xs
xsm
sm
md
lg

“30 บาทรักษาทุกโรค” เลิกโกหกเสียที หมื่นพี่ตูน-สิบลุงตู่ ก็อยู่ไม่รอด เติมอย่างไรก็ไม่เต็ม

เผยแพร่:   โดย: อาจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์


อาจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
ผอ.หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิตและวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต Business Analytics and Data Science
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาได้อนุมัติเงินลงมาเพิ่มให้โครงการสามสิบบาทรักษาทุกโรคเพิ่มอีก 5,000 ล้านบาท

ลุงตู่ได้ขอให้สื่อมวลชนสร้างความเข้าใจกับประชาชน คนไทยชอบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่งบประมาณที่ใช้เพิ่มสูงขึ้นทุกปี ปี 2561 เพิ่มขึ้นเป็น 1.7 แสนล้านบาท และในปี 2562 น่าจะ 1.9 แสนล้านบาท และน่าจะมากกว่าสองแสนล้านในปี 2563 อย่างแน่นอน พลตรีสรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกรัฐบาลได้แถลงว่า “ในหลายประเทศที่มีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ตอนนี้ไปไม่รอดแล้ว เงินไม่พอ เจ๊งหลายประเทศจึงเปลี่ยนเป็นสนับสนุนเฉพาะบางกลุ่ม บางโรค นายกรัฐมนตรีจึงอยากให้ทุกคนช่วยกันศึกษา เพราะรายได้ของรัฐไม่ได้เพิ่มขึ้นเลย ขอให้ช่วยกันคิดวิธีแบ่งเบาภาระของชาติ ถ้าคิดว่าทุกอย่างต้องได้อย่างสมบูรณ์แบบ เหมือนที่ประเทศอื่นเขาทำ ต้องดูว่าเขาเก็บภาษีเท่าไรกัน แต่ขณะนี้รัฐบาลยังไม่มีนโยบายที่จะขึ้นภาษี และไม่ยกเลิกระบบหลักประกันสุขภาพ" (คัดข่าวจาก : https://www.thairath.co.th/content/1220935)

เรื่องนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ไม่กี่เดือนก่อนโรงพยาบาลของรัฐก็ขาดทุนบักโกรกประมาณ 600 โรงพยาบาลจาก 800 โรงพยาบาล จนจะไปต่อไม่รอด และนี่ก็กำลังจะไม่รอดอีกเช่นกัน พี่ตูน วิ่ง ก้าวคนละก้าว ได้เงินมามากมาย แต่อย่างไรมันก็ไม่มีวันพอ เพราะบัตรทองเป็นของฟรีประกอบกับสังคมผู้สูงอายุเต็มตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีปรสิตเหลือบไรนำเงินไปใช้อย่างอื่น โดยที่ไม่ใช่เงินที่ไปรักษาพี่น้องประชาชน หมื่นพี่ตูน สิบลุงตู่ โรงพยาบาลก็อยู่ไม่รอด ทำให้เติมเท่าไหร่ก็ไม่เต็ม

พลอากาศตรีนายแพทย์ อิทธพร คณะเจริญ รองเลขาธิการแพทยสภา ได้แสดงความคิดเห็นว่า

“อุ้ม รพ. ผ่าน สปสช. ทางรอดระยะสั้น..สำคัญคือแผนระยะยาว”

5000 ล้านเริ่มแก้ไขไปในทิศทางที่ถูกต้อง เพราะเงินไม่พอ ในระบบ ที่รัฐให้แต่แรกจากประชาชนเจ็บป่วยมากกว่าที่ คำนวณไว้

เทหมดกระเป๋าแล้ว รพ.ยังเจ๊ง

ต้องเติมเงินเข้าระบบให้ รพ.อยู่ได้ ผ่านคนเคลียร์กลางที่รู้ว่าที่ไหนเบิกมาก และจ่ายไม่ครบ (เพราะงบไม่พอ) คือ สปสช.เพื่อไปอุ้ม รพ. ไม่ใช่อุ้ม สปสช.นะครับ (เช่นเอาเงินไปจ่ายหนี้น้ำยาล้างไตให้องค์การเภสัชกรรม เพราะ สปสช. ก่อหนี้ไว้มาก – อานนท์)

