xs
xsm
sm
md
lg

สมัครด่วน 100 คนเท่านั้น! หลักสูตรวิถีชีวาเวชศาสตร์ ม.รังสิต “รุ่นที่ 2” เป็นหมอสำหรับตนเอง “ลดการใช้ยา ด้วยบูรณาการแห่งปัญญา”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

กลับมาอีกครั้งตามคำเรียกร้อง ที่สถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต ที่จะเปิดหลักสูตร “วิถีชีวาเวชศาสตร์ (Lifestyle Medicine) เป็นรุ่นที่ 2” หลังจากที่ประสบความสำเร็จตั้งแต่รุ่นแรก 101 คน ทั้งในมิติผู้สมัคร วิชาที่สอน และอาจารย์ผู้สอน ตลอดจนถึงผลลัพธ์ที่ผู้เรียนหลักสูตรมีองค์ความรู้ด้านสุขภาพมากยิ่งขึ้นเหนือกว่าที่คาดการณ์เอาไว้

หลักสูตรนี้ยังคงมีเป้าหมายสูงสุดคือเพื่อให้ผู้เข้าเรียนนั้นมีความรู้ในระดับที่สามารถเป็นหมอสำหรับดูแลตัวเองและคนในครอบครัว ตลอดจนบริหารจัดการด้านสุขภาพในครอบครัวที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อ “ลดการใช้ยา ด้วยบูรณาการแห่งปัญญา รักษาที่เหตุแห่งโรค”

ทั้งนี้จากข้อมูลของสำนักยุทธศาสตร์และวางแผน กระทรวงสาธารณสุข ได้รายงานสถิติสาเหตุการเสียชีวิตของคนไทย ในปี พ.ศ. 2559 พบว่าคนไทยเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งมากที่สุดถึง 77,566 คน, รองลงอันดับที่สองได้แก่กลุ่มโรคระบบไหลเวียนโลหิต 69,699 คน ซึ่งทั้งสองโรคดังกล่าวข้างต้นนี้มีอัตราการเสียชีวิตต่อประชากรเพิ่มมากขึ้นทุกปี [1]

โดยเฉพาะเมื่อประเทศไทยมีผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นอัตราการเจ็บป่วยโรคเรื้อรังก็จะเพิ่มมากขึ้น ผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะเป็นโรคความดันโลหิตสูงมากที่สุด รองลงมาคือ โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดในสมองตีบ และโรคมะเร็ง ตามลำดับ [2]

โดยเฉพาะในประเทศไทยนั้นมีผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวานมากถึง 4.4 ล้านคน [3] และคนในยุคนี้อาจจะมีผู้ป่วยโรคปวดศีรษะไมเกรนมากถึง 6-10 ล้านคน [4]

ทั้งๆที่โรคเหล่านี้สามารถป้องกันและลดความเสี่ยงได้ด้วย “การบริโภคและการใช้ชีวิตตลอดจนการดูแลตนเองเบื้องต้นอย่างถูกต้อง”!!!

แต่ถ้าเรายังคงปล่อยให้ปัญหาเช่นนี้อยู่ต่อไปปัญหาสุขภาพคนไทยก็จะเข้าสู่ปัญหาและวิกฤติรอบด้านอย่างที่ปรากฏให้เห็นในทุกวันนี้แล้ว

ในปี 2559 มูลค่าตลาดยาไทยอยู่ที่ประมาณ 161,000 ล้านบาท โดยคนไทยส่วนใหญ่ถึง 60% ได้รับการจำหน่ายยาเคมีจากโรงพยาบาลภาครัฐอันเป็นผลมาจากระบบสวัสดิการสาธารณสุขของรัฐ [2] ด้วยเหตุผลนี้เองโรงพยาบาลภาครัฐจึงมีประชาชนรออยู่อย่างแออัด เตียงคนไข้ไม่พอแพทย์และพยาบาลต้องเสียสละทำงานอย่างหนัก จนส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสุขภาพของบุคลากรทางการแพทย์ไทย [5] แรงกดดันนี้ยังเกิดขึ้นต่อคนไข้และหมอจึงเป็นผลทำให้เกิดปรากฏเป็นข่าวถึงขั้นทะเลาะวิวาทใช้กำลังกันระหว่างคนไข้และหมอก็มีให้เห็นมากขึ้น

