อาจารย์กิตติพงศ์ บุญเกิด
สาขาวิชาภาษาเอเชียใต้ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สาขาวิชาภาษาเอเชียใต้ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปัทมาวัต (Padmavat) คือภาพยนตร์บอลลีวูดเรื่องใหม่ที่กำลังได้รับความนิยมสูงสุดอยู่ในขณะนี้ เริ่มฉายเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2018 เพียงสัปดาห์แรกเท่านั้นก็ทำรายได้สูงถึง 1,000 ล้านรูปี หรือประมาณ 500 ล้านบาท ทุบสถิติเก่าและกำลังสร้างสถิติใหม่ในประวัติศาสตร์วงการภาพยนตร์บอลลีวูดในฐานะภาพยนตร์ภาษาฮินดีที่ใช้ทุนสร้างสูงสุดกว่า 2,150 ล้านรูปี หรือประมาณ 1,000 ล้านบาท และได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว สำนักข่าวของอินเดียคาดการณ์ว่าขณะนี้ทำรายได้ทั่วโลกรวมกันเกินกว่า 4,000 ล้านรูปีหรือราว ๆ 2,000 ล้านบาทแล้ว โดยมีนักแสดงนำระดับเบอร์ต้นของวงการ เช่น ดีปิกา ปาดุโกน, ชฮิด กปูร, รัณวีร สิงห์ (Deepika Padukone, Shahid Kapoor, Ranveer Singh) และที่สำคัญด้วยฝีมือกำกับของ สัญชัย ลีลา ภันสาลี (Sanjay Leela Bhansali) ผู้กำกับมือทองฝังเพชรแห่งวงการบอลลีวูด ผู้มีผลงานมากมายเป็นที่ประจักษ์ ครองรางวัลระดับชาติและนานาชาติมานับไม่ถ้วน รัฐบาลอินเดียจึงได้มอบอิสริยาภรณ์ ‘ปัทมศรี’ อิสริยาภรณ์สูงสุดระดับ 4 ฝ่ายพลเรือนให้เมื่อปี 2015 ความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ของภาพยนตร์เรื่องนี้จึงมิใช่เรื่องเกินคาด และบางทีปัจจัยอื่น ๆ ที่จะกล่าวถึงต่อไปข้างหน้า อาจเป็นกำลังสำคัญมากกว่าที่ผลักดันส่งเสริมให้ ‘ปัทมาวัต’ ได้รับความนิยมล้นหลามอย่างนี้ก็เป็นได้
ผู้สร้างภาพยนตร์ปัทมาวัต ได้รับแรงบันดาลใจมาจากวรรณคดีเอกเรื่อง ‘ปัทมาวัต’ ของ มลิก ‘มุฮัมมัด จายสี’ (Malik Muhammad Jaysi) กวีมุสลิมผู้ยิ่งใหญ่ในสายวรรณคดีภักติในยุคกลาง มีชีวิตอยู่ในราวศตวรรษที่ 16 ในอินเดียภาคเหนือ วรรณคดีเรื่องดังกล่าวมีเค้าโครงทางประวัติศาสตร์ยุคสุลต่านที่เดลีปะปนอยู่มากจนทำให้เข้าใจสับสนอย่างกว้างขวางไปทั่วว่าเรื่องราวในวรรณคดีปัทมาวัตทั้งหมดเป็นเรื่องจริง อย่างไรก็ตาม ผู้สร้างภาพยนตร์ปัทมาวัตมิได้หยิบเอาทั้งตัวอักษรในวรรณคดีปัทมาวัตและทั้งข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์ยุคสุลต่านที่เดลีมาสร้างเป็นภาพยนตร์แบบโต้ง ๆ หากจะกล่าวว่าภาพยนตร์เรื่องนี้คือการสร้างสรรค์ใหม่ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากวรรณคดีคงจะเหมาะสมกว่า แต่ทว่า เป็นเรื่องธรรมชาติที่ผู้สร้างภาพยนตร์กับคนดูมักคิดไม่ตรงกัน ประชาชนหลายกลุ่มไม่พอใจที่ภาพยนตร์ปัทมาวัตมีเนื้อหาบิดเบือนประวัติศาสตร์ และมิได้ตรงกับที่พรรณนาไว้ในวรรณคดี
