xs
xsm
sm
md
lg

สตีเฟน ฮอว์กิ้งกับมุมมองทางสังคมและการสอนลูก

เผยแพร่:   โดย: ประสาท มีแต้ม

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว (14 มีนาคม 61) ชาวโลกได้สูญเสียนักวิทยาศาสตร์ที่ได้รับการยอมรับกันว่าเก่งที่สุดที่ยังมีชีวิตอยู่ นั่นคือ ศาสตราจารย์สตีเฟน ฮอว์กิ้ง (Stephen Hawking) แห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ สหราชอาณาจักร เขาได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่าเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงตั้งแต่อายุ 21 ปีขณะกำลังทำปริญญาเอก และจะมีชีวิตอยู่ได้อีก 2 ปี แต่เขาอยู่มาได้ถึง 55 ปี

เขามีผลงานทางวิชาการจนได้รับรางวัลมากมายรวมทั้งตำแหน่ง Lucasian Professor of Mathematics คนที่ 17 (เมื่อปี 1979) ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ริเริ่มโดยพระเจ้าชาลส์ที่ 2 เมื่อกว่า 300 ปีมาแล้ว ในจำนวนผู้ได้รับรางวัลดังกล่าว ผมเองรู้จักผลงานของเขาอย่างดีถึง 3 คนโดยเฉพาะอย่างยิ่ง Sir Isaac Newton ซึ่งท่านผู้อ่านหลายท่านคงจะคุ้นเคยคือคนที่คิดผลงานได้ตอนที่ผลแอปเปิลหล่นใส่หัว

เรียนตามตรงว่าผมไม่เข้าใจในผลงานด้านวิชาการที่มีชื่อเสียงของศาสตราจารย์ฮอว์กิ้ง แต่ที่ผมสนใจท่านมาก นอกจากความพิการของท่านแต่ยังสามารถผลิตผลงานได้อย่างต่อเนื่องแล้ว ผมสนใจในความคิดทางด้านสังคมของท่าน

ไหนๆ ก็พูดเรื่องการคิดผลงานได้ตอนที่แอปเปิลหล่นใส่หัวนิวตันตอนที่กำลังคิดเรื่องแรงโน้มถ่วงของโลกแล้ว เท่าที่ได้ดูหนังประวัติของฮอว์กิ้งก็พบว่า เขาคิดเรื่องหลุมดำได้ในขณะที่เขามีปัญหาถูกเสื้อยืดติดรัดอยู่ที่หัวเป็นเวลานานจนหายใจไม่ได้ อาร์คิมิดีส (นักวิทยาศาสตร์รุ่นเดอะ) วิ่งแก้ผ้าออกจากอ่างอาบน้ำแล้วร้องว่า “ยูเรก้า”จนได้ทฤษฎีเรื่องของไหล ผมเองค่อนข้างจะเชื่อเรื่องแบบนี้และมีประสบการณ์ตรงครับ

เรามักเชื่อกันว่า คนที่เก่งทางวิทยาศาสตร์จะไม่ค่อยเก่งทางด้านสังคมศาสตร์และศิลปศาสตร์ หรือกลับกัน จะหาคนเก่งทั้งสองด้านได้ยาก โดยอธิบายด้วยเหตุผลในเชิงหน้าที่ของสมองด้านซ้ายด้านขวาตามตำราแต่ในชีวิตจริงที่ผมได้สัมผัสกับผู้ที่เคยสอบได้ที่หนึ่งของประเทศไทยในแผนกวิทยาศาสตร์จำนวน 5 ท่าน ผมพบว่าท่านเหล่านั้นเก่งทุกเรื่อง เก่งจริงๆ ในสายตาผม บางคนวาดรูป บางคนเล่นดนตรี และบางคนทำกับข้าวเก่ง เป็นต้น และทุกคนอ่านหนังสือหลากหลายสาขา

ผมติดตามความคิดของศาสตราจารย์ฮอว์กิ้งมาหลายสิบปี ท่านเป็นนักคณิตศาสตร์ประยุกต์ที่ประยุกต์ไปในด้านฟิสิกส์เชิงทฤษฎี ซึ่งผมเองก็ศึกษามาทางสาขานี้ด้วยเหมือนกัน (แถมเกิดวันเดียวกันด้วย แต่ผมอ่อนกว่า) แต่ยอมรับอย่างไม่อายว่า ผมอ่านผลงานทางวิทยาศาสตร์ของท่านไม่เข้าใจครับต่อไปนี้ผมจะกล่าวถึงความคิดด้านสังคมของฮอว์กิ้ง ซึ่งหลายคนอาจจะยังไม่ทราบ

ครั้งหนึ่งท่านได้ให้สัมภาษณ์รายการ “Larry King Live” ซึ่งเป็นรายการสดที่โด่งดังของ CNN (น่าจะประมาณคืนก่อนขึ้นปี 2000 แต่ไม่แน่ใจนะ)

