ณ บ้านพระอาทิตย์
โดย ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
ทุกวันนี้มีประชาชนจำนวนไม่น้อยป่วยทุกข์ทรมานจากโรคปวดศีรษะข้างเดียวหรือที่เรียกว่าโรคไมเกรนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในสังคมเมืองหรือกลุ่มประชาชนที่มีภาวะเครียดสูง
ดังที่เคยปรากฏการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2560 ชมรมศึกษาโรคปวดศีรษะเปิดเผยผลรายงานสถิติที่เคยมีการสำรวจในชุมชนแห่งหนึ่งในพื้นที่ภาคกลางของประเทศไทย 1 ปี จะพบว่ามีผู้ป่วยเป็นโรคไมเกรนสูงถึง 17% ในกลุ่มผู้ป่วยไมเกรนนี้มีถึง 30% มีความรุนแรงจนถึงขั้นไม่สามารถทำงานได้ ซึ่งมีค่าเฉลี่ยใกล้เคียงกับประเทศในภูมิภาคเอเชีย และพบมากในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย
สำหรับปัจจัยกระตุ้นให้เกิดอาการปวดไมเกรนแยกเป็น ปัจจัยภายในร่างกาย กับ ปัจจัยภายนอกร่างกาย
ปัจจัยภายในร่างกาย ได้แก่ การอดนอน นอนน้อย หรือนอนมากไป ช่วงมีประจำเดือน เหนื่อยล้า เครียด หดหู่ใจ ซึ่งการมีอารมณ์เครียด และหดหู่ใจบางครั้งอาจทำให้ผู้ป่วยหรือแพทย์เข้าใจว่าผู้ป่วยเป็นโรคเครียดไม่ได้เป็นไมเกรน [1]
ปัจจัยภายนอกร่างกาย ได้แก่ แสงจ้า เสียงดัง กลิ่นน้ำหอม ควันบุหรี่ อากาศร้อนจัด การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและฤดูกาล การเดินทางข้ามทวีป และการขึ้นที่สูง นอกจากนี้ยังรวมถึง อาการจำพวก ถั่ว เนย กล้วย ไวน์แดง เบียร์ แชมเปญ หัวหอม อาหารหมักดอง อาหารรวมควัน หรือแม้กระทั่งการอดอาหาร ตลอดจนยาบางชนิด เช่น ยาโรคหัวใจ ยาฆ่าเชื้อ ยาต้านโรคซึมเศร้า วิตามินเอขนาดสูง คาเฟอีนหรือกาแฟที่เป็นได้ทั้งกระตุ้นและทำให้อาการไมเกรนดีขึ้น [1]
โดยก่อนหน้านั้นเมื่อปี พ.ศ. 2553 สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้เคยสำรวจพนักงานในสำนักพิมพ์แห่งหนึ่งของประเทศไทยจำนวน 400 คน พบว่า 60% มีภาวะโรคออฟิศซินโดรม 3 อาการที่พบบ่อย คือ 1. ปวดหลังเรื้อรัง 2. ปวดศีรษะไมเกรน และ 3. มือชา เอ็นข้อมือหรือนิ้วมืออักเสบ นิ้วล็อก [2]
ดังนั้นจะเห็นได้ว่าโรคปวดศีรษะไมเกรนนั้นเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ และมีคนเป็นโรคนี้มากขึ้น อย่างไรก็ตามมีงานวิจัยหลายชิ้นที่ได้รายงานถึงวิธีการรักษาโรคไมเกรนให้ได้ผลโดยลดการใช้ยาเคมีลง หรือไม่ใช้ยาเคมีเลย
ยกตัวอย่างเช่นเมื่อปี พ.ศ. 2553 วารสารการแพทย์แผนจีนในสหรัฐอเมริกา The American Journal of Chinese Medicine ได้เผยแพร่ผลการวิจัยผู้ป่วยโรคไมเกรนจำนวน 28 คน ซึ่งจัดทำโดยศูนย์การแพทย์ภาคใต้ของไต้หวัน โดยนำผู้ป่วยจำนวน 14 คน มารักษาแบบ “กดจุดบริเวณกล้ามเนื้อรัดตัว Trigger points 5 ตำแหน่ง” เปรียบเทียบกับผู้ป่วยอีกจำนวน 14 คน ซึ่งได้รับการรักษาโดยการ “รับประทานยาคลายกล้ามเนื้อ” เมื่อติดตามผลเป็นเวลา 6 เดือนผลปรากฏดังนี้
