xs
xsm
sm
md
lg

ช่วงเวลาของศรี ชีวิตและความตายในมายานากิรี

เผยแพร่:   โดย: ดร.จิรยุทธ์ สินธุพันธุ์


ดร.จิรยุทธ์ สินธุพันธุ์
ศูนย์เอเชียใต้ศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


ณ เวลานี้ ข่าวคราวที่สร้างความตระหนกตกใจให้แก่ผู้ที่ตามติดวัฒนธรรมประชานิยมของอินเดียทั่วโลก เห็นจะหนีไม่พ้นข่าวการเสียชีวิตของศรีเทวี (Sridevi) หรือที่สื่อมวลชนอินเดียมักจะเรียกสั้น ๆ ว่า “ศรี” นักแสดงที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นซูเปอร์สตาร์หญิงคนแรกของวงการภาพยนตร์อินเดีย ชีวิตบนแผ่นฟิล์มของศรีเทวีรุ่งโรจน์จนถึงขีดสุดในช่วงปี พ.ศ.๒๕๒๐ ถึง พ.ศ.๒๕๓๐ ว่ากันว่า ชื่อของเธอเพียงคนเดียวก็สามารถดึงผู้ชมจำนวนมากให้หลั่งไหลเข้ามาชมภาพยนตร์เรื่องนั้นได้โดยไม่จำเป็นต้องประกบคู่กับนักแสดงชายยอดนิยมคนใด ยิ่งไปกว่านั้น หลังจากที่หยุดแสดงภาพยนตร์ไปแล้วถึง ๑๕ ปีเธอก็ยังเป็นนักแสดงหญิงคนแรกที่สามารถกลับมาเป็นนางเอกระดับแถวหน้าของวงการภาพยนตร์ได้อีกครั้งหนึ่งได้ในวัยเฉียด ๕๐ ปี อันเป็นช่วงอายุที่นักแสดงหญิงแถวหน้าส่วนใหญ่ต้องปลดเกษียณหรือผันตัวไปรับบทที่ไม่สลักสำคัญอะไร

ในช่วงระยะเวลา ๕๔ ปี ของการก้าวขึ้นสู่จุดสูงสุดของชีวิตและการเสียชีวิตอย่างกะทันหันของศรีเทวี ชวนให้เราครุ่นคิดเกี่ยวกับบทบาทและสถานภาพของผู้หญิงในสังคมอินเดียที่แปรเปลี่ยนไปในแต่ละห้วงเวลา ไปพร้อม ๆ กับได้เปิดเผยให้เห็นถึงมุมมืดและแรงกดดันที่มาพร้อมกับชื่อเสียงและความสำเร็จของชีวิตท่ามกลางแสงไฟที่โชติช่วงใน มุมไบ นครแห่งความฝัน หรื มายานากิรี

จากก้อนกรวดสู่เพชรเม็ดงาม

ศรีเทวี หรือ ศรี อัมมา ยันเกร์ อัยยาพัน เกิดเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๔ ในครอบครัวชนชั้นกลางจากรัฐทมิฬนาฑูทางตอนใต้ของอินเดีย แม้ว่าจะเกิดในทมิฬนาฑูแต่เธอก็เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า ภาษาแม่ของเธอนั้นกลับไม่ใช่ภาษาทมิฬ แต่เป็นภาษาเตลูกูที่เป็นภาษาราชการของรัฐอานธรประเทศ ศรีเทวีเริ่มต้นชีวิตนักแสดงมาตั้งแต่อายุ ๔ ขวบ ตามคำชักชวนของผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ภาษาทมิฬ ตลอดช่วงวัยเด็กของเธอ เธอใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในกองถ่ายภาพยนตร์ ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๐๘ ถึง ๒๕๑๙ เธอจะถ่ายทำภาพยนตร์โดยเฉลี่ยแล้วประมาณปีละ ๓ - ๔ เรื่องซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่มากที่เดียวสำหรับนักแสดงเด็ก ทั้งนี้ไม่มีข้อมูลปรากฏว่าเธอเข้าโรงเรียนที่ไหนหรือจบการศึกษาระดับใด ซึ่งเราก็พอจะอนุมานได้ว่าการศึกษาในระบบโรงเรียนคงจะไม่ได้เป็นส่วนสำคัญในชีวิตของเธอ



