xs
xsm
sm
md
lg

การเมืองไทย-การเมืองโลก

เผยแพร่:   โดย: ทับทิม พญาไท

การซ้อมรบ Cobra Gold 2018
ถ้าว่ากันถึงความเกี่ยวข้องสัมพันธ์ระหว่าง “เหตุปัจจัยภายนอก” กับ “เหตุปัจจัยภายใน” หรือระหว่าง “การเมืองโลก” กับ “การเมืองภายในประเทศ” ช่วงจังหวะประมาณนี้นี่แหละ...ที่ทั้งสองสิ่งที่ว่า มีแนวโน้มที่จะกระทำปฏิกิริยาต่อกันและกันอย่างค่อนข้างคึกคักและใกล้ชิดอย่างเป็นพิเศษ ส่วนจะนำไปสู่ “ผลพวง” หรือ“ผลลัพธ์” ในรูปไหน ลักษณะไหน ทั้งในแง่การเมืองภายใน หรือการเมืองโลกก็แล้วแต่ อันนั้น...คงต้องถือเป็นเรื่อง “วอทเอเวอร์ วิลบี วิลบี” ไปตามสภาพ...

อย่างช่วงจังหวะ “เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516” โดยสภาวะแวดล้อมก็ประมาณนี้นั่นแหละทั่น ว่ากันว่า...รัฐบาลเพื่อนพ้องน้องพี่ในยุคนั้น ที่ถูกเรียกขานในนาม “รัฐบาลถนอม-ประภาส-ณรงค์” หรือ “รัฐบาล 3 ทรราช” ก็แล้วแต่ เป็นรัฐบาลที่กำลังคิดๆ จะปรับเปลี่ยนแนวนโยบายต่างประเทศ จากที่เคยโตงๆ เตงๆ อยู่บริเวณหว่างขาคุณพ่ออเมริกามาโดยตลอด แต่ในเมื่ออเมริกาทำท่าว่าใกล้จะเผ่นหนีไปจากเวียดนาม ความพยายามที่จะเคลื่อนย้ายสัมพันธภาพทางด้านต่างประเทศไปหา “จีน” จึงเป็นสิ่งที่กำลังก่อรูปก่อร่างขึ้นมาในช่วงจังหวะนั้น จังหวะที่เกิด “เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 16” พอดิบ พอดี...

ช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 16 นั้น...อเมริกาจะมีส่วนช่วยประคับประคอง หรือมีส่วนร่วมด้วยช่วยกระทืบ รัฐบาลเพื่อนพ้องน้องพี่ในยุคนั้นหรือไม่ประการใด ก็ยากซ์ซ์ซ์ที่จะสรุปได้ แต่ที่แน่ๆ ก็คือ...สถานทูตอเมริกัน หรือหน่วยงานข่าวกรองอเมริกันได้ให้ความสนใจกับ “การเมืองภายในประเทศไทย” นับจากนั้นถึงขั้นต้องลงทุน “ปลอมจดหมาย” อ้างตัวเองเป็น “เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย” ขอเจรจากับรัฐบาลหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ นัยว่าเพื่อหยั่งกระแส ท่าทีประเทศไทย โดยเฉพาะต่อกรณีการคงอยู่-ไม่คงอยู่ของฐานทัพและสถานีเรดาร์อเมริกัน อันส่งผลให้ “เหตุปัจจัยภายนอก” กับ “เหตุปัจจัยภายใน” หรือ “การเมืองโลก” กับ “การเมืองในประเทศ” มีความเกี่ยวโยงและกระทำปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันและกันอย่างชนิดแทบแยกไม่ออกเอาเลยก็ว่าได้...

สำหรับช่วงจังหวะนี้...การมีโอกาสใช้-ไม่มีโอกาสใช้พื้นที่อำนวยความสะดวกทางการทหาร อย่างเช่น สนามบินอู่ตะเภาเพื่อรองรับปฏิบัติการทางทหารของกองทัพอเมริกันในอนาคตข้างหน้า ได้เหมือนอย่างเท่าที่เคยเป็นมาในอดีต ไม่เพียงแต่ขึ้นอยู่กับรัฐบาลเพื่อนพ้องน้องพี่ในยุคนี้เท่านั้น แต่ยังขึ้นอยู่กับรัฐบาลหลังจากนั้น หรือหลังจากการเลือกตั้ง ว่าจะออกมาในรูปไหน หน้าไหนกันแน่ ไม่ต่างไปจากกรณีรถไฟความเลวสูงทั้งสองสาย สายจีน สายญี่ปุ่น ไปจนถึงการเปิดพื้นที่ให้นักลงทุนญี่ปุ่น จีน หรืออเมริกาเข้ามาเช่าเศรษฐกิจพิเศษอีอีซีรายละ 99 ปีกันโดยถ้วนหน้า ก็ล้วนแล้วแต่มีส่วนทำให้ปฏิกิริยาความสัมพันธ์ระหว่าง “การเมืองภายนอก” กับ “การเมืองภายใน” ยิ่งต้องใกล้ชิดติดพันอย่างไม่อาจแยกออกจากกันได้แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดยิ่งขึ้นเท่านั้น...