เมื่อได้รับการบำบัดแล้วกลุ่มที่กดจุดลดอาการปวดลงไปเหลือเพียงแค่ 32% ในขณะกลุ่มที่รับประทานยาคลายกล้ามเนื้อคะแนนอาการปวดยังเหลืออยู่ 55% เมื่อได้รับการบำบัดด้วยการกดจุดแล้วก็จะคลายกล้ามเนื้อต่อไปได้อีก 1 เดือน และผลของการรักษาก็จะยังคงอยู่ต่อไปอีก 6 เดือน [3]
และเมื่อย้อนกลับไปดูผลการศึกษาก่อนหน้านี้ เดือนมกราคม พ.ศ. 2551 วารสารการแพทย์แผนจีนในสหรัฐอเมริกา The American Journal of Chinese Medicine ได้เผยแพร่ผลการวิจัยที่ทดลองใช้ครอบแก้วแบบเจาะเอาเลือดออกตามแนวทางต้นตำรับของชาวมุสลิมหรือที่เรียกว่า “ฮิจามะ”ในผู้ป่วยโรคไมเกรนเรื้อรังจำนวน 70 คน พบว่าเมื่อเวลาผ่านไป 3 เดือน ปรากฏว่าความรุนแรงของอาการปวดศีรษะไมเกรนลดลงไป 66% จำนวนความถี่ของการปวดลดลงไป 12.6 วันต่อเดือน [4]
จะเห็นได้จากงานวิจัยว่า “การกดจุด” และ “การครอบแก้วแบบเจาะเอาเลือดออกหรือ ฮิจามะ” นั้นเป็นวิธีการที่ปรากฏในงานวิจัยว่าสามารถรักษาอาการปวดศีรษะไมเกรนที่มีประสิทธิภาพสูงมากที่สุดในระดับใกล้เคียงกัน ถ้าทำอย่างถูกต้องและถูกวิธี
แต่การ “กดจุดบำบัด” ของประเทศไทยนั้นอาจได้ผลเลิศยิ่งกว่างานวิจัยในต่างประเทศ ทั้งนี้วารสารสำนักแพทย์ทางเลือก ของ สำนักการแพทย์ทางเลือก กรมพัฒนาแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข Journal of Bureau of Alternative Medicine ฉบับเดือนกันยายน - ธันวาคม 2552 ได้เผยแพร่ผลการวิจัย ที่เก็บข้อมูลย้อนหลังของโรงพยาบาล 13 แห่ง ระหว่างเดือนมกราคม - กรกฎาคม 2552 โดยศึกษาผู้ป่วยจำนวน 1,086 คน ปรากฏว่า
โรคปวดศีรษะไมเกรนดีขึ้น 96.92 %, โรคปวดคอ บ่าดีขึ้น 95.52%, ปวดหลังดีขึ้น 91.60 %, ปวดเข่า ตึงเส้นขาดีขึ้น 89.86 %, ปวดแขน ไล่ดีขึ้น 85.71 %, เส้นท้องตึง 85.00 % , แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก 83.33 % [5]
แพทย์แผนไทยประยุกต์ แวสะมิง แวหมะ รองคณะบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการที่และเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต ผู้เชี่ยวชาญการรักษาโรคออฟิศซินโดรมและไมเกรน ค้นพบจากการลงมือปฏิบัติรักษาจริงกับผู้ป่วยโรคไมเกรนมานานกว่า 15 ปี ว่า:
“การบูรณาการองค์ความรู้ “กดจุดตามสัญญาณ” ในแนวทางของแพทย์แผนไทยประยุกต์นั้นช่วยรักษาโรคปวดศีรษะไมเกรนได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงมากอยู่แล้ว แต่เมื่อมาผสมผสานกับการครอบแก้วแบบเจาะเอาเลือดออกของอิสลาม (ฮิจามะ) ได้ส่งผลทำให้การรักษาโรคปวดศีรษะไมเกรนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นไปอีก จนถึงขั้นไม่ต้องใช้ยาเคมีเพื่อลดอาการปวดอีกเลย
