xs
xsm
sm
md
lg

ชดใช้2.7พันล…บ้านปูจ่าย'งานทวี'ปิดฉากคดีหงสา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน 360 - ศาลฎีกาสั่ง "บ้านปู" ชดใช้ค่านำข้อมูลสัมปทานเหมืองถ่านหินและโรงไฟฟ้าหงสาของ "ศิวะ งานทวี" มูลค่า 1.5 พันล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย ขณะผู้บริหารกลุ่มบ้านปู น้อมรับคำพิพากษา จ่ายทันทีรวมดอกเบี้ย 2.7 พันล้านบาท ภายในไตรมาสแรกนี้ ถือเป็นการสิ้นสุดคดีความกว่า 10 ปี ยันไม่กระทบฐานะการเงินและแผนการดำเนินธุรกิจ พร้อมย้ำที่ผ่านมาดำเนินธุรกิจด้วยความโปร่งใส สุจริตมาโดยตลอด

วานนี้ (6 มี.ค.) ศาลฎีกาอ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำ 2946/2550 ที่นายศิวะ งานทวี ผู้บริหารกลุ่มบริษัทด้านพลังงาน บริษัท ไทยลาวลิกไนท์ จำกัด, บริษัท หงสาลิกไนท์ จำกัด, บริษัท ไทยลาวเพาเวอร์ จำกัด และบริษัท เซาท์อีสท์ เอเชียพาวเวอร์ จำกัด ร่วมกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ BANPU บริษัท บ้านปู อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด นายชนินท์ ว่องกุศลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) นายชาญชัย ชีวะเกตุ และ นายองอาจ เอื้ออภิญญกุล กรรมการบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) เป็นจำเลยที่ 1-6 เรื่องละเมิด เรียกค่าเสียหายจำนวนทุนทรัพย์ 63,500 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี

ทั้งนี้ กรณีที่พวกจำเลยทั้งหก ร่วมกันหลอกลวงโจทก์โดยเข้าทำสัญญาร่วมทุนกับกลุ่มบริษัทโจทก์ เพื่อประสงค์จะได้ข้อมูลสัมปทานเหมืองถ่านหินและรายงานการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินลิกไนต์ ที่เมืองหงสา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว หรือ สปป.ลาว (โครงการหงสา) แต่หลังจากนั้นจำเลยใช้สิทธิไม่สุจริตในการรายงานเท็จ ทำให้รัฐบาล สปป.ลาว ยกเลิกสัมปทานเหมืองถ่านหิน สัญญาก่อสร้าง และการดำเนินกิจการโรงงานผลิตไฟฟ้าของพวกโจทก์ เพื่อที่พวกจำเลยจะได้เข้าทำสัญญากับรัฐบาล สปป.ลาว แทน จำเลยให้การปฏิเสธ

โดยคดีนี้ศาลแพ่งมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 20 ก.ย.2555 ให้บริษัทบ้านปู จำเลยที่ 1 ส่งคืนเอกสารข้อมูลจำเพาะต้นฉบับ 13 รายการให้กับนายศิวะและพวก โจทก์ที่ 1-5 โดยให้บริษัทบ้านปู กับ บจก.บ้านปูเพาเวอร์ จำเลยที่ 1 และ 3 ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 4,000 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ชำระค่าขาดประโยชน์ในอนาคต รวมค่าเสียหายทั้งสิ้น 31,000 ล้านบาท ทั้งยังต้องชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งห้าด้วย จำนวน 5 ล้านบาท ต่อมาจำเลยยื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิเคราะห์แล้ว ให้พิพากษากลับ ยกฟ้องจำเลย โดยไม่ต้องชำระค่าเสียหายแก่โจทก์

จากนั้นโจทก์ยื่นฎีกา ขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้พวกจำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ด้วย โดยศาลฎีกาเห็นควรพิพากษาแก้ให้จำเลยที่ 1, 2 และ 3 ร่วมกันชดใช้เงินแก่โจทก์ จำนวน 1,500 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (3 ก.ค. 2550)

นายอดุลย์ รักสนิท ทนายความของ นายศิวะ โจทก์ กล่าวว่า เคารพในผลคำพิพากษา โดยศาลฎีกาเห็นว่าฝ่ายโจทก์ถูกกระทำละเมิดจริง ซึ่งศาลฎีกามีคำพิพากษาให้จำเลยที่ 1-3 ร่วมกันชดใช้เงิน 1,500 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยนับตั้งแต่วันฟ้องรวมทั้งสิ้นราว 2,600 ล้านบาท แม้ว่าจะค่าเสียหายที่ได้จะน้อยกว่าที่ศาลชั้นต้นพิพากษาไว้มาก แต่ก็ให้ความเคารพในคำพิพากษาของศาลฎีกาที่คดีถึงที่สุดแล้ว หลังจากนี้จะพิจารณายื่นฟ้องบุคคลที่นำข้อมูลในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าฯไปใช้หาประโยชน์ต่อไป

