xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อข้าราชการต้องทราบจำนวนนกบนฟ้า ปลาในน้ำ และช้างในป่า ปัญหาสถิติทางการของประเทศไทย

เผยแพร่:   โดย: อาจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์


อาจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
ผู้อำนวยการหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิตและวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต Business Analytics and Data Science
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์ สถายันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


เมื่อวันก่อนผมได้ไปบรรยายพิเศษให้นักศึกษาปริญญาโท ภาคค่ำสำหรับผู้บริหาร ทางด้านบริหารรัฐกิจ ที่มหาวิทยาลัยของรัฐเก่าแก่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่ง หัวข้อที่บรรยายคือ วิทยาการข้อมูลกับการบริหารรัฐกิจ แต่คำถามของนักศึกษาที่ทำให้ผมถึงกับอึ้งไปมีดังนี้

1.ผมรับราชการในหน่วยงานที่จะทำอะไรไม่มีคำว่าไม่ได้ เรื่องข้อมูลก็เช่นกัน ถ้าหน่วยเหนือต้องการทราบจำนวนนกบนฟ้า จำนวนปลาในน้ำ และจำนวนช้างในป่า ผมก็ต้องหาให้ได้ ทั้งๆ ที่เราไม่มีข้อมูล แล้วเราก็ไม่รู้จะแก้ปัญหาอย่างไร เพราะเราไม่ใช่นักสถิติและมีความรู้เพียงพอ

2.หน่วยเหนือได้ข้อมูลไปแล้วนำไปสรุปเป็นข้อมูลของทางราชการ เป็นสถิติทางการ จะเชื่อได้อย่างไร แล้วคนที่นำข้อมูลไปใช้จะมีวิธีการอย่างไรที่จะแยกแยะว่าข้อมูลของทางราชการที่ได้ไปนั้นจะถูกต้องแค่ไหนและจะแก้ไขได้อย่างไร

3.ผมรู้สึกอึดอัดมาก ไม่ทำก็ไม่ได้ แต่ถ้าทำก็รู้สึกผิดกับตัวเอง และถ้าอาจารย์เป็นผมจะทำอย่างไร

คำถามนี้ทำให้ผมอึดอัดใจมาก สงสาร เห็นใจ และเข้าใจข้าราชการ (โดยเฉพาะชั้นผู้น้อย) ผู้ปฏิบัติงานหน้างานเป็นอย่างยิ่ง

ผมเพิ่งบรรยายไปว่าในประเทศที่พัฒนาแล้วเขาจะมีข้อมูลเปิด (Open data) มาก ทำให้เกิดการตรวจสอบ นำไปใช้ต่อยอด ทำให้เกิดการวิจัยได้โดยง่าย และทำให้เกิดธรรมาภิบาลในการบริหารราชการแผ่นดิน แต่ประเทศด้อยพัฒนานั้นดัชนีข้อมูลเปิดต่าง ๆ ของโลกมักจะต่ำต้อยมาก รวมทั้งประเทศไทยด้วย เมื่อหลายปีก่อนเกาหลีใต้เคยมีปัญหาเช่นนี้จนเกิดการออกข้อกำหนดที่เรียกว่า ข้อมูลเลวย่อมดีกว่าไม่มีข้อมูล (Bad data is better than no data). สาระสำคัญคือหากไม่ใช่การทุจริตแล้ว ข้อมูลที่เลว อันได้แก่ ข้อมูลที่ผิดพลาด ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน ข้อมูลที่ขัดแย้งกันเอง ก็ไม่ควรจะถือว่าเป็นความผิดของข้าราชการผู้รับผิดชอบ แต่ว่าเมื่อประชาชนทักท้วงแล้วต้องดำเนินการแก้ไขเท่าที่จะสามารถทำได้ เหตุที่ต้องทำแบบนี้ก็เพื่อส่งเสริมให้มีการเปิดเผยข้อมูลมากขึ้น ทำให้มีข้อมูลเปิด (Open data) มากขึ้น อันจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศและการส่งเสริมธรรมาภิบาล เพราะมีข้อมูลให้ตรวจสอบการทำงานของภาครัฐได้ เปิดเผย โปร่งใส

คำถามของนักศึกษาในชั้นเรียนนั้นย้อนแย้งกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในประเทศไทย

อันที่จริงการสำรวจจำนวนประชากรของสัตว์ป่า เช่น จำนวนนกบนฟ้า จำนวนปลาในน้ำ และจำนวนช้างในป่าไม่ใช่สิ่งที่ทำกันได้ง่ายๆ ถือว่าเป็นประชากรอนันต์ (Infinite Population) ประมาณค่าได้ยากมาก แม้แต่นักสถิติศาสตร์ก็ไม่ใช่ว่าทุกคนจะทำเรื่องนี้ได้ วิธีหนึ่งคือ mark and recapture หรือ ที่เรียกกันว่า capture-recapture อันเป็นวิธีการที่ใช้ในการประมาณค่าจำนวนประชากรอนันต์ที่ไม่ทราบค่าแน่นอนเช่นจำนวนสัตว์ป่า วิธีการคือจับสัตว์ป่ามาแล้วติดเครื่องหมาย แล้วปล่อยไปในธรรมชาติ แล้วจับกลับมาอีกครั้ง แล้วพิจารณาว่ามีตัวที่ marked หรือทำเครื่องหมายไว้แล้วติดกลับมาในการจับซ้ำ (Recapture) มากน้อยสักเท่าใด หลังจากนั้นใช้วิธีการทางสถิติอันแสนจะซับซ้อนในการประมาณค่าจำนวนประชากรอนันต์นั้น ๆ ซึ่งไม่ได้ทำกันได้ง่าย ๆ แต่อย่างใด

