ศาสตราจารย์ พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์
สวัสดีครับท่านผู้มีเกียรติ ท่านที่ห่วงใยปัญหาสุขภาพ ท่านที่ห่วงใย และอยากจะพัฒนาชาติบ้านเมือง ผมได้มาพูดให้ทุกปี เป็นเวลา 4 - 5 ปี แล้ว มาทุกครั้งก็ตื่นเต้น เมื่อได้เห็นพลังของพวกเรา และได้คุยกับพวกเรา เมื่อกี้ก็ก่อนขึ้นมาได้คุยกับท่านที่มาจากอำเภอประทาย นครราชสีมา ได้ฟังความก้าวหน้าของชุมชนท้องถิ่น ในฐานะที่ผมเป็นประธาน กรรมการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง ขอเล่าให้ฟังเป็นการเริ่มต้นว่า การปฏิรูปด้านการเมืองนั้น มีภารกิจห้าประการด้วยกัน คือ
ภารกิจประการที่ 1 คือ การเลือกตั้งที่สุจริต ยุติธรรม ให้มีพรรค มีนักการเมืองที่รับผิดชอบ ที่นำเสนอนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ ต่อประชาชน จะเป็นนโยบายที่รอบคอบ มีพรรคการเมืองที่เป็นสถาบันหนึ่งของประเทศ กับเป็นพรรคการเมืองของมวลสมาชิก ไม่ใช่พรรคของคนไม่กี่คนหรือคนๆ เดียว ที่เรียกกันว่าเจ้าของพรรคเท่านั้น แล้วก็พรรคการเมืองนั้นก็จะดำเนินการต่างๆ ที่สอดรับกับปัญหาของประชาชน สอดรับกับความต้องการของประชาชน
ภารกิจประการที่ 2 คือ มีวัฒนธรรมทางการเมือง ที่เป็นประชาธิปไตย มีประชาชนที่เป็นพลเมือง พร้อมๆ กับที่เป็นพระสกนิกรที่ดี มีจิตอาสา เสียสละ ให้บ้านเมือง ไม่ถามมากนักว่า “บ้านเมืองจะให้อะไรเรา” แต่จะถามมากขึ้นว่า “เราจะอาสาทำอะไรเพื่อบ้านเมืองบ้าง”
ภารกิจประการที่ 3 คือ มี รัฐธรรมาธิปไตย มีสังคมธรรมาธิปไตย ประชาธิปไตยจะไม่ใช่แค่การเลือกตั้ง ไม่ใช่แค่การประท้วง ไม่ใช่แค่การหย่อนบัตรเท่านั้น ต้องใช้ธรรมะทุกศาสนากำกับ ต้องใช้ความดี ความงาม ความถูกต้องกำกับ รัฐบาลต้องมีธรรมาภิบาล ราชการต้องมีธรรมาภิบาล ท้องถิ่นชุมชนต้องมีธรรมาภิบาล
ภารกิจประการที่ 4 คือ มีกลไกแก้ปัญหาความขัดแย้ง มิให้ความขัดแย้งลามปาม เป็นความแตกหัก แตกแยก จนบ้านเมืองแทบจะพังทลาย ขัดแย้งกันได้ แต่จะต้องไปสู่ประโยชน์ส่วนรวมและด้วยสันติวิธีเท่านั้น
ภารกิจประการที่ 5 คือ ส่งเสริมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่งเสริมประชาสังคม ชุมชนและประชาชน ให้มีบทบาท ให้มีส่วนสำคัญในการบริหารประเทศ ในการพัฒนาบ้านเมืองด้วยตนเอง ถ้าเป็นไปได้
ถามต่อไปว่า พลังของการปฏิรูป จะเป็นใคร ตอบอย่างหนึ่งก็คือ เป็นรัฐ เป็นราชการ เป็นกรม เป็นกระทรวง เป็นพรรค เป็นนักการเมือง แต่ผมอยากจะตอบแบบที่ 2 มากกว่าคือ พลังของการปฏิรูปอยู่ที่ชุมชน รวมทั้งชุมชนท้องถิ่น ประชาสังคม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อาจจะภาคเอกชนด้วย แล้วก็พลเมือง ทำไมถึงเน้นเช่นนั้นในความคิดของผม เพราะว่าเราปกครองแบบประชาธิปไตยไงครับ หัวใจสำคัญของการปกครองแบบประชาธิปไตยคือ ประชาชน ประชาชนนั้นไม่ได้ต้องการแค่เพียงการปกครองเพื่อประชาชนเท่านั้น แต่ยังต้องการการปกครองโดยประชาชน และการปกครองของประชาชนด้วย ฉะนั้นชุมชนท้องถิ่นจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ สำหรับผมแล้วถือว่าเป็นหัวใจของการปฏิรูปทีเดียว
