xs
xsm
sm
md
lg

อันตรายถึงชีวิต !! “ฝุ่น” ใน กทม. เพิ่มความเสี่ยงโรคมะเร็ง หลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมองตีบ(มีคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ตารางแสดงรายงานสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ของกรมควบคุมมลพิษ ประจำวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2561 ณ เวลา 12.00 น. ตรวจวัดได้ระหว่าง 70-82 มคก./ลบ.ม. ปริมาณฝุ่นละอองมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกพื้นที่ โดยพบเกินเกณฑ์มาตรฐาน (50 มคก./ลบ.ม.) บริเวณเขตวังทองหลาง ริมถนนพระรามสี่ ริมถนนอินทรพิทักษ์ และริมถนนลาดพร้าว
ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

เมื่อจันทร์วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2561 กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้รายงานสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือที่เรียกว่า PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร พบว่า ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน ตรวจวัดได้ระหว่าง 61-78 ไมโครกรัม/ลูกบาศ์กเมตร ซึ่งเกินเกณฑ์มาตรฐาน 50ไมโครกรัม/ลูกบาศ์กเมตร จำนวน 4 สถานี ได้แก่

- บริเวณแขวงพลับพลา เขตวังทองหลาง มีค่าฝุ่น 68 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร
- ริมถนนอินทรพิทักษ์ มีค่าฝุ่น 96ไมโครกรัม/ลูกบาศ์กเมตร
- ริมถนนพระราม 4 มีค่าฝุ่น 73ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร
- และริมถนนลาดพร้าว มีค่าฝุ่น 59ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร
โดยปริมาณฝุ่นละอองมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกพื้นที่ !!!

นอกจากนั้นกรมควบคุมมลพิษยังได้ระบุตามข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์สภาพอากาศในพื้นที่กรุงเทพฯ มีอากาศเย็น กับมีลมแรง และอุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 19-20 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-30 องศาเซลเซียส ลักษณะเช่นนี้จะทำให้ฝุ่นละอองในบรรยากาศเพิ่มขึ้นได้

โดยประชาชนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ และผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด หากจำเป็นต้องออกจากอาคาร ควรใส่หน้ากากอนามัย และหากมีอาการผิดปกติควรรีบพบแพทย์ [1]

ความน่าสนใจตามข่าวที่ปรากฏข้างต้นนั้นทำให้เกิดคำถามว่า เหตุใดเกณฑ์มาตรฐานฝุ่นละอองฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน ของกรมควบคุมมลพิษที่ว่าในกรุงเทพมหานครห้ามเกิน 50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตรนั้น จึงได้แตกต่างจากข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลกที่ระบุว่าในช่วงระยะเวลา 24 ชั่วโมงนั้น ค่าเฉลี่ยฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอนนั้นห้ามเกิน 25 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร [2]

นั่นหมายความว่ามาตรฐานที่ประกาศของกรมควบคุมมลพิษสำหรับฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอนในกรุงเทพมหานครที่ยอมรับได้นั้น “ผ่อนปรนกว่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลกถึง 2 เท่าตัว” จริงหรือไม่? และเพราะเหตุผลใด?

ความเป็นจริงสภาพอากาศที่ขมุกขมัวในกรุงเทพเป็นมาสักระยะหนึ่งพอสมควรแล้ว มองท้องฟ้าในกรุงเทพมหานครเป็นสีเทาไม่ฟ้าสมชื่อ และสำหรับบางคนอาจรู้สึกระคายเคืองระบบทางเดินหายใจได้ด้วย

อย่างไรก็ตาม สำหรับคนไทยส่วนใหญ่มักจะไม่ตระหนักปัญหาเรื่องฝุ่นสักเท่าไหร่นัก สาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งก็เพราะปัญหาฝุ่นละอองเป็นสิ่งที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า คนอีกจำนวนหนึ่งไม่รู้โทษภัยของฝุ่นเหล่านี้ และอีกจำนวนไม่น้อยคือไม่รู้จะหลีกเลี่ยงมันได้อย่างไร เพราะต้องทำงานและอาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงอันตรายกับฝุ่นละอองมาก

