xs
xsm
sm
md
lg

โพลชี้”บิ๊กตู่”ห่วงพวกพ้อง แก้คอร์รัปชันไม่ได้ ป้อง”นาฬิกาป้อม”ไม่เกี่ยวเงินหลวง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“บิ๊กตู่” พบคนไทยในออสเตรเลีย บอกไม่ต้องห่วง ในประเทศไทยสงบเรียบร้อยดี กำลังวางโครงสร้างพัฒนาประเทศ ขอให้ช่วยสอดส่องถ้ามีคนมาเร่ร่อนแถวนี้ บอกมีหน้าที่ปราบโกงคนที่ทุจริตเงินงบประมาณ แต่กรณีนาฬิกา ”บิ๊กป้อม” ไม่ได้โกงเงินหลวง "สวนดุสิตโพล"ไม่เชื่อรัฐบาล "บิ๊กตู่" จะแก้ปัญหาการทุจริตในระบบราชการได้ และรู้สึกผิดหวัง ที่มีการปกป้องพวกพ้อง "คุณหญิงกัลยา" จี้ ป.ป.ช. ร่วมตรวจสอบขบวนการโกงผู้ด้อยโอกาสใน พม. เพื่อให้ครอบคลุมไปถึง ขรก.ระดับสูง และขรก.การเมือง เนื่องจากป.ป.ท. สอบได้แค่ซี 8 และ นายกฯ ควรเร่งช่วยเหลือ เยียวยาเหยื่อที่ถูกโกงโดยเร็ว

ช่วงเย็น วานนี้ (18 มี.ค.) ตามเวลาท้องถิ่นของประเทศออสเตรเลีย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. ได้กล่าวกับตัวแทนชุมชนคนไทย ที่อาศัยอยู่ในออสเตรเลีย ประมาณ 60 คน โดยขอบคุณที่ทุกคนมีส่วนร่วมในการเผยแพร่วัฒนธรรมไทยในออสเตรเลีย พร้อมขอให้ช่วยกันสร้างการรับรู้ที่ดีในต่างประเทศ แม้จะได้สัญชาติออสเตรเลีย ก็อย่าลืมประเทศไทย ต้องยึดมั่นใน ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ขณะนี้ปัญหาความวุ่นวายในประเทศก็ลดลงไปเยอะ ตั้งแต่ตนเข้ามาแก้ปัญหา พร้อมยืนยันรัฐบาลพยายามดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาทุกเรื่อง และวางโครงสร้างประเทศไว้ โดยจะเห็นชัดในอีก 4-5 ปีข้างหน้า
“เราต้องลดราวาศอก ในประเทศก็ลดราวาศอกไปเยอะ เพราะมีกรรมการใหญ่ คือ ผมเอง เรื่องในประเทศไม่ต้องกัวล แต่ให้ช่วยดูด้วยว่า ใครมาเร่ร่อนแถวนี้ ผมไม่ได้พูดถึงคนใดคนหนึ่ง 4 ปีที่ผ่านมา ผมไม่ได้พัก ไม่ได้ไปไหนเลย ไปทำงานแล้วกลับบ้านตามเวลา วันเสาร์ อาทิตย์ ก็ไม่ได้พัก ไม่เคยไปไหนกับภรรยา ไม่เคยไปเดินห้างกับครอบครัว เดี๋ยวไปแล้วเกิดมีใครเอาอะไรมาขว้าง ผมก็เสียชื่อแล้ว ผมก็ยอมเพราะตัดสินใจมาแล้ว ที่วันนั้นผมตัดสินใจมา มันจะเละไปกว่านี้ แต่จากนี้จะเละอีกหรือไม่ ผมก็ไม่รู้ ผมทั้งทุกข์ ทั้งสุข ทุกข์ที่ทุกคนคาดหวัง ถ้าทุกคนไม่ร่วมมือ กี่ร้อยประยุทธ์ก็ทำไม่ได้ ไม่ใช่ผมหลงตัวเอง แต่ประเมินจากต่างประเทศ เขาก็ยอมรับ แต่ก่อนเขาคิดว่าผมโง่ ที่ยกขบวนกันมาพูดกับเขารู้เรื่อง วันนี้อียู ก็ไม่รังเกียจผมแล้ว เว้นคนไทยบางคนที่รังเกียจผมอยู่”

พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวถึงปัญหาการทุจริตในประเทศไทย ว่ามีมานานแล้ว แต่ต้องแก้ไข เพราะเป็นการทุจริตงบประมาณแผ่นดิน ยืนยันส่วนตัวไม่ได้ปกป้องพี่น้อง

พร้อมย้ำโครงการรับจำนำข้าว ไม่ได้กลั่นแกล้งใคร แต่เป็นการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม
"เรื่องทุจริต มีมานานแล้ว ผมก็รื้อขึ้นมาดูจากงบประมาณที่โดนโกง และถูกปกปิด ผมจัดการคนโกงเงินหลวง ที่บอกว่าผม ปกปิด ปกป้อง บอกว่ารักพี่ รักน้อง อันนั้นเป็นเรื่องของเขา เอามาใส่จากไหน ก็ต้องตอบคำถาม ป.ป.ช. เอง ดูแล้วเขาไม่ได้โกงเงินหลวง แต่คนโกงผมต้องจัดการ ส่วนบางคน ถ้าไม่ผิด ก็คงไม่ต้องหนี ผมไม่ได้แกล้งเขา แต่ให้ดำเนินการตามกระบวนการ ส่วนคนที่หนีคดีอยู่ต่างประเทศ ถ้าเปลี่ยนพาสปอร์ต ก็คงไม่สามารถตามได้ เพราะต่างประเทศอาจมองว่าเป็นเรื่องการเมือง แต่คนหนีคงไม่มีความสุข เพราะกลับบ้านไปหาพี่น้องไม่ได้ แม้จะกลับไปตายในประเทศไทยก็ไม่ได้ ส่วนที่ให้อินเตอร์โพลตามตัว ก็ต้องให้เขาตอบมาก่อนว่าอยู่ประเทศไหน หากไม่แจ้ง ก็ทำอะไรไม่ได้ จับเองก็ไม่ได้ จับมาได้น้อยมาก” นายกพล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

** ชี้"บิ๊กตู่"แก้คอร์รัปชันไม่สำเร็จ


"สวนดุสิตโพล" เผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,157 คน ระหว่างวันที่ 13-17 มี.ค. 61 เกี่ยวกับขบวนการทุจรติในระบบราชการ ณ วันนี้ มีผลต่อความเชื่อมั่นของประชาชน ที่มีต่อรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มากน้อยเพียงใด อันดับ 1 มีผลมาก 40.97% เพราะ กระทบต่อภาพลักษณ์ ขาดความน่าเชื่อถือ ถูกมองว่าเป็นการปกป้องพวกพ้อง รู้สึกผิดหวัง เป็นเรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญ ฯลฯ
อันดับ 2 ค่อนข้างมีผล 22.13% เพราะ แสดงให้เห็นถึงการทำงานที่ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ยังมีปัญหาเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ฯลฯ

อันดับ 3 ไม่ค่อยมีผล 21.26% เพราะ การทุจริตเป็นปัญหาที่ฝังรากลึก มีมานาน ทุกรัฐบาลประสบปัญหา ไม่คาดหวังกับการแก้ปัญหาการทุจริตอยู่แล้ว ฯลฯ

ส่วนประชาชนคิดว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จะแก้ปัญหาการทุจริตได้หรือไม่นั้น อันดับ 1 .แก้ไขไม่ได้ 56.61% เพราะที่ผ่านมามีหลายคดีที่เงียบหายไป ไม่สามารถเอาผิดได้ เกี่ยวข้องกับเรื่องผลประโยชน์ พวกพ้อง และผู้มีอิทธิพล แก้ไขได้ยาก เป็นปัญหาเรื้อรัง ฯลฯ