ชีวิตของเด็กผู้หญิงที่ต้องลดความสำคัญของการศึกษาเพื่อแต่งงานหรือทำงานช่วยครอบครัวหาเลี้ยงชีพ ไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับสังคมที่มองว่าเด็กผู้ชายคืออนาคตของครอบครัวอย่างสังคมอินเดียหรือประเทศไทยในสมัยหนึ่ง นักแสดงหญิงชื่อดังของวงการภาพยนตร์อินเดีย อย่าง มธุบาลา (Madhubala) มีนา กุมารี (Meena Kumari) หรือนาร์จีส (Nargis) ก็ล้วนแต่มีจุดเริ่มต้นจากการเป็นนักแสดงเด็กในภาพยนตร์นับสิบ ๆ เรื่อง ก่อนที่จะค่อย ๆ เปลี่ยนผ่านไปสู่บทผู้ใหญ่ ในช่วงเวลาที่ทางเลือกสำหรับผู้หญิงยังไม่ได้มีมากนัก อาชีพนักแสดงคงจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับเด็กผู้หญิงหน้าตาดีจากครอบครัวชนชั้นกลางที่ไม่ได้ร่ำรวยนักในการขยับสถานะทางสังคมและก้าวข้ามพรมแดนของความเป็นเมียและแม่อันเป็นบทบาทตามประเพณีที่สังคมคาดหวังไว้สำหรับผู้หญิง เช่นเดียวกันกับนักแสดงผู้หญิงที่กล่าวถึงเหล่านี้ รายได้เล็ก ๆ น้อย ๆ สำหรับเป็นค่าขนมของศรีเทวีในช่วงเริ่มต้นก็ได้กลายเป็นกำลังสำคัญที่ใช้จุนเจือครอบครัวในภายหลัง

ศรีเทวีถูกผลักให้รับบทบาทผู้ใหญ่ในวัยเพียง ๑๓ ปี ในช่วงระยะเวลาภายในไม่กี่ปีเธอก็ได้เป็นดาราระดับแม่เหล็กของวงการภาพยนตร์แดนใต้ ภาพยนตร์ที่เธอแสดงนั้นมีทั้งภาพยนตร์ที่เป็นภาษาทมิฬ ภาษาเตลูกู ภาษามาลายาลัม และภาษากันนาดา อีกทั้งกวาดรางวัลทางด้านการแสดงจากเวทีมอบรางวัลทั้งในทมิฬนาฑู อานธรประเทศ เกราละ และกรณาฏกะ จะว่าไปแล้ว ภาพยนตร์ที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถอันเป็นยอดเยี่ยมทางการแสดงของเธอนั้นส่วนใหญ่ก็จะเป็นภาพยนตร์แดนใต้เหล่านี้ ไม่ใช่ภาพยนตร์ภาษาฮินดีจากมุมไบ ที่เราเรียกกันติดปากว่าภาพยนตร์บอลลีวูด

