xs
xsm
sm
md
lg

ปัญหาโรงไฟฟ้าภาคใต้ : รัฐบาลกำลังแก้ “ปัญหาเทียม”

เผยแพร่:   โดย: ประสาท มีแต้ม

ท่านที่ได้ติดตามข่าวสารบ้านเมืองคงจะทราบกันมานานแล้วว่า ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา รัฐบาลชุดแล้วชุดเล่ามีโครงการจะก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่ภาคใต้(ภายใต้แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า-พีดีพี) ด้วยเหตุผลว่าโรงไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้มีจำนวนไม่เพียงพอกับความต้องการที่เพิ่มขึ้น แต่ก็ได้ถูกชาวบ้านในพื้นที่คัดค้าน ล่าสุดนายกรัฐมนตรีและกระทรวงพลังงานได้ประกาศชะลอโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จังหวัดสงขลาออกไป 3 ปี พร้อมกับจะจัดทำแผนพีดีพีใหม่ให้แล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนมีนาคมนี้

ผมมี 2 ประเด็นใหญ่ที่จะนำเสนอในวันนี้ เรื่องแรกคือ ข้อมูลเรื่องโรงไฟฟ้าในภาคใต้ซึ่งมาจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งพบว่าเหตุผลที่ทางรัฐบาลนำมาอ้างนั้นไม่ (น่าจะ) เป็นความจริง และเรื่องที่สอง คือ การจัดทำแผนพีดีพีฉบับใหม่ในสถานการณ์ที่เทคโนโลยีพลังงานและการสื่อสารกำลังก้าวหน้าชนิดที่ “พลิกโฉม (Disruption)” โลกอย่างรวดเร็วที่หลายคนคาดไม่ถึง

เอาเรื่องแรกก่อนครับ ผมใช้คำว่า “ไม่(น่าจะ)”เพราะเป็นประเด็นที่ต้องใช้ความคิดเห็นหรือดุลพินิจมาประกอบ

จากบทความของ กฟผ. (อ้างอิงในภาพ) พอสรุปได้ว่า ตลอดปี 2560 การใช้ไฟฟ้าสูงสุดในภาคใต้เท่ากับ 2,642 เมกะวัตต์ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อเวลาประมาณ 1-3 ทุ่มของวันที่ 11 มีนาคม พร้อมระบุ (ในตารางด้านล่าง) ว่าในช่วงเวลาดังกล่าวโรงไฟฟ้าใดผลิตบ้างพร้อมกับได้รวมกำลังการผลิต “ทั้งสิ้น”2,788 เมกะวัตต์

ประเด็นสงสัยของผมก็คือ ทำไมบทความของ กฟผ.ชิ้นนี้จึงไม่ได้ระบุโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่จำนวน 2 โรง คือ โรงไฟฟ้ากระบี่ขนาด 315 เมกะวัตต์ (ซึ่งใช้น้ำมันดีเซลหรือน้ำมันปาล์ม) และโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานีขนาด 244 เมกะวัตต์ (ซึ่งใช้ก๊าซธรรมชาติผสมน้ำมันดีเซล)

จริงอยู่ว่าในวันนั้น โรงไฟฟ้าทั้ง 2 นี้ไม่ได้เดินเครื่องหรือไม่ได้ทำการผลิต แต่เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องของสังคม โรงไฟฟ้าทั้งสองซึ่งมีขนาดรวมกันถึงกว่า 550 เมกะวัตต์ (มีมูลค่าในปัจจุบันหลายหมื่นล้านบาท) ก็ควรต้องใส่ไว้ในตารางด้วยแม้ไม่ได้ผลิตก็ตาม

การนำเสนอเฉพาะจำนวนความต้องการไฟฟ้าสูงสุด (2,642 เมกะวัตต์) กับกำลังการผลิต “ทั้งสิ้น” (2,788 เมกะวัตต์) ทำให้คนรู้สึกว่า ความต้องการใช้จริงกับกำลังการผลิตติดตั้งมันใกล้กันมากแล้ว ยิ่งบทความดังกล่าวได้บอกว่า อัตราการใช้เพิ่มขึ้น 3.4% ต่อปี (ซึ่งตอนหลังผมจะชี้ว่ามีปัญหาในการพยากรณ์) ก็ยิ่งทำให้ดูน่ากลัวมาก ดังนั้นจึงต้องรีบสร้างโรงไฟฟ้าในภาคใต้โดยเร็ว

