xs
xsm
sm
md
lg

TIตัดแต้มดัชนีโกงไทย สอบ“บิ๊กรัฐ”ไม่เคลียร์ ติดกับดักระบบอุปถัมภ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

TI เปิดดัชนีคอร์รัปชันโลก 2017 “ไทย” ได้เพิ่ม 2 แต้ม ป.ป.ท.ชี้ต่างชาติมองไทยติดกับดักระบบอุปถัมภ์ ส่วนเลขาฯป.ป.ช.รับตรวจสอบคนใน รบ.ไม่เคลียร์ จนถูกหั่นคะแนน “บิ๊กกุ้ย” โอ่ยังไม่พอใจ ขีดเส้นอีก 3 ปีต้องได้ 50 คะแนนเป็นอย่างน้อย “วิษณุ” ป้อง “นาฬิกาบิ๊กป้อม” ไม่เกี่ยว

วานนี้ (22 ก.พ.) มีรายงานว่า องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International : TI) ได้ประกาศค่าคะแนน Corruption Perceptions Index (CPI) ประจำปี 2017 โดยไทยได้คะแนน 37 จาก 100 คะแนนเต็ม อยู่ลำดับที่ 96 จากจำนวน 180 ประเทศที่ทำการสำรวจ และรั้งอันดับที่ 4 ของภูมิภาคอาเซียนเทียบเท่าอินโดนีเซีย เป็นรองเพียงสิงคโปร์ บรูไน และมาเลเซีย ดัชนีคอร์รัปชันของไทยในปีที่ผ่านมาถือว่ามีแนวโน้มที่ดีขึ้นจากเมื่อปี 2016 ซึ่งได้คะแนน 35 และอยู่ในอันดับที่ 101 ของโลก แต่ยังคงอันดับ 4 ในอาเซียนเท่าเดิม

ผลการจัดอันดับในปีล่าสุดนี้พบว่า “นิวซีแลนด์” เป็นประเทศที่มีความโปร่งใสสูงที่สุด 89 คะแนน ลดลง 1 แต้มจากเมื่อปี 2016 แต่ยังสามารถแซงหน้าแชมป์เก่าอย่างเดนมาร์กให้ร่วงลงไปเป็นที่สอง โดยได้ 88 คะแนน ส่วนอันดับรองลงมาได้แก่ ฟินแลนด์, นอร์เวย์, สวิตเซอร์แลนด์, สิงคโปร์และสวีเดน เป็นต้น

โดยในรายงานกองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ที่วิเคราะห์ผลคะแนนของ TI ที่ให้กับประเทศไทย ระบุว่า การประเมินที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมาย การใช้ตำแหน่งอำนาจหน้าที่ในทางมิชอบ มีคะแนนลดลงมากที่สุด ซึ่งสะท้อนว่า นานาชาติไม่เชื่อมั่นในการกระบวนการนำตัวผู้ที่กระทำการทุจริตมาลงโทษ อีกทั้งการที่คะแนน CPI ของประเทศไทยอยู่ในระดับต่ำมีช่วงคะแนนอยู่ที่ 35 - 38 คะแนนมาโดยตลอดมาจากภาพลักษณ์การรับรู้ระบบราชการไทย สังคมไทยทั้งในสายตาประชาชนไทย นักลงทุนตลอดจนนักวิชาการนานาชาติ ว่าสังคมไทยยังมีกับดักในเรื่องของระบบอุปถัมภ์ การติดสินบนเจ้าหน้าที่ การจ่ายเงินใต้โต๊ะ การใช้ทรัพยากรที่ไม่คุ้มค่า ไม่มีธรรมาภิบาลอยู่อย่างแพร่หลาย

ขณะที่ นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวว่า แหล่งข้อมูลที่ไทย ได้คะแนนลดลงกว่าปีก่อนมี 3 แหล่งข้อมูล คือ BF หรือ BTI การประเมินกระบวนการเปลี่ยนแปลงไปสู่ประชาธิปไตยและระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรี ซึ่งคะแนนที่ลดลง น่าจะเป็นผลมาจากการวิเคราะห์กระบวนการทางการเมืองเป็นหลัก โดยแม้ว่ารัฐบาลสร้างความมั่นคง ความสงบเรียบร้อย จัดระเบียบสังคม ทวงคืนทรัพยากรธรรมชาติได้ผลดี แต่ขณะเดียวกันเรื่องการตรวจสอบกรณีที่เกี่ยวข้องกับบุคคลในรัฐบาล การเปิดเผยความคืบหน้าการดำเนินคดี การจำกัดสิทธิสื่อมวลชน การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน ยังเป็นจุดอ่อน นอกจากนี้ยังถูกตัดคะแนน IMD ความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ที่เป็นผลมาจากการแก้กฎหมายหลายฉบับ แต่การบังคับใช้ยังขาดประสิทธิภาพ และ VDEM การวัดเกี่ยวกับความหลากหลายของประชาธิปไตย การถ่วงดุลของฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ตลอดจนการทุจริตของเจ้าหน้าที่ในฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ

ด้าน พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. กล่าวว่า แม้อันดับของไทยจะดีขึ้น แต่ ป.ป.ช.มีเป้าหมายว่า ในปี 2564 ต้องได้คะแนน 50% หากไม่ถึง 50% ต้องมาดูว่าจะทำอะไรได้บ้าง ดังนั้นคะแนนปี 2560 จึงถือว่าไม่ตรงตามเป้าหมาย หลังจากนี้ ป.ป.ช.จะมีคณะอนุกรรมการวิเคราะห์ที่มาของแต่ละคะแนนที่ลดลง 3 ดัชนี ได้แก่ ด้านการเมือง เศรษฐกิจ และการจัดการของรัฐบาล เพื่อดูว่ามีองค์ประกอบอะไรบ้าง มีการคาดการณ์คะแนนในด้านที่ลดลง เป็นผลมาจากการตรวจสอบคนในรัฐบาล การจำกัดสิทธิสื่อมวลชน ส่วนตัวเห็นว่า ทุกประเทศไม่สามารถตรวจสอบได้ครบถ้วน
ส่วน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวยืนยันว่า ไม่ใช่เรื่องที่รัฐบาลจะพอใจหรือไม่พอใจ เพราะต้องตรวจสอบว่าทั้ง 9 ฐาน มีคะแนนกลุ่มใดที่ทำให้คะแนนของประเทศไทยต่ำลงหรือเพิ่มขึ้น เพื่อจะแก้ไขจุดแข็งและจุดอ่อน แต่คาดว่าด้านนิติธรรมเป็นด้านที่ประเทศไทยยังมีปัญหาอยู่ อย่างไรก็ตามเชื่อว่า ไม่ได้เกี่ยวโยงกับกรณีนาฬิกาหรูของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี แต่อย่างใด.


กำลังโหลดความคิดเห็น