ในขณะที่อีก 20% ของคนไทยได้เลี่ยงมาใช้บริการจากโรงพยาบาลเอกชนซึ่งอาจจะมีความแออัดน้อยกว่า แต่เมื่อได้รับยาจากโรงพยาบาลเอกชนก็กลับราคาแพงกว่ายาของภาครัฐอย่างมหาศาล จนบางโรคอย่างเช่นโรคมะเร็งนั้นสามารถทำให้แทบสิ้นเนื้อประดาตัวหรือต้องก่อหนี้สินได้เลย

ยาเคมีรักษามนุษย์ที่นำเข้าจากต่างประเทศจึงมูลค่าสูงที่สุดอันดับหนึ่งของประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2558 จึงเป็นยารักษาโรคมะเร็งที่มีมูลค่าสูงถึง 17,767 ล้านบาท [6] แต่คนไทยก็ยังตายจากสาเหตุจากโรคมะเร็งมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งอยู่ดี จริงหรือไม่?

ด้วยเหตุผลนี้จึงเกิดปรากฏการณ์ประชาชนและผู้ป่วยโรคมะเร็งเข้าคิวรอยาแจกของหมอแสงอย่างล้นหลาม มีการแสวงหาและลักลอบใช้กัญชา หรือการรักษาด้วยสารพัดแพทย์ทางเลือกต่างๆเพื่อรักษาชีวิตตัวเองและคนในครอบครัวจากโรคมะเร็ง ทั้งๆที่ยังไม่มีใครวิจัยได้ว่าสามารถรักษาได้จริงหรือไม่? อย่างไร? สะท้อนให้เห็นว่าผู้ป่วยเกิดการสั่นคลอนและขาดความเชื่อมั่นต่อระบบการรักษาในวิถีทางปัจจุบันมากขึ้น ในขณะเดียวกันกลุ่มทุนผลประโยชน์บริษัทยาเคมีบางแห่งร่วมมือกับหมอบางกลุ่มเข้าไปทำลายและขัดขวางแพทย์ทางเลือกและการวิจัยในทุกมิติเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตนเองก็อาจจะมีด้วยเช่นกัน

ส่วนอีก 20% ของคนไทยซื้อยาตามร้านขายยาทั่วไป [2] ส่วนใหญ่ก็ซื้อยาปฏิชีวนะและยาลดไข้รับประทานเองมากที่สุด [7] และ 80% ของคนที่ซื้อยาปฏิชีวนะเพื่อรับประทานเองนั้นซื้อยาผิดไม่เหมาะกับโรคของตนเอง [8] อีกทั้งยาปฏิชีวนะและยาลดไข้หากรับประทานต่อเนื่องเป็นประจำต่างก็มีผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาวได้ด้วย

วิกฤตการณ์เกิดขึ้นดังที่กล่าวมาข้างต้น เกิดขึ้นเพราะประชาชนเทน้ำหนักฝากชีวิตและสุขภาพไว้กับหมอมากกว่าตัวเอง ทั้งๆที่หมอที่ดีที่สุดและอยู่กับตัวเราและครอบครัวตลอดเวลา 24 ชั่วโมงก็คือ “ตัวเราเอง”

ตราบใดที่ประชาชนยังไม่พึ่งพาตนเองด้านสุขภาพอย่างถูกต้อง ภาระงบประมาณรายจ่ายของภาครัฐจะยังคงสูงเพิ่มขึ้นต่อไปอีกมาก ประชาชนก็ยังจะเจ็บป่วยและเสียชีวิตด้วยโรคเรื้อรังมากขึ้น โรงพยาบาลภาครัฐก็จะแออัดมากขึ้น คุณภาพการรักษาจะด้อยลง โรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งก็จะยังคงเอารัดเอาเปรียบทำกำไรอย่างมหาศาลจากผู้ป่วยต่อไป แม้จะมีการวิ่งรณรงค์เพื่อสร้างโรงพยาบาลอีกเท่าไหร่ก็จะไม่มีวันพอเพียง ดังนั้นสุขภาพของประเทศไทยกำลังเดินหน้าเข้าสู่จุดอับและทางตัน หากยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่ดีกว่า

ถึงเวลาปฏิวัติสุขภาพหรือยังที่ประชาชนจะเปลี่ยน “ยา”เป็น “ปัญญา”!?

