xs
xsm
sm
md
lg

'แม้ว'ขอปชช.อดทนรอรัฐบาลเลือกตั้ง พท.ถามหาสปิริตรัฐบาลคสช.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หลังจากที่นายทักษิณ ชินวัตร และน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมาพำนักอยู่ที่ ฮ่องกง และมีอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย เดินทางไปเข้าพบอย่างต่อเนื่อง โดยอดีต ส.ส.ที่ได้เข้าพบนายทักษิณ เปิดเผยว่า นายทักษิณได้ฝากความเป็นห่วงมาถึงประชาชนคนไทย ขณะนี้เศรษฐกิจไม่ดี อยู่ยากลำบาก ขอให้อดทนรอรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เพื่อมาแก้ปัญหาปากท้องของประชาชน เพราะการทำงานของรัฐบาลชุดนี้ เป็นอย่างไร ทุกคนก็รู้ดีกันอยู่ และท่านยังได้ฝากความคิดถึง และส่งความปรารถนาดีมาให้คนไทยทุกคนในช่วงเทศกาลตรุษจีนด้วย
ทั้งนี้ มีรายงานว่า ตั้งแต่วันที่ 14 ก.พ.ที่ผ่านมาได้มี อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย และแกนนำพรรค ได้เดินทางเข้าพบนายทักษิณ ที่ฮ่องกง อย่างต่อเนื่อง และคาดว่าจะมีคนไปพบ จนถึงวันที่ 19 ก.พ.นี้
ด้านนายชวลิต วิชยสุทธิ์ อดีตรองเลขาธิการ พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงสถานการณ์ทางการเมืองในขณะนี้ว่า ได้เกิดวิกฤติศรัทธา ในศูนย์กลางอำนาจของรัฐบาล ทั้งผู้นำรัฐบาล และรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลนี้ คือ
1.ผู้นำรัฐบาลไม่รักษาสัจจะ ไม่รักษาคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชนและชาวโลก ในเรื่องการเลือกตั้ง มีการเลื่อนหลายครั้ง ตอน ไปญี่ปุ่น บอกเลือกตั้งปี 59 ไปยูเอ็น บอกเลือกตั้งปี 60 ไปอเมริกา บอกเลือกตั้งปี 61 ปัจจุบันมีแนวโน้มจะเลื่อนเป็นปี 62 จะเห็นได้ว่าเลื่อนมาตลอด หากสัญญาอีกจะไม่มีใครเชื่อ จึงอย่าไปต่อว่านักศึกษาที่อยากเลือกตั้ง
2. รัฐมนตรีในคณะรัฐบาล บริภาษกันเองข้ามทวีปด้วยถ้อยคำรุนแรงว่า "อย่างหนา ตราช้าง" เป็นข่าวฉาวน่าอับอายไปทั่วโลก แต่เมื่อถูกผู้นำรัฐบาลไกล่เกลี่ย เพื่อให้เรื่องจบ รัฐมนตรีผู้บริภาษ จึงเอ่ยปากขอโทษ ผลที่ไม่คาดก็คือ ยังนั่งประชุม ครม.ร่วมกันได้ตามปกติ อย่างไม่อายประชาชนและชาวโลก
ทั้งนี้ วิกฤติศรัทธาทั้งสองประการ ละเมิดคุณธรรม จริยธรรมของผู้บริหารประเทศ เป็นการกระทำด้วยตัวเองทั้งสิ้น ไมได้ถูกกลั่นแกล้ง ส่งผลทำลายความเชื่อมั่นประเทศอย่างรุนแรงตามมา ปัจจุบันรัฐบาลได้บริหารประเทศมาจะครบ 4 ปี มีปัญหานโยบายสำคัญ คือปัญหาการทุจริต คอร์รัปชันที่เกิดขึ้นราวดอกเห็ด ทั้งๆ ที่อ้างว่าเข้ามาปราบโกง แม้แต่รัฐธรรมนูญ ยังตั้งสมญาว่า "รัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง"
นายชวลิต ยังอ้างถึง รายงานของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่ได้รายงานผลดัชนีคอร์รัปชันไทย เดือนธ.ค.60 พบว่า รุนแรงสุดในรอบ 3 ปี พร้อมทั้งระบุ มีเงินใต้โต๊ะที่เอกชนต้องจ่ายเฉียด 200,000 ล้านบาท เฉลี่ยอยู่ที่ 5 - 15% ของมูลค่าโครงการ สร้างความเสียหายต่อ GDP 0.41 - 1.23% รายงานของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ดังกล่าว สะท้อนความล้มเหลวของนโยบายปราบปรามการทุจริต คอร์รัปชัน ของรัฐบาลลงโดยสิ้นเชิง