เทพธิดาจากแดนใต้

ศรีเทวีก้าวเข้าสู่วงการภาพยนตร์ภาษาฮินดีในช่วงปี พ.ศ.๒๕๒๒ อันเป็นช่วงที่นักประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ต่างลงความเห็นกันว่าเป็นยุคมืดของวงการภาพยนตร์ฮินดี ทั้งนี้ด้วยผู้สร้างภาพยนตร์ส่วนใหญ่ต่างก็พยายามที่จะดำเนินรอยตามสูตรสำเร็จของภาพยนตร์ทำเงินเรื่องก่อน ๆ อันทำให้เราเกิดภาพจำของภาพยนตร์เครื่องเทศมาซาล่าที่มีเรื่องรัก เรื่องชีวิต เรื่องตลก เรื่องผจญภัยและการต่อสู้ผสมปนเปกันไปอย่างไม่ค่อยมีเหตุมีผล โดยมีฉากหลังเป็นทิวทัศน์สวย ๆ และมีพระเอกนางเอกวิ่งหยอกล้อกันระหว่างต้นไม้ แม้ว่าเรื่องราวในภาพยนตร์เหล่านี้จะไม่ค่อยมีใครจดจำรายละเอียดได้แม่นยำนัก สิ่งหนึ่งที่ติดตาและติดใจผู้ชมมาตลอดแม้นับหลายสิบปีให้หลัง ก็คือ ดวงตากลมโตเท่าไข่ห่าน ใบหน้าที่แสดงอารมณ์อย่างไม่ห่วงสวย การแสดงที่มีพลังและมีรายละเอียด ตลอดจนจังหวะการเต้นรำที่แม่นยำอย่างที่ไม่นักแสดงทั้งชายและหญิงคนไหนจะเทียบได้

ในวงการภาพยนตร์ภาษาฮินดี ศรีเทวีได้ชื่อว่าเป็นนักแสดงจอมขโมยซีน ในภาพยนตร์เรื่อง Himmatwala อันเป็นภาพยนตร์ที่ทำให้เธอกลายเป็นดาราระดับแม่เหล็กของบอลลีวูดนั้น เธอสามารถดึงให้สายตาของคนดูให้ละจากนักแสดงนำชายที่มีชื่อเสียงมากกว่าเธอมาจดจ่อที่เธอเพียงคนเดียวได้



ในภาพยนตร์เรื่อง Nagina (พ.ศ.๒๕๒๙) ที่เธอเล่นเป็นหญิงสาวที่สามารถกลายร่างเป็นงูได้ การแสดงของเธอและฉากระบำงูในเพลง Main Teri Dushman, Dushman Tu Mera ได้ช่วยให้ภาพยนตร์ที่มีโครงเรื่องอันแสนสับสน กลายเป็นภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จที่สุดในปีนั้นได้ และส่งอิทธิพลในเชิงวัฒนธรรมมาสู่การแสดงเมียงูและระบำงูที่แพร่หลายตามงานวัดบ้านเราด้วย ละครเรื่องนาคินที่กำลังเป็นที่นิยมอยู่ทางโทรทัศน์บ้านเราในขณะนี้ก็เป็นลูกหลานของภาพยนตร์เรื่องนี้เช่นเดียวกัน



ในภาพยนตร์เรื่อง Mister India (พ.ศ.๒๕๓๐) หรือที่ผู้ชมเปลี่ยนชื่อให้เป็น Miss India เพราะรัศมีของศรีเทวีเปล่งประกายจนบดบังนักแสดงนำฝ่ายชายไปจนหมด ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ทำให้ผู้ชมเห็นความสามารถในการแสดงบทบาทที่หลากหลายของศรี โดยเฉพาะความสามารถในการแสดงบทตลก ฉากที่เธอสวมบทบาทเป็นชาร์ลี แชปปลินนั้นได้รับการยกย่องว่าเป็นการแสดงที่ยอดเยี่ยมที่สุดครั้งหนึ่งในภาพยนตร์ฮินดี นอกจากนี้แล้วฉากระบำในเพลง Hawah Hawai ก็ยังได้ทำให้เธอกลายเป็น Gay Icon ของอินเดีย ฐานผู้ชมของเธอจึงมีทั้งกลุ่มที่เป็นผู้หญิง ผู้ชาย และเพศทางเลือก ทั้งกลุ่มเด็กและกลุ่มผู้ใหญ่ ทั้งที่เป็นชาวเหนือและที่เป็นชาวใต้



