ตามนัยแห่งคำสอนของพุทธศาสนาที่ว่าด้วยกฎแห่งกรรม ซึ่งเป็นปัจจัยให้ทุกชีวิตเป็นไปใน 4 ทางคือ
1. สว่างมา สว่างไป ได้แก่ ผู้ที่เกิดมาโดยอาศัยแห่งกรรมดีซึ่งทำไว้ในชาติก่อน จึงทำให้มาเกิดในตระกูลที่ดี มีคุณธรรม และเพียบพร้อมไปด้วยทรัพย์สมบัติ ประกอบกับเป็นผู้มีความสมบูรณ์ทั้งด้านร่างกาย และจิตใจ ในขณะที่มีชีวิตอยู่กระทำแต่กรรมดี ไม่กระทำความชั่ว ส่งผลให้ไปเกิดในภพภูมิที่ดี เมื่อละจากโลกนี้ไป
2. มืดมา มืดไป ได้แก่ ผู้ที่เกิดมาด้วยผลแห่งกรรมชั่ว ส่งผลให้เกิดในตระกูลที่ไม่มีคุณธรรม และขาดแคลนทุกทรัพย์ ทั้งเป็นผู้ที่ร่างกายและจิตใจไม่อยู่ในภาวะปกติ ในขณะที่มีชีวิตอยู่ประกอบแต่กรรมชั่ว จึงส่งผลให้ไปเกิดในภพภูมิที่ไม่ดี หลังจากลาโลกนี้ไป
3. สว่างมา มืดไป ได้แก่ ผู้ที่เกิดมาโดยอาศัยผลแห่งกรรมดี ซึ่งตนเองกระทำไว้ในชาติก่อน จึงทำให้มาอยู่ในตระกูลดี มีคุณธรรม และเพียบพร้อมไปด้วยทรัพย์สมบัติ แต่ในขณะที่มีชีวิตอยู่ไม่ประกอบกรรมดี แถมประกอบกรรมชั่ว จึงส่งผลให้ไปเกิดในภพภูมิที่ไม่ดี หลังจากละโลกนี้ไป
4. มืดมา สว่างไป ได้แก่ ผู้ที่เกิดมาโดยอาศัยผลแห่งกรรมชั่ว จึงทำให้มาเกิดในตระกูลที่ไม่มีคุณธรรม และขาดแคลนทุนทรัพย์ แต่ในขณะที่มีชีวิตอยู่กระทำแต่ความดี ไม่กระทำความชั่ว จึงส่งผลให้ไปเกิดในภพภูมิที่ดีเมื่อละโลกนี้ไป
โดยนัยของกฎแห่งกรรม 4 ประการข้างต้น รัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในภาวะที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ส่อเค้าว่าจะมีชะตากรรมในทำนองเดียวกันกับข้อที่ 3 คือสว่างมา มืดไป โดยอนุโลม ทั้งอนุมานจากเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้
1. การเข้ามาของรัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผลสืบเนื่องมาจากการเมืองภาคประชาชนในนาม กปปส.ที่เคลื่อนไหวและชุมนุมขับไล่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งมีพฤติกรรมไม่เป็นที่พอใจของประชาชน เช่น การทุจริต คอร์รัปชัน และการออกกฎหมายนิรโทษกรรมเพื่อช่วยพวกพ้อง เป็นต้น และพร้อมกันนี้ กปปส.ได้ชูธงการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง
ดังนั้น เมื่อ คสช.ซึ่งนำโดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โค่นล้มรัฐบาลซึ่งประชาชนไม่ต้องการออกไปและจัดตั้งรัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศ ประชาชนจึงให้การต้อนรับ และคาดหวังว่ารัฐบาลชุดนี้จะทำการปฏิรูปเพื่อการแก้ไขและป้องกันปัญหาที่เกิดขึ้น และสะสมมานานในระบบการเมืองไทย
ด้วยเหตุนี้ การปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ ก่อนการเลือกตั้ง จึงเป็นพันธกิจ (Mission) อันสำคัญที่รัฐบาลต้องดำเนินการเพื่อสนองความต้องการของประชาชน