ภาพยนตร์มีเนื้อหาย้อนยุคกลับไปในราวศตวรรษที่ 13 กล่าวถึงเจ้าหญิงปัทมาวตี ธิดาแห่งสิงหล (ศรีลังกา) ผู้เลอโฉม ครั้นราชารัตนสิงห์ กษัตริย์ราชปุตแห่งจิตตอรนคร อาณาจักรเมวาร (คือบริเวณรัฐราชสถานในปัจจุบัน) เดินทางไปถึงแคว้นสิงหลเพื่อตามหาไข่มุกที่งดงามมามอบให้กับรานีนาคมตีมเหสีองค์แรก ปัทมาวตียิงศรใส่รัตนสิงห์ด้วยเข้าใจผิดว่าเป็นกวาง ทั้งคู่จึงได้พบกันและกษัตริย์แห่งราชปุตก็เกิดความรักครั้งที่สองขึ้น จึงเชิญเจ้าหญิงปัทมาวตีกลับมาเป็นมเหสีอีกองค์หนึ่งโดยได้รับพรจาก ราฆวะ เจตัน ปุโรหิตแห่งราชสำนัก และแน่นอนว่านาคมตี มเหสีองค์แรกย่อมไม่พอใจแต่ก็มิอาจต้านทานได้
ต่อมาปุโรหิตราฆวะ เจตัน ถูกจับได้ว่าแอบซุ่มดูรัตนสิงห์กับปัทมาวตีพลอดรักกัน จึงถูกลงโทษโดยการเนรเทศออกไปนอกอาณาจักร ราฆวะ เจตันหันไปอาศัยบารมีของ อลาอุดดีน ขิลจี สุลต่านองค์ใหม่ที่เดลีผู้ช่วงชิงอำนาจมากจาก จลาลุดดีน ขิลจี ที่เป็นทั้งลุงและพ่อตาของตน เมื่อได้ฟังคำพรรณนาความงดงามของรานีปัทมาวตีจากวาทศิลป์อันยั่วยุของราฆวะ เจตัน อลาอุดดีน ขิลจีจึงคิดวางแผนบุกเมืองจิตตอระ ครั้นเอาชนะไม่ได้ง่าย ๆ จึงแสร้งทำไมตรีและขอโอกาสชื่นชมความงามของรานีปัทมาวตีโดยขอให้ได้ชมโฉมเพียงครู่เดียว แต่เท่านี้ก็ถือว่าหยามศักดิ์ศรีแห่งราชปุตเกินไปแล้ว ในที่สุดอลาอุดดีนวางอุบายจนจับตัวรัตนสิงห์กลับไปเป็นเชลยที่เดลีได้สำเร็จ โดยมีข้อแม้ให้ปัทมาวตีเอาตนเองมาแลกคืนไป ปัทมาวตีก็แต่งอุบายกลับโดยทำทีเป็นยินดียอมทำตามแต่ขอนำหญิงรับใช้ขึ้นเกี้ยวติดตามไปด้วย 700 นาง แต่ความจริงก็คือล้วนเป็นทหารชายฉกรรจ์ทั้งสิ้น 700 นาย แม้จะช่วยสวามีกลับออกมาได้สำเร็จ แต่แล้วรัตนสิงห์กับอลาอุดดีนก็รบพุ่งกัน รัตนสิงห์พลาดท่าเสียทีตายในที่รบ ครั้นอลาอุดดีน ขิลจี สุลต่านผู้เกรียงไกรแห่งเดลีเดินทางมาถึงจิตตอระ หมายจะเอาตัวปัทมาวตีไป ก็ต้องพบเพียงกองเถ้าถ่านขนาดมหึมา ที่รานีปัทมาวตี รานีนาคมตี ตลอดจนสตรีในราชสำนักหลายร้อยคน ผู้รักษาเกีรติศักดิ์ศรีแห่งราชปุต ประกอบพิธีสตีคือกระโดดเข้ากองไฟตายหมู่ตามสวามีของตนไปสิ้นแล้ว
