ผู้จัดการรายวัน360- “พาณิชย์”เผยการค้าไทยกับคู่เจรจา FTA โตแบบก้าวกระโดด เผยอาเซียนอันดับหนึ่ง เพิ่ม 707% ตามด้วยไทย-อินเดีย เพิ่ม 406% อาเซียน-จีน เพิ่ม 262% ไทย-กีวี เพิ่ม 194.8% ไทย-ออสซี่ เพิ่ม 132% ส่วนสหรัฐฯ ยุโรป ที่ไม่ได้มี FTA กับไทย ในรอบ 10 ปี การค้าโตแค่ 61.2% และ 31.6% ด้าน"สนธิรัตน์" สั่งลุยตรวจสอบล้งจีน ที่เข้ามารับซื้อผลไม้ไทย หลังใกล้ฤดูทุเรียน มังคุด ลำไย ออกสู่ตลาด ป้องกันปัญหากดราคา หรือแอบขายผลไม้ในประเทศ
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม รองอธิบดี รักษาราชการแทน อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงการค้า และการส่งออกของไทยกับประเทศคู่ค้า ที่มีการทำความตกลงการค้าเสรี (FTA)ระหว่างกันว่า จากการติดตามมูลค่าการค้าและการส่งออกของไทยกับประเทศคู่ FTAมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดทุกประเทศ โดยพบว่า 5 อันดับแรก อาเซียน มาเป็นอันดับ 1 ขยายตัวมากที่สุด โดยมีมูลค่าการค้าระหว่างกันเพิ่มขึ้นสูงถึง 707% นับตั้งแต่ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA)มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 ม.ค.36
ส่วนมูลค่าการค้าของไทยกับประเทศคู่ FTA ที่มีการขยายตัวรองลงมา ได้แก่ FTA ไทย-อินเดีย (TIFTA) มูลค่าการค้าเพิ่มขึ้น 406% นับตั้งแต่มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 1 ก.ย.47 , FTA อาเซียน-จีน (ACFTA) เพิ่มขึ้น 262% นับจากมีผลใช้บังคับเมื่อ ก.ค. 48 , FTA ไทย-นิวซีแลนด์ เพิ่มขึ้น 194.8 % นับจากบังคับใช้เมื่อเดือนก.ค.48 และ ไทย-ออสเตรเลีย เพิ่มขึ้น 132% นับจากบังคับใช้เมื่อม.ค.48
ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับอัตราการเติบโตของมูลค่าการค้ากับประเทศคู่ค้าที่ไทยยังไม่ได้มีการทำ FTA ด้วย เช่น สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป พบว่า ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา การค้าระหว่างไทยกับสหรัฐฯ และไทยกับสหภาพยุโรป เติบโตเพียง 61.2% และ 31.6% ซึ่งเป็นตัวเลขการขยายตัวของมูลค่าการค้าในระดับที่ต่ำกว่าประเทศที่ไทยมีการทำ FTA ด้วย
อย่างไรก็ตาม ทางกรมฯ มั่นใจว่า แนวทางการนโยบายหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ (Strategic Partnership) ตามนโยบาย นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่ให้มุ่งการเจรจากับคู่ค้าเป็นรายประเทศ ซึ่งสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ก็อยู่ในเป้าหมายของการเจรจา จะช่วยผลักดันให้การค้าระหว่างไทยกับทั้ง 2 ประเทศขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยรวมไปถึงการค้าบริการและการลงทุน
