xs
xsm
sm
md
lg

ยึด‘ติ๋มโมเดล’คืนไลเซนส์ทีวีดิจิทัล-ศาลชี้เลิกสัญญาได้-ไม่ถูกริบเงิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน360- "เจ๊ติ๋ม ทีวีพูล" เฮ ศาลปกครองกลาง พิพากษาให้ กสทช. คืนหนังสือค้ำประกันมูลค่า 1.5 พันล้าน เหตุไม่ปฏิบัติตามสัญญา เจ้าตัวพอใจ หลังทุกข์หนักหลายปี แย้มเตรียมอุทธรณ์ต่อ ขอค่าเสียหายอีก 700 ล้าน ด้าน "ฐากร" รับพอใจคำวินิจฉัยศาลปกครอง เชื่อเป็นบรรทัดฐานให้ทีวีช่องอื่น โยนบอร์ดถกจะยื่นอุทธรณ์หรือไม่ 14 มี.ค.นี้ ด้านผู้ประกอบการจับตาทีวีดิจิทัลเล็งใช้เป็นกรณีตัวอย่าง แห่คืนใบอนุญาต คาดเหลืออยู่รอดไม่เกิน 10 ราย

วานนี้ (13 มี.ค.) ศาลปกครองกลาง อ่านคำพิพากษาในคดีที่ บริษัทไทยทวี จำกัด โดยนางพันธุ์ทิพา ศกุนต์ไชย กรรมการยื่นฟ้อง คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และสำนักงาน กสทช. เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งให้การประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ของบริษัทไทยทีวี เป็นโมฆะทั้งหมด และเพิกถอนหนังสือ กสทช. ฉบับลงวันที่ 28 พ.ค.58, ฉบับลงวันที่ 5 มิ.ย.58 ที่ให้บริษัทไทยทีวี ชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ งวดที่ 2 และฉบับลงวันที่ 22 มิ.ย.58 ที่ยกเลิกให้บริษัทไทยทีวีได้รับอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ พร้อมกับให้ชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาต ที่ให้ใช้คลื่นความถี่ และให้สั่ง กสทช. คืนหนังสือค้ำประกัน ของธนาคารกรุงเทพ จำนวน 16 ฉบับ ลงวันที่ 10 ก.พ. 57

โดยศาลปกครองกลาง จึงพิพากษาให้ กสทช. คืนหนังสือค้ำประกันที่เกินงวด 1,2 ให้กับ บริษัทไทยทีวี จำกัด หากคืนไม่ได้ ให้ชดใช้จำนวนเงินตามหนังสือค้ำประกันที่ไม่สามารถคืนได้ ให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับแต่คดีถึงที่สุด และคืนค่าธรรมเนียมศาลบางส่วน ตามส่วนการชนะคดีให้แก่บริษัทไทยทีวีฯ

สำหรับกรณีที่บริษัทไทยทีวี ขอให้ กสทช. ชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 713,828,282.94 พร้อมดอกเบี้ย ร้อยละ 7.5 ต่อปีนั้น ศาลเห็นว่า การดำเนินการล่าช้าของ กสทช.ไม่ใช่สาเหตุหลักที่ทำให้บริษัทไทยทีวี ประสบภาวะขาดทุน แต่ความเสียหายเกิดขึ้น มาจากการดำเนินธุรกิจปกติ กสทช. จึงไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายในส่วนนี้

นางพันธุ์ทิพา กล่าวภายหลังศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาว่า พอใจคำพิพากษาของศาล และทำให้คนทั้งประเทศทราบ กสทช. กระทำผิด จึงได้สั่งให้ กสทช. คืนแบงก์การันตี ให้บริษัทมูลค่ารวมกว่า 1,500 ล้านบาท แต่ศาลไม่ได้ให้ชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 700 ล้านบาท ตามที่ขอไป จึงเตรียมจะยื่นอุทธรณ์เพิ่มเติม ในส่วนนี้ โดยมั่นใจว่า มีเอกสารที่ชี้ให้เห็นว่า กสทช.ทำผิดสัญญา จนทำให้เกิดความเสียหาย

"เชื่อว่าเราไม่ใช่คนที่ไม่เก่ง ไม่ใช่คนที่อ่อนแอ หรือไม่มีสายป่าน ขาดทุนแล้วจึงเลิก แต่เชื่อว่า ตัวเองเป็นคนเก่ง มีความสามารถเพียงแต่สิ่งที่ กสทช.ทำ ไม่ได้เอื้อ และเป็นอุปสรรคจนทำให้เกิดความเสียหาย ประวัติการทำธุรกิจเกือบ 40 ปี ไม่เคยขาดทุนแม้แต่บาทเดียว ทำไมเราจึงจะมาโง่ วันนี้ กลายเป็นคนมองธุรกิจไม่เป็น อ่อนแอ เป็นเรื่องที่กระทบภาพลักษณ์มาก การสู้วันนี้ ไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง แต่สู้เพื่อประชาชน ซึ่งตอนนี้ช่องอื่น ๆ ก็ลำบากหมด บางคนครอบครัวแตกแยก ถึงขนาดเกือบฆ่าตัวตาย ซึ่งล้วนเกิดจากการกระทำของ กสทช.ทั้งสิ้น ถือว่าเป็นบาปอย่างยิ่ง และแม้ว่ากสทช. ชุดที่อนุมัติ เรื่องทีวีดิจิตอล จะพ้นตำแหน่งไปแล้ว แต่ใครทำกรรมอะไรไว้ ก็ต้องรับผลกรรมนั้น" นางพันธุ์ทิพา กล่าว