การปวดศีรษะไมเกรนจากออฟฟิศซินโดรมหรือกล้ามเนื้อมัดใหญ่หดรัดตัว มีโอกาสที่จะทำให้เกิดแรงดันในหลอดเลือดสูงขึ้น มีโอกาสเสี่ยงที่จะทำให้หลอดเลือดสมองตีบหรือแตกได้ (หย่อนหรือพิการ ตามนิยามการแพทย์แผนไทยเนื่องจากเกิดการอั้นของเลือดลม)
การวินิจฉัยจะต้องแยกแยะให้ได้ว่า เส้นหลอดเลือดตีบอันเป็นเหตุที่ทำให้ปวดศีรษะนั้นเกิดจากกล้ามเนื้อรัดตัว หรือเกิดจากลิ่มเลือด/ไขมันอุดตันในหลอดเลือด หรือเกิดขึ้นจากทั้งสองสาเหตุร่วมกัน เมื่อวินิจฉัยแยกแยะถูกแล้วจึงรักษาที่ต้นเหตุให้ถูกต้องตามแนวทางของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น”
แต่เนื่องจากการครอบแก้วแบบเจาะเอาเลือดแบบอิสลาม (ฮิจามะ) นั้นยังไม่มีสถาบันระดับอุดมศึกษาใดเปิดสอนมาก่อน สถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต จึงได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศที่มีความเชื่ยวชาญการครอบแก้วแบบอิสลาม เพื่อมาเปิดหลักสูตรสอนให้กับบุคลากรทางการแพทย์ไทยในเร็ววันนี้ สำหรับแพทย์แผนปัจจุบัน แพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ แพทย์แผนจีน นักกายภาพบำบัด ได้เรียนรู้วิชาการครอบแก้วแบบเจาะเอาเลือดแบบอิสลาม (ฮิจามะ) เพื่อมาบูรณาการองค์ความรู้ต่อยอดกับแนวทางการรักษาของผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์สาขาต่างๆเป็นครั้งแรกในประเทศไทย
สำหรับเรื่องอาหารก็เป็นอีกปัจจัยที่สำคัญ เพราะถ้าผู้ป่วยโรคปวดศีรษะไมเกรนสามารถหลีกเลี่ยงอาหารที่ก่อให้เกิดโรคภูมิแพ้อาหารแฝง (IgG) ได้ ก็อาจจะช่วยลดอาการปวดศีรษะไมเกรนได้อีกด้วย อย่างน้อยคือช่วยการอักเสบที่เกิดขึ้นจากอาหารที่ไม่พึงประสงค์
วิธีการคือตรวจเลือดเพื่อดูผลจากห้องแลปว่าในจำนวนอาหาร 200 กว่าชนิดนั้น ผู้ป่วยควรจะเลี่ยงอาหารอะไรบ้าง เพราะอาหารเหล่านี้สามารถสร้างการอักเสบให้เกิดขึ้นจนสามารถเป็นสาเหตุของการปวดศีรษะไมเกรนได้ด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้วารสารด้านโรคปวดศีรษะ Cephalalgia ได้เผยแพร่งานวิจัยเมื่อปี พ.ศ. 2554 ว่าด้วยเรื่องการทดลองแบบสุ่มตัวอย่างผู้ป่วยโรคปวดศีรษะไมเกรนจำนวน 30 คน โดย 2 สัปดาห์แรกรับประทานอาหารได้อิสระ และ อีก 6 สัปดาห์รับประทานควบคุมอาหารต้องห้ามตามผลการตรวจภูมิแพ้อาหารแฝง ผลปรากฏว่าจำนวนวันที่ปวดศีรษะไมเกรนลดลงจาก 10 วัน เหลือ 7.5 วัน ในขณะที่จำนวนครั้งที่มีการปวดศีรษะไมเกรนจาก 9.2 ครั้ง เหลือ 6.2 ครั้ง [6] หรือสรุปให้เป็นภาษาชาวบ้านคือการควบคุมอาหารจะช่วยลดความถี่และจำนวนวันที่เกิดโรคไมเกรนให้ลดลงได้ประมาณ 30 %
