xs
xsm
sm
md
lg

มหากาพย์คลองด่านภาค 2 ง้างอ้อยออกจากปากช้าง

เผยแพร่:   โดย: นพ นรนารถ


โครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน มหากาพย์การโกงครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ จะเป็นรองก็แต่โครงการจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กลับมาเป็นข่าวอีกครั้งหนึ่ง เมื่อศาลปกครองกลางมีคำสั่งเมื่อวันที่ 6 มีนาคมที่ผ่านมา เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 50/2546 หมายเลขแดงที่ 2/2554 ลงวันที่ 12 มกราคม 2554

คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าว คือ ให้กรมควบคุมมลพิษเจ้าของโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน จ่ายค่าเสียหายจำนวน 9 พันกว่าล้านบาท ให้กับ 6 บริษัทซึ่งเป็นผู้ชนะการประมูลก่อสร้างโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน

ผลของคำสั่งศาลปกครองกลางนี้ ทำให้กรมควบคุมมลพิษไม่ต้องจ่าย “ค่าโง่” จำนวน 9,615 ล้านบาทให้กับทั้ง 6 บริษัท

ที่เรียกว่า ค่าโง่ เพราะโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียก่อสร้างไปแล้วกว่า 90% มีการจ่ายค่าก่อสร้างไปแล้ว 54 งวดจากทั้งหมด 58 งวด รวมเป็นเงินกว่า 2 หมื่นล้านบาท แต่ถูกยกเลิกไปเมื่อปี 2546 หลังจากภาคประชาชนเคลื่อนไหวต่อต้านให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบโครงการ จนพบว่า มีการทุจริตในเรื่องที่ดินที่มีการย้ายที่ตั้งโครงการจากเดิม และออกเอกสารสิทธิทับที่ดินสาธารณะ ปัจจุบันโครงการกลายเป็นที่รกร้าง ทั้งๆที่เสียเงินค่าก่อสร้างถึง 2 หมื่นล้านบาทไปแล้ว และยังจะต้องจ่ายค่างวดก่อสร้างที่ยังค้างอีก 9.6 พันล้านบาท เพราะเอกชนผู้ก่อสร้างอ้างว่า รัฐเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาโดยที่เอกชนไม่ได้มีความผิด

การทุจริตในโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคือ การย้ายที่ตั้งโครงการจากเดิมที่แยกออกเป็นสองที่คนละฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาคือ ที่ตำบลบางปูใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำกับที่ตำบลบางปลากด อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ ฝั่งตะวันตก แต่ถูกรวบไปอยู่ในที่ดินผืนเดียวกันคือ ที่ตำบลคลองด่าน อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งนายวัฒนา อัศวเหม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้น ไปดักซื้อที่รอไว้แล้ว โดยส่วนหนึ่งของที่ดินเป็นที่สาธารณะ

การยุบโครงการจากสองที่ให้มารวมกันบนที่ดินผืนเดียวที่คลองด่าน ทำให้ บริษัท มารูเบนิ ซึ่งเป็น 1 ใน 2 บริษัทที่มีคุณสมบัติครบตามทีโออาร์หาที่ดินไม่ทัน ต้องถอนตัวจากการประมูล ทำให้กลุ่มกิจการร่วมค้า NVPSKG เป็นผู้เข้าประมูลรายเดียว

NVPSKG ประกอบด้วย N คือ นอร์ธเวสต์ วอเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล V คือ วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง P คือ ประยูรวิศว์ก่อสร้าง S คือ สี่แสงการโยธา K คือ กรุงธนเอนยิเนียร์ G คือ เกตเวย์ ดิเวลลอปเมนท์

ทั้ง 6 บริษัทนี้มีเพียงนอร์ธเวสต์ วอเตอร์จากอังกฤษเท่านั้นที่มีประสบการณ์ในการสร้างบ่อบำบัดน้ำเสีย ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญในทีโออาร์ แต่ก่อนที่จะมีการลงนามในสัญญากับกรมควบคุมมลพิษ นอร์ธเวสต์ขอถอนตัวซึ่งทำให้มีปัญหาว่า NVPSKG ขาดคุณสมบัติตามทีโออาร์หรือไม่ และเป็นประเด็นสำคัญที่ภาคประชาชนร้องเรียนให้ตรวจสอบจนนำสู่การเปิดโปงการทุจริต ซึ่งมีอยู่สองประเด็นใหญ่คือ ปมเรื่องที่ดิน และการเพิ่มมูลค่าโครงการจากเดิม 13,612 ล้านบาท ตอนที่ยังเป็นสองโครงการเพิ่มขึ้นเป็น 22,955 ล้านบาท หลังจากที่ยุบรวมเป็นโครงการเดียว และย้ายไปใช้ที่ดินที่คลองด่าน

