xs
xsm
sm
md
lg

ทุ่ม1ล้านล้าน จัดเต็มโครงสร้างพื้นฐานEEC

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นายกฯนั่งหัวโต๊ะ กนศ. เคาะแผนขับเคลื่อนลงทุน EEC เดินหน้าแผนปฏิบัติการโครงสร้างพื้นฐานรองรับ 168 โครงการ วงเงิน 1 ล้านล้านบาท “อุตตม” เผยดึงเอกชนร่วมรูปแบบ PPP 60% พัฒนาโลจิสติกส์ เชื่อมกรุงเทพฯ แบบไร้รอยต่อรวมเป็นมหานครขนาดใหญ่ปี 65 เชื่อมรถไฟ EEC ทวาย-กัมพูชา พร้อมคลอดแผนปฏิบัติการส่งเสริมท่องเที่ยวในพื้นที่ 53 โครงการ กว่า 3 หมื่นล้านบาท เปิด PPP 74% ตั้งเป้าลงทุนอุตสาหกรรมแตะ 3 แสนล้านบาท คาดร่าง พ.ร.บ.EEC เสร็จภายในเดือนนี้ "วีระศักดิ์" เล็งผ่าตัดใหญ่ ก.ท่องเที่ยว นัดถก 8 ก.พ.นี้

วานนี้ (1 ก.พ.) นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม กล่าวหลังการประชุม คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กนศ.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมเห็นชอบ แผนปฏิบัติการโครงสร้างพื้นฐานรองรับการพัฒนา EEC ที่จัดทำโดย คณะอนุกรรมการโครงสร้างพื้นฐานฯเพื่อให้เกิดผลทางปฏิบัติ ประกอบด้วยโครงการ ระยะสั้น-กลาง-ยาว 168 โครงการ ในกรอบวงเงิน 1 ล้านล้านบาท และ ประมาณว่า การลงทุนจะเป็นเงินงบประมาณ 30% งบลงทุนรัฐวิสาหกิจ 10 % และ รัฐร่วมทุนเอกชน (PPP) อีก 60% สำหรับแผนปฏิบัติการ แบ่งเป็น 3 ระยะ โดยระยะที่ 1 (ปี 60-61 ) ประกอบด้วย 99 โครงการ อาทิ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน, อาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 อู่ตะเภา, ท่าเรือแหลมฉบัง และท่าเรือมาบตาพุด ระยะ 3, มอเตอร์เวย์ พัทยา-มาบตาพุด เป็นต้น สำหรับระยะกลาง (ปี 62-64 ) ประกอบด้วย 62 โครงการ อาทิ รถไฟทางคู่ (แหลมฉบัง-มาบตาพุด-ระยอง-จันทบุรี-ตราด), ก่อสร้างทางวิ่งที่ 2 ท่าอากาศยานอู่ตะเภา, ฟรีเทรดโซนอู่ตะเภา และมอเตอร์เวย์ (แหลมฉบัง-ปราจีนบุรี) เป็นต้น ส่วนระยะต่อไป (ปี 65 เป็นต้นไป) ประมาณ 7 โครงการ อาทิ รถไฟเชื่อม EEC -ทวาย-กัมพูชา และมอเตอร์เวย์ ชลบุรี-แกลง ICD ฉะเชิงเทรา เป็นต้น และที่ประชุมยังเห็นชอบแผนปฏิบัติการการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวใน EEC จำนวน 53 โครงการ กรอบวงเงินกว่า 3 หมื่นล้านบาท มีรูปแบบ PPP 74% โดยมุ่งยกระดับคุณภาพการท่องเที่ยวใน EEC สู่การท่องเที่ยวระดับโลก อย่างยั่งยืน

“แผนโครงสร้างพื้นฐานมุ่งพัฒนาโลจิสติกส์แบบไร้รอยต่อ เชื่อมโยงทั้ง ทางบก น้ำ อากาศ ในพื้นที่ EEC และพื้นที่ใกล้เคียง ให้ EEC เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจที่น่าอยู่อาศัยแห่งหนึ่งของภูมิภาคเอเชีย ให้ เชื่อมต่อกับ กทม.ได้อย่างสมบูรณ์ รวมกันเป็นมหานครขนาดใหญ่ ลดความอัดแอของกรุงเทพฯ ในอนาคต"นายอุตตม ระบุ