ที่มั่นใจมากคือหน่วยงานหน่วยเหนือนั้นก็ไม่ได้ทราบวิธีการตามหลักวิชาการนี้ กล่าวคือไม่มีความรู้เพียงพอที่จะได้มาซึ่งข้อมูล และไม่เข้าใจปัญหาหน้างาน ในขณะที่หน่วยงานที่รับทำหน้าที่ปฏิบัติก็ไม่มีความรู้ความสามารถเพียงพอที่จะทำงานนี้ได้ ข้อมูลที่ได้มาจากการสั่งให้รายงานของหน่วยเหนือจากหน้างาน จึงเป็นข้อมูลยกเมฆแทบทั้งนั้น และทำให้ขาดความเชื่อถือไป

คำถามที่สองคือ หากเราจะต้องใช้ข้อมูลของทางราชการที่เราได้กันมา เชื่อถือได้สักแค่ไหน จะรู้ได้อย่างไรว่าข้อมูลนั้น ๆ ถูกต้องหรือผิด

ประการแรก ตัวเราต้องมีความเชี่ยวชาญในเนื้อหาเรื่องนั้นๆ ก่อน (Subject matter expert) การมีความรู้ในเรื่องนั้นๆ จะช่วยให้เราแยกแยะได้ ว่าข้อมูลนั้น ๆ น่าเชื่อถือแค่ไหน ยกตัวอย่างเช่น ยำใหญ่ TDRI ตัวเลขอัตราการเสียชีวิตของมารดา : ความเสียหายจากการทำวิจัยแบบขาดความเข้าใจในนิยาม

ปัญหาคือ TDRI แสดงจำนวนอัตราการเสียชีวิตของมารดาจากการคลอด (Maternal Mortality Rate) สูงกว่าตัวเลขของกระทรวงสาธารณสุขหลายเท่ามาก แต่เมื่อพิจารณารายละเอียด กลับพบว่า มารดาอายุมากกว่า 55 ปี ท้องจำนวนมาก และตายจากการคลอด (แต่ผู้หญิงวัยนี้หมดประจำเดือนแล้ว) จะท้องได้อย่างไรกันมากมายขนาดนั้นแล้วยังตายมากมายด้วย

ประการที่สอง ต้องตรวจสอบคุณภาพข้อมูลก่อน มีข้อมูลสูญหายหรือไม่ มีข้อมูลย้อนแย้งกันเองมากมายน้อยแค่ไหน ในกรณีของ TDRI เรื่อง Maternal Mortality Rate ก็เช่นกัน กลับพบว่าบางเขตสุขภาพ มารดาอายุมากกว่า 55 ปี ท้องและตายจากการคลอดมากมาย และบางเขตสุขภาพไม่มีมารดาที่อายุมากกว่า 55 ปี ที่ท้องแล้วตายเลยแม้แต่สักคนเดียว จะเกิดเหตุการณ์ย้อนแย้งขัดแย้งกันเช่นนี้ได้อย่างไรในเมื่อก็เป็นคนเหมือน ๆ กัน ไม่น่าจะหนีธรรมชาติไปได้มากมายสักเท่าใด

คำถามที่สามคือ ผม (ผู้ถาม) รู้สึกอึดอัดมาก ไม่ทำก็ไม่ได้ แต่ถ้าทำก็รู้สึกผิดกับตัวเอง และถ้าอาจารย์เป็นผมจะทำอย่างไร

ผมเลยตอบกลับไปว่า เราคงต้องเลือกที่จะอยู่เป็น หรืออยู่อย่างมีศักดิ์ศรี ถ้าจะอยู่อย่างอยู่เป็นจะทำอย่างไรก็ได้เพื่อให้รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี เอาตัวรอดไปวัน ๆ ประเทศชาติจะเป็นอย่างไรก็ไม่ต้องไปสนใจ สำหรับตัวผมเลือกที่จะอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี ยอมเป็นหยกแหลกราญ ดีกว่าเป็นกระเบื้องสมบูรณ์ แม้จะเป็นหยกแตกก็ยังมีค่ากว่ากระเบื้องสมบูรณ์ ถ้าเราต้องทำในสิ่งที่เราไม่นับถือตัวเองแล้วจะทำไปเพื่ออะไร ผมเลยต้องเล่าเรื่องส่วนตัวที่ตัดสินใจลาออกจากการเป็นผู้อำนวยการศูนย์นิด้าโพลล์เพราะมีการเซ็นเซอร์โดยอธิการบดีซึ่งผมเห็นว่าเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง การที่เราทำสิ่งที่ถูกต้องและมีศักดิ์ศรี ไม่ได้อยู่ง่าย เพราะเราเลือกที่จะไม่อยู่เป็น แต่การเมืองนั้นมาแล้วก็ไป ความดีจะคุ้มครองเราหากเรายืนหยัดในการทำสิ่งที่ถูกต้องและอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี

ผมเคารพความเห็นของคุณที่คุณจะเลือกอยู่เป็นหรืออยู่อย่างมีศักดิ์ศรีก็ตามแต่ใจ เคารพและยอมรับได้ แต่ก็ขอให้นึกถึงประเทศชาติเป็นสำคัญ และขอให้ระลึกถึงเสมอว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงให้ความสำคัญกับสถิติศาสตร์ในการพัฒนาประเทศเป็นอย่างยิ่ง


กำลังโหลดความคิดเห็น