xs
xsm
sm
md
lg

หยุดไฟฟ้าถ่านหิน..."บิ๊กตู่"สั่งศึกษาผลกระทบใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการรายวัน360- "บิ๊กตู่" หนุน "ศิริ" หลังลงนามถอยโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ เทพา สั่งศึกษา "อีไอเอ-อีเอชไอเอ-เอสอีเอ" ใหม่ หลังบรรลุข้อตกลงกับกลุ่มผู้คัดค้าน แต่ให้กลับไปดูในแง่คดีความให้สอดรับกับข้อเท็จจริง เหตุหลายเรื่องอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาแล้ว ด้าน"กฟผ."พร้อมปฏิบัติตามจ่อสอบถามไปยังสผ.ว่าจะต้องถอน EHIAโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา กระบี่ทันทีหรือไม่ วิตกไฟใต้เสี่ยง ด้านม็อบหนุนเตรียมบุกทำเนียบเรียกร้องให้เกิด

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อวันที่ 20 ก.พ. นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้รายงานถึงการลงนามข้อตกลงกับเครือข่ายปกป้องสองฝั่งทะเล กระบี่-เทพา ยุติโรงไฟฟ้าถ่านหินโดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้ย้ำกรณีประเด็นข้อตกลงเกี่ยวกับคดีความการฟ้องร้องระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) กับกลุ่มผู้คัดค้านที่ระบุให้คดีความระหว่างกฟผ.และเครือข่ายเลิกแล้วต่อกันให้กลับไปพิจารณาให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริง

" หลายคดีเข้าสู่การพิจารณาแล้วทุกฝ่ายต้องเดินหน้าร่วมกันไปได้ ส่วนทางออกที่เหมาะสม และอยากให้การทำงานของรัฐมนตรีพลังงานเป็นตัวอย่างกับกระทรวงอื่น เมื่อเกิดการคัดค้าน ข้อขัดแย้ง รัฐมนตรีรีบลงพื้นที่พูดคุยกับผู้มีความเดือดร้อนหรือมีปัญหา จัดการปัญหาได้โดยไม่ต้องรอนายกรัฐมนตรีลงไปแก้ปัญหาทุกเรื่อง"พล.ท.สรรเสริญกล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขอบคุณผู้ชุมนุมกลุ่มดังกล่าวที่เดินทางกลับไปแล้ว รัฐบาลไม่อยากให้ประชาชนมาเสียเวลาทำมาหากิน ตนก็ทำให้โดยรับข้อเสนอทั้งหมด แล้วทบทวน ยกเลิกรายงานการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ฉบับเดิม แล้วให้นักวิชาการที่มีความเป็นกลางอย่างแท้จริง และเป็นที่ยอมรับจากคนในพื้นที่ ไปทำการศึกษาอีไอเอ ฉบับใหม่ อีกทั้งต้องทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (เอสอีเอ) ว่าพื้นที่จะมีการก่อสร้างนั้นเหมาะสมหรือไม่ อย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ ตามกฎหมายฉบับใหม่ เพิ่มเติมจากการศึกษา อีไอเอ และ การศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (อีเอชไอเอ)

สำหรับข้อตกลงที่รมว.พลังงานได้ลงนาม MOU กับเครือข่ายปกป้องฝั่งทะเล กระบี่ เทพามีสาระสำคัญ 4 ข้อได้แก่ 1. เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในกระบวนการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพขอให้กฟผ.ถอนรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ(EHIA) โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และ EHIA โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่(ฉบับใหม่) ออกจากสำนักงานนโยบายและแผนการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.) ภายใน 3 วันนับตั้งแต่วันลงนามและให้กฟผ.ส่งหนังสือแจ้งรับการขอถอนรายงานไปยังเครือข่ายทราบ

2.ให้กระทรวงพลังงานดำเนินการให้มีการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์(SEA) เพื่อศึกษาว่าพื้นที่จังหวัดกระบี่และอำเภอเทพา จ. สงขลา มีความเหมาะสมในการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือไม่โดยจะต้องจัดทำด้วยนักวิชาการที่มีความเป็นกลางที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับร่วมกัน หากการศึกษาชี้ชัดว่าการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินไม่เหมาะสม กฟผ.ต้องยุติการดำเนินงาน โดยให้จัดทำ SEA ให้เสร็จใน 9 เดือนนับตั้งแต่วันลงนาม และกระทรวงพลังงานต้องออกคำสั่งให้ผลการจัดทำ SEA มีผลผูกพันการดำเนินงานโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และเทพา โดยออคำสั่งการจัดทำรายงานและสาระของการผูกพันที่รายงานมีต่อการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งสองพื้นที่จะต้องดำเนินการภายใน 7 วันหลังการลงนาม