ระหว่างกระบวนการถ่ายทำ ข่าวและตัวอย่างภาพยนตร์ที่เผยแพร่ออกไปสู่สาธารณะตั้งแต่ต้นปีที่แล้วทำให้ภาพยนตร์ถูกจับจ้องและวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้นเรื่อย ๆ ถึงความแตกต่าง ไม่เป็นไปตามข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์ และไม่ตรงกับต้นฉบับที่ประพันธ์ไว้ในวรรณคดี อีกทั้งในภาพยนตร์ยังมีเรื่องความไม่เหมาะสมนานาประการ เช่น มีฉากที่รานีปัทมาวตีเต้นรำโดยไม่ปิดผ้าคลุมหน้า ผู้ต่อต้านเห็นแย้งว่า ปัทมาวตี มีฐานะเป็นราชินี และยังเป็นที่เคารพศรัทธาในฐานะเทวีท้องถิ่น จึงไม่ควรออกมาเต้นรำเพื่อความบันเทิงให้ใครดู อีกทั้งการเต้นรำโดยไม่ปิดผ้าคลุมหน้านั้นหาใช่มารยาทอันงามของสตรีราชปุตไม่ ชาวมุสลิมบางกลุ่มก็ไม่พอใจที่สุลต่านอลาอุดดีน ขิลจี ปรากฏบทบาทที่โหดร้าย ขาดศีลธรรมและไร้มารยาท โดยมองว่าเป็นการจงใจกำหนดบทบาทให้สุลต่านมุสลิมต้องเป็นตัวร้ายที่เกินจริง ทางด้านนักประวัติศาสตร์ก็โจมตีว่า รานีปัทมาวตี หรือมีอีกชื่อว่า ปัทมินี เป็นเพียงจินตนาการ มีอยู่ในรูปของตำนานท้องถิ่นเท่านั้น ไม่เคยปรากฏหลักฐานว่ามีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ ราชารัตนสิงห์แห่งราชปุต อันที่จริงมีชื่อว่า รัตนเสน และไม่เคยต้องรบพุ่งกับอลาอุดดีนจนตายในที่รบ แต่รบกับกษัตริย์ฮินดูอีกองค์หนึ่งนามว่าเทวปาลต่างหาก
จากเรื่องเล็ก ๆ ก็ขยายจนกลายเป็นเรื่องใหญ่ ความวุ่นวายค่อย ๆ บานปลายจนเกิดการประท้วงและต่อต้านโดยหลายองค์กร ทั้งยังเกิดความรุนแรงในบางพื้นที่อีกด้วย บางรัฐในอินเดีย และแม้แต่กลุ่มชาวมุสลิมในประเทศมาเลเซียถึงกับประกาศแบนภาพยนตร์เรื่องนี้ตั้งแต่ยังถ่ายทำไม่เสร็จ กระบวนการฟ้องร้องและอุทธรณ์ยืดเยื้อจนทำให้ในที่สุดฝ่ายผู้สร้างภาพยนตร์ต้องตัดเนื้อหาทิ้งไปบางส่วน และเลื่อนวันออกฉายจากกำหนดเดิมคือวันที่ 1 ธันวาคม 2017 เป็นวันที่ 25 มกราคม 2018 อีกทั้งต้องเปลี่ยนชื่อจากเดิม Padmavati เป็น Padmavat
ผู้เขียนมิได้เจตนาจะอุทิศบทความชิ้นนี้เพื่อการวิพากษ์วิจารณ์ภาพยนตร์ปัทมาวัตแต่อย่างใด ข้อความข้างต้นทั้งหมดเป็นเพียงอารัมภบทเท่านั้น จุดประสงค์ที่แท้จริงของผู้เขียนคือต้องการนำความรู้ด้านวรรณคดีฮินดียุคภักติที่ตนกำลังสนใจศึกษาอยู่มาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่าน เนื่องจากเห็นว่าความรู้ด้านวรรณคดีฮินดียังไม่เป็นที่แพร่หลายในสังคมไทย แม้แต่ในวงวิชาการและวงการวรรณกรรมก็ยังมีความรู้ด้านนี้อยู่ไม่มากนัก