อย่างไรก็ตาม ถึงเวลาที่ผู้นำรัฐบาลและคณะจะเสียสละแสดงสปิริตความรับผิดชอบให้คนรุ่นหลังได้เห็นว่า ไม่ยึดติดในตำแหน่ง ด้วยการคืนอำนาจแก่ประชาชน เฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศของเรายังมีงานสำคัญรออยู่ ควรได้รัฐบาลจากประชาชนที่จะส่งเสริมให้ประเทศมีภาพลักษณ์ที่ดีขึ้น ในฐานะคนไทยคนหนึ่งอยากเห็นสปิริตด้วยการได้ยินคำว่า "ผมพอแล้ว"
พล.ท.ธรากร ธรรมวินทร แม่ทัพภาคที่ 2 กล่าวถึง กรณีที่แกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง นำโดย นายรังสิมันต์ โรม นายเอกชัย หงส์กังวาน น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา และนายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ ร่วมกันแถลง วางโรดแมป การชุมนุมเรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง ภายในปีนี้ และได้นัดหมายชุมนุมบริเวณลานย่าโม จ.นครราชสีมา (วันที่18 ก.พ.) ว่า หากผู้ชุมนุมอยู่ในกรอบ กม. คิดว่าไม่น่าจะมีอะไร และคงใช้เวลาไม่นาน ทั้งนี้เชื่อว่าประชาชนในพื้นที่เอง ก็คงไม่ได้ให้ความสำคัญมากนัก
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมากองทัพภาคที่ 2 ได้ลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ภาคอีสาน เกี่ยวกับโรดแมป ของคสช. ที่นำไปสู่การเลือกตั้งอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนได้เข้าใจ ส่วนจะมีการเลื่อนการเลือกตั้งจาก พ.ย.61 ไปเป็น มี.ค.62 หรือไม่นั้น เป็นเรื่องฝ่ายกฎหมาย ในการพิจารณา
"จากการลงพื้นที่ คนอีสานเข้าใจถึงความจำเป็นที่ต้องเลื่อนการเลือกตั้งจาก พ.ย. 61 ไปเป็นมี.ค.62 ว่าเป็นเรื่องของกฎหมาย โดยรัฐบาลและคสช. ไม่ได้มีเจตนาสืบทอดอำนาจ หรือยื้อการเลือกตั้งออกไป เพียงแต่เราต้องเพิ่มการชี้แจงหลายๆ ด้าน ยืนยันว่ารัฐบาลและคสช. ยังคงมุ่งมั่นเดินตามโรดแมป ในส่วนแกนนำทางการเมืองในพื้นที่ภาคอีสาน เราติดตามความเคลื่อนไหวเป็นระยะอยู่แล้ว แต่ไม่ได้เพ่งเล็งอะไรเป็นพิเศษ เพราะเชื่อว่าทุกคนเคารพกฎหมาย ส่วนที่มีกระแสข่าวว่ามีแกนนำภาคอีสานหลายคนเดินทางไปต่างประเทศเพื่อนายทักษิณ ชินวัตร และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ก็เป็นเรื่องทางหน่วยเหนือ ในส่วนของกองทัพภาคที่ 2 รับผิดชอบงานในพื้นที่เท่านั้น" แม่ทัพภาคที่ 2 กล่าว
ทั้งนี้มีรายงานว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้เรียกประชุมหน่วยงานความมั่นคง เพื่อประเมินสถานการณ์การเมืองในช่วงสุดท้ายก่อนจะมีการเลือกตั้ง โดยที่ประชุมมองว่าสถานการณ์น่าเป็นห่วง และมีความเคลื่อนไหวของ 3 กลุ่ม ในช่วงเวลาเดียวกัน ทั้งการปรากฏ ตัวนายทักษิณ และน.ส.ยิ่งลักษณ์ ความเคลื่อนไหวของกลุ่มอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย แกนนำมวลชน รวมถึงการชุมนุมของแกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง โดยให้จับตาอย่างใกล้ชิด และตรวจสอบว่าทั้ง 3 กลุ่มนี้ เชื่อมโยงกันหรือไม่


กำลังโหลดความคิดเห็น