สำหรับ FTA ที่ไทยลงนามและมีผลบังคับใช้แล้วกับประเทศคู่ค้า 12 ฉบับ ประกอบด้วยความตกลง FTA ระดับทวิภาคี 6 ฉบับ ได้แก่ ไทย-อินเดีย ไทย-ออสเตรเลีย ไทย-นิวซีแลนด์ไทย-ญี่ปุ่น ไทย-เปรู และไทย-ชิลี และความตกลง FTA ระดับภูมิภาค 6 ฉบับ ได้แก่ อาเซียน อาเซียน-จีน อาเซียน-ญี่ปุ่น อาเซียน-เกาหลี อาเซียน-ออสเตรเลีย อาเซียน-นิวซีแลนด์ และอาเซียน-อินเดีย
**สั่งตรวจสอบล้งจีนหวั่นกดราคาผลไม้
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเตรียมการล่วงหน้า ในการดูแลผลไม้ที่กำลังจะออกสู่ตลาดตามฤดูกาล โดยให้เข้าไปตรวจสอบการรับซื้อผลไม้ของโรงคัดแยกและบรรจุผลไม้ (ล้ง) โดยเฉพาะผู้ประกอบการต่างชาติที่เข้ามารับซื้อผลไม้ในไทยเพื่อส่งออก ว่ามีการปฏิบัติตามกฎหมายถูกต้องหรือไม่ เพื่อป้องกันปัญหาการกดราคารับซื้อ และป้องกันการกระทำผิดกฎหมายจากการที่นำสินค้าตกเกรด มาจำหน่ายในประเทศ เพราะต่างชาติไม่สามารถทำธุรกิจจำหน่ายผลไม้ในไทยได้ หากไม่ได้มีการขออนุญาตให้ถูกต้อง
นางกุลณี อิศดิศัย อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวว่า กรมฯ เตรียมลงพื้นที่ เพื่อไปตรวจสอบการทำธุรกิจของล้งต่างชาติ ตามนโยบายของนายสนธิรัตน์แล้ว โดยจะเริ่มตรวจสอบตั้งแต่เดือนพ.ค.-มิ.ย.61 เพราะเป็นช่วงที่ทุเรียน มังคุด เริ่มออกสู่ตลาด จากนั้นจะตรวจสอบการรับซื้อลำไย โดยจะเน้นการตรวจสอบทุเรียนเป็นพิเศษ เพราะถือเป็นผลไม้ที่ได้รับความนิยมในจีน และในปีที่ผ่านมา ล้งจีนได้เข้ามารับซื้อทุเรียนถึงในสวนของไทยเป็นจำนวนมาก จึงต้องเข้าไปดูแล โดยจะเน้นการตรวจสอบการรับซื้อใน จ.จันทบุรี ระยอง ตราด และชุมพร
โดยตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ล้งต่างชาติสามารถเข้ามารับซื้อผลไม้ในไทยได้ แต่ต้องซื้อเพื่อนำไปส่งออกเท่านั้น ไม่สามารถขายในประเทศได้ หากทำ ถือว่าเป็นการกระทำผิดกฎหมาย เนื่องจากการจำหน่ายผลไม้ เป็นอาชีพสงวนสำหรับคนไทย โดยถ้าตรวจสอบพบ มีโทษ ปรับตั้งแต่ 1 แสนถึง 1 ล้านบาท หรือจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ
ขณะเดียวกัน กรมฯ จะเน้นการตรวจสอบการทำธุรกิจล้งของไทย ว่ามีการใช้คนไทยเป็นตัวแทนอำพราง (นอมินี) หรือไม่ เพราะอาจจะมีคนต่างชาติใช้ หรือว่าจ้างคนไทยให้ทำการแทน เพื่อหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามกฎหมาย เพราะหากเป็นล้งไทย ก็สามารถที่จะทำการคัดแยกและส่งออกได้ รวมทั้งนำผลไม้ตกเกรดมาจำหน่ายในประเทศได้ด้วย ซึ่งหากตรวจสอบพบ กรมฯ จะมีการดำเนินการตามกฎหมายขั้นเด็ดขาดเช่นกัน
นอกจากนี้ กรมฯ ยังมีแผนให้การสนับสนุนล้งไทยให้มีศักยภาพ โดยจะช่วยพัฒนาศักยภาพล้งไทยให้มีความเข้มแข็ง และต่อยอดองค์ความรู้โดยใช้นวัตกรรมช่วยในการขยายตลาด เช่น การใช้ช่องทางออนไลน์มาช่วยในการขยายตลาด การสนับสนุนสภาพคล่องทางการเงินแก่ล้งไทยให้มีเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบธุรกิจ และยังจะทำงานร่วมกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ในการผลักดันการส่งออกผลไม้ไทยไปยังตลาดต่างๆ