อาจารย์ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ หนึ่งผู้เขียนบทความนี้ได้เคยเป็นโรคปวดศีรษะไมเกรนอย่างรุนแรงมาก่อน และเคยรับประทานยามาแล้วหลายขนานบำบัดมาแล้วหลายวิธี ความรุนแรงนั้นเคยถึงขั้นโรงพยาบาลต้องฉีดยาแก้ปวดที่มีมอร์ฟีนผสมมาให้ด้วย แต่ทุกวันนี้ได้หายจากการปวดโรคไมเกรนมาหลายปีแล้วด้วยการบูรณาการกดจุด ครอบแก้ว และหยุดอาหารต้องห้ามและอาหารที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้อาหารแฝง
สำหรับการให้อาหารเสริมเพื่อบรรเทาโรคปวดศีรษะไมเกรนนั้น ได้แก่ แมกนีเซียม, คิวเทน (Q10), ไรโบฟลาวิน (riboflavin) จากงานวิจัยที่เผยแพร่ในวารสารด้านโรคปวดศีรษะและการปวด The Journal of Headache and Pain เมื่อ ปี พ.ศ. 2558 พบว่าเมื่อมีการทดลองใช้อาหารเสริมเหล่านี้รวมกัน เปรียบเทียบกับอาหารเสริมหลอก(ไม่มีวิตามินและแร่ธาตุตามงานวิจัย) ในผู้ป่วยโรคปวดศีรษะไมเกรน 130 คน ซึ่งมีประวัติปวดศีรษะไมเกรนมากกว่า 3 ครั้งภายใน 1 เดือน
ผลการทดลองเป็นเวลา 3 เดือน และติดตามผลจากนั้นอีก 4 สัปดาห์ พบว่ากลุ่มที่ได้รับอาหารเสริมรวมดังกล่าวมีความถี่และระดับการปวดลดลงเมื่อเทียบกับกลุ่มอาหารเสริมหลอก [7] อย่างไรก็ตามผลการรักษาด้วยวิธีนี้มีประสิทธิผลน้อยกว่าวิธีการอื่นๆดังที่กล่าวมาข้างต้น แต่ก็สามารถใช้เป็นวิธีการเสริมร่วมกับการรักษาแบบอื่นๆได้
และถ้าใครอยากจะรักษาแบบบูรณาการใช้ทุกวิธีการดังที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมดเข้าด้วยกัน ก็สามารถทดลองหรือติดต่อสอบถามได้ที่สหคลีนิกบูรณาการต้นแบบ MW Clinic ถนนรัชดาภิเษก ที่ไม่เน้นการจ่ายยาเคมีให้กับคนไข้ โดยทีมแพทย์จากสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต
อย่างไรก็ตามการปวดศีรษะไมเกรนนั้นมีความรุนแรง (บางครั้งเหมือนศีรษะจะระเบิด)จนทำให้หลายคนเกิดความสงสัยว่าผู้ป่วยโรคศีรษะไมเกรนลักษณะแบบไหนคือสัญญาณแสดงความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมองตีบ หรือโรคหลอดเลือดสมองแตก ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยโรคไมเกรนมีความเสี่ยงที่จะพิการหรือเสียชีวิตได้
จากวารสารทางการแพทย์ด้านโรคหลอดเลือดสมอง Stroke ฉบับปี พ.ศ. 2554 ได้รายงานเอาไว้ว่า “โรคปวดศีรษะไมเกรนที่เห็นแสงออร่า ได้พบรายงานอย่างต่อเนื่องว่ามีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหลอดเลือดสมองตีบหรือแตกเพิ่มขึ้นเป็น 216%”[8] โดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิงซึ่งปวดศีรษะเห็นแสงออร่าถ้าย่ิงเป็นถี่มากขึ้นก็จะเพิ่มความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหลอดเลือดสมองตีบมากขึ้นไปอีก [9] [10]
