xs
xsm
sm
md
lg

วิทยาการข้อมูลทางการทหาร (Military data science) เรียนอะไรบ้าง?

เผยแพร่:   โดย: อาจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์

ภาพจาก New Trends and Directions in Data Science - MIT Information Quality Conference - July 19th 2013
อาจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
ผู้อำนวยการหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิตและวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต
Business Analytics and Data Science
อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


ได้เล่าให้ฟังไปเมื่อสัปดาห์ก่อนว่าได้ไปช่วยสอนและแบ่งปันความรู้ร่วมกันกับคณาจารย์โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า หรือ โรงเรียนนายร้อย จปร. ที่เขาชะโงก เลยทำให้ทราบว่า ผู้สอบได้อันดับหนึ่ง-สิบของแต่ละรุ่นจะได้ไปเรียนต่อในมหาวิทยาลัยชั้นนำในต่างประเทศ และส่วนมากกลับมาเป็นอาจารย์ที่โรงเรียนนายร้อย จปร. ผมเลยโชคดีได้มีโอกาสพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดกับมันสมองของกองทัพที่ส่วนใหญ่เป็นนายทหารรุ่นใหม่ไฟแรงเพิ่งจบการศึกษามาจากต่างประเทศระดับปริญญาโท-เอกทางด้าน คณิตศาสตร์ วิทยาการคอมพิวเตอร์ วิศวกรรมศาสตร์ และวิทยาศาสตร์

นายทหารนักวิชาการเหล่านี้เป็นเพื่อน ๆ กันและมีไฟอยากจะพัฒนาการเรียนการสอนด้านวิทยาการข้อมูล (Data Science) ให้เกิดขึ้นในโรงเรียนนายร้อย ส่วนตัวผมเองมีความเชื่อมั่นว่าวิทยาการข้อมูลน่าจะช่วยพัฒนากองทัพและช่วยเกื้อหนุนให้วิทยาการทหาร (Military science) มีความเข้มแข็งและทันสมัยมากขึ้น ผมเลยได้เสนอไปว่าทางโรงเรียนนายร้อย จปร. น่าจะเปิดสอนด้าน วิทยาการข้อมูลทางการทหาร (Military Data Science) ได้ โดยอาศัยข้อได้เปรียบที่โรงเรียนนายร้อยจปร. มีการเรียนการสอนด้านวิศวกรรมศาสตร์หลากหลายสาขาค่อนข้างครบถ้วนเพียงพอ มีการเรียนการสอนทางวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ด้วยเช่นกัน หากผนึกกำลังรวมกันน่าจะเกื้อหนุนเปิดสอนด้าน วิทยาการข้อมูลทางการทหาร ให้นักเรียนนายร้อยได้สำเร็จ ผมเลยได้นำหลักสูตร ปริญญาโททางด้าน Data Science ในหลักสูตร Business Analytics and Data Science ของคณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ไปนำเสนอให้คณาจารย์โรงเรียนนายร้อยจปร. ได้ลองพิจารณาและได้ทำ workshop ร่วมกันเพื่อร่างหลักสูตร Military data science ขึ้นมา

ปกตินักเรียนนายร้อยเรียนกันห้าปี และเรียนวิชาการทหารและการฝึกภาคสนามหนักมาก ทั้งยังเรียนระดับปริญญาตรีในสาขาวิชาต่าง ๆ อีก ทำให้หน่วยกิตมากเหลือเกิน โดยมีตั้งแต่วิชาการศึกษาทั่วไป วิชาเอกต่าง ๆ วิชาทหาร

ผมเลยกำหนดโจทย์ว่า วิชาเอกนั้นแค่ 10 วิชา 30 หน่วยกิตก็พอเพียง และไม่ต้องไปปรับเปลี่ยนวิชาอื่น ๆ เช่นการศึกษาทั่วไป วิชาทหาร แต่อย่างใด คณาจารย์ได้ร่วมกันคิดและนำเสนอออกมาได้น่าสนใจมากดังนี้

1.ข้อมูลใหญ่ (Big data) เนื่องจากข้อมูลทางการทหารมีทั้งข้อมูลที่เป็นตัวเลข มีโครงสร้างเป็นตารางแบบเดิม ตลอดจนข้อมูลรูปถ่าย เสียง วีดิโอ อักขระ ตลอดจน censor หรือ Internet of Things ทำให้ต้องทราบ unstructured data ด้วย ในวิชานี้นักเรียนนายร้อยควรได้เข้าใจที่มาของข้อมูล การ extract การแปลง และการโหลด (Extraction, transformation, loading) ข้อมูล ควรต้องเรียน SQL ซึ่งใช้กับ structured data และเรียนฐานข้อมูลสัมพันธ์ ในขณะที่ต้องเรียน noSQL สำหรับ unstructured data ด้วยซึ่งจะเป็นประโยชน์กับกองทัพมากในอนาคต น่าจะให้คณาจารย์ทางวิทยาการคอมพิวเตอร์รับผิดชอบวิชานี้ได้

