xs
xsm
sm
md
lg

พรรคเฉพาะกิจ : พรรคเกิดง่ายตายเร็ว

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

องค์กรทุกประเภทมีลักษณะของเกิดขึ้น 2 ประการคือ

1. มีการจัดตั้งอย่างเป็นทางการ โดยมีกฎหมายรองรับเกิดขึ้น และดำรงอยู่ องค์กรประเภทนี้มีพันธกิจและวัตถุประสงค์ชัดเจนเรียกว่า องค์กรรูปนัย (Official Organization)

2. องค์กรที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่อย่างไม่เป็นทางการ ไม่มีกฎหมายรองรับ แต่มีสถานภาพทางสังคมรองรับ โดยมีการรวมตัวกันเพื่อทำภารกิจอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งมีผลผูกพันกับส่วนรวม เมื่อภารกิจเสร็จสิ้นแล้วสลายตัวหรือดำรงอยู่โดยอาศัยความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกด้วยกันเรียกว่า องค์กรอรูปนัย (Unofficial Organization)

องค์กรอรูปนัยมีโอกาสจะพัฒนาเป็นองค์กรรูปนัยได้ แต่มักจะไม่ยั่งยืน

พรรคการเมืองในประเทศไทยนับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน มีพรรคการเมืองซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากองค์กรอรูปนัย และมีการจัดตั้งเป็นองค์กรรูปนัยมาแล้วหลายพรรคเช่น พรรคมนังคศิลาในยุคของจอมพล ป. พิบูลสงคราม และพรรคสหประชาไทยในยุคของจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นต้น แต่ก็อยู่ได้ไม่นานเมื่อเทียบกับพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเกิดขึ้นและดำรงอยู่ในยุคเดียวกัน ทั้งนี้เนื่องจากว่าเป็นพรรคเฉพาะกิจ ซึ่งตั้งขึ้นเพื่อรองรับการสืบทอดอำนาจของปัจเจกบุคคลหรือคณะบุคคล พรรคประเภทนี้จึงเกิดขึ้นและตายเร็ว มีอายุไม่ยืนยาวเนื่องจากมีเหตุปัจจัยหลายประการ ซึ่งเป็นอุปฆาตกรรมหรือกรรมตัดรอนบั่นทอนการดำรงอยู่ อนุมานได้ดังนี้

1. มีพันธกิจหลักขององค์ประกอบเดียวคือ รองรับการสืบทอดอำนาจของบุคคลหรือกลุ่มบุคคล ซึ่งเคยมีอำนาจและมีอันต้องพ้นจากอำนาจด้วยเหตุปัจจัยภายนอกบังคับ แต่ยังเสพติดอำนาจอยู่หรือจำเป็นต้องอยู่ในอำนาจเพื่อแก้ไขหรือปกปิดซ่อนเร้นความบกพร่องผิดพลาด ซึ่งอาจมีผลกระทบทางด้านกฎหมาย หากฝ่ายตรงกันข้ามรื้อฟื้นขึ้นมา

2. ประชาชนทั่วไปไม่มีส่วนในการจัดตั้ง และอาจปฏิเสธการจัดตั้งด้วยซ้ำ

3. ผู้ที่จะได้ประโยชน์จากการตั้งพรรคเป็นกลุ่มบุคคลที่ประชาชนเบื่อหน่าย และปฏิเสธการกลับมา เนื่องจากเมื่อครั้งที่อยู่ในอำนาจไม่มีผลงานเป็นที่ประทับใจ และในบางยุคมีพฤติกรรมแสวงหาประโยชน์ในทางมิชอบด้วย

4. พรรคประเภทนี้เข้าข่ายสนับสนุนกิจกรรมทางการเมืองในระบอบเผด็จการ ซึ่งสวนทางกับแนวทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย จึงเท่ากับบิดเบือนวัตถุประสงค์ทางการเมืองในการตั้งพรรค

ในขณะนี้มีข่าวว่าจะมีการตั้งพรรคการเมืองเพื่อสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง โดยมีแกนนำของ กปปส.บางคนให้การสนับสนุนด้วย ถ้าข่าวนี้เป็นความจริง พรรคการเมืองที่ว่านี้คงจะมีชะตากรรมไม่ต่างไปจากพรรคที่ตั้งขึ้น ในทำนองเดียวกับในอดีตคือเกิดง่าย และตายเร็ว มีอายุการจัดตั้งยืนยาวเท่ากับระยะเวลาที่ผู้สืบทอดอำนาจอยู่ในอำนาจเท่านั้น และถ้าเป็นเช่นนั้นก็เป็นอุปสรรคประการหนึ่งในการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยตามรูปแบบที่ประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลายดำเนินการอยู่

นอกจากพรรคเฉพาะกิจที่ตั้งขึ้นเพื่อรองรับการสืบทอดอำนาจแล้ว ยังมีพรรคการเมืองที่มีลักษณะเฉพาะกิจ แต่มิใช่เพื่อการรองรับการสืบทอดอำนาจ แต่เพื่อการแสวงหาอำนาจและใช้อำนาจที่ได้เป็นเครื่องมือในการแสวงหาประโยชน์ และปกป้องผลประโยชน์ของปัจเจกบุคคล หรือกลุ่มบุคคลผู้เป็นนายทุนของพรรคการเมืองนั้นๆ

พรรคการเมืองประเภทนี้ ก็เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประชาธิปไตย และยังเป็นบ่อเกิดแห่งการทุจริตในภาครัฐ ทั้งนี้เนื่องจากเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้

1. ในการเลือกตั้งในระดับชาติหรือแม้กระทั่งในระดับท้องถิ่น ผู้ลงสมัครจะใช้ทุนเงินทุ่มซื้อเสียงในเขตเลือกตั้งที่ทุนทางสังคมของพรรค และของผู้สมัครด้อยกว่าคู่แข่ง จึงทำให้เกิดปัญหาการซื้อสิทธิขายเสียงเกิดขึ้นในวงการเมืองไทย

2. เมื่อได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง และได้เป็นรัฐบาลก็จะหาช่องทางถอนทุนที่จ่ายไปในการเลือกตั้ง และเหลือไว้เพื่อเพิ่มทุนในครั้งต่อไป

ที่เขียนมาตั้งแต่ต้นเป็นเนื้อหา ซึ่งถอดมาจากพฤติกรรมอันเป็นรูปธรรมมาเป็นนามธรรม

ดังนั้น ถ้าท่านผู้อ่านท่านใดอยากรู้ว่า พรรคไหนและนักการเมืองคนใดเป็นพรรคการเมืองเฉพาะกิจ และใครคือนายทุนทางการเมืองที่มีลักษณะดังกล่าวข้างต้น ก็สามารถนำเนื้อหาในรูปแบบของนามธรรมไปเปรียบเทียบกับพฤติกรรมขององค์กร และพฤติกรรมบุคลากรทางการเมืองทุกพรรค ทั้งที่มีอยู่และเลิกไปแล้ว ก็จะรู้ว่าพรรคการเมืองไหน และนักการเมืองคนใดมีพฤติกรรมอย่างที่ว่ามานี้ได้แน่นอน


กำลังโหลดความคิดเห็น