xs
xsm
sm
md
lg

ทุ่งใหญ่นเรศวรปี 16-61 ประวัติศาสตร์ไม่ซ้ำรอย

เผยแพร่:   โดย: นพ นรนารถ


กรณีพรานบรรดาศักดิ์นั่งเฮลิคอปเตอร์ของกองทัพบก ขนอาวุธยุทโธปกรณ์ไปตั้งแคมป์ล่าสัตว์ป่าในเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรฝั่งตะวันตก เมื่อพ.ศ. 2516 ในทางคดี มีคนต้องรับผิดทางกฎหมายเพียงคนเดียวคือ นายแกละ หมื่นจำปา ผู้เป็นนายพราน ถูกศาลจังหวัดกาญจนบุรีพิพากษาจำคุกเพียง 6 เดือนเมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2517

จำเลยอีก 9 คนซึ่งเป็นนายทหาร ตำรวจ 6 คน ศาลยกฟ้อง

แต่ผลในทางการเมืองของทุ่งใหญ่นเรศวรปี 2516 เกิดขึ้นก่อนหน้าศาลจะมีคำพิพากษาแล้ว 1 ปี เพราะเป็นจุดกำเนิดของการเรียกร้องประชาธิปไตย ขอให้มีรัฐธรรมนูญภายใน 6 เดือนของขบวนการนักศึกษา ประชาชนที่นำไปสู่เหตุการณ์ ประวัติศาสตร์วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 หลังกรณีทุ่งใหญ่นเรศวรเพียง 5 เดือน

ไม่น่าเชื่อว่าเวลาผ่านไป 45 ปีแล้ว จะเกิดเหตุการณ์ทำนองเดียวกันนี้ขึ้นอีก ในยุคไทยแลนด์ 4.0 พฤติการณ์ไล่ล่าเอาชีวิตสัตว์ป่าในเขตสงวนของผู้มีอิทธิพล ในสังคม ยังคงมีอยู่ให้เห็น ต่างกันแต่คราวนี้ เป็นฝีมือของอภิมหาเศรษฐีเจ้าของบริษัทรับเหมาก่อสร้างที่ใหญ่ที่สุดบริษัทหนึ่งของประเทศไทย ได้รับงานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่จากรัฐบาลมูลค่าหลายแสนล้านบาท

แต่เหตุการณ์ล่าสัตว์อนุรักษ์ในป่าทุ่งใหญ่นเรศวรพ.ศ.นี้ คงจะไม่เป็นประวัติศาสตร์ซ้ำรอยที่ส่งผลสะเทือนทางการเมืองเหมือนเมื่อ 45 ปีก่อนอย่างแน่นอน เพราะผู้ก่อเหตุคราวนี้ ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ แต่เป็นประชาชน เพียงแต่เป็นประชาชนที่ชื่อนายเปรมชัย กรรณสูต เจ้าของบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน)

กรณีทุ่งใหญ่เมื่อปี 2516 ตอนแรกรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ปฏิเสธว่า ไม่มีการล่าสัตว์ในป่าทุ่งใหญ่นเรศวร แม้จะมีหลักฐานเป็นภาพถ่ายที่นักศึกษาแอบถ่ายเอาไว้ รวมทั้งซากสัตว์ในเฮลิคอปเตอร์ตกที่อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม โดยอ้างว่า นายทหาร นายตำรวจเหล่านั้น ไปปฏิบัติราชการลับรักษาความปลอดภัยให้นายพลเนวิน ผู้นำพม่าในขณะนั้น ที่เดินทางมาเยือนประเทศไทย แต่ข้อมูลภาพถ่ายจากนักศึกษา และการขุดคุ้ยของสื่อมวลชนในยุคนั้น ทำให้ในที่สุดรัฐบาลต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ซึ่งนำไปสู่การดำเนินคดีฟ้องร้องต่อศาล

สำหรับคดีของนายเปรมชัย เจ้าหน้าที่รัฐ คือ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร นายวิเชียร ชินวงษ์ เป็นผู้นำกำลังเจ้าหน้าที่เข้าจับกุมนายเปรมชัย กับคณะ ในพื้นที่หวงห้ามในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรเอง โดยได้ทำบันทึกการจับกุม อย่างละเอียด ก่อนนำตัวนายเปรมชัยกับพวก ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจที่รับผิดชอบในพื้นที่ ของสถานีตำรวจภูธรทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ดำเนินคดีต่อไป

