xs
xsm
sm
md
lg

ยื่นตีความเพิ่ม..ยืดเลือกตั้งส.ส. เลื่อนเลือกตั้งท้องถิ่นเข้าทางป่วน !!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"ท่านนายกฯกำลังพิจารณาอยู่ ส่วนจะให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) หรือคณะรัฐมนตรี(ครม.) ยื่นตีความนั้น ยังไม่ทราบ เพราะยังไม่รู้ว่าเป็นอย่างไร ทราบเพียงว่านายกฯ กำลังพิจารณาอยู่"
"หากยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. อาจจะกระทบกับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในเดือนก.พ. 62 หรือไม่ ยืนยันว่าไม่กระทบ ถ้าทำอะไรก็ต้องทำให้อยู่ในกรอบของเดือนก.พ.62 "
ถามว่า หากศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาให้แก้ไข ก็อาจกระทบกับวันเลือกตั้งตามที่นักกฎหมายหลายฝ่ายคาดไว้ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า "ถ้าเป็นเช่นนั้นร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ก็ต้องตกไป ก็ต้องทำใหม่ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เรายังไม่รู้ว่าจะยื่นตีความหรือไม่ เพราะเรื่องนี้ต้องมีการหารือกับหลายภาคส่วน"
ถามว่าในขณะนี้เหมือนมีประเด็นที่อาจเข้าข่ายว่า ขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มองว่าจำเป็นหรือไม่ที่ต้องยื่นตีความก่อนที่จะมีการเลือกตั้งเพราะถ้าถึงเวลานั้น อาจส่งผลกระทบกับการเลือกตั้งได้ รองนายกฯ ตอบว่า "เราก็คิดอย่างนั้น ถึงได้พิจารณา ถ้าไม่คิดเช่นนั้นจะพิจารณาทำไม กำลังให้นักกฎหมายพิจารณาให้ชัดเจนอยู่ ว่าที่สนช.ทำมาขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่"
**นั่นเป็นคำพูดล่าสุด เมื่อวันที่ 27 มีนาคม ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รวมทั้งยังเป็น"รองหัวหน้าคสช." อีกด้วย ก็น่าจะเห็นภาพชัดเจนขึ้นมาได้แล้ว "น่าจะต้องยื่นตีความกม.ลูกว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ค่อนข้างแน่
คำพูดของ "พี่ใหญ่" พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่บอกว่า "นายกฯกำลังพิจารณา" เรื่องดังกล่าวอยู่มันก็แหงอยู่แล้ว ต้องยื่นตีความแน่นอน ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาจากความเคลื่อนไหวในช่วงเช้าวันเดียวกัน ในการประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี ก็มีการเชิญ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)เข้าไปร่วมประชุม และให้ความคิดเห็นในเรื่อง ร่าง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ดังกล่าวอีกด้วย
เมื่อนายพรเพชร ออกมาก็พูดแปลกๆ ในทำนองว่าเวลานี้ตามขั้นตอนยังสามารถยื่นตีความได้ ไม่ว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรี ยื่นตีความเอง หรือ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เข้าชื่อกันจำนวน 1 ใน 10 ยื่นตีความได้ ตราบใดที่นายกฯ ยังไม่ได้นำขึ้นทูลเกล้าถวาย โดยเวลานี้ยังอยู่ในขั้นตอนที่นายกฯ ยังรออีก 5 วัน หลังจากที่ได้รับร่างกฎหมายดังกล่าวมาแล้ว
**ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากท่าที และความเคลื่อนไหวดังกล่าวก็พอมั่นใจได้แล้ว "น่าจะยื่นตีความ" สูงมาก แต่คำถามตามมาทันทีก็คือ แล้วการเลือกตั้งจะ"เลื่อน" ออกไปอีกหรือไม่ หลังจากมีการแก้ไขเวลาโรดแมปเลือกตั้งไปเป็น "เดือนกุมภาพันธ์ 62" เมื่อยื่นตีความร่างกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส.ส. การเลือกตั้งจะเลื่อนออกไปอีกหรือไม่
แม้ว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จะยืนยันว่า "ไม่เลื่อน" เพราะเชื่อว่าอยู่ในกำหนดระยะเวลา แต่เมื่อฟังจากคำพูดท่อนถัดมา ที่ตอบคำถามว่าหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้แก้ไข (ร่างกฎหมายเลือกตั้งส.ส.) เขาก็ตอบทันทีว่า "ก็ตกไปทั้งฉบับต้องทำใหม่"