เงินนี้ให้ไปเติมที่เบิกมาแล้วจ่ายไม่ครบโดยเฉพาะคนไข้ใน ที่มากกว่าที่กำหนดแล้ว ของเดิมปลายปีพอเงินหมด ไม่สามารถจ่ายอัตราปกติ ก็ให้ไปเฉลี่ยกันขาดทุน..ต่อไปไม่ควรมี

เป็นการแก้ระยะสั้นที่ถูกจุด

ส่วนระยะยาวนั้นคงมีหลายมาตรการที่ใช้ความจริง และข้อมูลมาแก้ไขได้ บนความร่วมมือของ สป.สธ. กับ สปสช. เพราะข้อมูลอยู่ในมือหมดแล้ว..

จากการคำนวณตัวเลขความเจ็บป่วยจริงในแต่ละปีแต่ละ รพ.

จากตัวเลขต้นทุนดำเนินการจริง จากตัวเลขทิศทางการขยายบริการ และการเข้าถึง และการเพิ่มผู้ป่วยผู้สูงวัย ตลอดจนเงินเฟ้อ และงบลงทุน ค่าเสื่อม โดย สธ. ที่ต้องแปลงมาเป็นงบประมาณรายปี ที่ตนอยากได้ และเอามาหักจากตัวเลขความสามารถในการหาเงินแต่ละ รพ. ตั้งรอไว้ เทียบกับระบบการกระจายของ สปสช. ว่าขาดเท่าไร เพราะงบเดิมปลายปิด (คือเบิกเท่าไรไม่สน มีเงินเท่านี้จ่ายหมดเลิกกัน) ซึ่งมีข้อมูลมากกว่า 10ปี

เมื่อเห็นจุดที่ขาดทางแก้คือหาทางเติมเงินลงไป เช่นที่ปีนี้ ขอ 5,000 ล้าน เข้าใจว่าผู้ป่วยใน IPD ครับ หากเฉลี่ยให้ 48ล้านคน คือหัวละ 100 บาท จริง ๆ อาจขาดมากกว่านั้น แต่ถือเป็นความเข้าใจเบื้องต้นของรัฐบาล นิมิตหมายอันดีแล้วครับ

การหาเงินเพิ่มให้พอมีคนเสนอแนวทางมากมายที่น่าสนใจสรุปง่ายๆคือ

1.หาเงินเพิ่มจากรัฐ เพิ่มงบ เพิ่มภาษีพิเศษเอาเงินมาช่วย ใช้งบกลาง เพิ่มค่าต่อหัวให้ตั้งแต่ต้นปี หรือปลายปีขาดทุนมาเติม อันนี้ง่ายสุด

2.หาเงินเพิ่มจากผู้ใช้บริการรักษาพยาบาล อันนี้ยากหน่อย คือการจ่ายร่วม หรือมีรายการที่เบิกไม่ได้(แบบสิทธิข้าราชการบางส่วนต้องจ่ายร่วมอยู่แล้วแต่คนไม่ทราบ) มีการจ่ายแบบประกันล่วงหน้า และการจ่ายร่วมที่จุดบริการเมื่อป่วยแบบหลายประเทศทั่วโลกใช้ การจ่ายบางส่วน เช่นไต้หวัน รัฐให้จ่าย 100-200 บาทแรก ที่โอพีดีเหลือกี่พันกี่หมื่นรัฐจ่ายหมด กันล้มละลาย เราคงเลยระบบนี้ไปแล้ว ต้องคิดใหม่ ๆ

3.หาเงินเพิ่มจากกิจกรรมอื่นของ รพ. เข้าใจว่าทุกที่ทำอยู่แล้ว

4.หาเงินเพิ่มจากงบเดิมที่มีแต่จ่ายหมวดอื่น คือย้ายหมวด ที่หลายคนบอกว่าบางเรื่องไม่คุ้มค่า จ่ายเอ็นจีโอหรือกิจกรรมที่ไม่ใช่กิจกรรมหลัก หรือไปกองในงบใดมากไป อันนี้ผมคิดว่า สปสช.เป็นผู้ทราบข้อมูลน่าจะมาทำความเข้าใจกับประชาชนมาก ๆ ไม่งั้นถูกด่าฟรีได้ เชื่อว่าทุกอันมีความจำเป็นไม่มากก็น้อย แล้วค่อย ๆ ช่วยกันปรับลด ปรับเพิ่มให้เป็นธรรมและพอดี