ไม่เพียงแต่โรคหลอดเลือดสมองตีบเท่านั้น กลุ่มผู้หญิงที่ป่วยเป็นโรคไมเกรนที่เห็นแสงออร่านั้น ยังมีความเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบอีกด้วย [11] [12] [13]
อย่างไรก็ตามจากผลการศึกษาแบบวิเคราะห์อภิธานพบว่า “กลุ่มผู้ป่วยโรคปวดศีรษะไมเกรนแต่ไม่เห็นแสงออร่านั้นยังไม่พบว่าเพิ่มความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมองตีบหรือแตก” [14] [15] และสำหรับผู้ชายที่ปวดศีรษะไมเกรนกับโรคหลอดเลือดสมองตีบหรือแตกนั้นงานวิจัยก่อนหน้านี้ยังมีความขัดแย้งกันและยังไม่ได้ข้อยุติ [14] [16] [17]
จนกระทั่งเมื่อมีงานวิจัยระดับชาติของประเทศเดนมาร์ก ที่เพิ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2561 ซึ่งได้ติดตามความสัมพันธ์ของโรคไมเกรนกับโรคหลอดเลือดทั้งหลาย ซึ่งติดตามผลการศึกษาต่อเนื่อง 19 ปี ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2538 ถึง พ.ศ. 2556 ด้วยจำนวนผู้ป่วยโรคไมเกรนมากถึง 51,032 คน จากประชากรทั่วไปที่สำรวจจำนวน 510,320 คน พบประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
ประชาชนที่ป่วยโรคปวดศีรษะไมเกรนจะเพิ่มความเสี่ยงที่จะเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเพิ่มขึ้น 49%, เสี่ยงเป็นโรคเส้นโลหิตสมองตีบเพิ่มขึ้น 226%, เสี่ยงเป็นโรคเส้นโลหิตสมองแตกเพิ่มขึ้น 94%, เสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดดำตีบตันเพิ่มขึ้น 59%, เสี่ยงภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วผิดจังหวะเพิ่มขึ้น 25%
แม้งานวิจัยช้ินนี้จะกล่าวโดยสรุปว่าโรคไมเกรนคือสัญญาณการเพิ่มความเสี่ยงโรคหลอดเลือดโดยรวม แต่ความเสี่ยงสูงที่สุดก็ยังคงเป็นโรคหลอดเลือดสมองตีบสอดคล้องกับงานวิจัยก่อนหน้านี้ และงานวิจัยชิ้นดังกล่าวนี้ยังได้ระบุเอาไว้ด้วยว่าความเสี่ยงจะสูงมากขึ้นอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะเมื่อเป็นผู้หญิงที่ป่วยเป็นโรคปวดศีรษะไมเกรนแบบเห็นแสงออร่า [18]
บทเรียนจากงานวิจัยชิ้นนี้แสดงให้เห็นว่าการแก้ปัญหาของผู้หญิงที่ป่วยเป็นโรคไมเกรนแบบเห็นแสงออร่านั้น จะต้องให้ความสำคัญกับเรื่อง “หลอดเลือด”เพิ่มเติมมากขึ้นกว่าการรักษาโรคไมเกรนทั่วไปตามที่กล่าวมาข้างต้น เพราะกรณีเช่นนี้การปวดศีรษะไมเกรนแบบเห็นแสงออร่าเป็น “ปลายเหตุ” แต่ต้นเหตุมาจาก “ปัญหาหลอดเลือดตีบ”