ถึงเวลาหรือยังที่ประชาชนจะมาปลดแอกทางร่างกายและจิตวิญญาณหันมาพึ่งพาตนเองมากขึ้นในด้านสุขภาพ !?

ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยรังสิต จึงได้เล็งเห็นปัญหาดังกล่าว และยังได้มีวิสัยทัศน์ด้านสุขภาพที่นอกกรอบแนวคิดเดิมๆ เป็นผลทำให้เกิดการจัดตั้งสถาบันแพทย์แนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัยขึ้น เพื่อสร้างแพทย์แห่งอนาคต แพทย์บูรณาการ และสร้างคนธรรมดาให้เป็นหมอสำหรับดูแลตนเองและคนในครอบครัวได้ เพื่อประโยชน์สูงสุดด้านสุขภาพของประชาชนและประเทศชาติเป็นที่ตั้ง

สอดคล้องกับ 115 ปีที่แล้ว ที่นายโธมัส อัลวา เอดิสัน นักประดิษฐ์และนักธุรกิจชื่อดังชาวอเมริกันผู้จดสิทธิบัตรการประดิษฐ์หลอดไฟคนแรกของโลก ได้กล่าวถึงการแพทย์ในอนาคตความตอนหนึ่งว่า :

“แพทย์แห่งอนาคตจะไม่จ่ายยา แต่จะสนใจคนไข้ทั้งหลายของเขาในการดูแลกรอบของความเป็นมนุษย์ อาหาร และในสาเหตุและการป้องกันโรค”

หลักสูตร “วิถีชีวาเวชศาสตร์” หรือ Lifestyle Medicine จึงเป็นหลักสูตรแรกที่เปิดให้ประชาชนธรรมดา ที่ไม่จำกัดอายุและวุฒิการศึกษาให้ได้มีโอกาสเข้ามาเรียนการป้องกันและรักษาด้วยวิถีการดำเนินชีวิตประจำวันกับแพทย์หลากสาขา และผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพในหลายมิติที่มีประสบการณ์ตรงในการปรับวิถีชีวิตของผู้ป่วยจนสามารถหายป่วยมาแล้วทั้งสิ้น เพื่อทำให้ผู้เข้าเรียนสามารถพึ่งพาตนเองได้มากขึ้น ลดการใช้ยา ลดการไปหาหมอในโรงพยาบาล

วิชาที่จะเรียนได้แก่ การเรียงลำดับการกินอาหารเพื่อสุขภาพ, โภชนาการบำบัดจากภูมิปัญญาของแพทย์แผนไทย-อายุรเวทจนถึงงานวิจัยยุคใหม่, การใช้สมุนไพรในบ้าน, การลงมือทำตัวอย่างผลิตภัณฑ์สมุนไพร, การกดจุดแก้อาการและฟื้นฟูสุขภาพในบ้านในแนวทางแพทย์แผนไทยประยุกต์, การฝังเข็มและการแมะสำหรับบางอาการในบ้านของแพทย์แผนจีน, ธรรมานามัย, การบูรณาการล้างพิษ, การบริหารระบบภูมิคุ้มกัน, การค้นคว้าและการอ่านงานวิจัยด้านสุขภาพ, การแพทย์ฉุกเฉินในบ้าน, การออกกำลังกายเพื่อการชะลอวัย, การเลือกใช้วิตามินและอาหารเสริม, การแพทย์ทางเลือกในยุคปัจจุบัน ฯลฯ

ซึ่งแน่นอนว่าการเรียนองค์ความรู้จากธรรมชาติบำบัดเชื่อมโยงองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ในระดับเซลล์ จะทำให้ได้ให้ความเข้าใจเพื่อป้องกัน บรรเทา และบริหารจัดการกับโรคยอดฮิตในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น การชราก่อนวัยอันควร, การเอาชนะโรคเบาหวาน, โรคความดันโลหิตสูง, โรคอ้วน, โรคหลอดเลือดหัวใจ, โรคหลอดเลือดสมอง, โรคปวดศีรษะไมเกรน, โรคออฟฟิศซินโดรม, โรคมะเร็ง, โรคภูมิแพ้, โรคตับ, ฯลฯ

ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่งว่าผู้ที่ประสบความสำเร็จในการปฏิบัติรักษาคนไข้จริง ตลอดจนผู้ที่มีชื่อเสียงในด้านการแพทย์และสุขภาพซึ่งล้วนแล้วแต่มีภารกิจที่มาก จะมารวมตัวเสียสละเวลาอันมีค่าเพื่อสอนประชาชนให้เป็นหมอด้วยตัวเองในรุ่นที่ 2 อีกครั้งหนึ่งด้วย

หลักสูตรดังกล่าวนี้รับจำนวนจำกัด โดยเริ่มรับสมัครเรียนแล้วตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2561 และเริ่มเรียนทุกวันเสาร์และอาทิตย์ทั้งเช้าและบ่าย ยกเว้นวันหยุดตามที่กำหนด โดยเริ่มเรียนวันเสาร์ที่ 2 มิถุนายน - 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 ที่มหาวิทยาลัยรังสิต รวมประมาณ 84 ชั่วโมง

สามารถสมัครได้โดยไม่จำกัดวัยและวุฒิการศึกษา โดยผู้ที่จบหลักสูตรจะได้รับประกาศนียบัตรจากสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต สนใจสมัครเรียนด่วนก่อนเต็ม ได้ที่สถาบันรังสิตวิชชาลัย มหาวิทยาลัยรังสิต หมายเลขโทรศัพท์ 02-791-5681,02-791-5683,02-791-5684

ด้วยความปรารถนาดี
อ.ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย
มหาวิทยาลัยรังสิต

อ้างอิง
[1] กองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข, สรุปสถิติสำคัญ พ.ศ. 2560 Statistic Thailand, หน้า 81http://bps.moph.go.th/new_bps/sites/default/files/health%20stratistic%202560.pdf

[2] นรินทร์ ตันไพบูลย์, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, อุตสาหกรรมยา, แนวโน้มธุรกิจ/อุตสาหกรรม ปี 2560-2562 กรกฎาคม 2560 https://www.krungsri.com/bank/getmedia/2ee02996-1185-4c5a-a6c8-0384ce5ee41b/IO_Pharmaceutical_2017_TH.aspx

[3] DMTHAI, สถานการณ์โรคเบาหวานในภาคพื้นแปซิฟิก (Western Pacific) ในปี พ.ศ. 2560, สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี
https://www.dmthai.org/index.php/knowledge/the-chart/the-chart-1/549-2018-02-08-14-52-46

[4] ศ.นพ.กัมมันต์ พันธุมจินดา, ผศ.พญ.สิวาพร จันทร์กระจ่าง,DR.Sheena K.Aurora, เผยคนไทยเป็นไมเกรนสูงกว่าร้อยละ 17 พบในหญิงมากกว่าชายถึง 3 เท่าตัว, MGR Online, หน้าแรกผู้จัดการ Online/สุขภาพ, 6 มีนาคม 2560 http://www.manager.co.th/Qol/ViewNews.aspx?NewsID=9500000026406

[5] ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา, “คนไข้ล้น เตียงไม่พอ หมอน้อย” สัจธรรม รพ.รัฐ ผ่านมุมมองอาจารย์หมอ “ศ.นพ.ปิยะมิตร”, MGR Online, Live-Lite, 7 กรกฎาคม 2560 https://mgronline.com/livelite/detail/9600000069457

[6] มูลค่าการนาเข้าของยาเข้ามาในราชอาณาจักร แยกตามกลุ่มฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา ข้อมูล 2555 - 2558 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) กระทรวงสาธารณสุขhttp://www.fda.moph.go.th/sites/drug/Shared%20Documents/Statistic/Value-I-ATC55-58.pdf

[7] นายวิทยา บุรณศิริ,เผยคนไทยกินยาสูงมากปีละ 47,000 ล้านเม็ด, MGR Online,14 มีนาคม 2555 17:34 น.http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9550000033223

[8] ดร.นพ.ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ, กินยาปฏิชีวนะรักษาหวัด ผิดวิธีทำเชื้อดื้อยาไม่รู้ตัว,โดย ไทยรัฐออนไลน์, 1 กันยายน 2557 12:21 น.
https://www.thairath.co.th/content/447130




กำลังโหลดความคิดเห็น