** * "บ้านปู"พร้อมจ่าย 2.7พันล้าน หลังศาลพิพากษา
นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บ้านปู เปิดเผยภายหลังรับทราบคำพิพากษาศาลฎีกาจากศาลฎีกาพิพากษาคดีแพ่งตัดสินให้กลุ่มบริษัทบ้านปู จ่ายค่าเสียหายให้กลุ่มนายศิวะ งานทวีและพวก 1,500 ล้านบาทบวกดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี นับตั้งแต่เดือน ก.ค. 2550 บริษัทพร้อมที่จะจ่ายเงินให้กับโจทก์ทันที ถือเป็นการทำตามคำสั่งของศาลฏีกา โดยแบ่งเป็นเงินต้น 1,500 ล้านบาท และดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 3 ก.ค.2550 รวมทั้งสิ้นเป็นเวลา 10 ปี 8 เดือน คิดเป็นจำนวนเงินประมาณ 1,200 ล้านบาท รวมเป็นเงินที่ต้องจ่ายประมาณ 2,700 ล้านบาท
"ถือว่าสิ้นสุดสำหรับกรณีของคดีความ เป็นส่วนที่ทำให้บริษัทเดินต่อไปข้างหน้าได้อย่างสบายใจไม่มีอะไรเป็นข้อติดค้าง นักลงทุน ผู้ถือหุ้น ก็สบายใจ โดยสำคัญที่สุดคือ เราบริสุทธิ์ สุจริต และทำทุกอย่างด้วยความโปร่งใส เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดที่บริษัทมีความภูมิใจ"นางสมฤดี กล่าว

นางสมฤดี กล่าวต่อว่า บริษัทมีเงินฝากธนาคารเพียงพอที่จะชำระตามคำสั่งศาลอยู่แล้ว ปีที่แล้วบริษัทมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานรวม 3.2 หมื่นล้านบาท โดยคณะกรรมการบริษัทฯ ได้มีมติให้ทั้ง 3 บริษัท คือ บ้านปู บ้านปูเพาเวอร์ และบ้านปู อินเตอร์ ร่วมกันจ่ายเงินค่าใช้ข้อมูลฯตามคำสั่งศาลในสัดส่วนเท่ากันบริษัทละ 900 ล้านบาท โดยบ้านปูจะบันทึกเป็นค่าใช้จ่ายในงวดไตรมาส 1/2561 ย่อมมีผลกระทบต่อผลประกอบการบริษัทในช่วงไตรมาส 1/2561

*** กระทบราคาหุ้นพื้นฐานแค่ 0.40 บาท/หุ้น
น.ส.นลินรัตน์ กิตติกำพลรัตน์ ผู้อำนวยการสายงานวิจัย บล.เอเชีย พลัส ประเมินว่า การชดใช้ค่าเสียหายของกลุ่มบ้านปูตามคำพิพากษาศาลฎีกา นั้น บล.เอเชีย พลัส ได้ปรับลดประมาณการกำไร BANPU ปี 2561 ลง 25.1% จากเดิม มาอยู่ที่ 7.4 พันล้านบาท และภายใต้ประมาณการใหม่ที่รวมผลกระทบค่าชดใช้ค่าข้อมูลตามคำพิพากษาของศาลฎีกามูลค่าพื้นฐาน ณ สิ้นปี 2561 อยู่ที่ 25.6 บาทต่อหุ้น (จากเดิม 26 บาท) ราคาหุ้นปัจจุบันยังถือว่าอยู่ต่ำกว่าพื้นฐานมีนัยฯ ประกอบกับเป็นการปลดล๊อกคดีความที่ค้างคามาเป็นระยะกว่า 10 ปี ซึ่งจะทำให้หุ้นแปรผันตามพื้นฐานที่แท้จริงจากนี้ไป อีกทั้งล่าสุดประกาศปันผลครึ่้งหลังปี 60 อัตราหุ้นละ 0.35 บาท คิดเป็น DivYield ครึ่งปี 1.6% ถือเป็นโอกาสดีในการซื้อสะสมลงทุน

ด้านความเคลื่อนไหวราคาหุ้น BANPU วานนี้ (6 มี.ค.) หลังจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ปลดเครื่องหมาย "H" อนุญาตให้ซื้อขายได้ตามปกติในช่วงบ่าย ได้มีแรงซื้อขายมาอย่างหนาแน่น ทำให้ราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดที่ 24.20 บาท ก่อนจะปรับตัวลงในช่วงท้ายตลาดแตะระดับต่ำสุดที่ 22.70 บาท และปิดการซื้อขายที่ 22.90 บาท ลดลง 0.30 บาท คิดเป็น 1.29% มูลค่าซื้อขาย 10,018.03 ล้านบาท ส่วนหุ้น BPP ปิดที่ 25.50 บาท ไม่เปลี่ยนแปลงจากวันก่อน ราคาปรับขึ้นไปสูงสุดที่ 26.50 บาท ต่ำสุดที่ 25.50 บาท มูลค่าซื้อขาย 281.28 ล้านบาท


กำลังโหลดความคิดเห็น