แม้ไทยเราจะพอมีความรู้ทางภาษาและวรรณคดีโบราณของอินเดียคือภาษาบาลีและสันสกฤตมาพอสมควรแล้ว แต่เรื่องปัจจุบันของอินเดีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ต้องอาศัยความรู้ทางภาษาและวรรณคดีฮินดีเป็นเครื่องมือศึกษานั้น ยังมีข้อจำกัดคับแคบอยู่มาก ดังนั้นในที่นี้จะขอมอบความรู้ในรูปของการบรรยายเป็นหลัก และจบด้วยการแสดงทัศนะบางประการของผู้เขียนในฐานะผู้เริ่มศึกษาวรรณคดีฮินดี
วรรณคดีเรื่อง ‘ปัทมาวัต’ อันเป็นที่มาของบทภาพยนตร์ปัทมาวัตนี้เป็นประพันธกาวยะ บทประพันธ์ประเภทกาพย์ของ มลิก โมฮัมมัด จายสี (ค.ศ.1492-1542) กวีซูฟีผู้ที่ได้รับการยกย่องให้เป็นต้นสายแห่งวรรณคดีภักติสายเปรมสาขา หรือวรรณคดีภักติสายความรัก แต่งขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1540 ด้วยภาษาอวธี ซึ่งจัดเป็นรูปหนึ่งของภาษาฮินดีที่แพร่หลายอยู่ทางฝั่งตะวันออกของรัฐอุตตรประเทศในปัจจุบัน ช่วงเวลาดังกล่าวนั้นในทางประวัติวรรณคดีฮินดีจัดว่าอยู่ในระยะแรกของมัธยกาลหรือยุคกลาง อันมีชื่อเรียกย่อยลงไปอีกว่า ยุคภักติ คือราวกลางศตวรรษที่ 14 – กลางศตวรรษที่ 17 อาจารยะ รามจันทระ ศุกละ (ค.ศ.1884-1941) นักวิชาการผู้จัดระเบียบการศึกษาประวัติวรรณคดีฮินดีไว้เป็นมาตรฐานได้แบ่งยุคสมัยของวรรณคดีฮินดีโดยอาศัยกระแสหลักของวรรณคดียุคนั้น ๆ เป็นตัวกำหนด ยุคใด สมัยใด วรรณคดีเกิดกระแสนิยมไปในทิศทางใดก็จะเรียกยุคนั้นตามกระแสนิยมนั้น ๆ ในราวกลางศตวรรษที่ 14 - กลางศตวรรษที่ 17 พบว่าวรรณคดีส่วนใหญ่สร้างสรรค์ขึ้นในกระแสแนวคิดภักติ จึงเรียกยุคทางวรรณคดีนั้นว่า ยุคภักติ
ภักติ คือความรักภักดีที่มีต่อพระเจ้า กวีอาศัยบทประพันธ์ที่ตนบรรจงสร้างสรรค์ขึ้นเพื่อสื่อความคิด ความรู้สึก ความรัก ความสำนึกในพระกรุณา และความซาบซึ้งใจที่ตนมีต่อพระเจ้า ถ่ายทอดออกมาในรูปบทประพันธ์ที่ใช้ขับร้องสรรเสริญพระเจ้า ถือเป็นการสื่อสารทางตรงจากจิตวิญญาณของปัจเจกบุคคลมุ่งสู่พระเจ้ามุ่งสู่ความหลุดพ้นหรือโมกษะได้ด้วยตนเองโดยมิต้องอาศัยอำนาจพราหมณ์ผู้ใดมาเป็นสื่อกลางประกอบอีกต่อไป ทั้งนี้มีหัวใจสำคัญอยู่ที่ความศรัทธาในความเสมอภาคและศักยภาพของมนุษย์ นักวิชาการส่วนใหญ่เชื่อว่า แนวคิดภักติรุ่งเรืองขึ้นในอินเดียใต้ก่อน ตั้งแต่ก่อนศตวรรษที่10 เรียกว่าขบวนการภักติ แล้วค่อย ๆ เผยแพร่แนวคิดขึ้นมาทางเหนือ และใช้เวลาหลายร้อยปีกว่าจะปรากฏอิทธิพลอย่างชัดจนต่อวรรณคดีฮินดี ซึ่งแน่นอนว่าวรรณคดีภาษาอื่น ๆ ของอินเดียต่างก็ได้รับอิทธิพลแนวคิดภักติอย่างกว้างขวางด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตามแนวคิดภักติมีความเก่าแก่ที่สามารถสืบย้อนไปได้ถึงคัมภีร์อุปนิษัทและภาควัทคีตา
