xs
xsm
sm
md
lg

จดหมายเปิดผนึก ระพี สาคริก ขอให้ทบทวนโรงไฟฟ้าถ่านหิน

เผยแพร่:   โดย: นพ นรนารถ


ศาสตราจารย์ระพี สาคริก ผู้บุกเบิกวงการกล้วยไม้ของประเทศไทยสู่สากล จนได้รับการยกย่องว่า เป็นบิดาแห่งวงการกล้วยไม้ไทย อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ถึงแก่อนิจกรรมอย่างสงบด้วยวัย 95 ปีที่บ้านพักย่านบางเขน

ปี 2533 ศาสตราจารย์ระพี ลาออกจากตำแหน่งประจำต่างๆ ทั้งภาคราชการกึ่งราชการ และภาคเอกชน เหลือเพียงการเป็นที่ปรึกษาให้วิทยาทานด้วยการบรรยาย สัมมนา โดยเฉพาะด้านการพัฒนาชนบทและเยาวชนที่เน้นด้านคุณธรรมและจริยธรรม

เดือนกรกฎาคมปี 2558 สมาชิกเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน 2 คน อดอาหารเรียกร้องรัฐบาลยุติโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จังหวัดกระบี่ ที่หน้ากระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

ศ.ระพี ได้เขียนจดหมายเปิดผนึกลงวันที่ 20 กรกาคม พ.ศ. 2558 ถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.และนายกรัฐมนตรี ขอให้รัฐบาลทบทวนโครงการดังกล่าวด้วยเหตุผลด้านมนุษยธรรมเป็นหลักสำคัญ เนื่องด้วยประชาชนที่มาอดอาหารอยู่นั้น ล้วนเป็นลูกหลานคนไทยสายเลือดเดียวกัน และมาขอร้องรัฐบาลด้วยความสุภาพอย่างยิ่ง และขอให้ตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อทบทวนโครงการ โดยมีเนื้อหาในจดหมายดังนี้

“การที่ลูกหลานไทยมาทำหน้าที่ปกป้องความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นกับประเทศและท้องถิ่นด้วยใจบริสุทธิ์ โดยเอาชีวิตกับสุขภาพของตนเองเข้าแลกกับอนาคตความมั่นคงสิ่งแวดล้อมของชาติโดยไม่มีเบื้องหลังใดๆ แอบแฝง จึงเป็นสิ่งที่ท่านนายกรัฐมนตรีในฐานะพ่อแม่ของคนรุ่นหลังควรมีเมตตา ตอบรับคำขอร้องโดยเร่งด่วน และขอให้ตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อทบทวนโครงการ โดยโปรดเว้นผู้มีส่วนในการเสนอและผลักดันโครงการ เพื่อให้เกิดความสบายใจและโปร่งใส และเปิดโอกาสให้ผู้คัดค้านสามารถเสนอความจริงและแนวคิดของเขาได้ด้วย แล้วนำข้อเท็จจริงที่ได้พบชี้แจงต่อสังคมให้เกิดความเข้าใจโดยเร็ว เพื่อยุติความไม่สบายใจของประชาชนจำนวนมากที่แสดงออกในโซเชียลมีเดีย เพื่อสนับสนุนการเคลื่อนไหวในกรณีนี้มากกว่า 2 แสนคน ซึ่งมีข้อเท็จจริงที่ควรนำมาพิจารณาอย่างน้อย 5 ประการ คือ

1. เนื่องจากมีรายงานข้อเท็จจริงว่า ชาว จ.กระบี่ มีศักยภาพที่สามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนหลายชนิดได้เกินความต้องการของจังหวัด ดังนั้นจึงไม่มีเหตุผลที่จะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในจ.กระบี่ แต่ควรส่งเสริมให้ชาวกระบี่สามารถผลิตพลังงานหมุนเวียนจนประสบความสำเร็จเพื่อเป็นแบบอย่างให้ทุกๆ จังหวัดที่มีศักยภาพ ในทำนองเดียวกันสามารถพึ่งพาตนเองด้านพลังงานได้เต็มศักยภาพ อันเป็นความมั่นคงพลังงานที่กระจายสู่อำนาจประชาชน ยิ่งในสภาวะที่ประเทศกำลังเผชิญกับปัญหาทางเศรษฐกิจหลายประการเช่นนี้ รัฐบาลควรดำเนินนโยบายด้านพลังงานด้วยหลักเศรษฐกิจพอเพียงตามพระราชดำริ เพื่อสร้างรากฐานให้เกิดความมั่นคงของประเทศในระยะยาว

