยังคงดำรงอยู่ต่อไป ไม่ได้ถูกยกเลิกตามมาตรา 112 ไปด้วย

ผมคิดว่า คำตอบนี้ของปิยบุตรเป็นเหตุเป็นผลหรือไม่ ก็ลองพิจารณากันดู การจะปรับปรุงให้ทันสมัยนั้นผมเห็นด้วย แต่ยืนยันว่ามาตรานี้จำเป็นต้องมีในฐานะที่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขของประเทศ การแสดงความเห็นต่อมาตรานี้เป็นเสรีภาพจริงครับ ส่วนการรณรงค์ให้แก้ไขหรือยกเลิกมาตรา 112 เป็นการกระทำที่มีความผิดฐาน “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” และเป็นพวก “ล้มเจ้า”หรือไม่นั้น ต้องดูที่เจตนาเป็นเรื่องๆไป ไม่สามารถปฏิเสธหรอกว่าใช่หรือไม่ใช่ทั้งหมด

ส่วนที่ปิยบุตร บอกว่า หากสมมุติว่ามีการยกเลิกมาตรา 112 จริง หากมีผู้ใดหมิ่นประมาทกษัตริย์ก็ยังมีกฎหมายหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดาให้ใช้ได้นั้น เป็นไปไม่ได้แน่นอนครับว่า สถานะของบุคคลธรรมดาและประมุขรัฐนั้นแตกต่างกัน ปิยบุตรเองก็ยอมรับว่าในระบอบประธานาธิบดีก็ยังมีกฎหมายปกป้องประมุขของรัฐ แล้วเป็นไปได้ยังไงที่พระมหากษัตริย์หรือสำนักงานของพระมหากษัตริย์จะลงมาเป็นคู่กรณีในการฟ้องร้องแจ้งความคนละเมิดเสียเองเหมือนการหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา

ผมยกมาทั้งหมดนี้ไม่ได้มีเจตนาที่จะไปขัดขวางอุดมการณ์ของปิยบุตรและการจดทะเบียนตั้งพรรคอนาคตใหม่ซึ่งผมคิดว่า กกต.ควรจะอนุญาตให้จัดตั้งตามระบอบประชาธิปไตย แต่จริงๆแล้วผมต้องการถ่ายทอดให้เห็นว่า ปิยบุตรมีความเห็นต่อมาตรา 112 ที่แท้จริงอย่างไรและผมเห็นแย้งอย่างไรเท่านั้นเอง

ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan




กำลังโหลดความคิดเห็น