อันดับ 2 ไม่แน่ใจ 23.42% เพราะต้องใช้เวลาในการแก้ปัญหา ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน ยังไม่รู้ข้อมูลข้อเท็จจริง ต้องติดตามต่อไป ฯลฯ อันดับ 3 แก้ไขได้ 19.97% เพราะ รัฐบาล คสช. มีอำนาจพิเศษ สามารถแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว เป็นปัญหาที่อยู่ในความสนใจของประชาชน ฯลฯ

**จี้นายกฯเยียวยาเหยื่อแก๊งทุจริตในพม.

คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึง กรณีการทุจริตเงินผู้ด้อยโอกาส ของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ลามไป 44 จังหวัดแล้วว่า รู้สึกตกใจมาก และรับไม่ได้กับการที่ข้าราชการระดับต่างๆ หากินกับความทุกข์ยากของประชาชน ผ่านงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งขณะนี้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) กำลังตรวจสอบอยู่ แต่องค์กรนี้ตรวจสอบได้ เฉพาะ ระดับ 8 ลงมาเท่านั้น จึงอยากเรียกร้องไปยัง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ควรรับลูก ดำเนินการสืบสวนสอบสวนควบคู่กันไปกับ ป.ป.ท. เนื่องจากมีอำนาจครอบคลุม ตรวจสอบข้าราชการระดับสูง และข้าราชการการเมือง ซึ่งเป็นสายบังคับบัญชาสูงสุดของกระทรวง เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล็ก นายกฯ ในฐานะผู้นำรัฐบาล ควรจะทำอย่างไรต่อไป กับสิ่งที่เกิดขึ้นในสายบังคับบัญชาของตนเอง

นอกจากนี้ สิ่งที่รัฐบาลควรแสดงความรับผิดชอบ คือต้องหาวิธีช่วยเหลือ เยียวยา ผู้ที่ถูกโกงซึ่งหมายถึงประชาชนยากจน ผู้ด้อยโอกาส ผู้พิการ ทุพพลภาพ ซึ่งเสียสิทธิ์ไปแล้ว ทำให้เกิดทุกข์ซ้ำซ้อน ประเด็นนี้รัฐบาลจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบหาวิธีชดเชยเยียวยา ไม่ใช่นิ่งนอนใจ

"มันเป็นปัญหาระบบของรัฐบาลเอง ไม่ใช่ปัญหาของประชาชน ดังนั้นประชาชนซึ่งได้สิทธิ์ ไม่ควรที่จะเป็นเหยื่อ แล้วไม่ได้รับการแก้ไขเยียวยา" คุณหญิงกัลยา กล่าว

** เชื่อโกงในพม.มีนักการเมืองเอี่ยว

นายสุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีฯ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต และ ผอ.สถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) กล่าวถึง กรณีการโกงเงินคนจน และคนไร้ที่พึ่งในกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ที่เกิดขึ้นกว่า 50 จังหวัด และมากกว่า 100 ล้านบาทในขณะนี้ โดยทำกันเป็นขบวนการ เพราะวิธีการคล้ายๆ กันในแต่ละจังหวัด เรื่องนี้คงไม่ใช่พึ่งเกิด น่าจะทำกันสะสมต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว และขบวนการนี้ ต้องมีข้าราชการระดับบสูง และนักการเมืองที่เกี่ยวข้องเข้ามาเอี่ยวด้วย ไม่เช่นนั้นคงไม่สามารถโกงเงินคนจนได้ค่อนประเทศแบบนี้

คนจนเหล่านี้ ถือเป็นกลุ่มคนจนที่ควรได้รับการช่วยเหลือมากที่สุด แต่คนรับผิดชอบ กลับมีจิตใจอำมหิต วางแผน ออกแบบ หาวิธีการโกงเงินคนจน ซึ่งไม่ได้ทำแค่ครั้งเดียว แต่ตั้งใจโกงจนเป็นวาระ กรณีนี้จึงถือเป็นการประจานระบบราชการครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง

สังคมต้องจับตาว่า เรื่องนี้จะถูกตัดตอนเอาผิดแค่ข้าราชการระดับล่าง หรือไม่ จะขยายผลไปถึงข้าราชการการเมือง หรือผู้มีอำนาจที่บงการอยู่เบื้องหลังหรือไม่ เรื่องนี้สะเทือนใจคนทั้งประเทศ เมื่อคนในระบบที่ใกล้ชิดคนยากคนจนมากที่สุด กลับมาหาประโยชน์จากคนจนไร้ที่พึ่ง ซึ่งเป็นกลุ่มชนชั้นที่ยากจนที่สุดในสังคม

กรณีนี้จะเป็นอีกหนึ่งกรณีที่จะพิสูจน์ความจริงใจของรัฐบาล ที่ประกาศว่าจะปราบโกงจะทำเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมาแค่ไหน นอกจากนี้รัฐบาลต้องปฏิรูปหน่วยงานที่รับผิดชอบทั้งหมด เพื่อให้เกิดธรรมาภิบาลในระบบราชการ การทุจริตหรือโกงเงินคนจนในระบบราชการครั้งนี้ไม่ใช่แค่ปัญหาตัวบุคคลแต่เป็นความอำมหิตของระบบด้วย และเป็นภาพสะท้อนวิกฤติคอร์รัปชัน ที่รุนแรงที่สุดอีกครั้งหนึ่ง หากไม่ยกระดับเรื่องนี้ไปสู่การปฏิรูประบบราชการ การพูดถึงไทยแลนด์ 4.0 และยุทธศาสตร์ชาติ ก็จะเป็นแค่การโฆษณาชวนเชื่อ เท่านั้น

**9 เดือนมีร้องจนท.รัฐทุจริต 594 เรื่อง

พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษก คสช. เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลา 9 เดือนที่ผ่านมา มีประชาชนร้องเรียนผ่านศูนย์รับเรื่องร้องเรียนการประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ คสช.จัดตั้งขึ้น 3,664 เรื่อง แบ่งเป็น เรื่องความเดือดร้อนทั่วไป 1,758 เรื่อง การทุจริตประพฤติมิชอบ 594 เรื่อง ยาเสพติด 442 เรื่อง และเป็นเรื่องที่มีข้อมูลไม่ชัดเจน 856 เรื่อง โดยประชาชนได้ใช้บริการแจ้งผ่านตู้ไปรษณีย์ และสายด่วนมากที่สุด รองลงมา คือ แจ้งผ่านศูนย์รับเรื่องในภูมิภาค/หน่วยทหารทั่วประเทศ และแจ้งด้วยตนเองในส่วนกลาง

สำหรับเรื่องร้องเรียนที่ดำเนินการแล้ว เช่น เรื่องร้องเรียนเจ้าหน้าที่ของรัฐมีพฤติกรรมเข้าข่ายประพฤติมิชอบ โดยให้ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติดำเนินการ 594 เรื่อง ในจำนวนนี้มีผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงเรียบร้อยแล้ว157 เรื่อง พร้อมกับได้นำเรื่องเข้าสู่การดำเนินคดีตามกฎหมาย ตามความผิดในกรณีต่างๆ เช่น การละเลยให้มีการปล่อยน้ำเสียลงสู่ลำน้ำสาธารณะและปัญหามลพิษ กรณีเอื้อประโยชน์การเสนอราคาสร้างถนนส่วนเรื่องที่เป็นความเดือดร้อนของประชาชนที่ไม่เกี่ยวกับการประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐ ได้ส่งเรื่องไปให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีช่วยเหลือ บรรเทาความเดือดร้อนตามช่องทางที่รัฐบาลมีอยู่นอกจากนี้ ยังมีเรื่องร้องเรียนเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงและยาเสพติด ซึ่งได้ส่งให้ต้นสังกัดดำเนินการสอบสวนและมีผลการสอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว 79 เรื่อง และเรื่องร้องเรียนที่ไม่มีรายละเอียดเพียงพอที่จะสามารถดำเนินการได้ 856 เรื่อง ซึ่งอยู่ระหว่างการติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมจากผู้ร้องเรียน


กำลังโหลดความคิดเห็น