พลังดาราของศรีเทวีที่ช่วยให้ภาพยนตร์แย่ ๆ ประสบความสำเร็จขึ้นมาได้ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในวงการภาพยนตร์ภาษาฮินดี คือ ผู้สร้างภาพยนตร์ในบอลลีวูดต่างเริ่มพัฒนาภาพยนตร์ที่มีตัวละครผู้หญิงเป็นตัวดำเนินเรื่องหลักเพื่อที่จะให้ศรีเทวีมาเป็นนักแสดงนำ และพร้อมที่ให้ค่าตอบแทนให้เธออย่างสมน้ำสมเนื้อกับนักแสดงชายในระดับเดียวกัน ซึ่งในแง่นี้เราก็จะพบว่าวงการภาพยนตร์ภาษาฮินดีไปไกลกว่าวงการภาพยนตร์ฮอลลีวูดมาก เพราะแม้กระทั่งในปี พ.ศ.๒๕๖๑ นี้แล้ว เหล่านักแสดงหญิงในฮอลลีวูดยังต้องออกมากเรียกร้องค่าตอบแทนที่เท่าเทียมกันอยู่เลย

ความเป็นนิยมชมชื่นในตัวศรีเทวีที่แพร่กระจายไปอย่างกว้างขวางทั่วประเทศ ทำให้เธอได้ชื่อว่าดาราระดับพระกาฬหรือซูเปอร์สตาร์หญิงคนแรกของบอลลีวูด เธอไม่ได้เพียงแต่ทลายกำแพงของโลกที่ให้ความสำคัญกับผู้ชายมากกว่าผู้หญิง แต่เธอก็ยังได้ทลายกำแพงที่มองไม่เห็นระหว่างภาคเหนือกับภาคใต้อีกด้วย เพื่อนของผู้เขียนที่เป็นอาจารย์สอนด้านภาพยนตร์อยู่ที่เมืองอาห์เมดาบาด ได้เขียนถึงศรีเทวีไว้ว่า

“เธอคือสัญลักษณ์ที่ทำให้ผู้หญิงอินเดียที่เติบโตมาในช่วงคริสตทศวรรษที่ ๑๙๘๐ และ ๑๙๙๐ ตระหนักว่าผู้หญิงก็สามารถที่จะประสบความสำเร็จได้ และความงามของผู้หญิงจากแดนใต้ก็ไม่ได้ด้วยไปกว่าผู้หญิงจากภาคเหนือ”

ด้านมืดของเมืองมายา

จริงๆ แล้ว ศรีเทวีไม่ได้นักแสดงหญิงจากภาคใต้คนแรกที่เข้ามาสู่วงการภาพยนตร์บอลลีวูด ก่อนหน้าเธอ วิชยันติมาลา (Vyjayanthimala) เฮม่า มาลินี (Hema Malini) และ เรขา (Rekha) คือเหล่านักแสดงหญิงจากทมิฬนาฑูที่ประสบความสำเร็จในภาพยนตร์ฮินดี แต่ความนิยมจากผู้ชมและบทบาทที่พวกเธอได้รับนั้นอยู่ในวงที่ค่อนข้างจำกัดเมื่อเทียบกับศรีเทวีที่ผู้สร้างภาพยนตร์ตั้งใจเขียนบทภาพยนตร์ขึ้นสำหรับเธอโดยเฉพาะ

