xs
xsm
sm
md
lg

มีชัยห่วงจัดมหรสพคุมยาก กกต.สรุป5ข้อเห็นแย้งกม.เลือกตั้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึง การพิจารณา ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. และ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ที่ผ่านการพิจารณาของ สนช. แล้ว ทางกรธ.จะทำความเห็นแย้ง เพื่อตั้งกมธ.ร่วมหรือไม่ ว่า ยังไม่ทราบ เพราะแก้เยอะไปหมด ต้องรอคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมาดูว่า มีประเด็นใด ที่ไม่ตรงตามเจตนารมณ์หรือไม่ โดยเจตนาสำคัญคือ “ต้องลับ สุจริต เที่ยงธรรม”เพื่อให้ประชาชนรู้คุณค่าของคะแนนเสียง หากผิดจากนี้ ถือว่ามีปัญหา เช่น การปรับแก้ไขช่วยคนพิการกาบัตร ตรงนี้ทำให้สงสัยว่า การลงคะแนนแทน จะลับได้อย่างไร และคนตาบอด เขาจะรู้ได้อย่างไรว่า คนที่กาบัตรให้ จะตรงตามที่บอกให้กา หรือไม่ แต่ถ้าหากเป็นกรณีที่เขาเดินไม่สะดวก แล้วให้การช่วยเหลือเข็นรถ ก็พอได้
ส่วนที่แก้ไข ห้ามรณรงค์โหวตโน ก็ต้องไปดูเช่นเดียวกัน เพราะเท่ากับมัดมือ มัดเท้า การแสดงความเห็นของประชาชน เพราะตรงนี้ถือเป็นสิทธิ เนื่องจากไม่ได้ไปใส่ร้ายกัน
สำหรับเรื่องการขยายเวลาลงคะแนน เป็น 07.00 น. - 17.00 น. จากเดิมเวลา 08.00-16.00 น.นั้น เห็นว่าเป็นปัญหากับคนทำงาน ที่อาจต้องตื่นตั้งแต่ตี 3 อีกทั้งยามวิกาล การเคลื่อนย้ายหีบบัตร นั้นอันตราย ส่วนประเด็นให้มีมหรสพ ก็จะทำให้เกิดความได้เปรียบ เสียเปรียบกันเยอะ เหมือนติดสินบนชาวบ้าน ซึ่งจาก ร่าง ของกรธ. ก็ผ่อนปรนในส่วนนี้ เพื่อให้ใช้ความสามารถได้ โดยไม่ต้องมีเครื่องมือ ใครพูดเก่งก็พูด ใครร้องลำตัดเก่ง ก็ร้องลำตัด ซึ่งมหรสพ จะทำให้มีปัญหาหลายอย่าง ยากในการควบคุมรายจ่าย และ ปิดบังได้ง่าย
ด้านนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. แถลงว่า ที่ประชุมกกต.มีการพิจารณา ร่างกม.ลูกทั้ง 2 ฉบับ ที่สนช.ให้ความเห็นชอบ วาระ 3 และส่งให้กกต. พิจารณาในวันที่ 1 ก.พ. โดย กกต.ต้องทำความเห็นกลับไปภายใน10 วัน ซึ่งจะครบกำหนด วันที่ 11 ก.พ. จึงต้องทำความเห็นกลับไป ภายในวันที่ 9 ก.พ.นี้ โดยที่ประชุมมีมติ ที่จะทำความเห็นแย้งร่าง กม.ทั้ง 2 ฉบับ
ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.จะทำความเห็นแย้ง 5 ประเด็น ประกอบด้วย
1 . มาตรา 48 ที่ให้ผู้สมัครพรรคการเมือง มีหมายเลขแตกต่างกันไปตามเขตเลือกตั้ง เห็นว่าขัดกับมาตรา 224(2) ของรธน. ที่กำหนดให้กกต. มีบทบาทในการควบคุมการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริต เที่ยงธรรม เพราะการมีหมายเลขแตกต่างกันในแต่ละเขตของแต่ละพรรค จะทำให้กระบวนการจัดเตรียมพิมพ์บัตรต้องกระจายออกไปในพื้นที่ต่างๆ มากขึ้น การป้องกันและการตรวจสอบการปลอมแปลงบัตรทำได้ยากขึ้น ทำให้ยากจะจัดการเลือกตั้งให้เกิดการสุจริต เที่ยงธรรมได้
2. มาตรา 73 ที่ให้จัดมหรสพหาเสียงได้ ขัด รธน.มาตรา 224(2) เช่นกัน เพราะทำให้นำไปสู่การเลือกตั้งที่ไม่สุจริตและเที่ยงธรรม