2. มีรายงานสถิติการท่องเที่ยวที่ชัดเจนว่า พ.ศ. 2556 มีจำนวนนักท่องเที่ยวที่เยือน จ.กระบี่ถึงร้อยละ 10 ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมดของประเทศ และนักท่องเที่ยวเหล่านั้นมาด้วยความพอใจในธรรมชาติสิ่งแวดล้อมและความสงบสุขของกระบี่ ดังสถิติและข่าวที่ปรากฏในสื่อต่างประเทศ

3. มีรายงานที่ชัดเจนว่า ผลจากการใช้ถ่านหินเป็นวัตถุดิบผลิตกระแสไฟฟ้าก่อให้เกิดการปนเปื้อนสารโลหะหนักหรือสารพิษในสิ่งแวดล้อม จนกระทั่งเข้าสู่ห่วงโซ่อาหารและสู่ร่างกายประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ ซึ่งรายงานการศึกษาพบค่าสารปรอทปนเปื้อนมีค่าสูงกว่ามาตรฐานในร่างกายประชาชนและปลาถึง 4.5 เท่า ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความเจ็บป่วย และยิ่งกว่านั้น เด็กรุ่นต่อไปที่กำเนิดขึ้นมามีโอกาสเป็นเด็กปัญญาอ่อนสูงมาก นับเป็นความรุนแรงทางสังคมที่ไม่สามารถเยียวยาได้ ซึ่งไม่ควรปล่อยให้เกิดเรื่องเช่นนี้แก่คนไทย

4. พบเอกสารของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ว่ามีการจ้างที่ปรึกษาการพัฒนาธุรกิจถ่านหินนำเข้าของ กฟผ. 1 ฉบับ, การจ้างที่ปรึกษาจัดหาถ่านหินนำเข้าเพื่อโรงไฟฟ้ากระบี่ใหม่ 2 ฉบับ และการจัดจ้างที่ปรึกษาโครงการศึกษา จัดทำรายงานข้อเสนอแนะทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับการขนส่งถ่านหินนำเข้าจากต่างประเทศมายังท่าเทียบเรือของโครงการโรงไฟฟ้าเทพา จ.สงขลา 1 ฉบับ ด้วยวงเงินงบประมาณฉบับละ 5 ล้านบาท รวม 4 ครั้ง 20 ล้านบาท ซึ่งเป็นการจัดจ้างเพื่อหาวัตถุดิบชนิดเดียวกันคือ ถ่านหินของหน่วยงานเดียวกัน คือ กฟผ.ในระยะเวลาที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งหากเป็นการทำหน้าที่อย่างมีหลักธรรมาภิบาลก็ไม่ควรจะต้องแยกการดำเนินการโดยใช้จ่ายงบประมาณซ้ำซ้อนเช่นนี้ และยังมีการจัดซื้อจัดจ้างงานเก็บตัวอย่างและวิเคราะห์คุณภาพดิน คุณภาพน้ำ คุณภาพตะกอนดิน และปริมาณโลหะหนักในเนื้อปลา บริเวณโครงการขยายกำลังผลิตโรงไฟฟ้ากระบี่วงเงิน 1.9 ล้านบาท ทั้งที่มีการว่างจ้างที่ปรึกษาจัดทำรายงาน EIA และ EHIA ไปแล้ว จึงควรมีการตรวจสอบในเรื่องนี้เพื่อให้เกิดความโปร่งใสมิให้เกิดมลทินในการบริหารรัฐกิจในเรื่องนี้

5. ด้วยทราบว่ามีความพยายามเปิดให้มีการยื่นประมูลการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ในขณะที่รายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ยังไม่ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง จึงควรมีการตรวจสอบอย่างรัดกุมด้วย”

ในวันที่ ศ.ระพี ลาจากโลกอันสับสนวุ่นวายไป ประชาชนส่วนหนึ่งที่คัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินจากจังหวัดกระบี่ และอำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ชุมนุมกันหน้าที่ทำการองค์การสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอก เรียกร้องให้รัฐบาลยุติโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน จังหวัดกระบี่ และโรงไฟฟ้าถ่านหิน อำเภอเทพา โดยมีผู้อดอาหารประท้วง 67 คน


กำลังโหลดความคิดเห็น