ก่อนที่ผมจะวิจารณ์เรื่องการนำเสนอข้อมูลอื่นๆ ของ กฟผ.ที่ทำให้สังคมเข้าใจผิดแล้ว ผมขอพูดถึงโรงไฟฟ้าที่หายไป 2 โรงนี้อีกนิดครับ

สิ่งที่ประชาชนผู้จ่ายเงินให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าทั้ง 2 ควรตั้งคำถามก็คือ

หนึ่ง แม้ในวันและเวลาสั้นๆ ที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของปี ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เป็นภาระหนักที่สุดของระบบการผลิตแล้ว โรงไฟฟ้าทั้งสองนี้ก็ยังไม่ได้ถูกสั่งผลิต (เพราะมีต้นทุนเชื้อเพลิงที่สูงกว่าเชื้อเพลิงชนิดอื่น) แล้ว เราจะเก็บโรงไฟฟ้าทั้งสองนี้ไว้ทำอะไร การเก็บไว้นอกจากจะไม่ได้ใช้งานแล้วยังต้องเสียค่าบำรุงรักษาอีกต่างหาก

ผมเข้าใจครับว่า ในระบบการผลิตไฟฟ้ามันมีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุต่างๆ นานา แต่เราจะต้องมาชั่งดูว่า รายจ่ายที่เกิดจากการป้องกันความเสี่ยงควรจะเป็นเท่าใดในทางปฏิบัติที่เป็นสากล

นี่คือ “ปัญหา” ที่มีอยู่จริงที่รัฐบาลต้องวิเคราะห์และแก้ไขครับ

สอง แม้ในเวลาที่มีความต้องการไฟฟ้าสูงสุดของปีแล้ว โรงไฟฟ้าจะนะ 2 โรงซึ่งเป็นของ กฟผ.มีกำลังการผลิตถึง 1,476 เมกะวัตต์ แต่ได้ผลิตจริง 1,106 เมกะวัตต์ นั่นคือใช้งานจริงเท่ากับ 74.9% แต่โรงไฟฟ้าขนอมซึ่งเป็นบริษัทเอกชนได้ผลิตถึง 98.7% (ดูตารางอีกครั้ง) ซึ่งค่ามาตรฐานสากลของทั้งปีควรจะอยู่ที่ระดับ 85%

มันต้องมีอะไรผิดปกติในความแตกต่างที่โรงไฟฟ้าของกฟผ.ได้ผลิต 74.9% กับโรงไฟฟ้าเอกชนที่ได้ผลิต 98.7% อย่างแน่นอน

โดยปกติ โรงไฟฟ้าที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ เขามักจะรายงานยอดการผลิตไฟฟ้าคิดเป็นร้อยละของเวลาทั้งปี (Plant Factor) เพื่อดึงดูดนักลงทุน ถ้าผมจำไม่ผิดโรงไฟฟ้าขนอมเคยมียอดการผลิตไฟฟ้าถึง 94% แต่กรณีโรงไฟฟ้าจะนะซึ่งไม่ได้อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ เราจึงไม่ทราบตัวเลขดังกล่าว แต่เราก็พอประเมินได้ว่า ในช่วงเวลา 1-3 ชั่วโมงของวันที่มีความต้องการสูงสุดแห่งนี้ได้รับอนุญาตให้ผลิตเพียง 74.9% เท่านั้น

จากข้อมูลของโรงไฟฟ้าขนอม (http://www.khanom.egco.com/th/our_power_plant_souther_thailand.php) ทำให้ผมคำนวณได้ว่าในปี 2552 โรงไฟฟ้าจะนะ 1 ได้ผลิต (Plant Factor) เพียง 64.8% ซึ่งต้องถือว่าต่ำมาก

กลับมาที่เรื่องข้อมูลอื่นๆ ในแผ่นภาพแรกอีกครั้งครับ เรื่องนี้ก็มี 2 ประเด็นที่ผมจะกล่าวถึง

ประเด็นแรก เรื่องการไม่ได้ระบุโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ 2 โรง ซึ่งได้กล่าวมาแล้ว สำหรับภาพข้างล่างคือหลักฐานครับเป็นสถานการณ์ที่แหล่งก๊าซไทย-มาเลเซียหยุดซ่อมบำรุงซึ่งเกิดขึ้นปีละ 1 ครั้งประมาณ 10 วัน