ชุมชนโดยทั่วไป ก็จะเป็นชุมชนท้องถิ่นอยู่แล้วครับ เพราะชุมชนที่ไม่ใช่ท้องถิ่นก็คือชาติเท่านั้น แต่ว่าด้วยการทำงาน ถ้าเราจะอาศัยชาติทั้งชาติทำงานก็จะไม่สะดวกแล้วก็จะห่างเหิน ติดๆ จะเป็นทางการ แต่ถ้าเราเน้นที่ท้องถิ่นจะเป็นธรรมชาติกว่า ชุมชนท้องถิ่น เป็นจุดบรรจบของ ส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค แล้วก็ส่วนท้องถิ่นด้วยนะครับ ชุมชนท้องถิ่น หมายถึง ส่วนรวมที่ไม่ใช่รัฐ ส่วนรวมที่ไม่ใช่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่วนรวมที่ไม่ใช่กรม ไม่ใช่กระทรวงนะครับ ก็คือประชาชน จะเป็นประชาชนทั่วไปหรือจะเป็นข้าราชการจะเป็นนักการเมืองมาร่วมด้วยก็ได้ แต่เมื่อมาร่วมแล้วก็จะไม่มีฐานะและบทบาทของการเป็นข้าราชการหรือเป็นนักการเมือง จะเข้ามาในฐานะที่เป็นประชาชนผู้รักบ้าน รักเมือง รักท้องถิ่นร่วมกัน ชุมชนท้องถิ่นจะเป็นเจ้าภาพในการพัฒนา เป็นเจ้าของพื้นที่ในการพัฒนา ชุมชนท้องถิ่นจะร่วมมือกับทุกๆฝ่ายได้ แล้วก็ควรจะร่วมมือ จะเป็นราชการก็ได้ จะเป็นฝ่ายการเมืองก็ได้ จะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็ได้ ชุมชนท้องถิ่นอาจจะไม่มีงบประมาณของตัวเอง แต่อาศัยงบประมาณของส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น หรืองบประมาณขององค์กรที่ไม่ใช่ส่วนราชการก็ได้ ชุมชนท้องถิ่นจะเป็นเจ้าภาพที่ถาวรจะอยู่กับพื้นที่นานแสนนาน ไม่ใช่ข้าราชการที่มาอยู่ไม่กี่เดือน ไม่กี่ปีแล้วก็จากไป ไม่ใช่นักการเมืองที่มากับการเลือกตั้งและก็ไปกับการเลือกตั้ง ชุมชนท้องถิ่นจะต้องอยู่ตลอดไป แล้วก็เป็นสมอง ต้องเตรียมพัฒนาชุมชนให้เป็นสมอง เป็นปัญญาของพื้นที่ เป็นเจ้าภาพอย่างเดียวไม่พอนะครับ ต้องเป็นเจ้าภาพที่ ประสานงานเก่ง เป็นเจ้าภาพที่ให้เกียรติส่วนต่างๆ เป็นเจ้าภาพที่มีสติปัญญา มีสมอง มีแผนการในการทำงานระยะยาว ระยะปานกลาง ระยะสั้น และสุดท้ายชุมชนท้องถิ่นมีผู้นำได้ ควรจะมีผู้นำด้วย แต่ก็ไม่ใช่ผู้นำชี้ขาดแต่อย่างเดียว แล้วก็ถ้าผู้นำคนหนึ่งหมดไป ผู้นำคนใหม่ๆก็ขึ้นมาสืบทอดได้ และที่สำคัญที่สุดก็คือความเป็นชุมชนครับ อันนี้ก็เป็นสิ่งที่ผมสรุปจากการได้เห็นชุมชนท้องถิ่นในประเทศไทยที่ประสบความสำเร็จ มันประสบความสำเร็จได้เพราะสิ่งที่ผมกล่าวมา
ท่านผู้มีเกียรติครับเวลาผมอยู่ที่กรุงเทพ เวลาที่ผมทำงานกับส่วนกลาง รวมทั้งเขียนแผนปฏิรูปการเมือง จะทำให้เห็นแต่กรม กระทรวง รัฐบาล รัฐสภานักการเมืองเป็นหลัก ซึ่งจะทำให้ไม่ค่อยเห็นความเปลี่ยนแปลง ทำให้รู้สึกว่า ไม่เป็นสุข จะเป็นทุกข์ จะห่วงใย แล้วที่จะหาคำตอบที่จะทำให้ความห่วงใย พ้นไปนี่ครับ หาได้ยากมาก แต่ 4 - 5 ปีหลัง ผมออกต่างจังหวัดแทบจะทุกเดือน แทบจะทุกอาทิตย์นะ ผมพบว่า เวลาอยู่ต่างจังหวัด ได้เห็นอะไรใหม่ๆ เห็นการเติบโต เห็นการความเบิกบาน เห็นความสดใส ความสร้างสรรค์ และสิ่งต่างๆ ที่ผมเห็น มักจะเป็นผลงานของชุมชนท้องถิ่น จะขอเล่าให้ฟังไม่กี่แห่งกันนะครับ ที่ไปเห็นมาดีนะครับ เร็วๆนี้ ผมก็ไป หลายจังหวัด เช่น จังหวัดอุดรธานีครับ พวกเราหลายคนมาจากภาคอีสาน มาจากอุดรธานี ผมไปเยี่ยมอุดรธานีมา ก็ได้เห็น 4 อย่างด้วยกันนะครับ ซึ่งจะเชิญชวนพวกเราให้ไปดู ส่วนแรกก็คือ