สำหรับการปรับวิถีชีวิตของกลุ่มที่เป็นโรคไมเกรนที่เสี่ยงโรคหลอดเลือดสมองนั้น ควรปรับอาหารที่เน้นพืชผักมากขึ้น รับประทานธัญพืชครบส่วนมากขึ้น รับประทานผลไม้(ไม่หวาน)มากขึ้น หลีกเลี่ยงการรับประทานเนื้อแดง หลีกเลี่ยงแป้งขัดขาวหรือน้ำตาลที่มากเกิน [19] และหลีกเลี่ยงไขมันผัดทอดจากไขมันไม่อิ่มตัว [20] รวมถึงการทำคีเลชั่นโดยใช้สาร EDTA เพื่อละลายลดโลหะหนักออกจากหลอดเลือดเพื่อทำให้ภาวะหลอดเลือดตีบลดลง ก็มีโอกาสที่จะลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมองได้อีกประมาณ 23% [21]
ดังนั้นใครเป็นโรคปวดศีรษะไมเกรนจึงไม่ควรประมาท รีบรักษาที่ต้นเหตุก่อนที่จะพัฒนาเป็นโรคร้ายอันตรายถึงพิการและเสียชีวิตได้
ด้วยความปรารถนาดี
อ.ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ (คณบดี), แพทย์แผนไทยประยุกต์แวสะมิง แวหมะ (รองคณบดี), แพทย์หญิงภัทรลดา ปราโมช ณ อยุธยา (รองคณบดี)
สถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย
มหาวิทยาลัยรังสิต
อ้างอิง
[1] ศ.นพ.กัมมันต์ พันธุมจินดา, ผศ.พญ.สิวาพร จันทร์กระจ่าง,DR.Sheena K.Aurora, เผยคนไทยเป็นไมเกรนสูงกว่าร้อยละ 17 พบในหญิงมากกว่าชายถึง 3 เท่าตัว, MGR Online, หน้าแรกผู้จัดการ Online/สุขภาพ, 6 มีนาคม 2560
[2] นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย, ออฟฟิศแย่ทำ “สุขภาพ”แย่ เผย 3 อาการสุดฮิตวัยทำงาน แนะ 4 วิธีสร้างสถานที่ทำงานน่าอยู่, ASTVผู้จัดการออนไลน์, หน้าหลัก/ชุมชน-คุณภาพชีวิต/สุขภาพ/ข่าว, 25 สิงหาคม 2558
[3] Lisa Li-Chen Hsieh et al., Effect of Acupressure and Trigger Points in Treating Headache: A Randomized Controlled Trial. The American Journal of Chinese Medicine, Volume 38, Issue 01, 2010
[4] Alireza Ahmadi, David C. Schwebel, and Mansour Rezaei,
The Efficacy of Wet-Cupping in the Treatment of Tension and Migraine Headache,The American Journal of Chinese Medicine, January 2008, Vol. 36, No. 01 : pp. 37-44
[5] สมเกียรติ ศรไพศาล, ยิ่งศักดิ์ จิตตะโคตร์, สีไพร พลอยทรัพย์, สำนักการแพทย์ทางเลือก กรมพัฒนาแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข, ประสิทธิภาพการกดจุดบำบัด (The Effectiveness of Accupressure), Journal of Bureau of Alternative Medicine, Vol.2 No.3 September-December 2009 : pp 11-13
[6] Alpay K, Ertaş M, Orhan EK, Üstay DK, Lieners C, Baykan B. Diet restriction in migraine, based on IgG against foods: A clinical double-blind, randomised, cross-over trial. Cephalalgia . 2010;30(7):829-837.