นักวิชาการบางกลุ่มเชื่อว่า การรุกรานของกองทัพมุสลิมเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้แนวคิดภักติรุ่งเรืองขึ้นในวรรณคดีอินเดียภาคเหนือ ด้วยให้เหตุผลว่าความเหนื่อยล้าที่ต้องเผชิญกับศึกสงคราม ประชาชนจึงแสวงหาที่พึ่งทางใจอย่างวิเศษ วรรณคดีภักติ สามารถปลอบประโลมใจ ให้กำลังใจ และชี้ทางปัญญาได้เป็นอย่างดี วรรณคดีฮินดียุคภักติ ยังแบ่งย่อยลงไปได้อีกเป็น 2 กลุ่มได้แก่ สคุณภักติ และนิรคุณภักติ
สคุณภักติเชื่อในความมีรูปร่างของพระเจ้า พระเจ้ามีรูปร่างที่งดงามวิจิตร ทรงฤทธานุภาพ สามารถอวตารลงมาช่วยเหลือมนุษย์ในยามเกิดยุคเข็ญ สคุณภักติ ยังแบ่งออกอีกเป็น 2 สายได้แก่ รามภักติ และ กฤษณะภักติ กล่าวคือ สายรามภักติ มีศูนย์กลางแห่งความศรัทธาอยู่ที่พระราม ราชาแห่งนครอโยธยาผู้เป็นต้นแบบแห่งความดีงามอันเพียบพร้อมสมบูรณ์ รามจริตมานัส หรือรามายณะฉบับภาษาอวธี แต่งโดยตุลสีทาส ถือเป็นวรรณคดีสำคัญของสายรามภักติ สำหรับสายกฤษณะภักตินั้น มีศูนย์กลางแห่งความศรัทธาอยู่ที่พระกฤษณะ ราชาแห่งนครมถุราและทวารกา อวตารภาคที่ 8 ของพระวิษณุ กวีสำคัญของสายนี้คือ สูรทาส มีวรรณคดีสำคัญเช่น สูรสาคร สูรสาราวลี นิยมใช้ภาษาบรัช ภาษาฮินดีท้องถิ่นที่แพร่หลายอยู่ทางฝั่งตะวันตกของรัฐอุตตรประเทศ แถบเมืองมถุรา-อักรา
สำหรับวรรณคดีสายนิรคุณภักตินั้น ศรัทธาต่อพระเจ้าในลักษณะที่ไม่มีรูปร่างเป็นบุคคล หรือมีตัวตนอย่างมนุษย์ ไม่เชื่อในการอวตารลงมาเกิดมาเป็นมนุษย์ พระเจ้าไร้รูปร่าง เสียง กลิ่น สัมผัส แต่พระองค์มีอยู่ นิรคุณภักติแยกย่อยลงไปอีก 2 สายได้แก่ ชญานสาขา หรือสายความรู้ และเปรมสาขาหรือสายความรัก สายชญานสาขา หรือสายความรู้เชื่อในอำนาจของความรู้แจ้ง ความเข้าใจสาระของชีวิต มนุษย์ และสถานะของพระเจ้าอย่างแท้จริง การประจักษ์ซึ่งประสบการณ์ทางจิตที่ได้รับจากการฝึกฝนปฏิบัติเพื่อนำตนไปสู่โมกษะความหลุดพ้น หรือการเข้าถึงพระเจ้าได้ กวีคนสำคัญของสายความรู้คือ กบีรทาส ผลงานสำคัญที่รวบรวมคำสอนของกบีรไว้เรียกว่า กบีรวาณี แต่งขึ้นโดยใช้ภาษาปะปนผสมผสานทั้งภาษาบรัชและภาษาอวธี