ทะเลบัวแดง ก็คือ หนองหานแต่เดิมเหละ เวลานี้หนองหาน ซึ่งมีบัวแดงขึ้นเต็มไปหมด แล้วก็เรียกชื่อใหม่ว่า ทะเลบัวแดง เป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับชาติไปแล้ว มีนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศมาเที่ยวมากขึ้น มากขึ้นเรื่อยๆ มันเกิดจากชุมชนที่อยู่รอบๆ ทะเลบัวแดงนั่นแหละริเริ่มการท่องเที่ยวขึ้นมา มีผู้นำแต่จะต้องมีความเต็มใจ มีความร่วมมือของชุมชน ในหลายตำบล หลายอำเภอที่อยู่รอบทะเลบัวแดง ก็มีธุรกิจที่เกิดขึ้น คือ นำเรือพานักท่องเที่ยวออกไปเยี่ยมชมทะเลบัวแดง ไปดูบัวแดง ซึ่งเวลานี้บอกว่าสวยไม่แพ้ที่ทะเลน้อยพัทลุงแล้ว ผมก็ไปเห็นมาทั้ง 2 ที่ ก็ยอมรับว่าทะเลบัวแดงที่อุดรนั้นสวยมากครับ นอกจากนั้นก็ยังมีธุรกิจ ที่พัก หรือที่เรียกว่าโฮมสเตย์นะครับ โดยชาวบ้านเป็นคนทำ แล้วก็มีธุรกิจขายของให้นักท่องเที่ยว ปีหนึ่งชาวบ้านได้เงินกันนะครับ หลายหมื่น หลายแสนต่อครัวเรือน จากทะเลบัวแดงครับ โดยที่ไม่ต้องไปรอให้การท่องเที่ยว ไม่ต้องไปรอให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์การพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยว ไปทำ แต่ว่าชาวบ้านทำกันเอง ทำกันแบบเป็นชุมชน ทำเป็นวิสาหกิจชุมชนไปในตัว ร่วมมือกับ อบต.ด้วย แต่ อบต.ไม่ใช่หลัก ที่เป็นหลักก็คือชุมชนรอบทะเลบัวแดง
ประการที่สองที่อุดร ที่ผมไปเห็นมาแล้วก็ตื่นตะลึงก็คือ ศาลเจ้าของชาวจีนที่อยู่ในเมืองอุดร ผมไปดูชุมชนจีนมาหลายที่แล้วนะครับ ต้องยอมรับว่าศาลเจ้าพิพิธภัณฑ์ของชาวจีนที่อุดร จัดว่าดีที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ ซึ่งเกิดจากชุมชนท้องถิ่นที่เป็นชุมชนชาวจีน ทำอย่างดีนะครับ เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นนักธุรกิจด้วย ก็มีฐานะทางการเงินที่ดี แต่ว่าลำพังแค่เป็นคหบดี แต่ถ้าไม่รวมกันเป็นชุมชน ไม่มีความรักในบรรพชน ที่เป็นจีนหรือมีวัฒนธรรมของบรรพชนจีนร่วมกัน ก็คงไม่เกิดเป็นศาลเจ้าพิพิธภัณฑ์ชาวจีน ที่สวยงามทันสมัยแบบนี้ ที่ผมพูดไปตอนต้นชุมชนท้องถิ่นทะเลบัวแดงอันนั้นก็เป็นคนพื้นที่แท้ๆ ที่ไม่ใช่ชาวจีนแน่ๆ ส่วนในตัวเมืองชุมชนจีนเป็นชุมชนเมือง ที่เป็นลูกหลานชาวจีนครับ ท่านผู้มีเกียรติครับ ชุมชนท้องถิ่นเดี๋ยวท่านฟังไปเรื่อยๆ ท่านก็จะเห็น ไม่ว่าจะเป็นชุมชนท้องถิ่นที่เป็นกึ่งชนบท หรือว่าเมือง หรือว่านคร สามารถสร้างความรู้สึกที่เป็นชุมชน ช่วยกันพัฒนาชุมชนของตนเองได้อย่างไม่ลำบาก