5.หาเงินเพิ่มโดยลดค่าใช้จ่ายยา ซื้อรวมซื้อหมู่ ราคาถูกลงแต่ต้องระวัง เรื่องข้อครหาการจัดการ และปัญหาคุณภาพของยาและเวชภัณฑ์ ตลอดจนจำนวนที่พอเหมาะสม ไม่ง่ายเช่นกัน

6.ลดค่าใช้จ่าย รพ. ลดคนป่วย ด้วยการเสริมสร้างสุขภาพและป้องกันทั้งโรคและอุบัติเหตุครับ จะลดค่าใช้จ่ายได้ ปัญหาคือต้องบูรณาการสุด ๆ จาก สสส. ตำรวจ คุมกฎจราจร กรมทางหลวง ผู้จำหน่ายเหล้า อบต. อบจ. ปราบจับยุง ลดโรคที่คุมได้. ลดอาหารหวานมัน ลดเค็มลดความดัน และหัวใจ ส่งเสริมการออกกำลังกายจากกระทรวงกีฬา ดูคนแก่คนพิการ จาก กระทรวง พม. เพิ่มความรู้เด็กจากกระทรวงศึกษา ฯลฯ อีกเยอะที่ทำได้ครับ

แต่สิ่งที่เอาชนะไม่ได้คือ วงการแพทย์ไทยก้าวหน้าคนไทยอายุยืนขึ้น เบาหวาน ความดัน หัวใจ มะเร็ง อัมพาตโรคราคาแพงรออยู่เพียบ ลดยังไง ก็ต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายแน่นอนครับ

ผมเห็นด้วยกับพลอากาศตรีนายแพทย์อิทธิพร คณะเจริญครับ แต่การเพิ่มเงินพิเศษ โดยการเก็บภาษีเพิ่มเติมจะทำให้ประชาชนเดือดร้อน และ สปสช. สบายไม่ต้องรับผิดชอบอะไรเลย โดยเฉพาะ earmarked tax หรือเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม จะทำให้คนยากจนเดือดร้อนมาก

สิ่งที่ต้องการเห็นคือต้องให้ สปสช. หรือสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทำหน้าที่หาเงินได้เอง โดยไม่ต้องขอเงินงบประมาณแผ่นดินเพิ่มแม้แต่บาทเดียว กลับบทบาทกันบ้าง เพราะโรงพยาบาลของรัฐดิ้นรนหาเงินเองด้วยสารพัดวิธี ขอบริจาคพระเกจิอาจารย์ก็แล้ว ขอบริจาคก็แล้ว อย่างไรก็ไม่พอ ให้ สปสช. เล่นบทบาทคนหาเงินบ้าง โดยไม่แบมือขอรัฐบาล จะได้คุ้มค่าเงินเดือนและค่าจ้างของผู้บริหารและพนักงาน สปสช. ราคาสูง ซึ่งไม่ต้องใช้ฝีมืออะไรเลย เพราะแบมือขอเงินและไม่ได้ทำงานจริง ๆ หน้างาน จึงไม่เคยเข้าใจความเดือดร้อนของโรงพยาบาล ปัดภาระความเสี่ยงทั้งหมดลงไปที่โรงพยาบาล และลงท้ายคนที่เดือดร้อนจริง ๆ คือประชาชน

อีกประการหนึ่งคือโรงพยาบาลต้องตั้งเป็นขาดทุนไว้ครับผม ให้ สปสช. เป็นลูกหนี้โรงพยาบาล ไม่มีการยกหนี้ ให้ สปสช. เป็นคนก่อภาระหนี้สาธารณะของประเทศ ให้ สปสช. ไปหาเงินครับ และที่สำคัญผู้บริหาร สปสช. และพนักงานต้องใช้บัตรทองด้วยเท่านั้นจึงจะไปรอด


กำลังโหลดความคิดเห็น