Larry King ถามว่า “คุณได้ความรู้พิเศษหรือมีวิธีการพัฒนาตนเองให้เป็นเด็กฉลาดได้อย่างไร”

ศาสตราจารย์ฮอว์กิ้งตอบได้ถูกใจผมมากว่า “เด็กทุกคนจะตั้งคำถามว่าสิ่งต่างๆ ทำงานได้อย่างไร ทำไมสิ่งเหล่านั้นจึงเป็นไปตามที่มันเป็น เมื่อเด็กๆ โตขึ้นเขาจะได้รับการบอกว่าคำถามเหล่านั้นเป็นคำถามที่โง่เขลาหรือไม่ก็เป็นเพราะผู้ใหญ่ไม่มีคำตอบให้ ผมเองก็ยังตั้งคำถามในลักษณะเดียวกันจนถึงเดี๋ยวนี้”

ลองเชื่อมโยงมาถึงตัวเองหรือลูกหลานของตัวเอง ว่าเป็นดังที่ศาสตราจารย์ฮอว์กิ้งพูดไหม

เมื่อถูกถามว่าอะไรที่ทำให้คุณทำงานวิจัยจนมาถึงทุกวันนี้ได้ ศาสตราจารย์ฮอว์กิ้งตอบอย่างสั้นๆ ว่า “ความอยากรู้อยากเห็น (Curiosity)” หลังจากหยุดไปนิดหนึ่งท่านก็เสริมต่อว่า “ผมต้องการรู้คำตอบ ผมมีความสุขกับชีวิต ผมจะทำเช่นนี้ต่อไปตราบเท่าที่ผมยังสามารถทำได้”

ศาสตราจารย์ฮอว์กิ้งมีบุตร 3 คน จากภาพยนตร์ที่เขียนเรื่องโดยภรรยา (คนแรก) ของท่านเอง พบว่าแม้แต่แม่ยายของฮอว์กิ้งเองก็สงสัยว่าลูกคนเล็กเป็นลูกของฮอว์กิ้งจริงหรือไม่

ในปี 2010 ท่านได้ให้สัมภาษณ์ในรายการ “World News Tonight” (ABC News) ถึงการให้คำปรึกษาในฐานะที่เป็นพ่อของลูกอย่างไรบ้าง

ศาสตราจารย์ฮอว์กิ้งตอบว่า “คำปรึกษาที่สำคัญที่สุดที่ผมได้ให้กับลูกๆ คือ หนึ่ง จงระลึกว่าต้องมองดูดาวอย่ามองมาที่เท้าตนเอง สอง อย่ายอมละทิ้งการงาน การทำงานจะให้รู้ความหมายและวัตถุประสงค์ของชีวิต และชีวิตจะเป็นสิ่งว่างเปล่าหากปราศจากการทำงาน และสาม ถ้าลูกๆ โชคดีพอที่จะพบกับความรัก จงจำไว้ว่าความรักเป็นสิ่งที่มีค่าและหาได้ยากจงอย่าโยนมันทิ้งไป” (MORGAN WINSOR Good Morning America March 15, 2018)

หากเราพิจารณาให้ดีๆ เราจะพบว่าคำตอบที่ท่านตอบคำถามของ Larry King กับคำปรึกษาที่ท่านให้คำปรึกษากับลูกๆ มีสิ่งที่เหมือนกันอยู่ คือความมุ่งมั่นในการทำงานตลอดชีวิต

ในด้านความคิดทางสังคม ศาสตราจารย์ฮอว์กิ้งได้ออกมาเตือนชาวโลกอย่างกล้าหาญบ่อยครั้งถึงพิษภัยของ 4 เรื่องหลัก คือ พันธุวิศวกรรม โลกร้อน อาวุธนิวเคลียร์ และปัญญาประดิษฐ์ ทั้งๆ ที่เรื่องดังกล่าวผมเข้าใจค่อนข้างจะห่างไกลจากงานที่ท่านวิจัยคือ จักรวาลวิทยา (Cosmology-การศึกษาที่เกี่ยวข้องกับจักรวาลโดยรวมและเป็นพื้นฐานของชีวิตเราทุกคน-จากคำพูดของฮอว์กิ้ง)

“เรากำลังตกอยู่ในอันตรายจากการทำลายตัวเราเองอันเกิดจากความโลภและความโง่เขลา เราไม่สามารถมุ่งมาที่ตัวเราเองเหมือนที่เรากำลังทำอยู่บนโลกใบเล็กๆ ที่มีมลพิษและประชากรเพิ่มขึ้น”