[7] Gaul C, Diener H-C, Danesch U, on behalf of the Migravent® Study Group. Improvement of migraine symptoms with a proprietary supplement containing riboflavin, magnesium and Q10: a randomized, placebo-controlled, double-blind, multicenter trial. The Journal of Headache and Pain. 2015;16:32
[8] Goldstein LB, Bushnell CD, Adams RJ, Appel LJ, Braun LT, Chaturvedi S, et al. Guidelines for the primary prevention of stroke: a guideline for healthcare professionals from the American Heart Association/American Stroke Association. Stroke. 2011;42:517–584. [PubMed]
[9] Kurth T, Schurks M, Logroscino G, Buring JE. Migraine frequency and risk of cardiovascular disease in women. Neurology. 2009;73:581–588. [PubMed]
[10] MacClellan LR, Giles W, Cole J, Wozniak M, Stern B, Mitchell BD, et al. Probable migraine with visual aura and risk of ischemic stroke: the stroke prevention in young women study. Stroke. 2007;38:2438–2445. [PubMed]
[11] Kurth T, Winter AC, Eliassen AH, et al. Migraine and risk of cardiovascular disease in women: prospective cohort study. BMJ2016;353:i2610. doi:doi:10.1136/bmj.i2610pmid:27247281
Abstract/FREE Full TextGoogle Scholar
[12] Sacco S, Ornello R, Ripa P, et al. Migraine and risk of ischaemic heart disease: a systematic review and meta-analysis of observational studies. Eur J Neurol2015;22:1001-11. doi:doi:10.1111/ene.12701pmid:25808832
CrossRefPubMedGoogle Scholar
[13] Schürks M, Rist PM, Bigal ME, Buring JE, Lipton RB, Kurth T. Migraine and cardiovascular disease: systematic review and meta-analysis. BMJ2009;339:b3914. doi:doi:10.1136/bmj.b3914pmid:19861375
Abstract/FREE Full TextGoogle Scholar
[14] Schurks M, Rist PM, Bigal ME, Buring JE, Lipton RB, Kurth T. Migraine and cardiovascular disease: systematic review and meta-analysis. BMJ. 2009;339:b3914.[PubMed]
[15] Spector JT, Kahn SR, Jones MR, Jayakumar M, Dalal D, Nazarian S. Migraine headache and ischemic stroke risk: an updated meta-analysis. Am J Med. 2010;123:612–624. [PubMed]
[16] Buring JE, Hebert P, Romero J, Kittross A, Cook N, Manson J, et al. Migraine and subsequent risk of stroke in the Physicians’ Health Study. Arch Neurol. 1995;52:129–134. [PubMed]
[17] Gudmundsson LS, Scher AI, Aspelund T, Eliasson JH, Johannsson M, Thorgeirsson G, et al. Migraine with aura and risk of cardiovascular and all cause mortality in men and women: prospective cohort study. BMJ. 2010;341:c3966. [PubMed]
[18] Kasper Adelborg, et al., Migraine and risk of cardiovascular diseases: Danish population based matched cohort study.BMJ 2018;360:k96, Published 31 January 2018
[19] Campbell T. A plant-based diet and stroke. Journal of Geriatric Cardiology : JGC. 2017;14(5):321-326.
[20] Ramsden CE , Zamora D , Majchrzak-Hong S , et al . Re-evaluation of the traditional diet-heart hypothesis: analysis of recovered data from Minnesota coronary experiment (1968-73). BMJ2016;353:i1246.
[21] Lamas GA, Goertz C, Boineau R, et al. Effect of disodium EDTA chelation regimen on cardiovascular events in patients with previous myocardial infarction: The TACT Randomized Trial. JAMA : the journal of the American Medical Association. 2013;309(12):1241-1250.