xs
xsm
sm
md
lg

"อุตตม"เร่งสรุปแผนศก.ชีวภาพรองรับการลงทุนเชื่อมโยงอีอีซี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน360- "อุตตม"รับยุทธศาสตร์เศรษฐกิจชีวภาพยังไม่สามารถเสนอ"ครม."เพื่อรับการลงทุนขยายไปยังพื้นที่อื่นเชื่อมโยงกับอีอีซีได้ วงในแย้มยังติดปัญหาผังเมืองโดยเฉพาะพื้นที่ขอนแก่น มั่นใจไม่กระทบลงทุน ด้านกรมธุรกิจพลังงานรับลูกพาณิชย์เร่งวิเคราะห์ผลกระทบอียูแบนเชื้อเพลิงชีวภาพที่ผลิตจากน้ำมันปาล์ม ด้านส.อ.ท. แนะปฏิรูปรับมือราคาตก

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยความคืบหน้าการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy ที่จัดทำโดยคณะทำงานด้านการพัฒนาคลัสเตอร์ภาคอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ภายใต้สานพลังประชารัฐ ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นหัวหน้าทีมภาครัฐ ว่า ขณะนี้ยอมรับว่าแผนดังกล่าวเดิมจะผลักดันให้เข้าสู่คณะรัฐมนตรี(ครม.)ตั้งแต่ปลายที่ผ่านมาแต่ขณะนี้ยังไม่สามารถเสนอได้เพราะยังติดปัญหาบางข้อที่ต้องปรับปรุงให้ชัดเจนก่อนเข้าครม.

"ไม่ต้องการให้เกิดปัญหาขึ้นภายหลังดังนั้นจะต้องให้ชัดเจนในหลายๆ เรื่องก่อนซึ่งแผนดังกล่าวจะเป็นการขยายการลงทุนเป็นระยะ 2 จากระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี)ไปยังพื้นที่อื่นเชื่อมโยงกันโดยเฉพาะภาคเหนือตอนล่าง(นครสวรรค์และกำแพงเพชร) และภาคอีสานตอนกลาง(ขอนแก่น) ที่มีวัตถุดิบสำคัญคือ น้ำตาล " นายอุตตมกล่าว

แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ตามแผนแล้วการลงทุนของทั้ง 3 พื้นที่คืออีอีซี ภาคเหนือตอนล่างและอีสานตอนบนจะมีเม็ดเงินลงทุนรวมประมาณ 1 แสนล้านบาทปัญหาที่ไม่สามารถเสนอครม.เห็นชอบเพราะยังคงติดปัญหาผังเมืองเนื่องจากการตั้งโรงงานบางที่ติดพื้นที่สีเขียวโดยเฉพาะขอนแก่นดังนั้นจึงต้องหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาต่อไป อย่างไรก็ตามภาคเอกชนที่พร้อมจะลงทุนได้มีการติดตามอย่างใกล้ชิดและรัฐได้อธิบายอย่างต่อเนื่องจึงมั่นใจว่าจะเข้าใจปัญหาดี

นายวิฑูรย์ กุลเจริญวิรัตน์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน(ธพ.) กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้กระทรวงพาณิชย์ได้ส่งหนังสือมายังกรมฯเพื่อขอให้รวบรวมและวิเคราะห์ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพที่ผลิตจากน้ำมันปาล์มจากกรณีที่สมาชิกรัฐสภาอียูส่วนใหญ่โหวตเพื่อแก้ไขร่างกฏหมายพลังงานทดแทนเรียกร้องให้ลดสัดส่วนเชื้อเพลิงชีวภาพ (Biofuels)และเชื้อเพลิงเหลวที่ผลิตจากน้ำมันปาล์มให้เป็นศูนย์ในปี 2564 โดยเจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างการรวบรวมและวิเคราะห์อยู่คาดว่าจะสรุปได้ภายใน 1-2 เดือนนี้

นายกฤษดา เชาวนะนันท์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่ามาตรการของอียูเกิดขึ้นเพราะเป็นการส่งเสริมให้เกิดการบุกรุกป่าปลูกปาล์ม ระยะสั้นคงจะมีผลทางจิตวิทยาด้านราคาที่อาจลดลง แต่ระยะยาวยังเชื่อว่าอียูไม่น่าจะห้ามได้ถาวรเพราะเชื้อเพลิงชีวภาพจากปาล์มมีต้นทุนต่ำสุดหากอียูยังมุ่งเน้นพลังงานทดแทน และโจทย์ในอนาคตของปาล์มจะมุ่งสู่อาหารมากขึ้น โดยวัฎจักรราคาปาล์มช่วงนี้ขาลงแต่อีก 2 ปีก็จะกลับมาเป็นขาขึ้นดังนั้นหากไทยบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพอุตสาหกรรมนี้จะยังสามารถยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มได้โดยไม่จำเป็นต้องลดพื้นที่แต่อย่างใด


กำลังโหลดความคิดเห็น