ในอดีต วงการภาพยนตร์ภาษาฮินดีนั้นถูกครอบครองนักแสดงหญิงจากภาคเหนือที่มีผิวขาวกระจ่างและมีรูปลักษณ์สูงโปร่งกระเดียดไปทางตะวันตก ทำให้โอกาสที่นักแสดงหญิงจากภาคใต้ที่มีรูปลักษณ์ที่ท้วมป้อมและมีสีผิวที่คล้ำกว่าจะเข้ามาประสบความสำเร็จนั้นเป็นไปได้ยากมาก ในตอนเริ่มต้นของการเข้ามาทำงานในวงการภาพยนตร์ฮินดี เรขาก็มักจะได้รับการดูถูกจากสื่อและนักวิจารณ์ว่าเป็นลูกเป็ดขี้เหร่บ้าง หรือว่าความสำเร็จของเธอนั้นเป็นความบังเอิญบ้าง จนอยู่มาวันหนึ่งที่เธอทำให้คนเหล่านั้นต้องประหลาดใจกับรูปลักษณ์ที่เปลี่ยนไปอย่างมากของเธอ จนเกิดการคาดเดาไปต่าง ๆ นานาเกี่ยวกับกระบวนการทำศัลยกรรมและการใช้ครีมปรับสีผิวของเธอ ซึ่งเรขาก็ปฏิเสธมาตลอดว่ารูปลักษณ์ที่เปลี่ยนไปของเธอนั้นเป็นผลมาจากการฝึกโยคะและการแต่งหน้าไม่ใช่การทำศัลยกรรม

แม้ว่าศรีเทวีจะเป็นผู้หญิงที่สวยมาแต่เกิด แต่การที่ต้องอยู่ในแวดวงที่ต้องเผชิญกับคำวิพากษ์วิจารณ์ทั้งจากผู้สร้างภาพยนตร์ สื่อ ผู้ชมและนักแสดงด้วยกันเองอยู่เป็นนิจทำให้เธอไม่เคยเชื่อมั่นในความงามหรือความสามารถของเธอ ว่ากันว่าเธอผ่านการผ่าตัดมานับสิบครั้งเพื่อปรับเปลี่ยนรูปจมูกของเธอให้สวยดั่งใจ ซึ่งหลายครั้งก็ยิ่งกลับทำให้ดูแย่ลงจนกระทั่งต้องกลับไปผ่าตัดแก้ไขใหม่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า นอกจากนี้แล้วการที่เธอกลับมามีชื่อเสียงในวงการภาพยนตร์อีกครั้ง ก็ทำให้เธอต้องแข่งขันกับนักแสดงหญิงหน้าใหม่ ๆ ที่สาวกว่าและสวยกว่า รสนิยมในรูปร่างที่ผอมเพรียวของผู้ชมสมัยปัจจุบันยิ่งเป็นแรงกดดันให้เธอต้องดูแลตนเองให้ดูสาวและดูดีตลอดเวลา ข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์หัวสีของอินเดียต่างก็พยายามเชื่อมโยงอิทธิพลจากการใช้ยาเพื่อลดน้ำหนักกับการเสียชีวิตของเธอ

ปัญหาเรื่องการใช้สารเสพติดเพื่อควบคุมน้ำหนักและเพื่อลดความตึงเครียด เป็นความลับที่รู้กันทั่วไปในมุมไบมาตั้งแต่สมัยอดีต การหย่าร้างครั้งใหญ่ของพระเอกรูปหล่อกล้ามโตกับภรรยาสาวนักออกแบบตกแต่งภายใน ความตกต่ำของนางแบบชื่อดัง คีตาญชลี นาคปาล ความตายของมธุบาลา มีนา กุมารี และปราวีณ บาบี้ ล้วนเป็นผลมาจากการใช้สารเสพติดและแอลกอฮอล์จนเกินการควบคุม

ท่ามกลางแสงไฟที่โชติช่วงที่ฉายอาบร่างของพวกเธอ ใครเล่าจะสังเกตเห็นเงาทะมึนที่ซ่อนเร้นอยู่