อันที่ 3 ที่ผมไปเห็นที่อุดรนะครับ ก็คือพิพิธภัณฑ์เมืองอุดรธานี ซึ่งได้มาจากการเอาอาคารเก่าสมัยรัชกาลที่ 6 อาคารราชินูทิศ ซึ่งเป็น อาคารเก่าที่สวยงามมาก มาทำเป็นพิพิธภัณฑ์ ในระยะเริ่มต้นจะมีอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นคนริเริ่ม แต่ในที่สุด แล้วชุมชนก็เข้ามาร่วม ชุมชนนี้ก็เป็นทั้งทุกชาติ ทุกภาษาที่อยู่ในอุดร ตอนทีหลังก็มีเทศบาลอุดรมารับไปเป็นเจ้าของพิพิธภัณฑ์ มีงบประมาณสนับสนุนให้ แต่ว่าชุมชนท้องถิ่นจะเข้ามามีบทบาทมากว่าจะสร้างพิพิธภัณฑ์เมืองอย่างไรครับ เป็นพิพิธภัณฑ์เมืองที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย มีพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาด้วยนะครับ กล่าวถึงเมืองอุดรธานีตั้งแต่สมัยมนุษย์โบราณ ไล่มาเรื่อยๆ จนถึงเมืองอุดร ที่กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม สร้างขึ้นมาเมื่อ 100 กว่าปีที่แล้ว ก็น่าชมมาก รวมทั้งมีส่วนที่พูดถึงความสำคัญของเมืองอุดร เมืองอุดร ที่เคยเป็นที่ตั้งของกองทหารอเมริกันที่ใหญ่ที่สุด ในประเทศ เศรษฐกิจของเมืองอุดรที่เจริญเฟื่องฟูขึ้นจากช่วงยุคสงครามเวียดนาม ก็ทำให้คนเข้าชมมีความรู้ ความเข้าใจ มีความรักในเมืองอุดรธานี สิ่งเหล่านี้ถ้าจะอาศัยให้กรมศิลปากรไปทำ มันช้า สุดท้ายผมก็ได้เห็นงานที่อุดรอีกอย่าง คือ
ประการที่ 4 สิ่งนี้ก็เกิดจากชุมชนชาวเมืองอุดรเป็นการทำรถรางนำเที่ยวเมืองอุดรครับ รถรางจะไปเริ่มต้นที่ภาคเอกชนที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของอุดร คือเซ็นทรัล แล้วก็ปล่อยรถรางไปรอบเมือง ซึ่งก็มีมัคคุเทศก์ อาสาสมัครกันส่วนใหญ่ที่เป็นอาจารย์ของราชภัฏเป็นต้น พานักท่องเที่ยวไปตามจุดต่างๆในเมืองอุดร ซึ่งก็ทำให้รู้สึกว่าเมืองอุดรเป็นเมืองที่สำคัญมาก ปกติคนมาเที่ยวอุดรจะมาแบบชะโงกทัวร์ เสร็จแล้วก็ไม่รู้ว่ามันสำคัญอย่างไร รู้แต่ว่าอุดร เจริญดี แต่ด้วยความคึกคัก ความกระตือรือร้น ความสร้างสรรค์ ความเบิกบาน ของชุมชนท้องถิ่น จึงทำให้อุดรต่อไปนี้มีความสำคัญขึ้น คนอยากจะไปเที่ยวอุดรมากวันขึ้น อยากไปพักผ่อนที่อุดรมากวันขึ้น พูดถึงตรงนี้แล้วก็ขอพูดไปถึงเมืองเชียงคานและเมืองน่านด้วย
เชียงคานและน่าน ตอนนี้เป็นเมืองท่องเที่ยวระดับสำคัญของประเทศไปแล้ว เชียงคานเป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดเลย น่านเป็นจังหวัดหนึ่งในภาคเหนือตอนบน การท่องเที่ยวที่เชียงคานและน่านมีลักษณะทางวัฒนธรรมสูงนะครับ ออกแบบโดยชุมชนเชียงคาน ออกแบบโดยชุมชนน่าน แล้วก็เข้ามากำหนดทิศทางของการท่องเที่ยว ไม่ได้ปล่อยให้การท่องเที่ยวที่เชียงคานและที่น่าน เป็นของธุรกิจท่องเที่ยวเท่านั้น ซึ่งอันนี้ผมก็ตื่นเต้นมาก อย่างที่จังหวัดน่าน ชุมชนที่นั่น ถือเป็นคำขวัญแล้วก็เป็นเข็มทิศชี้นำทางในการทำท่องเที่ยวก็คือว่าที่จังหวัดน่านนั้นจะไม่ปล่อยให้นักท่องเที่ยวมาเปลี่ยนวัฒนธรรมของคนน่าน