xs
xsm
sm
md
lg

ยุทธศาสตร์เวียดนามในทะเลจีนใต้

เผยแพร่:   โดย: ทรงฤทธิ์ โพนเงิน

นายกรัฐมนตรี Nguyen Xuan Phuc กับนายกรัฐมนตรี Malcolm TurnBull ลงนามในแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ระหว่างเวียดนามกับออสเตรเลีย ที่กรุง Canberra เมืองหลวงของออสเตรเลีย (ภาพจาก zing.vn)
ทรงฤทธิ์ โพนเงิน นักวิชาการอิสระ ผู้เชี่ยวชาญประเทศลุ่มแม่น้ำโขง

แถลงการณ์ร่วมว่าด้วยหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ระหว่างเวียดนามกับออสเตรเลีย ซึ่งมีขึ้นภายหลังการเจรจาระหว่างนายกรัฐมนตรีเวียดนาม Nguyen Xuan Phuc กับนายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย Malcolm TurnBull ที่ Canberra ในโอกาสที่นายกรัฐมนตรีเวียดนาม เดินทางไปเยือนออสเตรเลียอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2018 ที่ต่อเนื่องด้วยแถลงการณ์ร่วมของการประชุมสุดยอดวาระพิเศษระหว่างผู้นำอาเซียนกับออสเตรเลีย เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2018 ที่ Sydney นับเป็นความสำเร็จอีกครั้งหนึ่งของความพยายามทางการทูตของรัฐบาลเวียดนามในการเสริมสร้างความสัมพันธ์กับพันธมิตรเพื่อให้เห็นความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาขัดแย้งในทะเลจีนใต้ด้วยสันติวิธี

กล่าวก็คือการรักษาสันติภาพ เสถียรภาพ ความมั่นคง ความปลอดภัย และการเคารพเสรีภาพในการเดิน เรือและการบินในเขตทะเลจีนใต้ (ที่เวียดนามเรียกว่าทะเลตะวันออก) ด้วยการส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนให้การสนับสนุนและให้การรับรองข้อปฏิบัติ (Code of Conduct--COC) ในเขตทะเลจีนใต้ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ ด้วยหวังว่าการปฏิบัติตาม COC ที่เป็นฉันทามติร่วมกันของทุกภาคส่วนนั้นจะเป็นสิ่งที่ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการเผชิญหน้าระหว่างประเทศคู่ขัดแย้งที่อ้างอธิปไตยเหนือหมู่เกาะ Spratly และ Paracel ในทะเลจีนใต้ นั่นเอง

ทั้งนี้ ทางการเวียดนามได้เน้นย้ำมาโดยตลอดว่าปัญหาขัดแย้งในเขตทะเลจีนใต้มิใช่เฉพาะความขัดแย้งที่เกี่ยวกับการอ้างอธิปไตยเหนือเขตแดนระหว่างเวียดนาม (ไต้หวัน, ฟิลิปปินส์, มาเลเซียและบรูไน) ที่มีกับจีนเท่านั้น หากยังรวมไปถึงผลกระทบที่จะมีต่อเสรีภาพของการบินและการเดินเรือในเขตน่านน้ำสากล ทั้งยังถือว่าเป็นภัยคุกคามที่มีต่อสันติภาพในเขตทะเลจีนใต้อันเป็นหัวใจสำคัญของการรวมกลุ่มในประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) อีกด้วย

ครั้นเมื่อประกอบกับการประชุมใหญ่สมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามครั้งที่ 12 ปลายมกราคม 2016 ซึ่งที่ประชุมได้เลือก เหวียน ฝู จ็อง ให้ครองตำแหน่งเลขาธิการพรรคเป็นสมัยที่ 2 ติดต่อกันนั้น ก็ทำให้มองเห็นแนวทางของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามในการแก้ปัญหาขัดแย้งในทะเลจีนใต้ที่มีอยู่กับจีนได้อย่างชัดเจน เพราะ เหวียน ฝู จ็อง นั้นเป็นผู้นำในสายอนุรักษ์นิยมที่ให้ความสำคัญในการสร้างสัมพันธ์อันดีกับจีน ภายใต้เป้าหมายเพื่อสร้างบรรยากาศที่ดีให้แก่การลงทุนจากต่างประเทศเป็นอันดับแรก

ดังนั้น แม้ว่าจะกระทบกระทั่งกับจีนในปัญหาการอ้างสิทธิ์เหนือหมู่เกาะ Spratly และ Paracel ในทะเลจีนใต้อยู่เนืองๆ ก็มิได้ทำให้การลงทุนของต่างชาติในนิคมอุตสาหกรรม (Industrial Park) ในเวียดนามลดลงแต่อย่างใด ถึงแม้ว่าสมาพันธ์แรงงานเวียดนามได้ทำการประท้วงนักธุรกิจชาวจีนผู้ที่เป็นเจ้าของโรงงงานกว่า 1,000 แห่งในเวียดนาม เพื่อแสดงความไม่พอใจต่อการที่เรือรบของจีนได้เปิดฉากขับไล่เรือลาดตระเวนและเรือประมงของเวียดนามให้ออกจากพื้นที่พิพาทหลายครั้งนับแต่ปี 2014 เป็นต้นมาก็ตาม แต่โรงงานทั้ง 1,000 กว่าแห่งของนักธุรกิจชาวจีนนั้นก็ยังคงดำเนินการผลิตสินค้าต่างๆ นานาในเวียดนามอยู่เรื่อยมา ทั้งยังมีการลงทุนของต่างชาติเข้ไปในเขตนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ในเวียดนามเพิ่ม ขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น การลงทุนของบริษัท Formosa Plastics จากไต้หวันที่จังหวัดฮาติง และ Samsung จากเกาหลีใต้ที่จังหวัดบักนิงนั้นมีมูลค่ารวมกันถึง 11,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐเลยทีเดียว

ส่วนกลุ่มบริษัท Intel & Microsoft นั้น ถึงแม้ว่าจะได้ลดการผลิตโทรศัพท์ NOKIA ในจีนก็ตาม หาก แต่สำหรับการผลิตในเวียดนามกลับได้มีการผลิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2014 เป็นต้นมาจนถึงเวลานี้ และที่สำคัญก็คือกว่า 80% ของการลงทุนทั้งหมดของต่างประเทศในเขตนิคมอุตสาหกรรมในเวียดนาม ต่างล้วนแล้วแต่เป็นการผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกทั้งสิ้น ทั้งนี้รวมถึงการลง ทุนของออสเตรเลีย มูลค่าเกือบ 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ใน 44 โครงการ เพื่อเป็นฐานให้แก่การพัฒนาเวียดนามไปสู่ประเทศอุตสาหกรรมทันสมัยในปี 2050 ให้ได้อย่างแท้จริง

ทั้งนี้ เพื่อก้าวไปสู่เป้าหมายดังกล่าวให้ได้อย่างแท้จริงนั้น รัฐบาลเวียดนามยังได้วางแผนการพัฒนาเขตนิคมอุตสาหกรรม (Industrial Park) และเขตพัฒนาเศรษฐกิจ (Economic Development Zone) ให้ได้ในพื้นที่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยได้จัดสรรพื้นที่ไว้รองรับการพัฒนาเขตนิคมอุตสาหกรรมคิดเป็นพื้นที่รวมกว่า 1.25 ล้านไร่และอีก 6.25 ล้านไร่สำหรับรองรับเขตพัฒนาเศรษฐกิจภายในปี 2020

สภาพการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นได้เพราะ เหวียน ฝู จ็อง ได้ดำเนินแนวทางการต่างประเทศที่ไม่ต้องการเผชิญ หน้ากับจีน แต่มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาระหว่างกันด้วยสันติวิธี ในขณะเดียวกันเวียดนามยังได้มุ่งเน้นที่การเสริมสร้างมิตรประเทศให้ได้อย่างกว้างขวาง โดยนอกจากจะให้ความสำคัญกับประเทศสมาชิกในอาเซียนด้วยกันแล้วยังรวมถึงสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป อินเดีย รัสเซีย นิวซีแลนด์ และล่าสุดคือการเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์กับออสเตรเลียดังกล่าว

กล่าวสำหรับในอาเซียน รัฐบาลเวียดนามได้เสริมสร้างความร่วมมือกับรัฐบาลไทยเพื่อการบริหาร และ
จัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทางทะเลนั้น ถือเป็นสิ่งที่เวียดนามต้องการจะแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ที่มีร่วมกับไทยได้อย่างชัดเจน เช่นเดียวกับการลงนามในข้อตกลงว่าด้วยหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ระหว่างเวียดนามกับฟิลิปปินส์ ที่มีขึ้นในโอกาสการประชุมสุดยอดความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) ครั้งที่ 27 ที่กรุงมะนิลา ก็เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ผู้นำของเวียดนามได้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างความไว้วางใจและความร่วมมืออย่างรอบด้านกับนานาชาติให้มากขึ้นเรื่อยๆ

ยิ่งไปกว่านั้น การที่เวียดนามเป็นประเทศอันดับที่ 2 ต่อจากญี่ปุ่น ซึ่งมีสถานะเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ของฟิลิปปินส์ ในขณะที่เวียดนามกับญี่ปุ่นก็มีสถานะเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ร่วมกันอยู่แล้ว จึงทำให้เวียดนาม-ฟิลิปปินส์-ญี่ปุ่นมีสถานะเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ร่วมกันทั้ง 3 ประเทศโดยปริยาย

กล่าวสำหรับการเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ระหว่างเวียดนามกับญี่ปุ่นที่ได้เริ่มปฏิบัติการร่วมกันนับจากปี 2009 เป็นต้นมานั้นต้องถือว่ามีพัฒนาการอย่างรวดเร็วในทุกๆด้านอันจะเห็นได้อย่างชัดเจนจากการแสดงบทบาทนำของญี่ปุ่นในการให้ความช่วยเหลือแก่รัฐบาลเวียดนามในด้านงบประมาณ สำหรับใช้ในโครงการพัฒนาต่างๆ (Official Development Assistance—ODA) คิดเป็นมูลค่ารวมเกินกว่า 22,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปัจจุบัน ซึ่งทำให้ญี่ปุ่นเป็นที่ 1 ในฐานะประเทศที่ให้ความช่วยเหลือแก่เวียดนามมากที่สุด โดยยังไม่รวมถึงการช่วยเหลือในมูลค่าเฉลี่ย 370,000 ล้านเยนที่รัฐบาลญี่ปุ่นได้ส่งมอบให้แก่รัฐบาลเวียดนามสำหรับโครงการพัฒนาต่างๆในแต่ละปี นับตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมา

ส่วนในด้านการลงทุนนั้น ญี่ปุ่นก็ยังสามารถรักษาการเป็นที่ 1 ในฐานะประเทศที่มีมูลค่าการลงทุนมากที่สุดในเวียดนาม ทั้งนี้โดยในช่วงปี 1992-2015 การลงทุนสะสมของญี่ปุ่นในเวียดนามมีมูลค่ารวมเกินกว่า 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐแล้วและผลจากการสำรวจความคิดเห็นของบรรดาบริษัทญี่ปุ่นที่ลงทุนในเวียดนามกว่า 2,000 รายในปัจจุบัน ทั้งยังปรากฏว่ามีอยู่ถึง 70% ในบรรดาบริษัทญี่ปุ่นดังกล่าวได้ให้การยืนยันอย่างหนักแน่นว่าจะเพิ่มการลงทุนในเวียดนามให้มากขึ้นอย่างแน่นอน เพราะได้พิจารณาถึงปัจจัยและเงื่อนไขต่างๆ โดยเปรียบเทียบกับอีก 9 ประเทศสมาชิกของอาเซียนอย่างรอบด้านแล้วเห็นว่าเวียดนามเป็นฐานการลงทุนที่สำคัญที่สุด

กล่าวสำหรับปัจจัยที่ทำให้บรรดาบริษัทญี่ปุ่นเห็นว่าเวียดนามเป็นฐานการลงทุนสำคัญนั้นก็คือการเป็นตลาดขนาดใหญ่ (ที่มีประชากรมากกว่า 90 ล้านคนในปัจจุบัน) การเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีศักยภาพสูง การมีเสถียรภาพทางการเมืองที่มั่นคง และ ความสามารถในการตอบสนองด้านแรงงานที่สูงเป็นอันดับ 4 ของโลก ซึ่งทำให้องค์การค้าต่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JETRO) เชื่อมั่นว่าจะส่งผลทำให้การค้าระหว่างเวียดนามกับญี่ปุ่นมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าภายในปี 2020 ซึ่งหมายความว่าการค้าระหว่างเวียดนามกับญี่ปุ่นจะมีมูลค่ามากกว่า 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2020 นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ผู้นำของเวียดนามและญี่ปุ่นเห็นร่วมกันว่าสามารถจะคุกคามต่อเป้าหมายของการเสริมสร้างการเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ระหว่างเวียดนามกับญี่ปุ่นได้นั้น ก็คือปัญหาขัดแย้งในเขตทะเลจีนใต้และทะเลตะวันออกที่ประเทศทั้งสองมีอยู่กับจีน ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้การเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ระหว่างเวียดนามกับญี่ปุ่นนี้ยังได้รวมไปถึงความร่วมมือทางการเมืองในเวทีสากลอย่างใกล้ชิดเพื่อการเสริมสร้างความมั่นคงและรักษาความปลอดภัยเขตน่านน้ำสากลทางทะเลที่มีข้อขัดแย้งกับจีน โดยที่รัฐ บาลญี่ปุ่นยังได้ส่งมอบเรือตรวจการณ์ทางทะเลให้แก่รัฐบาลเวียดนามอีกด้วย

แต่ถึงกระนั้น รัฐบาลเวียดนามก็ได้เรียกร้องให้ทุกฝ่ายแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งทางทะเลระหว่างกันด้วยสันติวิธีและถือหลักกฎหมายสากลเป็นสำคัญ รวมถึงการให้ความเคารพในสิทธิ์ และอธิปไตยระหว่างกันอย่างแท้จริง ซึ่งรัฐบาลเวียดนามยังได้เรียกร้องในหลักการอย่างเดียวกันนี้ต่อผู้นำจีนด้วยเช่นกัน ดังจะเห็นได้จากการเน้นย้ำของ เหงวียน ฝู จ็อง ในโอกาสที่ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีนเดินทางเยือนเวียดนามอย่างเป็นทางการในเดือนพฤศจิกายน 2017 ที่ผ่านมา

โดยเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่านอกจากเวียดนามและญี่ปุ่นแล้ว ก็ยังมีอีก 3 ประเทศสมาชิกในอาเซียนคือฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และบรูไน ที่มีข้อขัดแย้งกับจีนในทะเลจีนใต้ ดังนั้น ถ้าหากว่าเวียดนามสามารถเสริมสร้างความร่วมมือกับออสเตรเลียได้อย่างแนบแน่น ย่อมหมายถึงอำนาจต่อรองที่มากขึ้นในการที่จะเจรจาต่อรองอย่างใดๆ กับจีนในโอกาสข้างหน้า!!!


กำลังโหลดความคิดเห็น