xs
xsm
sm
md
lg

มมส ยิ่งยื้อ ยิ่งอุ้ม ยิ่งอ่วม

เผยแพร่:   โดย: ชญานุช วีรสาร


ชญานุช วีรสาร

ถ้อยแถลงผลสอบข้อเท็จจริงของสภาคณาจารย์มหาวิทยาลัยมหาสารคามต่อกรณีของ “แบม” ปณิดา ยศปัญญา กับอาจารย์ในสาขาพัฒนาชุมชน ไม่ได้ทำให้เรื่องกระจ่างแต่อย่างใด เป็นแค่การบอกเล่าข้อเท็จจริงว่าเกิดอะไรขึ้นระหว่างสองฝ่ายเช่นเดียวกับที่ทั้งคู่ออกมาให้ข่าวกับสื่อก่อนหน้านี้ แต่ถูกสรุปให้เบากว่าเสมือนว่าเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นการเข้าใจผิดกัน เช่น การแจ้งความ การห้ามแชร์ข่าว สรุปง่ายๆ คือไม่มีใครผิดใครถูก เพราะต่างฝ่ายต่างมีเหตุผล เพียงแต่บอกว่าอาจารย์คู่กรณีทำผิดจรรยาบรรณจากการทุบหลังเท่านั้น

สังคมไม่เห็นทิศทางว่าการผิดจรรยาบรรณของอาจารย์คนดังกล่าวจะลงเอยอย่างไร? และจะตั้งกรรมการสอบต่อไปเพื่ออะไร?

จริงอยู่ที่สังคมต้องการให้มีการลงโทษอาจารย์ให้ชัดเจนและเป็นรูปธรรม แต่ก็ต้องยอมรับว่าสังคมไทยโดยเฉพาะในระบบราชการยังมีความอะลุ้มอล่วย เกรงใจ และโอบอุ้มกันเองอยู่มาก ถ้าเป็นหน่วยงานอื่นคงได้ย้ายไปช่วยราชการชั่วคราวระหว่างสอบสวน แต่สำหรับมหาวิทยาลัยอาจารย์ย้ายไปไหนไม่ได้ ก็ต้องอยู่ประจันหน้าระหว่างสองฝ่ายที่เห็นด้วยกับไม่เห็นด้วยกันไปเช่นนี้ต่อไป ฉะนั้นหากจะให้มีการลงโทษเพื่อความสะใจของสังคมจึงเป็นไปได้ยาก

การที่สภาคณาจารย์ออกมาบอกว่าจะตั้งกรรมการสอบจรรยาบรรณอาจารย์อย่างเร็วสุดภายใน 30 วัน และอย่างช้าสุดคือ 60 วัน มีเจตนาอย่างไรทุกฝ่ายก็ย่อมน่าจะรู้อยู่แก่ใจ แต่ความหวังจากสภาคณาจารย์ที่นิสิตคิดว่าพอจะพึ่งพาได้ อาจจะกลายเป็นมวยล้มต้มคนดูไปเช่นกัน

อีกสองเดือน “แบม” ก็จะจบการศึกษาแล้ว นั่นหมายความว่าหากใช้เวลาสอบจรรยาบรรณนานถึง 60 วันดังว่า ไม่ว่าผลสอบจะเป็นอย่างไรก็ไม่สามารถลบความรู้สึกของนิสิตที่กล้ำกลืนกับการกระทำของคณาจารย์ในคณะตลอดหลายเดือนที่ผ่านมาได้ และดูเหมือนหลายฝ่ายก็ต้องการให้จบแบบนั้น เข้าทำนอง “วินวิน” ทั้งสองฝ่าย แต่สำหรับ “แบม” เองคงไม่อยากวิน นี่ไม่ใช่เกม เธอไม่ได้ต้องการเป็นผู้ชนะ แต่เธอต้องการความเป็นธรรมให้ตนเองอย่างถึงที่สุด

การลากยาวยืดเยื้อกันไปจนสังคมเคลือบแคลงและตั้งคำถามอย่างทุกวันนี้ เป็นประโยชน์กับมหาวิทยาลัยมหาสารคามแล้วหรือ การปล่อยให้เรื่องเงียบไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาเรื่องภาพลักษณ์ที่เสื่อมเสียได้ เพราะมันยับเยินเกินกว่าจะใช้ "ความเงียบ" สยบเหมือนเช่นเหตุการณ์ที่ผ่านๆ มาได้อีก

50 ปีที่มหาวิทยาลัยมหาสารคามสั่งสมชื่อเสียงมา แลกกับการเพิกเฉยกับปัญหาคอร์รัปชันและจรรยาบรรณของอาจารย์ในกรณีนี้ ย่อมส่งผลต่อความน่าเชื่อถือจากสังคมเป็นอย่างมาก คุ้มกันหรือไม่?

ยิ่งในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการตัดสินใจเลือกที่เรียนต่อของนักเรียนที่จบม.6 ในปีการศึกษาหน้าซึ่งกำลังงวดเข้ามา ยิ่งท้าทายผู้บริหารมหาวิทยาลัยและคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ยิ่งนักโดยเฉพาะสาขาพัฒนาชุมชนว่าจะมีสักกี่คนที่กล้าเลือกมาเรียนมาเจอกับอาจารย์ที่ถูกกล่าวหาว่าทำผิดจรรยาบรรณพร้อมกับเหล่าอาจารย์ที่มีแนวคิดเดียวกันในต่างสาขาอีกกว่าครึ่งค่อนคณะ งานนี้ดูจะอ่วมไม่ใช่เล่นหากต้องเจอปัญหาวิกฤติศรัทธาต่อสถาบัน ท่ามกลางสถานการณ์ที่มีการช่วงชิงนักศึกษาใหม่ของทุกๆ สถาบันอย่างในปัจจุบัน

ยังไม่นับเรื่องวิสัยทัศน์และการตัดสินใจผิดพลาดของผู้บริหารอีกหลายๆ เรื่องที่ยังคาใจทั้งคนในและคนนอกมหาวิทยาลัยด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น