แต่คนน่านที่เข้มแข็งและภูมิใจพอจะเปลี่ยนวัฒนธรรมของนักท่องเที่ยวให้มาเป็นวัฒนธรรมแบบน่าน วันนี้การท่องเที่ยวที่ผ่านๆ มามันขาดพลังตรงนี้ กลายเป็นว่าที่ผ่านมามันเป็นการท่องเที่ยวของธุรกิจท่องเที่ยว แต่ที่เชียงคานและน่าน เขาพยายามทำ แล้วก็ทำได้สำเร็จทีเดียว ทำให้การท่องเที่ยวเป็นไปโดยชุมชน เป็นของชุมชนและก็เป็นเพื่อชุมชน เพื่อการท่องเที่ยว ต้องไม่ทำลายวัฒนธรรมของชุมชน การท่องเที่ยวต้องไปเสริมความภาคภูมิใจ ในเชียงคาน ในน่าน และวกกลับไปที่เมื่อกี้ ในอุดรด้วย ท่านผู้มีเกียรติ ขณะนี้ประเทศไทยกำลังกลายเป็นเมือง เป็นนคร และบางที่เป็นมหานครมากขึ้นเรื่อยๆ กับกระแสนี้ผมเรียกว่ากระแส “นคราภิวัตน์ “ นครา แปลว่า เมือง ภิวัตน์ แปลว่า แผ่ ขยาย เรากำลังเป็น “นคราภิวัตน์” กันมากขึ้นเรื่อยๆ นะครับ ชุมชนท้องถิ่น จึงเป็นทั้งชุมชนที่ยังเป็นกึ่งชนบทอยู่นะครับ ส่วนชุมชนชนบทแท้ๆ นั้นผมว่าแทบจะไม่เหลือแล้วเวลานี้ อย่างน้อยๆ ก็เป็นกึ่งเมือง กึ่งชนบท แต่ขณะเดียวกันชุมชนเมือง ก็มากขึ้น โตขึ้น ขยายขึ้น ชุมชนนคร ก็โตขึ้น ขยายขึ้นเพราะฉะนั้น คำว่า ชุมชนท้องถิ่น ของผมจึงหมายนับรวมหมดนะครับ ทั้งชุมชนชนบท ชุมชนกึ่งชนบท ชุมชนเมือง ชุมชนนคร ชุมชนมหานคร ในนคราภิวัตน์ เราจะต้องให้ความสนใจไม่เฉพาะที่ความเป็นเมืองทางกายภาพเท่านั้น เราไม่ได้ตื่นเต้นที่มีเมือง มีนคร มีมหานครมากขึ้นครับ แต่เราจะต้องเอาการเป็นเมือง เป็นนครมหานคร มาฝึกให้คนเป็นชุมชนให้มากขึ้น อาจจะเป็นชุมชนของทั้งเมือง ชุมชนของทั้งนคร แล้วก็อาจจะเป็นชุมชน ที่เป็นส่วนย่อยของเมือง ของนคร การเป็นชุมชนในนคราภิวัตน์ จะฝึกให้คนรักส่วนรวม รักถิ่นฐานบ้านเกิด รักถิ่นที่ทำงาน ไม่ใช่รักแต่ชาติเท่านั้น เราคนไทยถูกฝึกมาให้รักชาติ เราก็รักชาติ เราก็มีชาตินิยม ถูกต้องทั้งหมด แต่ว่าไม่พอ เราจะต้องรักถิ่นเราจะต้องรักบ้านเกิด เราจะต้องรักท้องที่ ท้องถิ่น ที่เราอยู่ เราจะต้องรักเมืองที่เราอยู่ เราจะต้องรักนคร ที่เราอยู่ เราจะต้องมีถิ่นนิยม ภาคนิยม ท้องถิ่นนิยม เมืองนิยม นครนิยม มหานครนิยม และความรักที่เรามีต่อส่วนย่อยของชาติ จะต้องไม่มาทำให้ความรักที่มีต่อชาติของเราเสื่อมถอย หรือคลอนแคลน รักไปพร้อมพร้อมกันได้ทั้ง 2 ระดับ การที่เราฝึกตนเองให้รักส่วนรวม ให้รักบ้านเมือง ให้รักถิ่นฐาน ให้รักท้องถิ่น ในรูปของชุมชน จะทำให้เราเป็นประชาชนที่เข้มแข็ง เป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง จะทำให้เราคิดต่อการเมือง ว่าไม่ใช่การเลือกผู้แทน การเลือกผู้นำ การเลือกนาย การประท้วงนาย การประท้วงผู้แทน การประท้วงรัฐบาล เท่านั้นนะครับ แต่ว่าจะนำไปสู่ว่าทำยังไง ชุมชนท้องถิ่นจะมีส่วนร่วม จะมีบทบาท โดยตรงและการพัฒนาให้มากขึ้น เราจะต้องมาถึงยุคที่ ชุมชนท้องถิ่นร่วมสร้างประเทศ ร่วมสร้างชาติ หลายสิบปีหรือเป็นร้อยปีที่ผ่านมา ชาติและประเทศ มาช่วยสร้างท้องถิ่น ท้องที่ ชุมชนท้องถิ่น แต่ในปัจจุบันผมคิดว่าจะต้องกลับทิศกันบ้างแล้ว จะต้องให้ชุมชนท้องถิ่นร่วมสร้างประเทศ โดยเริ่มต้นจากการสร้างท้องถิ่น ท้องที่ พื้นที่ของตนเองให้ดี หัวใจของนคราภิวัตน์ ก็คือ ความรัก ความภูมิใจ ในท้องถิ่น เห็นท้องถิ่นของตนมีค่า มีความหมาย ซึ่งตรงนี้ก็ทำให้ผมคิดถึงอีก 2 จังหวัด ที่ผมได้ไปเยือนมาเมื่อเร็วๆนี้ คือ จังหวัดตรัง กับ จังหวัดสงขลา
