xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อบริษัทผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ในรัฐมิชิแกนจะปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งหมดภายในปี 2583

เผยแพร่:   โดย: ประสาท มีแต้ม

ในวันที่รัฐมนตรีพลังงานของไทยได้ลงนามในข้อตกลงร่วมกับ “เครือข่ายปกป้องสองฝั่งทะเลกระบี่-เทพา ยุติโรงไฟฟ้าถ่านหิน” (อังคาร 20 ก.พ.61) เพื่อให้เริ่มกระบวนการ “การศึกษาผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ (SEA)” ของโรงไฟฟ้าถ่านหิน ก่อนหน้านั้นห่างกันไม่กี่ชั่วโมง (จันทร์ 19 ก.พ. 61) ในอีกซีกโลกหนึ่งของประเทศเรา ผู้บริหารสูงสุดของบริษัทผลิตไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดรายหนึ่งในรัฐมิชิแกน สหรัฐอเมริกาได้ประกาศว่า จะปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินของตนทั้งหมด (จำนวน 5 โรง) ภายในปี พ.ศ.2583 หลังจากได้ปิดมาแล้ว 7 โรงเมื่อปี 2559

อ่านมาถึงตอนนี้ ท่านผู้อ่านคิดอย่างไรกับเรื่องนี้ครับ

อีก 2 วันต่อมา (22 ก.พ.61) รัฐมนตรีพลังงานได้ให้สัมภาษณ์ในรายการ “Meet the Press” ว่า “ในปัจจุบันยังไม่มีความจำเป็นต้องตัดสินใจสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่โดยเฉพาะเชื้อเพลิงถ่านหินในภาคใต้ ในช่วงเวลา 5 ปีหลังจากนี้ โดยยืนยันว่ากระทรวงมีกระบวนการจัดการปัญหาตามแผนพัฒนาสายส่งไฟฟ้าจากภาคกลาง 500 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง 2 เส้น ที่เป็นการดำเนินงานของการไฟฟ้าฝ่ายผลิแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ซึ่งช่วงหลังจากนี้ต้องไปศึกษา วิเคราะห์พื้นอื่นๆ ควบคู่กับกระบี่และเทพา ให้เหมาะสมที่สุดในการตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหิน และไม่ให้เกิดความขัดแย้งของสังคม” (จากไทยโพสต์)

นอกจากนี้ หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ยังได้รายงานต่อว่า รัฐมนตรี “เตรียมส่งทีโออาร์ประมูลแหล่งก๊าซธรรมชาติ บงกช-เอราวัณ ให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติเคาะ เม.ย.นี้”

นี่มันสะท้อนอย่างน้อย 2 อย่างครับ คือ

หนึ่ง ข้อมูลที่ภาคประชาชน (และผมเอง) ได้นำเสนอว่า กำลังการผลิตไฟฟ้าในภาคใต้ไม่ได้ขาดแคลนเลย ตรงกันข้ามมันเหลืออื้อเลย จริงอยู่การก่อสร้างโรงไฟฟ้าต้องใช้เวลา 5-7 ปี ไม่ได้เปิดปุ๊บติดปั๊บ แต่ลองคิดดูหากไม่มีการคัดค้านโรงไฟฟ้ากระบี่ขนาด 800 เมกะวัตต์จะเข้าสู่ระบบการผลิตในปี 2564 หรืออีก 3 ปีข้างหน้า รัฐมนตรีพลังงานบอกว่า “ยังไม่มีความจำเป็นในอีก 5 ปีหลังจากนี้” แต่จากการศึกษาของภาคประชาชนพบว่า “ยังไม่จำเป็นในอีก 10 ปีหลังจากนี้” ด้วยซ้ำ

ถาม การมีโรงไฟฟ้าสำรองเยอะๆ มันเสียหายตรงไหน?