อีก 5 บริษัทในกลุ่ม NVPSKG เป็นบริษัทก่อสร้างที่มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับนักการเมืองในกลุ่มที่เรียกว่า 5 เสือกรมทาง สี่แสงการโยธาใกล้ชิดกับนายบรรหาร ศิลปอาชา ประยูรวิศว์ คือ ธุรกิจครอบครัวของตระกูลนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ส่วนเกตเวย์ คือบริษัทที่นายวัฒนา อัศวเหม มีหุ้นส่วน

โครงการบ่อบำบัดน้ำเสียเกิดขึ้นครั้งแรกโดยนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ สมัยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ในรัฐบาลนายชวน หลีกภัย เมื่อกลางปี 2538 แต่การผลักดันโครงการรวมทั้งการเปลี่ยนแปลงที่ตั้งเพิ่มมูลค่าโครงการเกิดขึ้นในสมัยที่นายยิ่งพันธ์ มนะสิการ เป็นรัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ในรัฐบาลนายบรรหาร ศิลปอาชา

มือทำงานที่เป็นคนชงเรื่องแก้ไขเปลี่ยนแปลง คือ ข้าราชการประจำนายปกิต กิระวานิช อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ สมัยนั้น

ส่วนนายวัฒนา มีความสนิทสนมกับนายยิ่งพันธ์ เพราะเป็น ส.ส.กลุ่มงูเห่าใน พรรคประชากรไทยด้วยกัน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่โครงการบ่อบำบัดน้ำเสียถูกย้ายไปอยู่ที่คลองด่านซึ่งนายวัฒนา ที่เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในรัฐบาลชวน 2 ดูแลกรมที่ดิน ใช้อำนาจบีบบังคับประชาชนให้ขายที่ และออกเอกสารสิทธิทับที่สาธารณะเพื่อเอาที่ดินไปขายให้กลุ่ม NPVSKG

คดีบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่านที่เป็นคดีอาญา มีผู้ถูกลงโทษจำคุก คือ นายวัฒนา อัศวเหม ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาจำคุก 10 ปีนายปกิต กิระวานิช อดีตอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ นายศิริธัญญ์ ไพโรจน์บริบูรณ์ อดีตรองอธิบดี นางยุวรี อินนา อดีตนักวิชาการ 7 ถูกศาลอาญาแผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งเป็นศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกคนละ 20 ปีเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2558

คดีค่าโง่บ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่านยุติไปแล้วครั้งหนึ่งหลังจากศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งยืนตามศาลปกครองกลางเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2557 ให้กรมควบคุมมลพิษชำระเงินค่าจ้างและค่าเสียหายเป็นจำนวน 9,058 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี ให้กลุ่ม NVPSKG ตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ โดยแบ่งจ่ายเป็น 3 งวดๆ ละประมาณ 3,000 ล้านบาท จ่ายไปแล้ว 1 งวดเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2558

ก่อนที่จะครบกำหนดจ่ายงวดที่สองในเดือนพฤษภาคม 2559 รัฐบาล คสช.มีมติให้รื้อคดีค่าโง่ใหม่ โดยกรมควบคุมมลพิษ และกระทรวงการคลัง ร้องขอให้ศาลปกครองพิจารณาคดีใหม่ เพราะมีหลักฐานใหม่คือ คำพิพากษาของศาลฎีกา ศาลแขวงดุสิต และศาลอาญา ที่แสดงว่า การดำเนินโครงการไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และมีการร่วมวางแผนเอื้อประโยชน์ระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐในฐานะผู้ว่าจ้างกับผู้รับจ้าง ซึ่งเป็นที่มาของคำสั่งศาลปกครองกลาง

วันที่ 6 มีนาคม คำสั่งศาลปกครองนี้ยังไม่ถึงที่สุด กลุ่ม NPSVK สามารถอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดได้ภายใน 30 วัน

ยังมีค่าโง่ก้อนใหญ่กว่าอีกก้อนหนึ่ง คือ ค่าจ้างที่กรมคุ้มครองมลพิษจ่ายให้ NVPSKG ไปแล้วประมาณ 20,000 ล้านบาท ก่อนที่โครงการจะถูกยกเลิกไป เป็นภาษีแผ่นดินที่เสียไปฟรีๆ เพราะไม่ได้ใช้ประโยชน์จากโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่านเลย ผู้ได้ประโยชน์คือ บริษัทรับเหมาก่อสร้างของนักเลือกตั้ง ที่กำลังรอวันกลับมามีอำนาจอีก


กำลังโหลดความคิดเห็น