xs
xsm
sm
md
lg

สนช.โหวต7กกต.ชุดใหม่วันนี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (21ก.พ.) นายสมชาย แสวงการ โฆษก กมธ.สามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติและพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่ง กกต. กล่าวว่า ในการประชุม สนช. วันนี้ (22 ก.พ.) จะมีวาระการพิจารณาเพื่อให้ความเห็นชอบผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมเป็น กกต. 7 คน ตามที่ คณะกมธ.สามัญฯ พิจารณาตรวจสอบประวัติเสร็จแล้ว โดยที่ประชุมอาจให้ความเห็นชอบรายชื่อทุกคน หรือบางคนที่ผ่านการสรรหาก็ได้
ทั้งนี้ หากที่ประชุมสนช. เห็นชอบให้ดำรงตำแหน่ง กกต. 5 คน จะต้องดำเนินการนำขึ้นทูลเกล้าฯ ต่อไป จากนั้นจะไปดำเนินการสรรหา กกต. อีก 2 ตำแหน่ง ให้ครบตาม รธน.กำหนด
สำหรับรายชื่อผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมเป็น กกต. จำนวน 7 คน ที่คณะกรรมาธิการสามัญฯ ตรวจสอบประวัติเสร็จเรียบร้อยแล้ว ประกอบด้วย 1. ตัวแทนจากการสรรหาของคณะกรรมการสรรหา 5 คนได้แก่ นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ นายเรืองวิทย์ เกษสุวรรณ นางชมพรรณ์ พงษ์เจริญ สุธีรชาติ นายอิสสรีย์ หรรษาจรูญโรจน์ นายประชา เตรัตน์ 2. ตัวแทนจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ได้แก่ นายฉัตรไชย จันทร์พรายศรี นายปกรณ์ มหรรณพ
จากการตรวจสอบประวัติ และความประพฤติของ กมธ. พบว่า รายชื่อผู้ได้รับการสรรหาทั้ง 7คน ไม่พบว่ามีปัญหาเรื่องจริยธรรม และพฤติกรรมความผิดร้ายแรง มีเพียงบางราย ที่มีปัญหาถูกร้องเรียนเล็กๆ น้อยๆ อาทิ นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แม้มีปัญหาถูกร้องเรียนทางคดี 300 คดี แต่เป็นคดีทางปกครองในการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ ที่ตัวเองมีสิทธิ ไม่เกี่ยวกับเรื่องความผิดทางจริยธรรม หรือ ความผิดทางอาญา ขณะที่ นายเรืองวิทย์ เกษสุวรรณ อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ ถูกร้องเรียน เรื่องการขาดประชุมบ่อย แต่การลาของนายเรืองวิทย์ เนื่องจากอาการป่วย มีใบรับรองแพทย์ยืนยันถูกต้อง จึงไม่ถือเป็นความผิดทางจริยธรรม
ขณะที่ ผู้ได้รับการสรรหาในส่วนของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา คือ นายฉัตรไชย จันทร์พรายศรี ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา และ นายปกรณ์ มหรรณพ ผู้พิพากษาศาลฎีกานั้น สนช.ได้ทำหนังสือสอบถามไปยังที่ประชุมศาลฎีกา ว่าขั้นตอนการสรรหาดำเนินการถูกต้องหรือไม่ ซึ่งที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ทำหนังสือยืนยันตอบมาว่า การสรรหาถูกต้อง ทุกอย่างเป็นไปตามรธน. ดังนั้น กมธ.สามัญฯ จึงเห็นตรงกันว่า ไม่จำเป็นต้องหยิบยกมาพูดคุยกัน เพราะไม่ใช่หน้าที่ของสนช. ที่จะไปตรวจสอบว่า การสรรหาถูกต้องหรือไม่ ขั้นตอนหลังจากนี้ จะส่งรายชื่อทั้ง 7 คน ให้ที่ประชุมสนช. ลงคะแนนลับ ในวันที่ 22 ก.พ. โดยใช้เสียงกึ่งหนึ่งเพื่อให้ความเห็นชอบ ซึ่งแนวโน้มจะได้รับเสียงเห็นชอบจากที่ประชุม สนช. ครบทั้ง 7 คน


กำลังโหลดความคิดเห็น