ความโดดเดี่ยวท่ามกลางฝูงชน

ชีวิตในเมืองมายาที่พลุกพล่านไปด้วยผู้คนและเต็มไปด้วยงานเลี้ยงสังสรรค์นั้น เป็นชีวิตที่โดดเดี่ยวและอ้างว้าง ผู้ที่จะสามารถเข้าใจชีวิตและจิตใจของนักแสดงหญิงได้ก็ย่อมที่จะเป็นนักแสดงหญิงด้วยกันเอง แต่สื่อและโครงสร้างทางธุรกิจก็ทำให้พวกเธอกลายเป็นศัตรูกัน มธุรี ดิษิต (Madhuri Dixit) และจายา ปราดา (Jaya Prada) คือนักแสดงร่วมรุ่นที่สื่อยกย่องให้เป็นขู่แข็งคนสำคัญของศรีเทวี มีเรื่องเล่าว่าศรีเดวีและจาชย ปราดาเคยถูกขังไว้ในห้องแต่งตัวแคบๆ เป็นเวลาหลายชั่วโมง แต่เมื่อมีคนไขประตูให้ทั้งสองออกมาก็กลับพบว่า นักแสดงทั้ง ๒ คนต่างก็นั่งอยู่ในมุมของตนโดยไม่เคยพูดกันเลยตลอดช่วงเวลานั้น ในฉากเต้นระบำเพลง Ajao Tum Ajao Nagraja จากภาพยนตร์เรื่อง Maqsad (พ.ศ.๒๕๒๗) เราจะเห็นพลังของการแข่งขันระหว่างนักแสดงหญิงทั้งสองที่กลายมาเป็นพลังของการสร้างสรรค์งานศิลปะชั้นยอดได้อย่างชัดเจน



อย่างไรก็ตามความโดดเดี่ยวที่โหดร้ายที่สุดสำหรับศรีเทวีก็คือความโดดเดี่ยวที่เกิดขึ้นจากการกระทำของสมาชิกในครอบครัวของเธอเอง ในสมัยก่อนค่าตัวจากการแสดงภาพยนตร์นั้นมักเป็นเงินนอกระบบ ทำให้พ่อของเธอนำเงินรายได้จากการแสดงภาพยนตร์ของเธอไปฝากไว้กับเพื่อนและญาติ ๆ แต่เมื่อบิดาของเธอเสียชีวิต คนเหล่านั้นก็กลับปฏิเสธว่ามีเงินก้อนดังกล่าวอยู่ นอกจากนี้แล้วแม่ของเธอก็ยังนำเงินส่วนที่เหลือไปลงทุนผิด ๆ จนกระทั่งทรัพย์สินทุกอย่างที่เธอหามาได้ด้วยน้ำพักน้ำแรงของตนเองต้องสูญสิ้นไป นอกจากนี้แล้ว เมื่อแม่ของเธอเสียชีวิตและได้มอบมรดกทั้งหมดให้กับเธอ ศรีเทวีก็ยังต้องเผชิญหน้ากับการฟ้องร้องแบ่งแยกทรัพย์สินจากน้องสาวแท้ ๆ ของเธอที่กล่าวหาเธอว่าใช้ประโยชน์จากช่วงที่แม่ไม่มีสัมปชัญญะในการปลอมแปลงพินัยกรรม

เมื่อครั้งที่เธอแต่งงานกับผู้ชายที่เธอรัก เธอก็ถูกสังคมประณามว่าเป็นมือที่สามที่ทำให้ครอบครัวที่สมบูรณ์สุขต้องพังทลาย อีกทั้งถูกมารดาของว่าที่สามีดูถูกเหยียดหยามต่อหน้าธารกำนัลกลางโรงแรมระดับห้าดาว

ที่สุดแล้ว ผู้หญิงที่เป็นที่ปรารถนาของผู้คนนับล้าน ผู้หญิงที่มอบความสุขให้กับสาธารณชนทั่วโลก ก็ต้องเผชิญหน้ากับปีศาจร้ายความซึมเศร้าและความไม่มั่นคงในชีวิตในมายานากิรีโดยตัวคนเดียว




กำลังโหลดความคิดเห็น