ทั้งนี้ต้องขอแสดงความชื่นชมทีมงาน “FeelThai” ที่ได้ทำคลิปวีดีทัศน์เผยแพร่ทางเว็บไซต์ของยูทูป แสดงให้เห็นว่า ฝุ่นละอองที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่เมื่อนำแสงสปอตไลต์มายิงขึ้นท้องฟ้าในเวลากลางคืนบริเวณหัวมุมสวนลุมพินี ถนนพระรามที่ 4 ก็ช่วยทำให้ผู้ที่ได้รับชมได้มองเห็นความหนาแน่นของฝุ่นละอองขนาดเล็กได้มากเพียงใด [3]

ความจริงแล้วในรายงานขององค์การอนามัยโลกได้เคยระบุเอาไว้ถึงการสำรวจเมื่อปี พ.ศ. 2557 ซึ่งพบว่าพื้นที่ซึ่งมีประชากรอาศัยอยู่ 92% ในโลกใบนี้ล้วนมีคุณภาพอากาศไม่ถึงมาตรฐานตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก

องค์การอนามัยโลกยังได้รายงานด้วยว่าเมื่อปี พ.ศ. 2555 มลพิษอากาศภายนอกที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมทั้งในเมืองและชนบทมีผลทำให้มนุษย์ได้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรถึง 3 ล้านคนทั่วโลก โดยที่ 88% ของผู้ที่เสียชีวิตก่อนวัยอันควรเกิดขึ้นในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ต่ำถึงปานกลาง และจำนวนมากที่สุดนั้นเกิดขึ้นในฝั่งแปซิฟิกตะวันตก และกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ทั้งนี้ เมื่อปี พ.ศ. 2555 องค์การอนามัยโลกได้ประมาณการเอาไว้ว่า 72% ของการเสียชีวิตก่อนวันอันควรที่มีความสัมพันธ์จากมลพิษทางอากาศนั้น มีสาเหตุของการเสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบและโรคหลอดเลือดสมอง เสียชีวิตด้วยโรคทางเดินหายใจส่วนล่างเรื้อรัง 14% และเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอด 14%

ความเสี่ยงในการเสียชีวิตนั้นอาจมีมากกว่ามลพิษทางอากาศเพียงปัจจัยเดียวในช่วงเวลาเดียวกัน เช่น ถ้ามีการสูบบุหรี่ควบคู่ไปกับการอยู่ในพื้นที่ซึ่งมีมลพิษทางอากาศจะเพิ่มความเสี่ยงโรคมะเร็งปอดสูงขึ้น การป้องกันความเสี่ยงเสียชีวิตจากโรคมะเร็งปอดนั้นสามารถที่จะกระทำได้ทั้งการหาหนทางให้ได้รับอากาศที่มีมลพิษน้อยลง หรือลดการสูบบุหรี่

ทั้งนี้ เมื่อปี พ.ศ. 2556 สำนักงานวิจัยมะเร็งระหว่างประเทศ ที่เรียกว่า International Agencey for Research on Cancer (IARC) ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งขององค์การอนามัยโลก ได้รวมเอามลพิษทางอากาศให้ขึ้นทะเบียนเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝุ่นละอองขนาดเล็กที่อยู่ในองค์ประกอบของมลพิษทางอากาศ คมีความสัมพันธ์กับอัตราความเสี่ยงของโรคมะเร็งเพิ่มขึ้นมากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคมะเร็งปอด และยังมีความสัมพันธ์กับโรคมะเร็งทางเดินปัสสาวะ และโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะอีกด้วย




