xs
xsm
sm
md
lg

เยียวยา"ปู่โคอิ"1หมื่นบาท คาดไม่มีสิทธิ์กลับคืนป่าแก่งกระจาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (13 มี.ค. ) ศาลปกครองสูงสุด ออกนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก ในคดีที่ นายโคอิ หรือ คออี้ มีมิ กับพวกรวม 6คน ซึ่งเป็นชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงปกาเกอะญอ ในพื้นที่ จ.เพชรบุรี ฟ้องกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กับพวกรวม 2 คน กรณี จนท.กรมอุทยานแห่งชาติฯ ทำการเผาทำลายทรัพย์สิน ยุ้งฉางข้าว ของนายโคอิ และพวกในพื้นที่ป่าแก่งกระจาน จากการขยายผลการอพยพ ผลักดัน จับกุมชนกลุ่มน้อย ที่บุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ซึ่งศาลปกครองชั้นต้น เคยมีคำพิพากษาแล้วว่า การกระทำของจนท. เป็นการดำเนินการถูกต้อง เหมาะสมตามหลักความได้สัดส่วน และตามควรแก่กรณีสภาพการณ์แล้ว ไม่ถือเป็นการกระทำละเมิด แต่การเผาทำลายดังกล่าว ทำให้สิ่งของเครื่องใช้ในครัวเรือน และของใช้ส่วนตัวของ นายโคอิ และพวกเสียหายตามไปด้วย จึงถือได้ว่าเป็นการกระทำละเมิด อันเกิดจากการใช้อำนาจตาม กม. ศาลจึงให้กรมอุทยานแห่งชาติฯ ชดใช้ค่าเสียหาย แก่นายโคอิ และพวกคนละ 10,000 บาท
แต่หลังจากศาลปค.ชั้นต้น มีคำพิพากษา ทั้ง 2 ฝ่าย ต่างยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปค.สูงสุด โดยนายโคอิ และพวกอุทธรณ์ว่า ความเสียหายที่ได้รับ เกิดจากการกระทำเกินกว่าหน้าที่ ของจนท.โดยตรง จึงต้องรับผิดชอบในความเสียหายต่อทรัพย์สิน และวิถีชีวิตของนายโคอิ และพวก ขณะที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ อุทธรณ์ว่า จนท.ได้ปฏิบัติหน้าที่โดยชอบแล้ว และเป็นไปตามกม. จึงไม่ได้กระทำละเมิด
ในการพิจารณาคดีวานนี้ (13มี.ค.) ทั้ง 2 ฝ่ายได้ทำคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษร ยื่นต่อศาลฯ โดยตัวแทนกรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้แถลงด้วยวาจาต่อศาล ว่า มีการเผาเพิงพักใกล้กับบริเวณดังกล่าว ก่อนที่จนท. จะเข้าสำรวจพื้นที่ป่า และทำการจับกุมผู้กระทำผิด และจากการตรวจสอบพิกัดที่ดิน ย้อนหลังไปถึงปี 2495 ไม่พบว่า พื้นที่ดังกล่าวมีการทำการเกษตร ตามที่นายโคอิ และพวก อ้างว่าเป็นพื้นที่ทำกินมาหลายชั่วอายุคน แต่อย่างใด
ขณะที่ตุลาการผู้แถลงคดี เห็นว่า แม้นายโคอิกับพวกจะอ้างว่าบรรพบุรษตั้งถิ่นฐานในพื้นที่พิพาท มาช้านาน แต่ไม่มีเอกสารหลักฐาน ที่ยืนยันได้ว่า ครอบครองที่ดินพิพาทมาก่อนประกาศเขตอุทยานแห่งชาติ ปี 2524 จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามติ ครม. 3 ส.ค.53 เรื่องแนวนโยบาย และหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง นายโคอิกับพวก จึงไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาท ศาลจึงไม่อาจมีคำสั่งให้นายโคอิ กับพวก กลับคืนสู่สถานะเดิมก่อนมีคำสั่งกรมอุทยานได้ แต่ที่จนท.ทำการรื้อถอน และเผาทำลายเพิงพัก เป็นการดำเนินการ ที่ไม่เป็นไปตามขั้นตอนของ ม. 22 ของพ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ 2504 และตามคู่มือแนวทางปฏิบัติที่กรมอุทยานฯ กำหนดขึ้นตาม ม. 22 ของ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ เนื่องจากสิ่งของ หรือสิ่งปลูกสร้างบางอย่าง สามารถขนย้ายออกมาได้ จึงถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ทำให้ทรัพย์สินอื่นถูกทำลายเกินสมควร
จึงถือว่า จนท.กระทำโดยไม่ชอบด้วยกม. เข้าองค์ประกอบ ทำละเมิดตาม ม. 420 ประมวลกฎหมายแพ่ง จึงสมควรที่ศาลปค.สูงสุด จะมีคำพิพากษายืน ตามศาลปค.ชั้นต้น ที่ให้ชดใช้ค่าเสียหายสิ่งของเครื่องใช้ครัวเรือน 5 พันบาท และสินไหมทดแทนเกี่ยวกับของใช้ส่วนตัวอีก 5 พันบาท รวมเป็นคนละ 1 หมื่นบาท
ส่วนการที่กรมอุทยานฯ อ้างว่า จนท.ไม่ได้เป็นคนเผานั้น ฟังไม่ขึ้น เพราะข้อเท็จจริงยุติในศาลปกครองชั้นต้นแล้ว และการที่ นายโคอิ และพวก อ้างว่า นอกจากค่าความเสียหายของทรัพย์สินในเพิงพักแล้ว การกระทำของจนท. ก่อให้เกิดความเสียหายทางจิตใจ และต่อชาติพันธุ์ จึงขอให้ชดใช้ค่าเสียหายส่วนดังกล่าวด้วยนั้น เห็นว่าฟังไม่ขึ้น
ด้านนายสมนึก ตุ้มสุภาพ ทนายความของนายโคอิ กับพวก กล่าวว่า หากท้ายที่สุดองค์คณะมีความเห็นเหมือนตุลาการผู้แถลงคดี ว่า การกระทำของจนท.อุทยานฯ เป็นการละเมิด ก็จะเป็นเรื่องดี แต่ในส่วนที่นายโคอิ กับพวกต้องการกลับไปอยู่ในพื้นที่พิพาทเดิม ตนยังเห็นต่างกับตุลาการผู้แถลงคดี ที่ว่า ต้องมีเอกสารหลักฐานแสดงการครอบครองมาก่อน ดังนั้นโอกาสที่กลุ่มกระเหรี่ยงจะได้กลับไปอยู่ในพื้นที่เดิมคงต้องเป็นเรื่องของนโยบายรัฐบาลซึ่งภาคประชาชน ก็คงต้องไปผลักดันกันต่อไป
ส่วนนายอภิสิทธิ์ เจริญสุข ตัวแทนชาวกระเหรี่ยง กล่าวว่า วันนี้ นายโคอิ เดินทางมาไม่ไหว เนื่องจากมีอายุ 100 กว่าปีแล้ว แต่ก็ฝากมาว่า อยากจะให้ผู้ที่เกี่ยวข้องพิจารณาออกกฎหมายให้ชาวกระเหรี่ยงมีชีวิต ความเป็นอยูที่ดีขึ้น เพราะการที่เราไม่มีหลักฐานอะไรทำให้การใช้ชีวิตในทุกวันนี้ค่อนข้่างลำบากยังโดนเจ้าหน้าที่รัฐเล่นงานอยู่บ่อย ๆ


กำลังโหลดความคิดเห็น