ผมได้เห็นคนสงขลา ตื่นเต้นตื่นตัว สนใจประวัติศาสตร์เมืองสงขลา แล้วก็เลือกที่จะอธิบาย เลือกที่จะนำเสนอประวัติศาสตร์เมืองสงขลา แบบที่ทำให้เกิด “สงขลานิยม” ในทางที่ถูกนะครับ เช่นมีการนำเอาโรงสีเก่า ที่เรียกว่าโรงสีแดง ซึ่งอยู่ในเขตเมืองเก่าของสงขลาขึ้นมาเป็นเวที เป็นสถาน ที่ของการนำเสนอประวัติศาสตร์เมืองสงขลา ผมก็ไปฟังสักชั่วโมงหนึ่ง รู้สึกเลยครับว่า เมืองสงขลานี้จะเรียกว่า “ธานีศรีประเทศไทย” ได้ครับ เพราะสำคัญเหลือเกิน เขาเล่าให้ฟังครับว่า เมืองสงขลา มีคนดี คนเก่ง ระดับชาติอยู่เยอะทีเดียว ตั้งแต่หลวงพ่อทวด ประธานองคมนตรีเปรม ติณสุลานนท์ นะครับ บางคนก็จะเติมให้เร็วๆ นี้ก็ยังมี อาจารย์วิษณุ เครืองาม อาจารย์บวรศักดิ์ อุวรรณโณ อีกด้วย ก็ได้ใช่ไหมครับ แล้วก็มีคนชี้อีกว่า มันไม่ใช่แค่นั้นนะครับ ประธานองคมนตรีที่เป็นคนสงขลาคนแรก ไม่ใช่พลเอกเปรม ติณสุลานนท์ หากคือ เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศร์ (จิตร ณ สงขลา) ท่านเป็นประธานองคมนตรีในรัชกาลที่ 9 ถึง 2 ครั้ง สั้นๆ ก่อนหน้า พลเอกเปรม หลายสิบปี ฟังแล้วก็เมืองสงขลาเข้าท่าจริงๆ เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศร์ ท่านไม่ได้เป็นแต่ประธานองคมนตรีเท่านั้น ท่านเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรด้วย และก็มีพระยามานวราชเสวี ก็เป็นคนสงขลา ทั้งสองคนนามสกุล ณ สงขลา ทั้งสองคนเป็นพี่น้องกัน พระยามานวราชเสวี เคยเป็นผู้สำเร็จราชการ สมัยต้นรัชกาลที่ 9 และก็เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรด้วย มีบางคนชี้อีกว่า รัชกาลที่ 3 ท่านก็มีสายเลือดสงขลา ถ้าพูดแบบชาวบ้านธรรมดา คือท่านเป็นลูกของเจ้าจอมมารดาเรียม ซึ่งเจ้าจอมมารดาเรียม เป็นชายา เป็นหม่อมห้ามคนหนึ่งของรัชกาลที่ 2 ครับ แล้วก็เป็นแม่ของรัชกาลที่ 3 เจ้าจอมมารดาเรียม สืบเชื้อสายมาจากสุลต่านเมืองสงขลา เพราะฉะนั้นรัชกาลที่ 3 คนสงขลาจะกล่าวด้วยความภาคภูมิใจ ว่ารัชกาลที่ 3 ท่านมีสายเลือดสงขลา ส่วนรัชกาลที่ 4 ไม่มี แต่รัชกาลที่ 4 ท่านก็มีพระราชินี คือ กรมสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์ ก็เป็นพระราชมารดาของรัชกาลที่ 5 แต่ท่านก็เป็นหลานปู่ของรัชกาลที่ 3 ด้วย ฉะนั้นจังหวัดสงขลาจึงกล่าวด้วยความภาคภูมิใจว่ารัชกาลที่ 5 ก็ทรงมีสายเลือดสงขลากัน ตั้งรัชกาลที่ 5 มีสายเลือดสงขลากันทั้งนั้น รัชกาลที่ 6 7 8 9 มีหมด