xs
xsm
sm
md
lg

"บิ๊กตู่"จ่อนั่งปธ.ที่ปรึกษาพรรคประชารัฐ ชิงนายกฯคนใน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปูด"บิ๊กตู่"เตรียมรับตำแหน่งประธานที่ปรึกษาพรรคประชารัฐ เพื่อใส่ชื่อในบัญชีนายกฯของพรรค ไม่ต้องรอเป็นนายกฯ คนนอก "วิรัตน์" ชี้ ขัดนิติรัฐ หากจะไปนั่งปธ.ที่ปรึกษาพรรค ควรต้องลาออกนายกฯก่อน เพื่อไม่เป็นการเอาเปรียบคนอื่น "ณัฐวุฒิ" ฟันธง "บิ๊กตู่" จะเลือกนั่งนายกฯ แบบคนนอก ขณะที่ คสช.ลั่นไม่ใช้อำนาจนอกกรอบ วอนทุกกลุ่มช่วยสร้างบรรยากาศสร้างสรรค์

มีรายงานข่าวจากแกนนำรัฐบาลแจ้งว่า กลุ่มการเมืองที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. เตรียมผลัดกันให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯต่อ โดยใช้พรรคพลังประชารัฐ ที่ไปยื่นจดจองชื่อพรรคการเมืองใหม่ เมื่อวันที่ 2 มี.ค. ที่ผ่านมา เป็นฐาน ในการเสนอชื่อพล.อ.ประยุทธ์ ในบัญชีนายกรัฐมนตรี

ทั้งนี้ มีรายงานด้วยว่า กำลังมีการหารือกันว่า จะให้ พล.อ.ประยุทธ์ มารับตำแหน่งประธานที่ปรึกษาพรรค เพื่อตัดปัญหาเกี่ยวกับข้อครหาว่าจะมาเป็นนายกฯคนนอก เพราะได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของพรรคการเมืองแล้ว โดยพรรคนี้จะสานต่อนโยบายประชารัฐ ของรัฐบาลที่ดำเนินการอยู่ในขณะนี้

สำหรับพรรคพลังประชารัฐ ได้ยื่นจดจองชื่อพรรคต่อ กกต. โดยนายชวน ชูจันทร์ ประธานประชาคมตลาดน้ำคลองลัดมะยม เมื่อวันที่ 2 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยพรรคได้เตรียมเปิดตัวอย่างเป็นทางการในเร็วๆนี้ และมีการคาดหมายว่าจะมีบุคคลระดับรัฐมนตรี ในรัฐบาลนี้ มานั่งเป็นหัวหน้าพรรค

ทั้งนี้ ในวันที่ไปจดจองชื่อพรรคนั้น นายชวน ถูกตั้งคำถามว่า เป็นหนึ่งในพรรคนอมินีของคสช. หรือไม่ เพราะชื่อพรรค ไปพ้องกับโครงการประชารัฐ ของรัฐบาลคสช. ซึ่งนายชวน ได้ตอบว่า อาจเป็นความบังเอิญ แต่ยอมรับว่ามีเพื่อนที่รู้จัก และทำงานร่วมกับรัฐบาล อย่างนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯด้านเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวที่ติดตามการเมือง มองว่า การที่ พล.อ.ประยุทธ์ มีแนวคิด ที่จะให้พรรคหนึ่งพรรคใดเสนอชื่อเข้าชิงตำแหน่งนายกฯ ในบัญชีของพรรค เพราะเริ่มรู้ว่าเส้นทางการเป็นนายกฯ คนนอกนั้น เป็นเรื่องยาก โพลทุกโพลค้านหมด อีกทั้งพรรคประชาธิปัตย์ ก็มีจุดยืนที่ชัดเจนว่าคัดค้านนายกฯ คนนอก แต่ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ เลือกที่จะเป็น "นายกฯคนใน" พรรคประชาธิปัตย์ ก็อาจจะมาสนับสนุนได้ ซึ่งการเป็นนายกฯคนใน ต้องใช้เสียงไม่ต่ำกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวน ส.ส.+ส.ว. (500+250) คือ 376 เสียงเป็นอย่างต่ำ

แต่ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ เลือกเส้นทางนายกฯคนนอก จะต้องรอให้สถานการณ์ที่พรรคการเมืองเลือกนายกฯในบัญชีไม่ได้ รัฐธรรมนูญก็เปิดช่องให้เลือกนายกฯคนนอกได้ แต่จะต้องใช้เสียง 2 ใน 3 ของสมาชิกสองสภารวมกัน คือ ต้องมีเสียงสนับสนุน 500 เสียงขึ้นไป ในการขออนุมัติจากสภา เพื่อให้นายกฯคนนอกได้ จากนั้นบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งนายกฯคนนอก ต้องได้เสียงสนัยบสนุน 376 เสียงขึ้นไป