คำถามคือฝุ่นละอองเหล่านี้มาจากไหน คำตอบที่ได้ก็คือขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ลักษณะอุณหภูมิ ความชื้น แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือปัจจัยเกี่ยวข้องกับนโยบายแห่งรัฐ อันได้แก่ ลักษณะมลพิษจากอุตสาหกรรม ปริมาณความแออัดในภาพการขนส่งและพลังงานที่ใช้ในการขนส่ง การก่อสร้างและการวางผังเมือง ลักษณะพลังงงานไฟฟ้าที่เลือกใช้ ตลอดจนวิธีการและประสิทธิภาพในการจัดการกับปัญหาขยะ ฯลฯ อย่างไรก็ตามสิ่งเหล่านี้ดูเหมือนว่าในเมืองที่ยังโตไม่เต็มที่แต่อยู่ระหว่างการพัฒนา และนโยบายแห่งรัฐไม่ชัดเจน ปัญหาเหล่านี้ก็เป็นเรื่องยากที่จะหลีกเลี่ยงได้ [2]

ฝุ่นละอองยิ่งมีขนาดเล็กยิ่งอันตราย เพราะฝุ่นเหล่านี้มันสามารถผ่านเข้าไปในจมูก เข้าไปในปอด และสามารถเข้าไปในหลอดเลือดได้ ฝุ่นเหล่านี้สามารถสร้างอนุมูลอิสระและเป็นมลพิษ เป็นผลทำให้หลอดเลือดเกิดการอักเสบได้ และเพิ่มความเสี่ยงที่ทำให้ตับสังเคราะห์ไขมันเพื่อมาเกาะตัวหนาในหลอดเลือดเพื่อป้องกันฝุ่นเหล่านี้ จึงเป็นผลทำให้หลอดเลือดตีบได้ทั้งหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมอง ในขณะเดียวกันหากฝุ่นเหล่านี้ก็ยังสามารถสร้างมลพิษจนทำให้เซลล์ต้องพยายามกลายพันธุ์ในสภาพแวดล้อมที่เป็นมลพิษนี้จนทำให้กลายเป็นเนื้องอกและมะเร็งในที่สุด

ความจริงแล้วไม่เพียงแต่กรุงเทพมหานครเท่านั้นที่มีปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กจำนวนมาก เพราะในความจริงแล้ว รายงานสถานการณ์คุณภาพอากาศประจำปี พ.ศ. 2560 จากการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศ โดยสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศอัตโนมัติทั่วประเทศทั้งหมด 63 สถานี ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ 33 จังหวัดที่ต้องมีการเฝ้าระวังคุณภาพอากาศอย่างต่อเนื่อง พบว่าสารมลพิษที่ยังเป็นปัญหา คือ ฝุ่นละออง ( TSP PM10 PM2.5 ) ก๊าซโอโซน (O3) และสารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs)

โดย ฝุ่นละออง PM10 ตรวจวัดได้ในช่วง 3 -268ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ค่าสูงสุดเฉลี่ย 114 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (ค่ามาตรฐาน 120) เกินมาตรฐาน 20 จังหวัด และฝุ่นละอองขนาด 2.5 ไมครอน ตรวจวัดได้ในช่วง 2 - 116 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร เกินมาตรฐาน 13 จังหวัด จาก 18 จังหวัด โดย 9 จังหวัดภาคเหนือ ปี 2560 พบค่าฝุ่นละอองสูงสุดอยู่ที่จังหวัดลําปาง เท่ากับ 237 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร จังหวัดเชียงราย จํานวนวันที่ปริมาณฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน 38 วัน

ตําบลพระลาน จังหวัดสระบุรี มีปัญหาฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานมากที่สุด ปี 2560 จํานวนวันที่ฝุ่น เกินมาตรฐาน 107 วัน โดยค่าที่วัดได้อยู่ระหว่าง 19 - 257 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร สาเหตุของปัญหาเกิดจากการฟุ้งกระจายของฝุ่นละอองจากกิจการเหมืองหิน โรงโม่ บดหรือย่อยหิน โรงปูนซิเมนต์ และการคมนาคมขนส่งในพื้นที่ [4]

นอกจากนั้น ฝุ่นละอองขนาดเล็ก 2.5 ไมครอนนี้ ยังได้อยู่ในหลายจังหวัดได้แก่ สมุทรสาคร สมุทรปราการ ราชบุรี ขอนแก่น ตาก ฯลฯ