แล้วก็ยังกล่าวด้วยความภาคภูมิใจว่าในสมัยที่ความขัดแย้งระหว่างคณะราษฎรกับพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เกิดขึ้นนั้นครับ หลังกบฏบวรเดช รัชกาลที่ 7 ท่านเสด็จไปพักอยู่ที่เมืองสงขลา เพื่อแสดงให้คณะราษฎร์ได้เห็น ให้ประชาชนไทยได้เห็น ว่าท่านไม่ได้ไปยุ่งเกี่ยวอะไรกับความขัดแย้ง ท่านไม่ได้มีส่วนอะไรกับกบฏบวรเดช ท่านลงไปอยู่ที่สงขลาถึง 48 วัน ที่ตำหนักเขาน้อย ต่างๆ สิ่งที่ได้ฟังมาก็อาจจะมีความผิดพลาดอยู่บ้าง แต่ก็ฟังดูแล้วคงถูกต้องนะครับ แต่ที่ว่าไม่น่าจะผิดพลาด คือคนที่เล่าไม่ใช่นักประวัติศาสตร์อาชีพ แต่เขาก็ภูมิใจเหลือเกินในสงขลาของเขา ผมคิดว่าท้องถิ่นอื่นๆ ต้องเอาแบบอย่างคนสงขลา ต้องเลือกประวัติศาสตร์และสร้างประวัติศาสตร์ของตนเองขึ้นมา จากข้อเท็จจริงนะครับ แต่จะต้องทำให้มุมมองของท้องถิ่นสูงส่งขึ้น มีความภูมิใจขึ้น อย่างเช่นสงขลา แต่ไม่ใช่สงขลาเท่านั้นที่ทำได้ดีนะครับ เชียงใหม่ก็ทำได้ดีมาก คนเชียงใหม่ คนลำพูน คนลำปาง ล้วนมีสำนึกประวัติศาสตร์ เรื่องที่ว่าล้านนาในอดีตเคยเป็นบริเวณที่สำคัญมากของประเทศ ถ้าไม่มีความร่วมมือของล้านนา รัตนโกสินทร์ก็ยังจะต้องเผชิญกับศึกจากพม่าอีกหลายหลายครั้ง
กลับมาจากจังหวัดสุดท้ายที่ผมได้ไปเยือนมาก็คือจังหวัดตรัง ผมไปจังหวัดตรังไม่รู้กี่ครั้งแล้ว แต่ว่าไปจังหวัดตรังก็จะไปดูทะเล หรือว่าจะไปกินหมูย่างแล้วก็วนๆ ไปดูทิวทัศน์ที่มีอาคารต่างๆ เก่าๆสวยงามตั้งอยู่บนที่สูง เนินๆ ต่ำๆ นะครับ แต่ไปตรังเที่ยวนี้ ชุมชนท้องถิ่นที่ตรัง เขามีความก้าวหน้าขึ้นเยอะ เขารื้อฟื้นประวัติศาสตร์ตรัง และเผยแพร่ประวัติศาสตร์ตรัง ให้นักท่องเที่ยวได้มีโอกาสชื่นชมด้วย ก็เลยได้รู้จัก พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี๊ ณ ระนอง) เจ้าเมืองตรัง คนสำคัญซึ่งปกครองตรังอยู่ 10 กว่าปีมากขึ้น ท่านผู้นำมีตระกูลเป็น ณ ระนอง ท่านนี้ยังได้เป็นสมุหเทศาภิบาล มณฑลภูเก็ตด้วยตระกูล ณ ระนอง ดูแลอีกหลายเมืองไม่ใช่เฉพาะเมืองตรังเท่านั้น ท่านผู้นี้ คือ ผู้ที่มีส่วนสำคัญที่นำยางพารา จากมลายู มาปลูกที่ภาคใต้ของไทยและก็ทำให้ เมืองตรัง เป็นแหล่งการค้าที่สำคัญ ไปเมืองตรังเที่ยวนี้ชุมชนท้องถิ่นก็ยังทำให้ผมได้เข้าใจว่าตรังกับนครศรีธรรมราช มันผูกพันกันมาก นครศรีธรรมราชอยู่ฝั่งทะเลด้านอ่าวไทย เป็นเมืองใหญ่ที่สุดในภาคใต้ แต่ว่านครศรีธรรมราชนั้นจะต้องมีทางออกทะเลฝั่งอันดามันด้วย จะออกทะเลเฉพาะฝั่งอ่าวไทยไม่ได้ จะต้องออกทะเลทางอันดามันด้วย โดยที่ภูมิศาสตร์ช่วยครับ จังหวัดตรังต่อกับจังหวัดนครศรีธรรมราชได้ด้วยแม่น้ำตรัง เดินบกจากตัวจังหวัดตรังมาที่ทุ่งสงไม่ไกล และจากทุ่งสงก็จะอาศัยแม่น้ำตรัง พาเรือ พาคน พาของ มาจนถึงที่กันตังนะครับ ซึ่งเป็นที่ๆ ปากแม่น้ำตรังไหลลงทะเล ฉะนั้นตรังมีบทบาทมาตั้งแต่สมัยโบราณ แล้วก็ที่ผมไปที่ภาคใต้เที่ยวนี้ ก็ได้ไปเห็นพิพิธภัณฑ์ลูกปัด ซึ่งจะทำให้ผมได้เข้าใจว่าคาบสมุทรภาคใต้ว่าสำคัญมากๆ ไม่ใช่เฉพาะตรังกับสงขลาไม่ใช่เฉพาะกันตัง