**แนะ"บิ๊กตู่"ควรลาออกจากนายกฯก่อน
ด้านนายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าทีมกม. พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงเรื่องนี้ ว่า การตั้งพรรคการเมือง ถ้ามีเจตนาบริสุทธิ์ เพื่อรวบรวมผู้คน นำมาพัฒนาบ้านเมือง ก็ถือเป็นเรื่องที่ดี และน่าสนับสนุน ซึ่งพรรคการเมืองประกาศสนับสนุนผู้ใดเป็นนายกฯ หรือ สนับสนุนแนวทางใดที่ไม่ขัดหรือ แย้งกับรธน. ย่อมสามารถกระทำได้

ดังนั้น การที่พรรคใด จะประกาศนโยบายว่าจะเดินหน้าสานต่อโครงการประชารัฐ ย่อมเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ แต่คนในรัฐบาลนี้โดยเฉพาะรัฐมนตรี หรือนายกฯ จะรับตำแหน่งหัวหน้าพรรค หรือตำแหน่งประธานที่ปรึกษาพรรค ในขณะที่ยังดำรงตำแหน่งทางการเมืองอยู่ ตนเห็นว่า ไม่น่าจะชอบด้วยหลักนิติรัฐ นิติธรรม และไม่ชอบด้วยเหตุผล เพราะเป็นการเอาเปรียบคนอื่นอย่างเห็นได้ชัด
" หากพรรคดังกล่าว มีหัวหน้าพรรค ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีอยู่ในรัฐบาลนี้ หากยืนยันที่จะตั้งพรรคการเมือง ก็ควรจะต้องลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี หรือ พล.อ.ประยุทธ์ อยากดำรงตำแหน่งประธานที่ปรึกษาพรรค ก็คงต้องลาออกจากนายกรัฐมนตรี เช่นกัน เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว จะกลายเป็นเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อน และดูไม่ดีในสายตาของพรรคการเมืองอื่น รวมถึงพี่น้องประชาชน "

นายวิรัตน์ กล่าวว่า ในทางกฎหมาย หากพรรคใดได้ที่นั่งส.ส.เกิน 25 คน ตัวบุคคลที่พรรคการเมืองนั้นเสนอ คือ รายชื่อ 1 ใน 3 คน ที่มีสิทธิ์ได้รับการพิจารณาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ ซึ่งจะง่ายและสะดวกกว่าการเป็นนายกฯคนนอก เพราะนายกฯคนนอก จะเข้ามาได้นั้นสภาฯต้องเห็นชอบในหลักการ โดยต้องได้เสียงมากกว่า 500 เสียง ดังนั้น หากพล.อ.ประยุทธ์ ประสงค์จะเป็นนายกฯ หลังการเลือกตั้ง โดยจะใช้ช่องทางให้พรรคการเมืองเสนอชื่อ 1 ใน 3 ชื่อ ย่อมจะมีโอกาสง่าย และมีโอกาสกว่ามาจากนายกฯ คนนอก เพียงแต่พรรคการเมืองนั้น ต้องถามพล.อ.ประยุทธ์ เสียก่อนว่า เขาจะยินยอมให้พรรคการเมืองนั้น เสนอชื่อตนเองเป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่

**'เต้น'ฟันธง!'บิ๊กตู่'เลือกนั่งนายกฯคนนอก
นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวว่า หากพล.อ.ประยุทธ์ จะตอบรับ ให้พรรคพลังประชารัฐ หรือพรรคอื่น เสนอชื่อเป็นนายกฯก็ถือเป็นสิทธิ์ ไม่มีกฎหมายห้าม เชื่อว่าน่าจะเลี่ยงสถานะนายกฯ คนนอกได้ เพราะถือเป็นนายกฯ คนใน หมายถึง คนในแผนสืบทอดอำนาจ ถ้าเป็นจริงตามที่มีข่าวออกมา ก็แสดงว่าทีมการเมืองของรัฐบาล นั่งประเมินสถานการณ์ และทำการบ้านเรื่องนี้มาตลอด สอดรับกับการเร่งลงพื้นที่ ครม.สัญจร และโครงการไทยนิยม ก็น่าจะอยู่ภายใต้เป้าหมายนี้ ถ้าฝ่ายผู้มีอำนาจไม่สนใจเรื่องความชอบธรรมเสียอย่าง จะใช้เทคนิกทางการเมืองอย่างไรก็ได้

