xs
xsm
sm
md
lg

"พรเพชร"ชี้กม.ลูกส.ส.-ส.ว.คว่ำยาก เลือกตั้งอย่างช้า5มี.ค.62

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (15ก.พ.) นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. กล่าวถึงการพิจารณา ร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว. ว่า สนช. มีความมุ่งมั่น ตั้งใจทำกฎหมายให้ดีที่สุด เพราะร่าง พ.ร.ป.ทั้ง 2 ฉบับ ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญที่สุดของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ส่วนที่มีการมองว่าสนช. จ้องจะคว่ำ ร่าง พ.ร.ป. ทั้ง 2 ฉบับนั้น ขอยืนยันว่า สนช.ไม่มีเหตุผลที่จะทำเช่นนั้น หากจะทำก็คงทำไปก่อนหน้านี้แล้ว ที่จะใช้เสียงเพียงแค่เกินกึ่งหนึ่งเท่านั้น แต่ถ้าจะมีการคว่ำในชั้นนี้ ต้องใช้เสียง 2 ใน 3 คือ 166 เสียงจาก 248 เสียง ซึ่งถือว่ายากมาก อีกทั้งในประเด็น ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ก็ไม่ได้มีประเด็นใดที่จะตกลงกันไม่ได้ ส่วนในร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยที่มาของ ส.ว. ก็มีประเด็นเดียวคือ การเปลี่ยนวิธีการได้มาของส.ว. ซึ่งสามารถไปพูดคุยเจรจากันได้ ไม่มีอะไรที่ต้องมาคว่ำ
"สนช. - กกต.-กรธ. เราไม่ใช่ศัตรูกัน ที่จะไปรบ ไปคว่ำ ความเห็นต่างทางกฎหมายก็เป็นเรื่องธรรมดา เมื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นกัน ก็จบ เพราะเราต้องการให้กฎหมายออกมาดีที่สุด ที่ผมออกมาพูด ก็เพราะประเด็นนี้ กำลังมีผลกระทบต่อความสงบสุขของบ้านเมือง จึงต้องออกมายืนยันว่า โรดแมป จะเป็นไปตามกฎหมายลูก ซึ่งที่ผ่านมา มีการคำนวณแล้ว หลังจากที่รธน. ประกาศใช้ วันที่ 6 เม.ย. 60 คำนวณคร่าวๆว่า การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นปลายปี 61 จนต่อมา สนช. มีการแก้ไข ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ที่ขยายเวลาการบังคับใช้กฎหมายออกไปอีก 90 วัน หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้พรรคการเมืองได้มีเวลาเตรียมตัว ทำให้โรดแมป ขยายออกไปถึงเดือนก.พ. 62 หรืออาจเกินไป 4-5 วัน ถ้าหากนับแบบเต็มที่ ขอยืนยันว่า การแก้กฎหมายครั้งนี้ เพื่อทำให้การเลือกตั้งเป็นไปอย่างสมบูรณ์ ไม่เป็นปัญหา บ้านเมืองสงบสุข ไม่นำไปสู่ความขัดแย้ง และไม่ทะเลาะกัน ก่อนหรือหลังเลือกตั้ง และถ้าหากมีการคว่ำกฎหมายลูกจริง ก็ถือเป็นความรับผิดชอบของสนช." นายพรเพชร กล่าว
ในวันเดียวกันนี้ มีการประชุมสนช. โดย นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. เป็นประธานในที่ประชุม มีวาระ การตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณา ร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว. หลังจากทางกรธ. และ กกต. ส่งความเห็นแย้ง ร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับ มาให้ สนช. ตั้งกมธ.ร่วม 3 ฝ่าย เนื่องจากยังมีประเด็นที่ไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของรธน.
โดยร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่ประชุมได้ตั้งกมธ.ร่วม 11 คน ประกอบด้วย ตัวแทนจาก สนช.5 คน ได้แก่ นายวิทยา ผิวผ่อง นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ นายมหรรณพ เดชวิทักษ์ นายชาญวิทย์ วสยางกูร นายสมชาย แสวงการ ตัวแทน กรธ. 5 คนได้แก่ นายภัทระ คำพิทักษ์ นายธนาวัฒน์ สังข์ทอง นายนรชิต สิงหเสนี นายศุภชัย ยาวะประภาษ พล.อ.อัฏฐพร เจริญพานิช และ ตัวแทน กกต. 1 คน ได้แก่ นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต.
ส่วนร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว. ก็มีการตั้งกมธ.ร่วม 11 คน ประกอบด้วย ตัวแทน สนช. 5 คน ได้แก่ นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ พล.อ.อู้ด เบื้องบน พล.ร.อ.ธราธร ขจิตสุวรรณ นายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน นายสมชาย แสวงการ ตัวแทน กรธ. 5 คนได้แก่ นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ นายอัชพร จารุจินดา นายอุดม รัฐอมฤต นายปกรณ์ นิลประพันธ์ นายอภิชาต สุขัคคานนท์ และ ตัวแทน กกต. 1คน ได้แก่ นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต.
ทั้งนี้ ร่างพ.ร.ป.ทั้งสองฉบับ ทางกมธ.ร่วมฯ ต้องพิจารณาทบทวนให้เสร็จภายใน 15 วัน นับจากวันที่ได้รับการแต่งตั้ง เพื่อส่งให้ที่ประชุมสนช. พิจารณาลงมติต่อไป โดยร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ประชุมนัดแรกในวันที่ 19 ก.พ. เวลา 13.30 น. และ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว. ประชุมนัดแรก เวลา 15.30 น.
สำหรับเวลาที่ กมธ.ฯ ทั้ง 2 คณะต้องพิจารณาข้อโต้แย้ง พร้อมทำรายงานให้เสร็จ ภายใน 15 วันนั้น จะครบกำหนดในวันที่ 1 มี.ค. แต่ในวันดังกล่าว เป็นวันมาฆบูชา ซึ่งเป็นวันหยุดราชการ ทำให้ กมธ.ฯทั้ง 2 คณะต้องส่งรายงานให้บรรจุวาระประชุม ก่อนวันที่ 28 ก.พ.นี้


กำลังโหลดความคิดเห็น