ไม่ใช่เฉพาะนครศรีธรรมราช แต่ว่ามันสำคัญทั้งคาบสมุทรเลย เพราะเราได้พบลูกปัด มีค่าเก่าแก่หลายพันปี หลายร้อยปี อยู่แทบทุกจังหวัดในคาบสมุทรภาคใต้ คาบสมุทรภาคใต้เป็นบริเวณที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของการเดินเรือทะเลโบราณ สมัยที่ยังไม่มีเรือกลไฟ เรือจักร ก็ใช้ใบเป็นเรือสำเภา ก็จะต้องเดินทางจากจีน ญี่ปุ่น เกาหลี ผ่านคาบสมุทรภาคใต้ ถ่ายของ ถ่ายคน เดินข้าม ขนข้ามคาบสมุทรภาคใต้ ซึ่งใช้เวลาหลายวันหรือไม่กี่อาทิตย์ แล้วข้ามมาอีกฝั่งหนึ่ง แล้วก็นั่งเรือต่ออีกที่ฝั่งอันดามัน แล้วก็เดินทางไปสู่อินเดีย สู่เปอร์เซียหรืออิหร่าน หรือไปสู่ตะวันออกกลาง ในทางกลับกันถ้ามาจากทางตะวันตก คือมาจากเปอร์เซีย มาจากอิหร่าน มาจากอินเดีย จะต้องลงที่ฝั่งอันดามัน แล้วก็ขนคน ขนของ ข้ามคาบสมุทรมาลงที่อ่าวไทย แล้วก็นั่งเรือที่อ่าวไทย ต่อไปยังเวียดนาม เกาหลี จีน ญี่ปุ่น ในประวัติของหลวงจีนที่เดินทางจากประเทศจีนมาศึกษาธรรมะที่อินเดียและก็กลับจากการศึกษาธรรมะที่อินเดียแล้วกลับไปที่ประเทศจีน เขียนบันทึกเอาไว้ ว่าจะเดินทางกี่วันแล้วก็จะมาเจอกับแผ่นดิน แล้วก็จะเดินข้ามแผ่นดินแคบแคบตรงนั้น แล้วก็จะไปเจอทะเลอีกทีหนึ่ง แล้วจะนั่งเรือจากทะเลตรงนั้น เดินทางต่อ เพราะฉะนั้นคาบสมุทรภาคใต้ของไทยสำคัญมาก สำคัญต่อประเทศ สำคัญต่อเอเชียอาคเนย์ สำคัญต่อเอเชีย สำคัญต่อหลายทวีป อันนี้เป็นสิ่งที่ชุมชนท้องถิ่นมีส่วนสำคัญมากในการแสดงให้ความรู้ ผมเองได้ตระหนักในสิ่งนี้ ผมเชื่อว่าพวกเราทุกคนถ้าได้ไปเยือนจังหวัดต่างๆ ที่ผมได้เอ่ยมาทั้งหมด ซึ่งก็มีหลายภาค ผมได้พูดถึงเชียงคาน เชียงคานอยู่อีสานนะครับ อยู่จังหวัดเลย น่านอยู่ภาคเหนือ นะครับ อุดรอยู่ภาคอีสาน ตรัง สงขลา นครศรีธรรมราช อยู่ภาคใต้
ชุมชนท้องถิ่นล้วนแต่มีความสำคัญทั้งสิ้น ผมก็อยากจะสรุปในตอนสุดท้าย ว่าบ้านเราจะพัฒนา เราจะปฏิรูปประเทศ ไม่ว่าจะด้านการเมือง ไม่ว่าจะด้านสังคม ไม่ว่าจะด้านเศรษฐกิจ ตรงไหนครับที่เป็นจุดสำคัญที่สุด ผมคิดว่าจุดสำคัญที่สุด ไม่ใช่รัฐ ไม่ใช่ราชการ ไม่ใช่แม้กระทั่งเอกชน หากอยู่ที่ ชุมชน ชุมชนท้องถิ่นหรือประชาสังคม หรือจะเรียกว่า ชุมชนท้องถิ่นก็ได้ อยู่ที่ประชาชน แต่ประชาชนนั้นเป็นคำใหญ่ คำกว้าง ผมว่าเราเน้นที่ชุมชนท้องถิ่นนั่นแหละถูกที่สุด ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ก็เพราะเราปกครองแบบประชาธิปไตย และระบอบประชาธิปไตย ประชาชนไม่ใช่เป็นเพียงผู้รับนโยบาย ไม่ใช่เป็นเพียงผู้รับผลประโยชน์ ไม่ใช่เป็นเพียงผู้ที่เดือดร้อนจากนโยบาย ไม่ใช่เป็นเพียงผู้ประท้วงรัฐบาลที่ไม่ดี แต่ประชาชน คือ เจ้าของประเทศ ถ้าเจ้าของประเทศ มีความตื่นรู้ มีความตื่นตระหนัก มีความกระตือรือร้น มีความเฉลียวฉลาดมีภูมิปัญญา นั่นแหละครับ คือ ประเทศไทยที่เป็นประชาธิปไตย ที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขจะยั่งยืนมั่นคง