xs
xsm
sm
md
lg

“เหมืองอัครา”ผิดชัด บ่อเก็บกากรั่ว-น้ำปนเปื้อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


มหากาพย์ “เหมืองทองอัครา” ใกล้ถึงตอนจบ คณะทำงาน ก.อุตสาหกรรม เผยผลตรวจสอบน้ำซับบริเวณนาข้าวของชาวบ้านที่ร้องเรียน ขณะที่น้ำในบ่อสังเกตการณ์ 5 บ่อ พบปนเปื้อนสารฟอสเฟต-โลหะหนักอื่นๆ ชี้ชัดเป็นน้ำรั่วไหลจากบ่อเก็บกากแร่ของเหมือง เตรียมเปิดเผยผลสรุปภายใน 10 วัน

วานนี้ (1 มี.ค.) ดร.สมิทธ์ ตุงคะสมิต อาจารย์วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Smith Tungkasmit ระบุถึงกรณีการตรวจสอบเหมืองแร่ทองคำของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ว่า มหากาพย์เหมืองทองอัคราใกล้ถึงตอนจบแล้ว โดยอ้างถึงผลสรุปของกระทรวงอุตสาหกรรม ที่พบข้อบ่งชี้การรั่วไหลของบ่อเก็บกากแร่ (บ่อทิ้งไซยาไนด์และโลหะหนัก) อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งในอีก 10 วัน รายงานฉบับสมบูรณ์จะถูกนำเสนอต่อสาธารณชน

ดร.สมิทธ์ระบุว่า เกือบ 3 ปีที่พยายามพิสูจน์ความจริง เจาะเลือดประชาชนพันกว่าคนรอบเหมืองก็แล้ว ตรวจดิน น้ำ พืช รอบๆ เหมืองก็แล้ว พบตรงกันหมดว่ามีการปนเปื้อนโลหะหนักอย่างมีนัยสำคัญ เหมืองก็ยังปฏิเสธว่ามาจากธรรมชาติบ้าง มาจากบริโภคอาหารทะเลบ้าง ในที่สุดสิ่งที่ชัดเจนคือการพิสูจน์การรั่วของบ่อสารพิษและโลหะหนัก โดย ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ จากมหาวิทยาลัยนเรศวร ดร.สิรินาฏ เลาหะโรจนพันธ์ และ Dr. Yuji Mitsuhata จาก National Institute of of Advance Industrial Science and Technology ประเทศญี่ปุ่น เป็นประจักษ์พยานที่ยากจะปฏิเสธได้ว่า เหมืองทองคำสัญชาติออสเตรเลียนี้มีปัญหาจริงๆ
"เราต้องจับตาดูการทำงานของข้าราชการกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ต่อไป...ว่าจะจริงจังแค่ไหน เพราะแค่ “...จะได้ติดตามเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงคุณภาพน้ำโดยรอบสถานประกอบการ” นั้น...มันจะน้อยไปไหมครับ?" ดร.สมิทธิ์ระบุ

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 28 ก.พ.ที่ผ่านมา นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ จากการทำเหมืองทองอัครา ได้ออกแถลงการณ์ว่า ขณะนี้ผลการศึกษาโครงการสำรวจตรวจสอบโอกาสการรั่วไหลของสารพิษจากบ่อเก็บกากแร่ที่ 1 (TSF1) ด้วยเทคนิคด้านธรณีฟิสิกส์และไอโซโทป โดย ผศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ จากมหาวิทยาลัยนเรศวร ดร.สิรินาฏ เลาหะโรจนพันธ์ และ Dr.Yuji Mitsuhata จาก National Institute of Advanced Industrial Science and Technology (AIST) ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งผ่านการตรวจสอบจากคณะทำงานย่อยผู้เชี่ยวชาญการตรวจสอบข้อเท็จจริงการรั่วซึมของบ่อเก็บกากแร่ที่ 1 และคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงการรั่วซึมของบ่อเก็บกากแร่แล้ว สามารถสรุปผลการศึกษา พบความผิดปกติทางความต้านทานไฟฟ้าที่แสดงถึงการรั่วไหลของน้ำจากบ่อเก็บกากแร่ที่ 1 สอดคล้องกับข้อมูลธรณีเคมีกับไอโซโทป ซึ่งชี้ให้เห็นว่า น้ำจากบ่อเก็บกากแร่ที่ 1 ไหลมาถึงบ่อสังเกตการณ์ด้านทิศใต้และตะวันตกเฉียงใต้ (บ่อเฝ้าระวัง 6468 6473 5339 6691 และ 5338) รวมทั้งพบน้ำซับทางด้านทิศใต้ของบ่อเก็บกากแร่ที่ 1 ด้วย

สำหรับการตรวจสอบน้ำผุดหรือน้ำซับบริเวณนาข้าวที่ชาวบ้านในพื้นที่ร้องเรียน จากการตรวจสอบ 2 ครั้ง ในปี พ.ศ.2559 และ 2560 ไม่พบสารไซยาไนด์ปนเปื้อนในน้ำอย่างมีนัยสำคัญ แต่พบการปนเปื้อนของซัลเฟตและโลหะหนักอื่น และผลการวิเคราะห์ทางเคมีของน้ำจากบ่อเฝ้าระวังชี้ว่า น่าจะเป็นน้ำรั่วไหลจากบ่อเก็บกากแร่ที่ 1

“ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) จะได้ติดตามเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงด้านคุณภาพน้ำโดยรอบสถานประกอบการเหมืองแร่ทองคำของบริษัท อัคราฯ ต่อไป เพื่อความปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน” นายพสุ ระบุ.


กำลังโหลดความคิดเห็น