ตอบ ก็เหมือนกับการผูกอาหารปิ่นโตนั่นแหละครับ แม้เราไม่กินก็ต้องจ่ายเงินครบทุกเดือน ปัจจุบันคนไทยต้องเสีย “ค่าความพร้อมจ่าย” ให้กับโรงไฟฟ้าเอกชนปีละกว่า 9 หมื่นล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ โดยเฉลี่ยประมาณ 56 สตางค์ต่อหน่วยในปี 2550 มาเป็น 73 สตางค์ต่อหน่วยในปี 2560 ปัจจุบันทั้งประเทศมีกำลังการผลิตสำรองเกินมาตรฐานสากลที่ 15% ไปถึงกว่า 2 เท่าตัว

ถ้าโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่-เทพาเกิดขึ้นมาวันนี้ ค่าความพร้อมจ่ายต่อหน่วยไฟฟ้าของเราก็จะสูงขึ้น ซึ่งอยู่ในค่าเอฟทีที่เราถูกบังคับให้จ่ายโดยไม่ค่อยจะรู้ว่ามันคือค่าอะไรบ้าง

ถ้ามันเพิ่มขึ้นเป็น 20 สตางค์ต่อหน่วย บ้านใดที่ใช้ไฟฟ้าปีละ 6,000 หน่วย ก็ต้องรับภาระจากความผิดพลาดเชิงนโยบายปีละ 1,200 บาทต่อปี

สอง ความพยายามที่รัฐมนตรีพลังงานได้เล่ามา ไม่ว่าจะเป็นการสร้างสายส่งเพิ่ม การเปิดประมูลแหล่งก๊าซธรรมชาติ (ซึ่งหมดอายุสัมปทานที่กฎหมายเดิมไม่อนุญาตให้ต่อแล้ว แต่มีการแก้กฎหมายใหม่-ภาคประชาชนเรียกว่า “การประมูลจำแลง”) ตลอดจนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลที่อนุญาตให้ผสมถ่านหินได้ 25% ล้วนเป็นความพยายามที่สวนกระแสของโลกที่สหประชาชาติได้แนะนำว่าต้องมีเป้าหมายที่เป็น “การพัฒนาที่ยั่งยืน”

เพราะตราบใดที่ไม่ได้มี “หลักการสำคัญ 2 ประการของมนุษย์”กำกับทิศทางการพัฒนา คือ (1) มนุษย์ต้องเป็นอิสระและพึ่งตนเองได้ ไม่เป็นทาสใคร และ (2) มนุษย์ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม ไม่ทำให้ใครเดือดร้อน การพัฒนาที่ยั่งยืนจะเกิดขึ้นไม่ได้ จะมีก็แต่ “ความขัดแย้งที่ยั่งยืนและรุนแรงขึ้น” เท่านั้น

กลับมาที่เรื่องที่เป็นความหวังของชาวโลกเราครับ คือเรื่องการปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินในรัฐมิชิแกน

รัฐมิชิแกน เป็นรัฐที่อยู่ทางเหนือค่อนมาทางตะวันออกใกล้กับประเทศแคนาดา มีประชากรประมาณ 10 ล้านคนในปี 2552 รัฐนี้ผลิตไฟฟ้าด้วยถ่านหิน 66% นิวเคลียร์ 22% และพลังงานหมุนเวียน 3% แต่ในปี 2559 ได้ลดการใช้ถ่านหินลงมาเหลือ 46% นิวเคลียร์ 24% ก๊าซธรรมชาติ 20% และพลังงานหมุนเวียน 10%

ค่าไฟฟ้าสำหรับผู้อยู่อาศัยของรัฐนี้สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ 12% โดยในเดือนพฤศจิกายนปี 2560 เท่ากับ 15.24 เซนต์ (หรือ 4.88 บาท) ต่อหน่วย ลดลงจากเมื่อปีก่อน 4 สตางค์ต่อหน่วย

บริษัทผลิตไฟฟ้าที่ผมกำลังพูดถึงในชื่อบทความนี้คือ “Consumers Energy Company” ก่อตั้งปี 1886 มีสำนักงานใหญ่อยู่ในรัฐมิชิแกน ในปี 2559 บริษัทนี้ได้ปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินของตนไปแล้ว 7 โรง (หรือประมาณ 1 ใน 3 ของกำลังการผลิตจากถ่านหิน) จากทั้งหมด 12 โรง