3. มาตรา 62 วรรค 2 ที่กำหนดให้ค่าใช้จ่ายในการหาเสียงของพรรคการเมืองเท่ากัน โดยเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ กกต.กำหนด นั้น ตรงนี้กกต.เห็นว่า นำไปสู่หลักปฏิบัติว่า ค่าใช้จ่ายส.ส.เขต ก้อนหนึ่ง ซึ่งในอดีตกำหนดค่าใช้จ่ายคนละ 1.5 ล้านบาท ส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อ เดิมจะคำนวณจากจำนวนผู้สมัครที่ส่ง ถ้าส่งน้อย ก็จะมีค่าใช้จ่ายน้อยลง แต่ในร่างกม.นี้ กำหนดให้ค่าใช้จ่ายเท่ากัน ซึ่งการกำหนดค่าใช้จ่ายจะเป็นการตกลงร่วมกันระหว่าง กกต.กับพรรคการเมือง
"สิ่งที่กกต.กังวลในทางปฏิบัติคือการประชุมร่วมระหว่าง กกต.กับพรรคการเมือง ซึ่งจะมีพรรคเล็กมากกว่าพรรคใหญ่ และพรรคเล็กโหวตชนะพรรคใหญ่ แล้วกำหนดให้ค่าใช้จ่ายกลางไม่เกินล้านบาท แต่พรรคเล็กส่งผู้สมัครสส.เขตเพียงคนเดียวก็สามารถใช้เงิน 1 ล้านบาทบวก 1.5 ล้านบาททุ่มหาเสียงในเขตนั้น แต่ถ้าเป็นพรรคใหญ่ ส่งผู้สมัคร 350 เขต ก็จะมีงบกลางที่ใช้หาเสียงคนละ 2,857 บาท การเขียนกม. ให้เท่ากัน แต่ไม่เที่ยงธรรมเมื่อถูกนำไปปฏิบัติ"
4. มาตรา 133 เรื่องขอบเขตอำนาจศาลฎีกา ที่ให้สั่งเลือกตั้งใหม่ (ใบเหลือง)ได้หลังประกาศผลเลือกตั้ง เป็นการเขียนเกินขอบเขตของกฎหมาย เพราะในรธน. มาตรา 226 กำหนดให้ ศาลมีอำนาจเฉพาะเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง (ใบดำ) และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง (ใบแดง) เท่านั้น การบัญญัติดังกล่าว ขัดกับสาระของรธน. เท่ากับขัดเจตนารมณ์รธน.
5. มาตรา 138 หลังการประกาศเลือกตั้ง ให้ศาลฎีกามีเพิกถอนสิทธิสมัครเท่านั้น แต่ในรธน. มาตรา226 บัญญัติให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง จึงถือว่า ขัดรธน.
ส่วนร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว.ในส่วนของประเด็นเรื่องการแยกประเภท แบ่งกลุ่ม การเปลี่ยนจากการเลือกไขว้ มาเป็นเลือกแบบกลุ่มนั้น กกต.ไม่เห็นแย้ง แต่เห็นแย้งเฉพาะ มาตรา 64 เรื่องที่ให้อำนาจศาลฎีกา เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งได้เพียงอย่างเดียว ไม่สอดคล้องกับรธน. มาตรา 226
ทั้งนี้ นายสมชัย ยืนยันว่า การพิจารณาเรื่องดังกล่าวของกกต. นอกจากอยู่บนหลักคิดว่า ประเด็นดังกล่าวขัดรธน. หรือไม่แล้ว ยังเห็นว่า หากปล่อยผ่านไป จะส่งผลเสียให้กับบ้านเมือง และการแย้ง จะทำให้การร่งกฎหมายดีขึ้น มีความสมบูรณ์ เป็นประโยชน์ต่อการจัดการเลือกตั้งในอนาคต ไม่ได้สนใจว่าจะเข้าทางใคร หรือจะทำให้เกิดการยืดระยะเวลาออกไปมาก หรือน้อยเพียงใด แต่เอาสาระของกฎหมายเป็นที่ตั้ง
อย่างไรก็ตาม การทำความเห็นแย้งไป จะเสียเวลาไม่มากนัก คือ จะเพิ่มขั้นตอนอีก 15-20 วัน เท่านั้น จากการตั้งกมธ.ร่วม 3 ฝ่ายพิจารณา 15 วัน ก่อนเข้าสนช.รวมระยะเวลาไม่เกิน 20 วัน จึงไม่ส่งผลกระทบในเชิงของระยะเวลาที่จะเสียไปเพิ่มเติมมากนัก


กำลังโหลดความคิดเห็น