2.วิทยาการข้อมูลประยุกต์ (Applied data science) แทนที่จะเรียนสถิติศาสตร์แบบดั้งเดิมที่เน้นการพิสูจน์สูตร การแทนค่าใส่สูตร และการใช้คอมพิวเตอร์ในการวิเคราะห์ข้อมูล จะเปลี่ยนวิธีการเรียนการสอนให้เกิด hands-on experience เน้นให้มีการฝึกหัดและวิเคราะห์ข้อมูลจริง ๆ กับคอมพิวเตอร์ ให้ฝึกหัดแปลความ เขียนรายงานและนำเสนอผ่านกรณีศึกษาและข้อมูลตัวอย่างเพื่อให้นักเรียนนายร้อยที่จบออกไปวิเคราะห์ข้อมูลได้จริง น่าจะให้คณาจารย์ทางคณิตศาสตร์และสถิติช่วยกันรับผิดชอบวิชานี้ได้

3.ปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่องจักร (Artificial intelligence and machine learning) ซึ่งวิชานี้มีเนื้อหาเยอะ อาจจะแยกเป็นสองตัว แต่ต้องการให้นักเรียนนายร้อยสามารถเข้าใจหลักการและทฤษฎีตลอดจนการนำไปใช้จริงในการทหาร เช่น การตรวจจับความผิดปกติ (Anomaly detection) การพยากรณ์ การจำแนก เพื่อนำไปใช้กับข้อมูลทางการทหาร น่าจะให้คณาจารย์ทางวิทยาการคอมพิวเตอร์รับผิดชอบวิชานี้ได้

4.การเขียนโปรแกรม R และ Python ทั้งนี้สองภาษานี้เป็นภาษาหลักของวิทยาการข้อมูล นักวิทยาการข้อมูลทางการทหารต้องเขียนโปรแกรมเหล่านี้ได้ เพื่อให้สามารถทำงานต่อยอดได้เอง โดยไม่ต้องเสียเงินซื้อ software ราคาแพง น่าจะให้คณาจารย์ทางวิทยาการคอมพิวเตอร์รับผิดชอบวิชานี้ได้

5.การสร้างภาพนิทัศน์จากข้อมูล (Data visualization) หน้าที่ของนักวิทยาการทหารคือการเป็นเสนาธิการ โดยนำข้อมูลมาวิเคราะห์และนำเสนอเป็นยุทธศาสตร์ จะทำอย่างไรให้นายทหารชั้นผู้ใหญ่หรือผู้มีอำนาจในการตัดสินสามารถตัดสินใจบนข้อมูลและความรู้ที่มีความซับซ้อน การวาดรูปจากข้อมูลจะช่วยให้เข้าใจได้ดีขึ้น สื่อสารได้ดีมากขึ้น ทำให้ทำหน้าที่เสนาธิการได้ดีขึ้นกว่าเดิม น่าจะให้คณาจารย์ทางวิทยาการคอมพิวเตอร์และคณิตศาสตร์และสถิติรับผิดชอบวิชานี้ได้

6.การสร้างแบบจำลองและการตัดสินใจ (Decision making and modeling) ในทางวิทยาการข้อมูลทางการทหารเป็นงานฝ่ายเสนาธิการต้องอาศัยศาสตร์การตัดสินใจและการสร้างแบบจำลองพยากรณ์เพื่อหาข้อเสนอแนะเสนอให้ผู้บังคับบัญชาตัดสินใจ การตัดสินใจทางการทหารโดยใช้ข้อมูลอย่างเป็นวิทยาศาสตร์น่าจะทำให้การทำงานของกองทัพมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น วิชานี้น่าจะให้คณาจารย์ทางด้านวิศวกรรมอุตสาหการรับผิดชอบได้

7.การสร้างแผนที่และการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพื้นที่ (Spatial data visualization and analysis) ในทางวิทยาการทหารต้องใช้แผนที่จะการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงแผนที่มาก ภูมิรัฐศาสตร์ สมรภูมิรบ ล้วนแล้วแต่เป็นข้อมูลเชิงพื้นที่ทั้งสิ้น จึงจำเป็นสำหรับวิทยาการข้อมูลทางการทหาร และวิชานี้น่าจะให้คณาจารย์ทางด้านวิศวกรรมสำรวจและวิศวกรรมโยธารับผิดชอบได้

8.การหาค่าเหมาะสมทางโลจิสติกส์ (Logistics optimization) เนื่องจากการส่งกำลังบำรุงเป็นหัวใจของการทหารและการรบ หากมีการหาค่าเหมาะสม หาเส้นทางที่สั้นที่สุด การจัดผังและตารางการทำงาน จะช่วยให้การส่งกำลังบำรุงทางการทหารเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ วิชานี้ควรให้คณาจารย์ทางวิศวกรรมอุตสาหการร่วมรับผิดชอบได้

9.การไหลของข้อมูลและอินเทอร์เน็ตแห่งสรรพสิ่ง (Internet of Things and data streaming) ในทางวิทยาการทหาร ต่อไปอาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ จะติดตั้ง sensor และเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต ข้อมูลตามเวลาจริงจะหลั่งไหลเข้ามามากมาย หากมีการนำไปวิเคราะห์ให้ดีจะเป็นประโยชน์กับทางการทหารโดยเฉพาะการซ่อมบำรุงเชิงพยากรณ์ (Predictive maintenance) เนื่องจากต้องอาศัยความรู้ทางไฟฟ้าสื่อสารผนวกกับวิทยาการคอมพิวเตอร์วิชานี้จึงควรรับผิดชอบร่วมกันระหว่างคณาจารย์วิศวกรรมไฟฟ้าสื่อสารและวิทยาการคอมพิวเตอร์

10.ความปลอดภัยทางไซเบอร์และสารสนเทศ (Information and cyber security) เนื่องจากความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลในทางการทหารนั้นสำคัญมาก วิทยาการทหารจึงต้องมีความรู้ในเรื่องนี้ และยังนำความรู้ไปใช้ในเรื่องภัยความมั่นคงได้อีกด้วย คณาจารย์ทางวิทยาการคอมพิวเตอร์น่าจะรับผิดชอบวิชานี้ได้

นอกจากนี้คณาจารย์โรงเรียนนายร้อยยังได้เสนอว่าควรมีวิชาเลือกสำหรับนักเรียนนายร้อยที่สนใจด้านวิทยาการข้อมูลทางการทหารด้วย เช่น

วิทยาการหุ่นยนต์ (Robotics) ต่อไปจะรบกันต้องใช้หุ่นยนต์รบหรือทำงานที่มีความเสี่ยง แต่ Robotics ต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งวิทยาการคอมพิวเตอร์ วิศวกรรมเครื่องกล และวิศวกรรมไฟฟ้า

คอมพิวเตอร์กราฟิกและวิชั่น (computer graphics and vision) เป็นวิชาสำคัญอันเป็นพื้นฐานของ robotics หรือจะเรียนเพื่อให้สามารถสร้างเกมส์จำลองการรบในสมรภูมิก็ได้เช่นกัน วิชานี้วิทยาการคอมพิวเตอร์ และวิศวกรรมไฟฟ้าน่าจะร่วมกันรับผิดชอบ

การวิเคราะห์ภาพและวีดิโอ (Image and VDO analytics) วิชานี้ทางการทหารจำเป็นมาก ช่วยให้การตรวจสอบความผิดปกติต่าง ๆ การจำแนกอาชญากร ผู้ก่อการร้าย จากใบหน้า เป็นต้น วิชานี้เป็นวิชาทางวิทยาการคอมพิวเตอร์โดยตรง

การวิเคราะห์ข้อความ (Text analytics) ซึ่งจะใช้ในการวิเคราะห์ข้อความที่สื่อสารผ่านสื่อสังคมต่าง ๆ หรืออย่างอื่นก็ได้ ต้องอาศัยคณาจารย์ที่มีความรู้ทางวิทยาการคอมพิวเตอร์ร่วมกับภาษาศาสตร์

ในขณะที่การวิเคราะห์เสียง (Voice analytics) นั้นเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับการทหารโดยเฉพาะความมั่นคง ต้องอาศัยคณาจารย์ทางด้านวิศวกรรมไฟฟ้าสื่อสารเนื่องจากเสียงเป็นคลื่นอย่างหนึ่ง อาจารย์ทางภาษาศาสตร์ และอาจารย์ทางวิทยาการคอมพิวเตอร์ร่วมกัน

ได้ฟังคณาจารย์ที่เป็นนายทหารนักวิชาการรุ่นใหม่ไฟแรง อยากพัฒนาการเรียนการสอนการวิจัยในโรงเรียนนายร้อยจปร ร่วมกันคิด ร่วมกันร่างหลักสูตร แล้วรู้สึกชื่นใจ และอยากให้กองทัพบกโดยผู้บัญชาการทหารบกหรือนายกรัฐมนตรีช่วยออกแรงสนับสนุนให้เกิดการเรียนการสอนและการวิจัยในโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าโดยรวดเร็ว เพื่อให้เกิดการพัฒนากองทัพด้วยบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถต่อไปในอนาคตอันใกล้


กำลังโหลดความคิดเห็น