แต่เท่าที่ผ่านมา วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 จนถึงปัจจุบัน เป็นระยะเวลา 3 ปีกว่าที่รัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา บริหารประเทศพันธกิจที่ว่านี้ยังไม่ปรากฏให้เห็นในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมแต่ประการใด จะมีก็เพียงการตั้งคณะทำงานชุดต่างๆ ขึ้นมาจัดทำหลักการ แต่ยังไม่มีการนำหลักการที่ว่านี้ไปปฏิบัติจนเกิดผล จนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น จึงไม่อาจพูดได้ว่า ทำการปฏิรูปแล้ว แม้แต่ด้านเดียว
2. นอกจากไม่มีผลงานในด้านการปฏิรูปแล้ว รัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังมีความมัวหมองจากพฤติกรรมของรัฐมนตรีบางท่านที่ส่อเค้าว่าเข้าข่ายผิดกฎหมาย และได้กลายเป็นจำเลยทางสังคมไปแล้ว นั่นก็คือ เรื่องการครอบครองนาฬิการาคาแพง และไม่ได้แจ้งทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช.เพื่อเข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมืองของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกลาโหม ซึ่งอยู่ระหว่างการสอบสวนของ ป.ป.ช.อยู่ในขณะนี้
3. บุคลิกภาพส่วนตัวของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นแบบทหารอาชีพ ซึ่งเคยชินกับการออกคำสั่ง โดยที่ผู้รับคำสั่งไม่อาจตอบโต้ได้ ซึ่งเป็นวินัยของทหาร
ดังนั้น เมื่อมาดำรงตำแหน่งทางการเมือง และพบกับคำถามของนักข่าวในลักษณะซักไซ้ไล่เลียง จึงกลายเป็นอนิฏฐารมณ์ ซึ่งเป็นเหตุให้แสดงท่าทีแข็งกร้าวออกไป จนกลายเป็นภาพลบ ทำให้เรื่องเล็กกลายเป็นเรื่องใหญ่ และเรื่องไม่เป็นเรื่องกลายเป็นเรื่องขึ้นมาได้
ด้วยเหตุปัจจัย 3 ประการนี้ รัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงอยู่ในช่วงขาลง เนื่องจากกำลังประสบกับวิกฤตศรัทธาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และมีแนวโน้มว่าจะเข้าข่ายสว่างมา มืดไป ค่อนข้างแน่นอนแล้วเว้นไว้แต่ว่าในเวลา 1 ปีที่เหลืออยู่จะเร่งผลักดันการปฏิรูปในด้านที่ประชาชนต้องการให้ดำเนินการ เช่นการปฏิรูปตำรวจ และกระบวนการยุติธรรม เป็นต้น ให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างจริงจัง และดำเนินการปราบปรามทุจริตให้เห็นเป็นรูปธรรม เป็นที่ยอมรับของประชาชนก็มีโอกาสพลิกกลับมาเป็นสว่างมา สว่างไป คือ มาด้วยความคาดหวังของประชาชน และจากไปด้วยความสมหวังของประชาชน แต่การจะทำเช่นนี้ได้จะต้องดำเนินการเร่งด่วน และไม่อาจทำได้ด้วยกระบวนการปกติได้ จึงอาจต้องใช้มาตรา 44 มาดำเนินการ
แต่ถ้าไม่ดำเนินการให้ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ โอกาสที่จะอยู่ไปจนการเลือกตั้งค่อนข้างยาก ดังนั้น จึงไม่ต้องพูดถึงว่าจะกลับมาอีกครั้ง แล้วค่อยทำการปฏิรูปเพราะเท่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ถ้ามองในแง่ของการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ตามนัยแห่งวาทะของขงจื๊อที่ว่า
“เศรษฐกิจย่ำแย่ กองทัพแตกแยก และประชาชนไม่ศรัทธาในผู้ปกครองการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ก็จะเกิดขึ้น” แล้วนำสถานการณ์ทางการเมืองเท่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้มาเปรียบกับคำสอนของขงจื๊อแล้วอนุมานได้ว่า ส่อเค้าไปในทิศทางเดียวกัน