เมื่อประมาณปลายปี 2559 ศาสตราจารย์ฮอว์กิ้งได้เตือนว่า มนุษย์จะสามารถอาศัยบนโลกนี้ได้อีกประมาณ 1,000 ปี ถ้าไม่อยากจะสูญพันธุ์ก็ต้องอพยพไปอยู่ดาวดวงอื่น แต่อีก 6 เดือนต่อมาเมื่อประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศจะถอนตัวจากข้อตกลงปารีส ท่านได้ปรับตัวเลขจาก 1,000 ปี ลงมาเหลือเพียง 100 ปีเท่านั้น

เมื่อ Larry King (ในการสัมภาษณ์ครั้งเดิม) ถามว่า “คุณเป็นคนมองโลกในแง่ดีหรือมองโลกในแง่ร้าย”

ฮอว์กิ้งตอบว่า “ผมเห็นอันตรายใหญ่หลวงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แต่ผมเป็นคนมองโลกในแง่ดีนะ ผมคาดหวังว่าเราจะหาหนทางออกในอนาคตได้”

“คุณเป็นคนที่มีความสุขใช่ไหม”
เป็นคำถามสุดท้ายในการสัมภาษณ์นาน 8 นาทีครั้งนั้น

ฮอว์กิ้งตอบว่า “ใช่”

จากการสืบค้นถึงคำพูดของศาสตราจารย์ฮอว์กิ้งพบว่า ท่านเคยตอบคำถามในลักษณะเดียวกันว่า “แม้ว่าผมเคลื่อนไหวตัวเองไม่ได้ และต้องพูดผ่านคอมพิวเตอร์ แต่ใจของผม ผมเป็นอิสระ”

เชื่อแล้วว่าท่านเป็นคนมองโลกในแง่ดีจริงๆ นับถือๆ


แม้ว่าท่านจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ไม่ปกติด้านร่างกาย แต่ท่านมีจินตนาการและมีความเข้าใจถึงการสื่อสารอย่างดีเยี่ยม ลองอ่านข้อความต่อไปนี้ครับ

“เป็นเวลาหลายล้านปีมาแล้ว มนุษย์มีชีวิตคล้ายกับสัตว์อื่นๆ ต่อมาได้มีสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นซึ่งสามารถปลดปล่อยพลังแห่งจินตนาการของเรา เราเรียนรู้ที่จะพูด และเรียนรู้ที่จะรับฟัง การพูดได้อนุญาตให้เราสื่อสารความคิด ทำให้มนุษย์ทำงานร่วมกันเพื่อสร้างสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ของมนุษย์มาจากการได้พูดคุยกัน และความล้มเหลวที่ใหญ่โตก็เกิดจากการไม่ได้พูดคุยกัน มันไม่จำเป็นต้องเป็นเช่นนี้ ความหวังที่ยิ่งใหญ่ของเราจะสามารถเป็นจริงได้ในอนาคตด้วยเทคโนโลยีที่พร้อมจะรับใช้เรา ความเป็นไปได้ไม่ถูกปิดกั้น ทั้งหมดที่เราจำเป็นต้องทำคือต้องมั่นใจในการพูดคุยกัน” (https://www.yahoo.com/news/quotations-stephen-hawking-051013853.html)

เมื่อประมาณ 10 กว่าปีมาแล้ว ผมได้เขียนบทความถึงวิวัฒนาการของมนุษย์ (คุณสนธิ ลิ้มทองกุล ได้นำมาเล่าต่อบนเวทีพันธมิตรฯ) ว่ามนุษย์เป็นสัตว์ชนิดเดียวที่มีกล่องเสียงที่สามารถออกเสียงได้หลากหลายมากกว่าเสียงไก่ เสียงนก แต่ละเสียงสามารถจำแนกอารมณ์ของผู้พูดได้ นอกจากนี้เรายังมีมือและหัวแม่มือเอาไว้จับและสัมผัสสิ่งต่างๆ ระหว่างที่มือจับสมองก็รับรู้ คิด จำแนก สมองของมนุษย์จึงมีรอยหยักมาก หรือฉลาดมาก

ปัจจุบันเรามีเครื่องมือการสื่อสารชั้นเลิศที่แทบทุกคนสามารถเป็นเจ้าของ และมีความเป็นอิสระ (ศัพท์ของฮอว์กิ้ง) ที่จะสื่อสารได้

ที่เราจำเป็นต้องทำคือต้องมั่นใจในการพูดคุยกันตามที่ศาสตราจารย์ฮอว์กิ้งกล่าว และจะดีกว่านั้นหากเป็นการสื่อสารเพื่อปกป้องโลกที่บอบบางของเราครับ มันมีทางออกและสามารถแก้ไขได้

ผมก็คิดว่า ตัวผมเองก็เป็นคนมองโลกในแง่ดีเหมือนกัน



กำลังโหลดความคิดเห็น