กลุ่มสุดท้ายของวรรณคดีภักติสายนิรคุณ คือเปรมสาขา หรือสายความรัก กวีส่วนใหญ่ของสายนี้เป็นชาวมุสลิมที่ศรัทธาในแนวปฏิบัติแบบซูฟี จึงนิยมเรียกกวีในสายนี้ว่า กวีซูฟี หรือซูฟีสันตะ (สันตะ แปลได้หลายความหมายเช่น นักบุญ นักบวช นักปฏิบัติธรรม ผู้มีความรู้ในเรื่องทางจิตวิญญาณ) กวีสายนิรคุณภักติ เปรมสาขา เชื่อในพลังอำนาจแห่งความรัก มีความรักเป็นเครื่องมือสำคัญในการนำตนหลอมรวมเข้ากับพระเจ้า หรือเท่ากับเข้าสู่ความหลุดพ้นนั่นเอง วรรณคดีในสายนี้จะซ่อนรหัสนัย ใช้อุปลักษณ์เปรียบสิ่งต่าง ๆ ที่ปรากฏในคำประพันธ์นั้นกับสาระทางธรรมอันแยบยล มลิก มุฮัมมัด จายสี และ ปัทมาวัต นั่นเอง คือกวีและวรรณคดีสำคัญในสายนิรคุณภักติ เปรมสาขา อนึ่ง วรรณคดีสายนี้นิยมแต่งด้วยภาษาอวธี
ปัทมาวัตในวรรณคดี ได้รับการยกย่องว่าเป็นวรรณคดีชั้นเลิศ งดงามด้วยรส ฉันท์ อลังการตามหลักกาวยศาสตร์ของวรรณคดีฮินดี มีเนื้อหาที่เกิดจากการผสมผสานกันระหว่างจิตนาการของกวี เรื่องราวในประวัติศาสตร์ และตำนานท้องถิ่นเรื่องความรักระหว่างราชารัตนเสน (ในภาพยนตร์แปลงชื่อเป็น รัตนสิงห์) กษัตริย์ราชปุตแห่งจิตตอระ กับเจ้าหญิงปัทมาวตีแห่งสิงหลทวีป เดิมเป็นตำนานมุขปาฐะที่แพร่หลายอยู่ทั่วไปในอินเดียภาคเหนือในสมัยของจายสี กวีซูฟีในยุคนั้นนิยมนำตำนานท้องถิ่นของชาวฮินดูมาดัดแปลงสร้างสรรค์ใหม่ในรูปของงานประพันธ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนำเรื่องราวความรักทางโลกมาเป็นอุปกรณ์ในการอธิบายความรักเหนือโลก โดยในวรรณคดีปัทมาวัตนี้ กำหนดให้ราชารัตนเสน เป็นสัญลักษณ์ของชีวาตมา ปัทมาวตีเป็นปรมาตมา กวีซูฟีเน้นความสำคัญเรื่องความรัก มีความรักเป็นเครื่องมือหรือหนทางนำไปสู่พระเจ้า โดยเปรียบให้พระเจ้าอยู่ในรูปของสตรี และสาวกหรือผู้ภักดีอยู่ในรูปของบุรุษ บุรุษต้องยอมฝ่าฟันอุปสรรคทุกวิถีทางเพื่อทำให้สตรีพึงพอใจ ครั้นดั้นด้นไปขอความรักถึงหน้าประตูเรือนของสตรีแล้ว เมื่อนั้นสตรีผู้เป็นทิพย์ หรือพระเจ้านั่นเองก็จะมาปรากฏอยู่เบื้องหน้าบุรุษนั้น ดั่งที่ราชารัตนเสนพากเพียรแน่วแน่จนเดินทางไปพบปัทมาวตีได้สำเร็จ และแล้วการเดินทางก็สิ้นสุดเมื่อชีวาตมากลับคืนไปหลอมรวมกับปรมาตมา
ปัทมาวัต ในวรรณคดีแบ่งออกเป็นสองภาค ภาคแรกเน้นไปในทางตำนานรัก เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นจินตนาการของกวีผสมผสานกับความเชื่อท้องถิ่น กล่าวถึงเจ้าหญิงปัทมาวตี หรือปัทมินีก็เรียก ธิดาราชาคันธรรวเสนแห่งสิงหลทวีป ผู้งดงามยิ่งหาเปรียบมิได้ เจ้าหญิงเลี้ยงนกแก้วแสนรู้ช่างพูดไว้ตัวหนึ่งชื่อว่าฮีรามัน