นอกจากโรงไฟฟ้า 2 โรงดังกล่าวแล้ว ยังไม่ได้ระบุถึงระบบการแลกเปลี่ยนไฟฟ้าระหว่างไทยกับมาเลเซียขนาด 300 เมกะวัตต์ แต่เท่าที่ผมติดตาม พบว่าระบบนี้มีการใช้งานจริงประมาณ 29 ถึง 31 เมกะวัตต์เท่านั้น หรือประมาณ 10% ของกำลังการผลิตสูงสุดโดยไม่เคยมีคำชี้แจงใดๆ ตลอด 16 ปีที่ผ่านมา

นอกจากที่กล่าวมาแล้ว ยังมีระบบสายส่งระหว่างภาคกลางและภาคใต้ ซึ่งผมทราบมาตลอดว่ามีขนาด 600 เมกะวัตต์ แต่ในเอกสารนี้ระบุว่ามีศักยภาพได้สูงถึง 1,050 เมกะวัตต์ (ซึ่งผมไม่ทราบเหตุผล)

ระบบนี้ไม่ใช่เป็นการส่งไฟฟ้าจากภาคกลางมาสู่ภาคใต้เท่านั้น แต่บางช่วงเวลาก็ส่งจากภาคใต้ขึ้นไปสู่ภาคกลางด้วย ซึ่งต้องถือว่าเป็นระบบที่ดี

แต่ในวันที่มีการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของปี 2560 พบว่ามีการใช้งานจริง 460 เมกะวัตต์หรือ 76.7% ของ 600 เมกะวัตต์ ก็ยังต่ำกว่าที่โรงไฟฟ้าขนอมได้รับ

ประเด็นที่สอง เรื่องข้อมูลพลังงานหมุนเวียน (ในภาพแรก) มีหลายข้อมูลที่ผิดพลาดจากความเป็นจริง เช่น พลังงานลม บทความดังกล่าวระบุว่ามีแค่ 36 เมกะวัตต์ แต่ที่ผมค้นและแจงนับจากรายงานของกระทรวงพลังงานเองว่าเฉพาะในภาคใต้มีถึง 136 เมกะวัตต์

โรงไฟฟ้าชีวมวลและไบโอก๊าซ (ซึ่งสามารถผลิตได้อย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง) รวมกัน 256 เมกะวัตต์ แต่บทความของ กฟผ.ระบุว่ามีจำนวน 29 เมกะวัตต์เท่านั้น

ผมขอความกรุณาให้ท่านผู้อ่านลองทบทวนอีกครั้งครับว่า ถ้าได้ข้อมูลครบตามที่ผมนำมาเสนอมานี้แล้ว ภาคใต้จะมีโรงไฟฟ้าไม่ค่อยพอหรือว่าสำรองล้นเกินแบบอื้อจื่อเหลียงกันแน่

คราวนี้มาถึงเรื่องประเด็นใหญ่เรื่องที่สอง คือการจัดทำแผนพีดีพีฉบับใหม่ในสถานการณ์ที่เทคโนโลยีพลังงานกำลังก้าวหน้าชนิดที่ “พลิกโฉม (Disruption)” โลกอย่างรวดเร็วที่หลายคนคาดไม่ถึง

ใช่ครับ ผมกำลังจะกล่าวถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีพลังงานที่รวดเร็วมาก

หากย้อนหลังไปประมาณ 30 ปี ครอบครัวคนไทยที่มีฐานะดีเท่านั้นที่จะมีตู้เย็นใช้เพื่อเก็บอาหารไว้ใช้ได้นานนับสัปดาห์ แต่ปัจจุบันนี้ผมเชื่อว่าชาวบ้านที่ค่อนข้างยากจนก็สามารถซื้อตู้เย็นมาใช้ได้แทบทุกบ้าน เพราะราคาถูกลงและกินไฟฟ้าน้อยลงด้วย

ปัจจุบันและในอนาคตอันใกล้นี้ คนจำนวนมากของโลกจะมีแบตเตอรี่เพื่อเก็บไฟฟ้าที่ผลิตเองจากแสงแดดเอาไว้ใช้ในตอนกลางคืน ไม่ต่างอะไรกับการมีตู้เย็นเพื่อเก็บอาหารเอาไว้กินในวันที่ไม่ได้ไปตลาด

ผมเข้าใจครับว่า หลายคนอาจจจะยังไม่เชื่อว่าแบตเตอรี่มีราคาถูก แต่ภาพข้างล่างนี้ได้นำเสนอผลการประมูลราคาไฟฟ้าที่ผลิตจากโซลาร์เซลล์พร้อมแบตเตอรี่ ขนาด 100 เมกะวัตต์ ในรัฐอริโซนา ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยราคาไฟฟ้า (ขายส่ง) ในราคาเพียง 1.56 บาทต่อหน่วย ซึ่งสามารถป้อนเข้าสู่สายส่งได้อย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง

ผลงานวิจัยของบริษัทด้านการตลาดแห่งหนึ่ง (ชื่อย่อว่า IHS) พบว่า “ในปี 2555-2556 ทั่วทั้งโลกมีแบตเตอรี่ใช้ประมาณ 340 เมกะวัตต์ แต่ในปี 2560 ได้เพิ่มขึ้นเป็น 6,000 เมกะวัตต์ และได้พยากรณ์ภายในปี 2565 จะเพิ่มขึ้นเป็น 40,000 เมกะวัตต์ หรือเพิ่มขึ้น 6.7 เท่าตัวภายในอีก 4 ปีเท่านั้น”(http://energystorage.org/energy-storage/facts-figures)

ดังนั้น ข้อกังวลในบทความของ กฟผ.ตอนหนึ่งที่ว่า “เนื่องจากความต้องการไฟฟ้าสูงสุดของภาคใต้เกิดขึ้นในเวลา 19.00 - 21.00 น. ทำให้การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ไม่สามารถเข้ามาช่วยเสริมระบบได้” ก็จะกลายเป็นข้อกังวลที่จะหมดสมัยไปในอนาคต รวมทั้งการนำแบตเตอรี่มาใช้กับกังหันลมด้วย

ซึ่งคำว่าอนาคตที่ว่านี้คือเดี๋ยวนี้ครับ ไม่ต้องรอกันนานอีกต่อไปแล้ว และได้เกิดขึ้นแล้วจริงในหลายประเทศ

เขียนมาถึงตอนนี้ ผมอยากจะกล่าวว่า ปัญหาต่างๆ ที่ทาง กฟผ.อ้างถึงนั้นมันได้กลายเป็นปัญหาที่หมดไปแล้ว เพราะความก้าวหน้าของเทคโนโลยีแบตเตอรี่

ผมยังเหลืออีก 2 ประเด็น ซึ่งจะขอกล่าวถึงเพียงสั้นๆ ครับ คือเรื่องการเติบโตของความต้องการสูงสุดเฉลี่ยปีละ 3.4% นั้น ผมคิดว่าเป็นประเด็นที่สามารถอภิปรายแลกเปลี่ยนกันได้ ผมขอยกรูป(ในบทความของ กฟผ.) และข้อมูลที่ผมนำมาประกอบดังในภาพ พร้อมกับประเด็นที่ผมตั้งข้อสังเกต

ประเด็นสุดท้าย คือเรื่องที่ทางกระทรวงพลังงานจะจัดทำแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (พีดีพี) ใหม่ โดยมีเงื่อนเวลาให้แล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนมีนาคมนี้

ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ ที่ทั้งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและเป้าหมายพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) ขององค์การสหประชาชาติ (เป้าหมายที่ 17-Partnerships for the Goal) ที่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาได้ร่วมลงนามซึ่งน่าจะหมายถึงการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ซึ่งสหประชาชาติได้เน้นเรื่องนี้มาทุกแผนตั้งแต่ปี 2000 จนถึงปี 2015

คำถามก็คือ ในเมื่อรัฐบาลได้ประกาศชะลอโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาไป 3 ปี แล้วมีเหตุผลใดที่จะต้องเร่งรีบทำแผนพีดีพีใหม่ด้วยเล่าขอสัก 1 ปี พร้อมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันทั่วประเทศ

จากที่ได้กล่าวมาทั้งหมด ตั้งแต่ประเด็นโรงไฟฟ้าภาคใต้ไม่พอ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ตลอดจนพลังงานแสงอาทิตย์ไม่สามารถผลิตได้ในเวลากลางคืน ล้วนแต่เป็นปัญหาเทียม (Pseudo-Problem) ครับ ซึ่งเป็นปัญหาที่ไม่ได้มีอยู่จริง แต่เกิดจากการวิเคราะห์ปัญหาที่ผิดพลาด ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม

รัฐบาลนี้กำลังนำปัญหาเทียมมาแก้ไขอย่างเร่งรีบ แต่ปัญหาจริงๆ ที่ผมได้กล่าวมาแล้ว รวมทั้งการใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพ (Energy Efficiency) ซึ่งนักวิชาการพลังงานเขาถือกันว่าเป็นแหล่งพลังงานที่มีราคาถูกที่สุด แต่รัฐบาลกลับวางเฉย หรือแกล้งมองไม่เห็น


กำลังโหลดความคิดเห็น