ดังนั้น นาทีนี้หากมีการยื่นตีความแล้วมันก็ทำให้มีแนวโน้มให้ต้องยืดเวลาการเลือกตั้งจากที่กำหนดไว้ใหม่ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ออกไปอีก แต่ขณะเดียวกัน หากผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญออกมาว่า "ขัดกฎหมาย" ก็ต้องแก้ไขใหม่หรือ "ร่างใหม่" ทั้งฉบับตามที่ พล.อ.ประวิตร ว่าเอาไว้มันจะต้องเลื่อนไปอีกกี่เดือน 6 เดือน-1 ปี ตามที่ สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) เคย "ปากมาก" ทำนายไว้ล่วงหน้าจนให้สงสัยกันว่า นี่อาจเป็นสาเหตสำคัญที่ทำให้ถูกคำสั่ง คสช. สั่งให้หยุดการปฏิบัติหน้าที่
แน่นอนว่าหากมองในแง่ดีการยื่นตีความไปทั้งสองฉบับ นั่นคือ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ที่ได้ยื่นตีความไปก่อนแล้ว ส่วนอีกฉบับ ก็คือกฎหมายฉบับดังกล่าวนี่แหละ ที่พวกสนช.ไม่ยื่นตีความ โดยยืนยันว่าไม่มีประเด็นใดขัดรัฐธรรมนูญ แต่หากมองตากันแบบรู้ใจก็คือ "กลัวเสียเวลา" ทำให้ล่าช้าต้องเลื่อนการเลือกตั้งออกไปอีก และที่สำคัญก็คือ "จะโดนสังคมด่าเละ" นั่นแหละ
นาทีนี้หากเดาจากท่าทีล่าสุดของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็พอคาดการณ์ได้ไม่ยากว่า "ยื่นตีความแน่" ส่วนจะเป็นแบบนายกฯ ยื่นโดยตรง หรือให้ สนช.เข้าชื่อกันจำนวน 1 ใน 10 มันไม่สำคัญ เพราะถือว่ามาจาก "ต้นแม่น้ำเดียวกัน" และสาเหตุที่ยื่นตีความ ก็น่าจะเป็นกังวลตามที่ มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ที่เป็นประธานกรรมการยกร่างกฎหมายพวกนี้มาก่อน ส่งหนังสือเตือนเอาไว้เป็นลายลักษณ์อักษรมาแล้ว ว่าหากดึงดันไป จะเกิดปัญหาหลังเลือกตั้ง หากคนไปร้องศาลให้วินิจฉัยเป็นโมฆะ จะปั่นป่วนกันทั้งระบบ จะยุ่งกันใหญ่
**อย่างไรก็ดีหากทำด้วยเหตุผลเพื่อความรอบคอบ หรือกันไว้ดีกว่าแก้ทีหลัง แม้ว่าจะต้องตั้งคำถามกลับไปว่า แล้วทำไมถึงมีการส่งสัญญาณให้ สนช. แก้ไขกันจนป่วนแบบนี้ เพราะพิจารณาจากคำเตือนของ มีชัย ฤชุพันธุ์ ก็บอกทำนองว่า "แก้จนเละ" เปลี่ยนแปลงสาระสำคัญเกือบทั้งฉบับ
นั่นว่ากันเฉพาะเรื่องการเลือกตั้ง ส.ส.ที่มีแนวโน้มว่า ต้องเลื่อนออกไปอีก แต่สำหรับ "การเลือกตั้งท้องถิ่น" ก็น่าจะต้องเลื่อนออกไปอีกเช่นเดียวกัน เพราะจากคำพูดล่าสุดของ ดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา บอกว่าเวลานี้คณะกรรมการกฤษฎีกาคณะพิเศษ กำลังพิจารณา ร่าง แก้ไข ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และของกระทรวงมหาดไทย พร้อมกัน และยังเห็นว่าต้อง "ปรับแก้ไขอีก 130 มาตรา" หรือ "เกือบทั้งฉบับ" และตอบไม่ได้ว่า จะใช้เวลานานเท่าใด และตอบไม่ได้ว่า จะทำให้การเลือกตั้งท้องถิ่น ต้องเลื่อนออกไปจากช่วงกลางปีนี้หรือไม่
เมื่อพิจารณาจากจำนวนมาตราที่ต้องแก้ไขในแบบที่ว่า"รื้อทั้งฉบับ" แบบนี้ มันก็ไม่น่าจะเสร็จทันตามกำหนด การเลือกตั้งท้องถิ่น ก็ต้องเลื่อนออกไปจนน่าจะราวปลายปี ซึ่งเมื่อเป็นแบบนี้ มันก็ย่อมไปกระทบกับช่วงเวลาการเลือกตั้งส.ส.แน่นอน เพราะต้องทิ้งระยะเวลาให้ห่างกันพอสมควร
ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากท่าทีและแนวโน้มที่เห็น มันก็เชื่อได้เลยว่าการเลือกตั้งจะต้องเลื่อนออกไปอีก ส่วนจะเป็นอีก 6 เดือน จนถึง 1 ปี ก็ยังไม่อาจรู้ได้ แต่เมื่อพิจารณาจากเรื่องที่เห็นชัดเจนก่อนก็คือ การต้อง"รื้อ"กฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่นกว่า 130 มาตรา มันก็คงต้องใช้เวลาอีกพักใหญ่ ทำให้ต้องเลื่อนการเลือกตั้งท้องถิ่นออกไป และนั่นก็ต้องทำให้ต้องยืดเวลาการเลือกตั้ง ส.ส.ออกไปด้วยโดยอัตโนมัติ
**แต่คำถามก็คือ จะอธิบายกับสังคมให้เข้าได้อย่างไร ว่านี่คือไม่ใช่วิธีการ"ตุกติก" ต้องการยื้ออำนาจออกไปให้นานที่สุด ซึ่งมันก็เข้าทางบางกลุ่มที่จ้อง"ป่วน" กันอยู่แล้ว นี่แหละคือปัญหาใหญ่ !!


กำลังโหลดความคิดเห็น