xs
xsm
sm
md
lg

ว่าด้วยมาตราฉี่ฉิบฉี่

เผยแพร่:   โดย: ทับทิม พญาไท

<b>นายสมชัย ศรีสุทธิยากร</b>
มาตราฉี่ฉิบฉี่ (44) ของรัฐบาล คสช.นั้น...อันที่จริงก็แทบไม่ต่างอะไรไปจากมาตรา 17 (ยุคสฤษดิ์) มาตรา 21 (ยุคธานินทร์) มาตรา 27 (ยุคสงัด-เกรียงศักดิ์) นั่นเอง คือถือเป็นอาวุธด้ามสั้น ด้ามยาว ที่รัฐบาลซึ่งเกิดและเติบโตขึ้นมาจากอำนาจปฏิวัติรัฐประหาร นำมาใช้ไล่ทุบ ไล่บี้ ขจัดกวาดล้างสิ่งใดๆ ก็ตามที่ไม่เป็นไปตามความต้องการ ตามวัตถุประสงค์ และจุดมุ่งหมายของรัฐบาลนั้นๆ...

และการงัดเอามาตราต่างๆ เหล่านี้ออกมาใช้...อาจถือเป็นภาพสะท้อน “ตัวตน” ของผู้มีอำนาจในยุคนั้นๆ รวมทั้งสะท้อนสภาวะแวดล้อมทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจ ในช่วงระยะนั้นๆ ควบคู่ไปด้วยก็ได้ มาตรา 17 ในยุค “จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์” จึงออกอาการเหี้ยมเกรียมอย่างเป็นพิเศษ ด้วยเหตุเป็นยุคที่การปะทะ ขัดแย้ง ทางการเมือง ออกจะเข้มข้น แหลมคมเอามากๆ โดยเฉพาะระหว่างผู้ที่มีหลักคิด อุดมการณ์ทางการเมือง แตกต่างไปจากกัน หรือยุคที่ “สงครามเย็น” ระหว่างฝ่ายคอมมิวนิสต์กับทุนนิยมกำลังเปิดฉาก เปิดผ้าม่านกั้งแบบชนิดเต็มสูบ เต็มด้าม...

มาตรา 17 ในยุคสฤษดิ์จึงถูกนำเอามาใช้ในการ “ยิงทิ้ง” หรือประหารชีวิต ผู้ต้องสงสัยว่ามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์อย่าง “รวม วงษ์พันธ์” “ครอง จันดาวงศ์” ฯลฯ นำมาใช้กวาดล้างจับกุมคุมขังนักการเมือง นักหนังสือพิมพ์ นักวิชาการปัญญาชน ชนิดเป็นอะไรที่น่าขนพองสยองขวัญเอามากๆ รวมทั้งใช้เพื่อแสดงออกถึงความเฉียบขาด เด็ดขาดของผู้นำ ระดับเพียงแค่บ้านไหนที่เป็นบ้าน “ต้นเพลิง” หรือเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดเพลิงไหม้เผาผลาญบ้านเรือนอื่นๆ ผู้ต้องหาเป็นต้องถูกจับมาเด็ดหัว 4 รายรวด โดยไม่ต้องเสียเวลาสืบหาสาเหตุ ไม่ต้องผ่านกระบวนการพิจารณาคดีตามขั้นตอนกระบวนการยุติธรรมทั้ง 3 ศาล เอาเลยแม้แต่น้อย...

มาตรา 17 ในยุคสฤษดิ์จึงออกจะน่าสยดสยองเอามากๆ แต่ภายใต้มาตราเดียวกันนี้...เมื่อถูกนำมาใช้ในยุค “จอมพลถนอม กิตติขจร” รวมถึงยุครัฐบาลนายกฯ “สัญญา ธรรมศักดิ์” กลับไม่ถึงกับน่าเกลียดน่ากลัวมากมายซักเท่าไหร่ ออกไปทางเป็นเครื่องมือของ “กรรม” ที่ถูกนำมาใช้เพื่อ “สนองกรรม” อย่างเห็นได้โดยชัดเจน คือถูก “จอมพลถนอม” งัดมาใช้เพื่อ “ยึดทรัพย์จอมพลสฤษดิ์” และอดีตนายกฯ “สัญญา ธรรมศักดิ์” งัดมาใช้เพื่อ “ยึดทรัพย์จอมพลถนอม” ไปตามสภาพ...