ประธานและซีอีโอของบริษัทได้ให้เหตุผลในการปิดโรงไฟฟ้าที่เหลือทั้งหมดภายในปี 2040 ไว้อย่างน่าสนใจมากว่า “บริษัทยอมรับความเห็นทางวิทยาศาสตร์ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก และหวังว่าจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง 80% ภายในปี 2040 ในความพยายามที่จะเป็นด้านที่ถูกต้องของประวัติศาสตร์ในประเด็นดังกล่าว”(ดูภาพประกอบครับ)

อีกตอนหนึ่งประธานบริษัทนี้ได้กล่าวว่า “เราเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเป็นเรื่องจริง เราสามารถกระทำในส่วนของเราได้โดยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเรายังเชื่ออีกว่าการกระทำดังกล่าวไม่ได้ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น

ผมขออนุญาตย้ำนะครับว่า การปิดโรงไฟฟ้าถ่านหิน (แล้วหันไปเพิ่มการผลิตด้วยก๊าซและพลังงานหมุนเวียน) ไม่ได้ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น ซึ่งตรงกันข้ามกับที่นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีพลังงานได้ขู่คนไทยมาตลอด

เธอ (ซีอีโอคนเดิมครับ) ยังได้กล่าวย้ำเพิ่มเติมอีกว่า “การเพิ่มโรงไฟฟ้าถ่านหินได้ทำให้ความสามารถในการแข่งขันลดลง ในขณะที่ต้นทุนของพลังงานหมุนเวียนลดลงอย่างต่อเนื่อง” ซึ่งบทความนี้อ้างถึงแหล่งอ้างอิง ผมก็ได้ค้นนำมาแป๊ะให้ดูเป็นหลักฐานด้วยแล้วครับ (ดังภาพข้างล่าง)

การปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินมีทั่วไปในสหรัฐอเมริกาโดยในปีนี้ (2018) ได้ประกาศว่าจะปิดจำนวนกว่า 18,000 เมกะวัตต์ ผ่านมาเพียง 45 วันของปีนี้ได้ปิดไปแล้วมากกว่าในช่วง 3 ปีในสมัยแรกของประธานาธิบดีบารัค โอบามา เสียด้วยซ้ำ ( https://thinkprogress.org/coal-plants-now-shutting-down-faster-under-trump-than-obama-4da9d4554ec0/)

ผมได้ฉายภาพ 2 ภาพที่มีสาระตรงกันข้ามให้เห็นแล้วนะครับ ภาพหนึ่งเป็นบริษัทผลิตไฟฟ้า แม้จะเป็นบริษัทที่มุ่งหวังผลกำไร แต่เขาก็เชื่อฟังต่อข้อเสนอของนักวิทยาศาสตร์ คือการประกาศว่าจะเลิกโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งหมด ด้วยข้อมูลที่ว่าจะไม่ได้ทำให้ต้นทุนของเขาสูงขึ้น หรือมีกำไรลดลงแต่อย่างใดแล้วก็หันไปลงทุนในพลังงานลม และโซลาร์เซลล์

อีกภาพหนึ่งเป็นความพยายามของรัฐมนตรีพลังงานของประเทศไทยเราเอง ที่ไม่ยอมยึดมั่นตามข้อตกลงปารีสที่ได้ลงนามไว้แล้ว ชอบอ้าง “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” แต่กลับทำจริงอีกอย่างหนึ่ง ชอบอ้าง “ความไม่สมบูรณ์ถูกต้องของข้อมูลข่าวสาร” โดยอาศัยข้อด้อยของคนไทยที่ “ชอบค้นหาความจริงน้อยไป” และ “นับถือปริญญา(หรือผู้มีอำนาจ)มากกว่าความรู้” ผลที่ตามมาก็คือการพัฒนาที่นำไปสู่ความล้มเหลวตลอดเกือบ 60 ปีในขณะที่หลายประเทศที่เริ่มพัฒนาหลังประเทศเราได้เริ่มแซงหน้าไปไกลแล้ว

ผู้นำรัฐบาลมักพูดเสมอๆ ว่า ประเทศต้องมี “ความมั่นคงพลังงาน” แต่ก็ไม่ยอมขยายความให้ชัดเจนว่าหมายถึงอะไร นอกจากคำพูดสั้นๆ ว่าคือ “การมีพลังงานใช้ตามความต้องการที่เพิ่มขึ้นตลอดไป”