เพียงแต่ว่า...สุดท้ายแล้ว มันจะก่อให้เกิด “ผลพวง” หรือ “ผลลัพธ์” ไปในแนวไหน??? อันนี้นี่แหละ...ที่คงต้องคิดไป-คิดมา คิดเอาไว้ก่อนล่วงหน้าประมาณ 3 ตลบ หรือ 4 ตลบเป็นอย่างน้อย เพราะอย่าง “เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 16” ที่ไม่ว่าคุณพ่ออเมริกาท่านจะมีส่วนร่วมด้วยช่วยกระทืบรัฐบาล 3 ทรราชในยุคนั้น อันเนื่องมาจากความพยายามปรับเปลี่ยนนโยบายไปหาจีนยิ่งขึ้นหรือไม่เพียงใดก็ตามที แต่สุดท้าย...ฐานทัพอเมริกันไปจนถึงสถานีเรดาร์รามสูรก็มิอาจคงอยู่ในประเทศไทยได้อีกต่อไป แม้ว่าสถานการณ์จะพลิกผันแบบชนิดพลิกหน้ามือเป็นหลังตีน หรือพลิกจาก 14 ตุลาฯ 16 กลายมาเป็น 6 ตุลาฯ 19 อันสุดโหดเหี้ยมอำมหิตไปแล้วก็ตาม...

สำหรับช่วงจังหวะนับจากนี้ไปจนอนาคตอันใกล้...การดำรงคงอยู่ของรัฐบาลเพื่อนพ้องน้องพี่ยุคใหม่ จะช่วยให้เกิดการยกระดับความเป็น “หุ้นส่วนทางทหาร” ระหว่างไทย-อเมริกาขึ้นไปถึงระดับไหน จากสัมพันธภาพระดับสูงระหว่างทหารทั้ง สองฝ่ายที่ถูกตัดขาดไปโดยสิ้นเชิง ในช่วงเหตุการณ์รัฐประหาร ค.ศ. 2014 มาบัดนี้...นอกจากทุกสิ่งทุกอย่างถูกรื้อฟื้นคืนชีพขึ้นมาใหม่อย่างคึกคัก เข้มแข็ง การซ้อมรบร่วม “Cobra Gold 2018” ขยายขอบเขตความร่วมมือไปถึง 30 ชาติ การผนึกกำลังของ 20 ชาติเพื่อกดดันเกาหลีเหนือในทางทหาร ได้ก่อตัวเป็นรูปเป็นร่าง ณ เวทีการประชุมแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา ไปจนถึงการเดินทางมาเยือนของผู้นำสูงสุดทางทหารของกองทัพอเมริกันระดับประธานเสนาธิการร่วม (Us Chairman of the Joint Chiefs ofStaff) อย่าง “พลเอกโจเซฟ ดันฟอร์ด” ต่อรัฐบาลคณะรัฐประหารไทยเป็นครั้งแรก ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ ต้องเรียกว่า...ออกไปทางดีวัน-ดีคืน แต่อาการดีวัน-ดีคืนเช่นนี้ จะทำให้คุณพี่จีนที่เพิ่งเปิดพื้นที่ให้ “สองพี่น้องจอมป่วน” เดินชอปปิ้งหาซื้ออะไรต่อมิอะไรได้โดยเสรี เกิดอาการคิดมาก คิดเล็ก คิดน้อย หรือไม่ประการใด อันนี้นี่แหละ...ที่ใครต่อใครในเล้าไก่ หรือในบ้านเรา คงต้องคอยคิดๆ ตามไปด้วยอย่างช่วยไม่ได้...

แต่โดยสรุปแล้ว...ไม่ว่า “ปัจจัยภายนอก” จะมีบทบาทอิทธิพลหรือไม่ เพียงใด มากน้อยขนาดไหนสุดท้าย...สิ่งที่จะเป็นตัวชี้ขาด ชี้วัดตัดสินผลลัพธ์ หรือผลพวงต่างๆ ก็ยังคงเป็น “ปัจจัยภายใน” นั่นแหละเป็นหลัก ส่วนผลลัพธ์ หรือผลพวงนั้นๆ จะเป็นสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสม เป็นธรรม-ไม่เป็นธรรม หรือไม่เพียงไร ก็ขึ้นอยู่กับว่า...บรรดาผู้ที่มีบทบาทอิทธิพล มีส่วนกำหนดต่อปัจจัยภายในทั้งหลาย จะมีวิสัยทัศน์ยาวไกล ลึกซึ้งไปด้วยปรีชาญาณมากพอที่จะแยกแยะความถูก-ความผิด ความเป็นธรรม-ไม่เป็นธรรม ทั้งในระดับประเทศและระดับโลกได้มาก-น้อยขนาดไหน...นั่นแล...


กำลังโหลดความคิดเห็น