แม้ว่านายเปรมชัย จะร่ำรวยมหาศาล มีสายสัมพันธ์ในทางการเมือง และราชการ แต่พฤติการณ์ที่ผิดกฎหมาย ขัดต่อศีลธรรม จิตสำนึกพื้นฐานของประชาชนทั่วไป ที่ถูกจับได้คาหนังคาเขา และถูกเผยแพร่ผ่านสื่อเป็นที่รับรู้กันไปทั่วประเทศ คงไม่มีใครกล้าใช้อิทธิพลบารมีช่วยเหลือให้เขารอดพ้นจากความผิดครั้งนี้แน่

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.และนายกรัฐมนตรี ไม่ต้องประกาศว่า จะเอาคนที่ช่วยนายเปรมชัยให้พ้นผิด ก็ไม่มีใครกล้าช่วยอยู่แล้ว

ใครที่คิดว่าเหตุการณ์ล่าสัตว์ป่า สังหารเสือดำ และไก่ฟ้า ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรครั้งนี้ จะนำไปสู่การเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อล้มล้างรัฐบาลเหมือนครั้งที่แล้ว คงจะต้องผิดหวังแน่นอน แม้ว่าทั้งสองรัฐบาลต่างยุค จะเป็นรัฐบาลทหารที่มาจากการรัฐประหารเหมือนกัน อยู่ในช่วงขาลง เพราะอยู่มานาน และถูกโจมตีในเรื่องการทุจริต คอร์รัปชันพอๆ กัน แต่เงื่อนไขแวดล้อมอื่นๆ แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

ส่วนผลในทางคดี ถึงที่สุดแล้วจะเป็นอย่างไร จะลงเอยเหมือนคดีทุ่งใหญ่นเรศวรปี 2516 ที่มีเพียงพรานแกละ ถูกตัดสินจำคุก 6 เดือนเพียงคนเดียว พรานบรรดาศักดิ์ทุกรายรอดพ้นจากการติดคุก ติดตะรางไปได้ ขึ้นอยู่กับตำรวจซึ่งเป็นเจ้าพนักงานสอบสวน มีอำนาจหน้าที่ในการนำตัวนายเปรมชัยกับพวกส่งฟ้องศาลว่า จะทำสำนวนการสอบสวนให้ออกไปในทิศทางใด ตลอดจนการทำหน้าที่ทนายแผ่นดินของอัยการในชั้นศาล

เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ตลอดจนเจ้าหน้าที่ผู้บริหารกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นผู้กล่าวโทษนายเปรมชัยกับพวก ให้ตำรวจดำเนินคดี โดยได้ทำบันทึกการจับกุมอย่างละเอียด บรรยายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทุกขั้นตอน

นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตที่ชี้ให้เห็นว่า คณะของนายเปรมชัย ตั้งใจเข้าไปล่าเสือดำ ไม่ใช่เข้าไปศึกษาธรรมชาติ หรือพักผ่อนหย่อนใจ เพราะนำเอาอาวุธปืนจำนวนมาก เกลือที่มากเกินสำหรับการทำอาหาร ตลอดจนการเลือกจุดกางเต็นท์พักแรม

ข้อมูลเหล่านี้ไม่เพียงถูกส่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อทำสำนวนสอบสวน ยังถูกส่งให้กับประชาชนได้รับรู้ผ่านเครือข่ายโซเชียล มีเดีย อาจจะเป็นเจตนาของเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติก็ได้ ที่จงใจเผยแพร่ข้อมูลเหล่านี้ออกสู่สังคม เพื่อให้ช่วยกันติดตาม ตรวจสอบคดีนี้

เหตุการณ์ทุ่งใหญ่นเรศวรปี 2516 พลังนักศึกษาและการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนทำให้เหตุการณ์นี้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญ แต่ไม่มีใครต้องรับผิดในเรื่องการล่าสัตว์ป่าในป่าสงวน ยกเว้นพรานแกละเพียงคนเดียว

เหตุการณ์ทุ่งใหญ่นเรศวรปี 2561 ไม่มีทางสร้างผลสะเทือนทางการเมืองได้ แต่ด้วยพลังของข้อมูลข่าวสารที่ถูกเปิดออกไป สังคมรับรู้ผ่านเครือข่ายโซเชียล มีเดีย จะทำให้ผลในทางคดีแตกต่างจากปี 2516 อย่างแน่นอน


กำลังโหลดความคิดเห็น