นกแก้วตัวนี้รู้ว่าพระบิดาของเจ้าหญิงกำลังหาคู่ที่เหมาะสมให้แก่พระธิดาอยู่แต่ก็ยังหาไม่ได้ วันหนึ่งมันบินออกไปนอกพระราชวังและถูกนายพรานจับได้และถูกขายต่อให้แก่พราหมณ์แห่งจิตตอรนคร ราชารัตนเสนรับซื้อต่อไป วันหนึ่งรานีนาคมตี มเหสีของราชารัตนเสนถามนกแก้วว่า ยังมีสตรีใดโลกนี้อีกหรือไม่ที่งดงามเสมอด้วยพระนาง นกแก้วช่างพูดตอบว่า เจ้าหญิงปัทมาวตีแห่งสิงหลทวีปงดงามกว่าพระองค์ยิ่งนัก หากเปรียบกันแล้วก็แตกต่างราวกลางวันกับกลางคืน รานีนาคมตีได้ยินดั่งนั้นก็โกรธเกรี้ยว สั่งหญิงรับใช้ให้นำนกแก้วปากร้ายนี้ไปฆ่าทิ้งเสีย แต่หญิงรับใช้มิได้ฆ่ากลับแอบไปเลี้ยงไว้เอง ฝ่ายราชารัตนเสนเสียพระทัยมากที่หานกแก้วไม่พบ ไม่นานราชารัตนเสนก็ได้ฟังคำพรรณนาความงดงามของเจ้าหญิงปัทมาวตีอีกครั้งจากปากนกแก้ว ทำให้พระองค์เคลิบเคลิ้มถึงกับเป็นลมไป ด้วยดวงใจที่ร่ำร้องใฝ่หาจะพบเจ้าหญิงปัทมาวตีให้ได้ ราชารัตนเสนจึงแต่งองค์เป็นโยคีมุ่งหน้าไปยังสิงหลทวีปในทันทีโดยมีนกแก้วฮีรมันช่วยนำทาง และมีโยคีอีก 16,000 ตนร่วมเดินทางไปซึ่งหนึ่งในจำนวนเหล่านี้มีพระศิวะอยู่ด้วย ราชารัตนเสนต้องข้ามห้วงมหาสมุทรทั้งเจ็ด ฝ่าฟันกับอุปสรรคนานาประการตลอดการเดินทาง และแล้วในที่สุดก็ไปถึงสิงหลทวีป เมื่อมีชัยชนะเหนือป้อมพระราชวังแห่งสิงหล ได้วิวาห์กับเจ้าหญิงแล้วนำกลับมายังจิตตอรนครเป็นมเหสีอีกองค์หนึ่งคู่กับรานีนาคมตี เรื่องราวในภาคแรกก็จบลงในตอนนี้
ภาคที่สองมีเนื้อหาที่ได้รับอิทธิพจากเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ เรื่องการรุกรานจิตตอระของกองทัพมุสลิมนำโดยอลาอุดดีน ขิลจี สุลต่านที่เดลี เนื้อหาในภาคที่สองมีอยู่ว่า ราชารัตนเสนไม่พอพระทัยจึงเนรเทศปุโรหิตราฆวะเสน (ในภาพยนตร์แปลงชื่อเป็นราฆวะ เจตัน) ออกไปนอกอาณาจักร ราฆวะเสนจึงหันไปอาศัยบารมีสุลต่ายอลาอุดดีนที่เดลีแล้วพรรณนาความงดงามของรานีปัทมาวตีให้ฟัง อลาอุดดีนหลงใหลจึงส่งสาสน์ไปบอกให้ราชารัตนเสนให้ยอมยกปัทมาวตีให้ไม่อย่างนั้นจะนำกองทัพไปบุก และแล้วแม้ว่าจะใช้เวลานานและกำลังมากเท่าไห่ อลาอุดดีนก็ไม่อาจโจมตีป้อมแห่งจิตตอระได้สำเร็จจึงแสร้งทำไมตรียุติสงคราม เชิญราชารัตนเสนมาในงานเลี้ยงรับรอง และขอชมโฉมรานีปัทมวาตีผ่านเงาสะท้อนบนกระจก ในที่สุดก็ล่อลวงจนสามารถจับตัวรัตนเสนไปได้ เรื่องราวต่อไปนี้มีเนื้อหาคล้ายคลึงกับในภาพยนตร์ดังที่กล่าวไว้แล้วข้างต้น แต่ต่างกันในตอนจบคือ ฉบับวรรณคดีนั้น ราชารัตนเสนมิได้สู้รบกับอลาอุดดีนแล้วตายในสงครามเหมือนในฉบับภาพยนตร์ กวีจายสีผูกเรื่องในฉบับวรรณคดีว่า หลังจากปัทมาวตีช่วยรัตนเสนกลับมาได้สำเร็จแล้ว ไม่นานราชารัตนเสนก็ปะทะกับราชาเทวปาลแห่งกุมภลเนร และทั้งคู่ตายในสงคราม ปัทมาวตีและนาคมตีจึงเข้าพิธีสตี กระโดดเข้ากองไฟตายตามสวามีไป เมื่ออลาอุดดีนบุกตามมาถึงป้อมนครจิตตอระอีกครั้งก็พบเพียงเศษเถ้าของสตรีที่ตนหลงใหล
กวีซูฟีแม้จะเป็นชาวมุสลิม แต่ได้รับเอาวัฒนธรรมฮินดูเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในเนื้อหาในวรรณคดีของตน ปัทมาวัตของจายสีจึงปรากฏหลายแห่งกล่าวถึง ความเชื่อและข้อปฏิบัติทางศาสนา วัฒนธรรม วิถีชีวิตของชาวฮินดู เทศกาลโฮลีและดิวาลี ชโยติษะหรือความรู้ทางโหราศาสตร์ ความรู้เรื่องฤกษ์นักษัตร บางแห่งยังกล่าวถึงเทพเจ้าหรือบุคคลในตำนานของฮินดู เช่น พระราม พระกุเบร พระกฤษณะ ภีษมะ อย่างไรก็ตามพบว่ากวีอาจเข้าใจวัฒนธรรมของชาวฮินดูคลาดเคลื่อนบางประการ เช่น พรรณนาถึงฤาษีนารัทในลักษณะของซาตาน หรือเมื่อกล่าวถึงการสร้างจักรวาลก็แสดงไว้เพียง 4 ธาตุพื้นฐาน ขาดธาตุที่ 5 คืออากาศ ตามความเชื่อของชาวฮินดูไป
ผู้เขียนขอฝากทัศนะไว้ในท้ายที่สุดนี้ว่า ไม่ว่าภาพยนตร์ปัทมาวัตจะมีประเด็นอ่อนไหวไม่เป็นไปตามความชอบใจของคนกลุ่มใดก็ตาม สำหรับสังคมไทยหากเรากลับมาพิจารณาเฉพาะตัวบทวรรณคดีปัทมาวัต อันเป็นต้นแรงบันดาลใจของภาพยนตร์นั้นก็อาจพอมองเห็นได้ว่า ความพยายามผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรมของชนกลุ่มต่าง ๆ ที่มีภูมิหลังทางชาติพันธุ์ ความเชื่อ ศาสนา ภาษา วัฒนธรรมอันแตกต่างและหลากหลายในอินเดียนั้น ความพยายามเช่นนี้มีมานานแล้ว วัฒนธรรมจากภายนอกอินเดีย เดินทางเข้ามาแล้วผสมผสานจนกลายเป็นอินเดียไป มีบรรยากาศของการประนีประนอม แลกเปลี่ยนเรียนรู้ รับและปรับใช้ จนที่สุดก็กลายเป็นเนื้อเดียวกันที่แยกไม่ออก ผู้เขียนในฐานะผู้เริ่มศึกษาวรรณคดีฮินดีพบเสน่ห์ที่น่าสนใจในวรรณคีดยุคภักติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสายนิรคุณภักติ เปรมสาขา หรือสายความรักของกวีซูฟีในยุคกลางของอินเดีย หากเราศึกษาวรรณคดีฮินดียุคภักติกันต่อไปให้กว้างขวางและลึกซึ้ง เราอาจพบความรู้นั้นก็ได้ว่า อะไร หรือเหตุใดที่จะทำให้สังคมที่มีความแตกต่างหลายหลายสามารถรวมกันเป็นหนึ่ง ที่จะเข้มแข็งและยั่งยืนต่อไปได้
ตัวอย่างภาพยนตร์เรื่อง ปัทมาวัต (Padmavat)