3.หากผลการศึกษารายงาน SEA บ่งชี้ว่าพื้นที่มีความเหมาะสมในการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในขั้นตอนการจัดทำEHIA จะต้องจัดทำโดยคนกลางที่ยอมรับร่วมกัน 4. ให้คดีความระหว่างกฟผ.และเครือข่ายเลิกแล้วต่อกัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การลงนามดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงเช้าเวลาประมาณ 8.30 น.ของวันที่ 20 ก.พ. นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้เดินทางมาพบกับผู้ชุมนุมหน้าสำนักงานสหประชาชาติและได้ลงนามในหนังสือสัญญาเพื่อยุติโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่-เทพา ตามข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมที่ได้ดำเนินการมาเป็นเวลา 9 วันซึ่งหลังลงนามข้อตกลงแล้ว แกนนำได้ประกาศสลายการชุมนุม และประกาศว่าหากรัฐบาลหรือ กฟผ.ทำผิดสัญญาข้อตกลงก็จะกลับมาชุมนุมทวงสัญญาอีกครั้ง หลังจากนั้นได้แจ้งให้ผู้ร่วมชุมนุมทำความสะอาดพื้นที่บริเวณโดยรอบ ก่อนเดินทางกลับและนายศิริได้เดินทางมารายงานผลต่อที่ประชุมครม.

นายสืบพงษ์ บูรณศิรินทร์ รองผู้ว่าการกิจการสังคม กฟผ. กล่าวว่า พร้อมปฏิบัติตามนโยบายรัฐบาลหลังรมว.พลังงานได้ลงนาม(MOU) กับเครือข่ายปกป้องสองฝั่งทะเล กระบี่-เทพา ยุติโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่สหประชาชาติ ซึ่งตามหลักการคือหากให้ศึกษาศักยภาพเหมาะสมหรือSEA ใหม่ก็ต้องใช้เวลา9 เดือน หลังจากนั้นจึงศึกษาจัดทำEIA และ EHIA ต่อไป

ว่าที่พันตรีอนุชาต ปาลกะ วงศ์ ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการชุมชนสัมพันธ์ และสิ่งแวดล้อมโครงการ กฟผ . กล่าวว่า กฟผ. พน้อมปฏิบัติตามนโยบายรัฐบาล โดยโครงการกระบี่อยู่ระหว่างการเริ่มทำEIA และEHIA รอบใหม่ ส่วนโรงไฟฟ้าเทพา ในส่วนของ EHIA โรงไฟฟ้าได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะผู้ชำนาญการ แล้ว เหลือเพียงการพิจารณาในส่วนEIAท่าเทียบเรือขนส่งถ่านหิน ซึ่งหลังรมว.พลังงานลงนาม MOUก็คงต้องไปปรึกษากับทาง

สำนักงานนโยบายและแผน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ว่าจะให้ดำเนินการอย่างไรต่อ จะให้ กฟผ.ถอนการเสนอพิจารณาเหมือนโครงการกระบี่ตามคำสั่งของนายรัฐมนตรีหรือไม่

"การก่อสร้างโรงไฟฟ้าหลักในพื้นที่ภาคใต้ ที่มีความล่าช้า จะทำให้พื้นที่ภาคใต้มีความเสี่ยงเรื่องของความมั่นคงไฟฟ้ามากขึ้น ในภาพรวมกฟผ.จะต้องหารือกันว่า จะมีการหาทางออกอื่นๆให้ภาคใต้ยังคงมีความมั่นคงไฟฟ้าและรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่ขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆในแต่ละปีได้อย่างไร"ว่าที่พันตรีอนุชาตกล่าว

นายพณวรรธน์ พงศ์ประยูร เครือข่ายคนเทพาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนซึ่งประกอบด้วย 66 องค์กรกล่าวว่า เครือข่ายฯได้ออกแถลงการณ์ที่ไม่เห็นด้วยกับ MOU ดังกล่าวคือ ไม่เห็นด้วยกับการลงนามโดยใช้อำนาจส่วนตัวทั้งเรื่องดังกล่าวควรเป็นเรื่องที่ใหญ่ต้องเป็นอำนาจระดับคณะรัฐมนตรี และเตรียมนำคนนับ 1,000 คนเดินทางมายังทำเนียบรัฐบาลในเร็ว ๆนี้เพื่อแสดงให้เห็นจุดยืนในการต้องการโรงไฟฟ้าถ่านหิน และยื่นฟ้องนายศิริ จิระพงษ์พันธื ในความผิดม. 157 ที่ประพฤติโดยมิชอบก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ

"ม็อบที่มานอนหน้าทำเนียบเพียงไม่กี่คนแล้วรัฐก็ยอมทุกอย่าง คนเพียงไม่เท่าใดทำได้เราก็จะทำบ้าง ซึ่งที่ผ่านมาคนสนับสนุนก็มีไม่น้อยเหตุใดรัฐไม่ยอมฟังบ้างการไปลงนามอย่างนี้ไม่เป็นประชาธิปไตยเสียเลย"นายพณวรรธน์กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น