ด้วยความที่คนไทย “ชอบค้นหาความจริงน้อยไป” จึงไม่ได้ตั้งคำถามว่า ระหว่างการมีแหล่งพลังงานเป็นของตนเอง กับการต้องนำเข้าจากต่างประเทศ อย่างไหนจะมีความมั่นคงมากกว่ากัน

ผลงานวิจัยล่าสุด (มกราคม 2561) ที่จัดทำโดยองค์กรระหว่างรัฐบาลที่ชื่อว่า IRENA (ซึ่งรัฐบาลไทยเป็นสมาชิกด้วย) พบว่า ในปี 2556 ประเทศไทยได้ใช้พลังงานต้นกำเนิด (Primary Energy) จากภายในประเทศเพียง 58% ที่เหลือเป็นการนำเข้าจากต่างประเทศและได้พยากรณ์ว่าในปี 2573 จะมีการใช้แหล่งพลังงานของไทยเพียง 25% ของปริมาณที่ใช้เท่านั้น (หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบาย)

การศึกษาดังกล่าวกระทำในกลุ่มประเทศอาเซียน (ดังภาพข้างต้น) พบว่า ประเทศไทยมีอาการน่าเป็นห่วงมากที่สุด (ผมตีความเองครับ) เพราะสามารถพึ่งตนเองด้านพลังงานได้น้อยที่สุด (ไม่นับสิงคโปร์เพราะเป็นประเทศร่ำรวย) ต่ำกว่าเวียดนามและฟิลิปปินส์ ทั้งๆ ที่ประเทศเราเป็นต้นคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

ผลงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่ IRENA ทำร่วมกับกระทรวงพลังงานของไทย เรื่อง “Renewable Energy Outlook Thailand” (2017) พบว่า

“ถ้าประเทศไทยเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนจาก 23% เป็น 37% จะมีผลทำให้ค่าใช้จ่ายด้านพลังงานและค่าสิ่งแวดล้อม รวมทั้งค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพลดลงรวมประมาณ $8,000 ล้านต่อปี (2.7 แสนล้านบาทต่อปี)”

แต่เชื่อไหมครับ ผมยังไม่เห็นรัฐมนตรีพลังงานและนายกรัฐมนตรีของไทยอ้างถึงผลงานชิ้นนี้เลยประเทศไทยเราเป็นอย่างนี้แหละครับ นอกจากจะมีความสามารถพิเศษที่ใช้ “ความไม่สมบูรณ์ถูกต้องของข้อมูลข่าวสาร” ในการพัฒนาแล้ว ยังมีความสามารถพิเศษในการเก็บงานวิจัยที่ตนไม่เห็นด้วยขึ้นหิ้งได้เก่งอีกต่างหาก


ที่กล่าวมาแล้วพอสรุปได้ว่า มายาคติที่ว่า พลังงานหมุนเวียน เช่น พลังลมและแสงแดด แพงและมีน้อย ผมได้ยกหลักฐานมาหักล้างว่าไม่เป็นความจริงไปหมดทุกประเด็นแล้วครับ ยังคงเหลือสองประเด็นที่มักอ้างกันคือ (1) เวลาแดดไม่มี ลมไม่มาแล้วจะเอาไฟฟ้าที่ไหนใช้ และ (2) พลังงานหมุนเวียนเป็นโรงไฟฟ้าหลัก (Base Load) หรือใช้จำนวนมากๆ อย่างต่อเนื่องไม่ได้

ประเด็นโรงไฟฟ้าหลักต้องอธิบายกันยาวครับ แต่อย่างไรก็ตาม สองมายาคติหลังสุดนี้ก็จบเหมือนกัน เพราะอะไรหรือครับ ก็เพราะต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากแสงแดดและกังหันลมที่มาไม่ต่อเนื่องก็สามารถเก็บลงแบตเตอรี่ในราคาที่ “โคตรถูก”ตามรายละเอียดในภาพครับ



กำลังโหลดความคิดเห็น