นายณัฐวุฒิ กล่าวด้วยว่า ถ้ามองจากมาตรฐานทางการเมืองที่ผ่านมา เชื่อว่า พรรคประชาธิปัตย์จะบอยคอตการเลือกตั้ง เพราะการที่รัฐบาลใช้อำนาจ ร่างรธน.เอง พอนายกฯฟันธงว่า ไม่คว่ำกม.ลูก มติก็ออกมาเกมศูนย์ ตั้งส.ว.ไว้รอยกมือให้อีก 250 คน และ ถือมาตรา 44 ไว้จนกว่าจะมีครม.ใหม่มาทำหน้าที่ เท่ากับมีการใช้อำนาจล็อกผลการเลือกตั้ง เพื่อเป็นรัฐบาลต่อไป เหตุผลประมาณนี้ เป็นทำนองเดียวกับที่ใช้บอยคอตเลือกตั้งมาแล้ว 2 ครั้ง แต่ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ ไม่คำนึงถึงมาตรฐาน ก็ไม่ต่างกับ ที่ผู้มีอำนาจเป็น ยุคนี้ใครจะทำอะไร ก็เอาที่สบายใจ เป็นเรื่องที่ประชาชนจะใช้วิจารณญาณ

อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวเชื่อว่า วันนี้คนส่วนใหญ่ขอเพียงแค่ให้วันเลือกตั้งมาถึงตามสัญญา ใครจะมาไม้ไหน ไปวัดใจกันวันลงคะแนน ถ้ามั่นใจว่า การให้พรรคการเมืองเสนอชื่อเป็นคำตอบสุดท้าย ก็ไม่ควรมีความพยายามใดๆ ที่จะทำให้ช้าออกไปอีก

"คิดว่าถ้าพล.อ.ประยุทธ์ จะเป็นนายกฯต่อจริง น่าจะมาแบบคนนอกมากกว่า เพราะการอยู่ในบัญชีนายกฯ ของพรรคตั้งใหม่ แล้วได้รับเลือกตั้งเข้ามาน้อย ก็จะมีปัญหาว่า พรรคดังกล่าวไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชนส่วนใหญ่ เป็นนายกฯ จากพรรคเล็ก ก็คงไม่ใช่ภาพที่น่าพอใจ สู้รอให้ฝ่ายการเมืองตกลง ตั้งนายกฯ กันไม่ได้แล้วไปเชิญมาแก้ปัญหา จะดูลงตัวกว่า สุดท้ายหวยน่าจะออกแบบนี้" แกนนำ นปช. กล่าว

**คสช.ลั่นไม่ใช้อำนาจนอกกรอบ
พล.ต.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ ผบ. มทบ.11 ในฐานะทีมโฆษกคสช. กล่าวถึงกรณี กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง เสนอให้ยุบ คสช. เหลือไว้เพียงรัฐบาลรักษาการ ว่า ปัจจุบันเรามีรธน.ปี 60 โดย คสช.ได้ดำเนินการสร้าง และรักษาสภาพแวดล้อมที่สงบสุขและมั่นคงปลอดภัยให้เอื้ออำนวยต่อโรดแมปที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านให้กับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช.ได้ชี้แจงแล้วว่า การเลือกตั้งเป็นไป ตามระยะเวลาที่กำหนด ดังนั้น ชคสช.จะทำทุกอย่างเพื่อสนับสนุนรัฐบาลที่จะมุ่งสู่เป้าหมายดังกล่าว

ส่วนการใช้กฎหมายในปัจจุบัน ก็เป็นไปตามความจำเป็น และสอดคล้องกับรธน. ข้อเท็จจริงก็คือ คสช.ไม่ได้ใช้อำนาจใดๆ นอกกรอบที่กำหนดไปกว่าการฟ้องร้องต่อศาล ในเรื่องจำเป็น ซึ่งกลุ่มเรียกร้องก็สามารถต่อสู้ในกระบวนการดังกล่าวได้ ดังนั้น จึงขอความร่วมมือจากกลุ่มดังกล่าว รวมถึงทุกภาคส่วนในสังคม ควรจะร่วมมือกันสร้างบรรยากาศที่เอื้ออำนวยไปสู่การเลือกตั้งตามโรดแมป น่าจะเป็นการสร้างสรรค์มากกว่าไปดำเนินการอย่างอื่น


กำลังโหลดความคิดเห็น