ผลการศึกษาของธนาคารโลกถึงปี 2556 ได้ประเมินว่าปัญหามลพิษทางอากาศของประเทศไทยเป็นต้นเหตุการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรถึงประมาณ 500,000 รายต่อปี [5] ซึ่งจะเห็นได้ว่าถึงแม้อัตราส่วนของประชากรที่สูบุหรี่ของคนไทยจะลดลงตามลำดับอย่างต่อเนื่อง [6] แต่อัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งหลอดคอ หลอดลมใหญ่และปอดของคนไทยกลับสูงเพิ่มมากขึ้น เช่นเดียวกับโรคหลอดเลือดสมองและหัวใจขาดเลือดก็ยังคงเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตของคนไทย [7] ซึ่งหากประชาชนตระหนักเรื่องปัญหามลพิษทางอากาศด้วยแล้ว ก็อาจจะช่วยทำให้ความเสี่ยงในการเกิดโรคและเสียชีวิตด้วยโรคกลุ่มนี้ลดลงได้

ดังนั้นหากท่านใดไม่มีทางเลือกและยังจำเป็นต้องใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ซึ่งมีมลพิษทางอากาศและฝุ่นละอองขนาดเล็กเหล่านี้ ก็ควรต้องสวมหน้ากากอนามัยเมื่อต้องอยู่กลางแจ้ง และเมื่ออยู่ในอาคารก็ควรหลีกเลี่ยงการเปิดหน้าต่าง และใช้เครื่องฟอกอากาศที่สามารถกรองฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน จนกว่าสถานการณ์มลพิษทางอากาศจะลดลง และดีกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้

และถ้าเป็นไปได้ประชาชนควรจะต้องตื่นรู้และเรียกร้องเคลื่อนไหวเพื่อให้รัฐบาลมุ่งเน้นด้านพลังงานสะอาดเพื่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ มากกว่าการเลือกพลังงานโดยสนใจแต่ต้นทุนวัตถุดิบหรือการจัดสรรทรัพยากรโดยสนใจแต่มูลค่าทางเศรษฐกิจของกลุ่มทุนแต่เพียงอย่างเดียว

อย่าประมาทฝุ่นเล็กๆที่มองไม่เห็นได้ด้วยตาเปล่าโดยเด็ดขาด!!!

ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
สถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย
มหาวิทยาลัยรังสิต

อ้างอิง
[1] MGR Online,กทม.ค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐาน แนะ ปชช.ใส่หน้ากากอนามัย ป้องกัน, เว็บไซต์ www.manager.co.th, หน้าหลัก/ชุมชน-คุณภาพชีวิต/ชุมชนเมือง, 5 ก.พ. 2561 ปรับปรุงเวลา 13.58 น.https://mgronline.com/qol/detail/9610000011753
[2] Fact Sheet, Ambient (outdoor) air quality and health, Media Centre, World Health Organization website, Updated September 2016 http://www.who.int/mediacentre/factsheets/fs313/en/
[3] youtube.com/FeelThai, “ฝุ่นกรุงเทพเหลือเชื่อมาก หน้าสวนลุม” publised on Feb 3, 2017 http://www.youtube.com/watch?v=6QoH-Ohxbp8
[4] กองแผนงานและประเมินผล กรมควบคุมมลพิษ สถานนการณ์มลพิษประเทศไทย ปี 2560 โดยนางสุณี ปิยะพันธ์พงศ์ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ,ข่าวสิ่งแวดล้อม ฉบับที่ 1/2561 วันที่ 12 มกราคม 2561 หน้า 2
[5] The World Bank and Institute for Health Metrics and Evaluation University of Washington, Seattle, The Cost of Air Pollution : Strengthening The Economic Case for Action http://documents.worldbank.org/curated/en/781521473177013155/pdf/108141-REVISED-Cost-of-PollutionWebCORRECTEDfile.pdf
[6] สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), แผนการดำเนินงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 หน้า 30 http://www.thaihealth.or.th/contact/getfile_books.php?e_id=475
[7] กองยุทธศาสตร์และแผนงาน กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข , สถิติสาธารณสุข พ.ศ. 2559 หน้า 79-80, 87 ISSN 0857-3093




กำลังโหลดความคิดเห็น