ส่วนมาตรา 21 ในยุคอดีตนายกฯ “ธานินทร์ กรัยวิเชียร” แม้จะเป็น “นายกฯ พลเรือน” ก็ตาม...แต่น่าจะด้วยเหตุเพราะความขัดแย้งทางการเมือง มันเปลี่ยนเป้า เปลี่ยมเข็มไปจากเดิม คือเป็นความขัดแย้งระหว่างผู้มีอำนาจด้วยกันเอง ที่ปะทุขึ้นมาหลังจากพวกคอมมิวนิสต์ได้ “เข้าป่า” ไปหมดแล้ว รัฐบาล “ธานินทร์” จึงคว้าเอามาตรา 21 มาใช้ในการประหารชีวิตหัวหน้า “กบฏ” อย่าง “พลเอกฉลาด หิรัญศิริ” หรือใช้ในการกวาดจับพวกกบฏทหารเข้าคุก ส่วนที่ใช้เพื่อแสดงออกถึงความเฉียบขาด เด็ดขาดของรัฐบาล ก็อาจมีอยู่บ้าง เช่น เด็ดหัวผู้ต้องหาฆ่าข่มขืนไป 1 ราย ลงโทษข้าราชการคอร์รัปชันแบบถือไม้ไล่ตบ “แมลงวัน” พอเป็นกระษัย...

สำหรับมาตรา 27 ในยุครัฐบาลปฏิวัติ โดย “พลเรือเอกสงัด ชลออยู่” และ “พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์” นั้น ออกจะลดความน่าขนพองสยองขวัญลงไปไม่น้อย อาจด้วยเหตุเพราะการปะทะขัดแย้งทางการเมือง ไม่ถึงกับดุเดือดเข้มข้นมากมายซักเท่าไหร่ ความขัดแย้งภายในกลุ่มผู้มีอำนาจด้วยกันเอง เป็นไปแบบเพื่อน-พ้อง-น้อง-พี่ คือพอจะหยวนๆ กันได้ ขณะที่ความขัดแย้งระหว่างคอมมิวนิสต์กับรัฐบาล ก็เริ่มซาๆลงไปตามลำดับ เนื่องจากเข้าสู่ช่วงปลายของยุคสงครามเย็นที่คอมมิวนิสต์ดันหันมาทะเลาะกันเองซะยังงั้น การงัดมาตรา 27 ออกมาใช้จึงหนักไปทางเรื่องยาเสพติด เรื่องการบุกรุกทำลายป่า ฯลฯ อะไรประมาณนั้น...

ส่วนมาตราฉี่ฉิบฉี่...ที่ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ในยุครัฐบาล คสช.จะเป็นตัวบอกเล่าถึงสภาวะแวดล้อมทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม รวมทั้ง “ตัวตน” ของผู้มีอำนาจอย่างนายกฯ “บิ๊กตู่” ได้มาก-น้อยขนาดไหน คงหนีไม่พ้นต้องหันไปดูการงัดเอามาตราชนิดนี้ออกมาใช้ในแต่ละเรื่อง แต่ละกรณีนั่นแล ซึ่งในแง่ของความน่าเกลียด น่ากลัว น่าขนพองสยองขวัญนั้น คงไม่ถึงกับหนักหนาสาหัสซักเท่าไหร่ คือไม่ได้ถึงกับคิดเด็ดหัว คั่วแห้ง จับใครต่อใครเอาไปยิงทิ้งแบบเดิมๆ แม้ย่อมมีสิทธิทำได้ด้วยกันทั้งสิ้น แต่หันไปหนักทางด้านแต่งตั้ง โยกย้าย ปลดใครต่อใครซะเป็นหลัก ไม่ว่าการงัดมาตรา 44 ออกมาย้ายผู้ว่าราชการจังหวัด ปลดผู้ว่าฯ กทม. แถมด้วยการงัดมาตราที่ว่านี้มาใช้ “ควบคุมราคาหวย” ไม่ให้ขายเกิน 80 บาท หรือหวิดๆ ถูกนำมาใช้เพื่อข่มขู่ บังคับ ไม่ให้ใครต่อใครนั่งท้ายรถกระบะโดยไม่คาดเข็มขัด...ฯลฯ ฯลฯ

และสุดท้าย...ก็มาลงเอาตรงที่การงัดออกมาใช้เพื่อปลด “สมชัย ศรีสุทธิยากร” ออกจากคณะกรรมการ กกต.ด้วยเหตุเพราะ “พูดมากไป” อะไรทำนองนั้น ส่วนใครจะชอบ-ใครจะชัง ใครเห็นด้วย-ไม่เห็นด้วย ก็แล้วแต่จะว่ากันไป แต่ที่แน่ๆ ก็คือ...การงัดเอา “อำนาจ” เหล่านี้ออกมาใช้ ย่อมสามารถใช้เป็นตัว “บอกเล่า” ถึงสภาวะแวดล้อมทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม รวมทั้ง “ตัวตน” ของผู้ที่ใช้อำนาจเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี ว่าออกไปในแนวไหน แนวบู๊แอ็กชั่น แนวสยองขวัญ แนวบันเทิงเริงรมย์ หรือแนวคอมเมดี้ ฯลฯ อันนั้น...คงต้องไปวัดตัดสินกันเอาเอง!!!


กำลังโหลดความคิดเห็น