ด้านนายสมบัติ ลีลาพตะ ผอ.สำนักกฎหมาย กสทช. กล่าวว่า ทาง กสทช.จะยื่นอุทธรณ์ ภายใน 30 วัน เนื่องจากเห็นว่า ศาลยังไม่ได้นำข้อเท็จจริงบางส่วน มาประกอบการพิจารณา เช่น รายละเอียดในหนังสือชี้ชวน ที่กำหนดว่า โครงข่ายจะมีการขยายได้ปีละเท่าใด และ กรณีที่ บ.ไทยทีวี อ้างว่าโครงข่ายของกรมประชาสัมพันธ์ มีปัญหา แต่จริงๆ ทางไทยทีวี ใช้โครงข่ายของผู้ประกอบการรายอื่น

*** บอร์ดกสทช.นัดถกด่วนวันนี้

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า สำนักงานกสทช.ได้รับทราบคำสั่งศาลปกครองกลางแล้ว โดยจะคัดคำพิพากษาศาลฯเสนอต่อที่ประชุมบอร์ดกสทช.ในวันนี้ (14 มี.ค.) นี้ ซึ่งส่วนตัวพอใจกับคำวินิจฉัยของศาล และขอขอบคุณที่หาทางออกให้ผู้ประกอบการทีวีทุกช่อง เพราะสำนักงานฯ ถือเป็นหลักการที่ดีที่ผู้ประกอบการที่ต้องการจะคืนใบอนุญาตจะได้มีหลักการในการดำเนินการได้ สำหรับการอุทธรณ์คำวินิจฉัยบอร์ดกสทช.จะพิจารณาอีกครั้ง

นายฐากร กล่าวว่าในวันที่ 15 มี.ค.ที่จะถึงนี้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้เชิญสมาคมผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลไปหารือถึงมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล โดยจะเชิญผู้ประกอบการทุกกลุ่มและกสทช.ไปประชุมที่ทำเนียบรัฐบาล

*** จับตาทีวีดิจิทัลคืนใบอนุญาต

นายนวมินทร์ ประสพเนตร กรรมการผู้จัดการ บริษัท โมโน บรอดคาซท์ จำกัด ในเครือโมโน กรุ๊ป ผู้ดำเนินธุรกิจทีวีดิจิทัล กล่าวถึง คำพิพากษา กสทช.กระทำผิดสัญญาตามประกาศชี้ชวน เป็นเหตุให้บริษัท ไทยทีวี จำกัด มีสิทธิบอกเลิกสัญญา ว่า คำตัดสินของศาลที่จะถือเป็นบรรทัดฐานสำคัญ สำหรับผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลในอนาคต โดยส่วนตัวผมคิดว่าเป็นเรื่องดีที่สามารถช่วยให้ผู้ประกอบการที่ไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อได้สามารถคืนสัญญาหรือคืนช่องได้

นายสุวิทย์ มิ่งมล ประธานสหภาพ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กรณีนี้จะเป็นตัวอย่างและจะมีทีวีดิจิทัลอีกหลายช่องมองเป็นตัวอย่างได้เพราว่ามีหลายช่องก็แบกรับภาระต้นทุนที่สูงไม่ไหว เนื่องจากปัจจุบันนี้ทีวีดิจิทัลที่ได้รับใบอนุญาตมา 24 ช่อง มีเพียง 22 ช่องที่ดำเนินการอยู่ นอกจากช่องของเจ๊ติ๋ม 2 ช่องที่หยุดดำเนินการไปก่อนหน้านี้นานแล้ว ซึ่ง 22 ช่องที่เหลือ มีแนวโน้มอาจจะลดลงเหลือไม่ถึง 10 ช่องเท่านั้น และที่ผ่านมาหลายช่องไปไม่รอดจึงได้ได้เปลี่ยนแปลงนายทุนหรือเจ้าของแล้ว

ทั้งนี้ สิ่งที่ กสทช. จะต้องดำเนินการต่อจากนี้ คือการยอมรับความจริงและข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น ด้วยการแก้ไขเงื่อนไขสัมปทานหรือกฎหมายที่ออกมาก่อนหน้า เช่น ใบอนุญาตสัมปทาน 15 ปีที่ให้เอกชนไปนั้น ในเรื่องของการจ่ายค่างวดสัมปทานควรจะมีการปรับเปลี่ยนแปลงอย่างไรได้บ้าง หรือการจ่ายค่าMUGสัญญาณ จะลดลงอย่างไรได้บ้าง

“ที่ผ่านมา คนในวงการทีวีดิจิทัล ต้องถูกปลดหรือออกจากงานไปแล้วไม่ต่ำกว่า 2,000 คน เพราะการที่ผู้ประกอบการแบกรับต้นทุนไม่ไหวของทีวีดิจิทัลหลายช่อง เพราะต้นทุนการประมูลสูงมาก” นายสุวิทย์ กล่าว

--------------


กำลังโหลดความคิดเห็น