นายอุตตม กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.... ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ. เสร็จแล้วทุกมาตรา เมื่อวันที่ 29 ม.ค.61 และคาดว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะพิจารณาแล้วเสร็จ ภายใน ก.พ.61 นี้ ซึ่งจะทำให้ปีนี้ การลงทุนในพื้นที่ EEC จะได้รับความสนใจจากนักลงทุนอย่างมาก เพราะมีความชัดเจนเกี่ยวกับกฏหมาย

ด้าน นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กรศ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมได้รับทราบถึง การลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ EEC ในปี 60 มีการยื่นขอรับส่งเสริมจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) รวมเป็นเงินลงทุน 2.96 แสนล้านบาท โดยปี 61 มีเป้าหมายการลงทุน 3 แสนล้านบาท และที่ประชุมยังได้เห็นชอบ การประกาศเขตส่งเสริมนิคมอุตสาหกรรมเป้าหมายทั้ง 19 แห่ง ซึ่งมีหลักเกณฑ์การจัดตั้งเขตส่งเสริมครบถ้วนแล้ว ทำให้มีพื้นที่ใหม่รองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย อีก 26,200 ไร่ และประมาณว่า จะรองรับการลงทุนได้กว่า 1.1 ล้านล้านบาท ภายใน 10 ปีข้างหน้า ขณะเดียวกัน ที่ประชุมยังได้พิจารณาคุณสมบัติ และเงื่อนไขของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอากาศยานใน EEC ที่สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ร่วมกับ สกรศ. กำหนดคุณสมบัติของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอากาศยาน ที่เป็นนิติบุคคล ที่มีผู้มีสัญชาติไทยน้อยกว่า 51% เพื่อประสิทธิภาพในการดำเนินการและส่งเสริมคลัสเตอร์อากาศยานที่จะเกิดขึ้นเฉพาะใน EEC ซึ่งถือเป็นพื้นที่ด้วย

อีกด้าน นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รมว.กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา แถลงนโยบายการท่องเที่ยวและกีฬา หัวข้อ "พูดคุยเก๋ไก๋ สไตล์ รมต." ภายใต้กิจกรรม Meet The Press ว่า สำหรับปีนี้จะเป็นปีแห่งการจัดกิจกรรมใหญ่ๆ ในหลายด้านโดยเฉพาะ การแข่งขันโมโตจีพี ที่จะมีขึ้นในเดือน ต.ค.นี้ ที่ จ.บุรีรัมย์ ซึ่งถือเป็นงานที่ท้าทาย เพราะไทยได้ลิขสิทธิ์ 3 ปี จะทำให้ดึงดูดนักท่องเที่ยวนับแสนคน เดินทางไปยัง จ.บุรีรัมย์ ซึ่งสิ่งที่รัฐบาลจะต้องวางแผนรองรับคือสิ่งอำนวยความสะดวก ด้านที่พัก อาหาร บริการรถสาธารณะ และเห็นว่าจังหวัดใกล้เคียงควรจะเข้าไปมีส่วนรวมด้วย ขณะที่ในช่วงวันที่ 15 - 20 เม.ย.นี้ จะมีการจัดประชุมสปอร์ตแอคค็อต ซึ่งจะมีการเชิญผู้บริหาร และบุคลากรทางกีฬา จากสหพันธ์กีฬาโลก มาประชุม ที่ กทม. ซึ่งก็ถือเป็นงานใหญ่ ที่คนไทย ต้องร่วมเป็นเจ้าภาพที่ดี ส่วนการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกนั้น ขณะนี้ทราบว่าภาคเอกชนที่ช่วยกันลงขันเพื่อขอซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดฟุตบอลโลกที่ประเทศรัสเซียแล้ว แต่อยู่ระหว่างการเจรจา จึงไม่ขอแสดงความเห็นในขณะนี้ เพราะอาจจะกระทบต่อการเจรจาเงื่อนไขและเรื่องของราคาค่าลิขสิทธิ์ได้

“ภารกิจของผมจากนี้ไป จะเริ่มทำการผ่าตัดกระทรวง เพราะการก่อตั้งกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาขึ้นมาเป็นการก่อตั้งแบบฉุกเฉิน วันนี้จึงมีบุคลากรที่ทำงานกีฬามาตลอดชีวิตเข้ามาดูแลงานด้านการท่องเที่ยวมา 15 ปี จึงเป็นภารกิจที่ตนตั้งใจเข้ามาผ่าตัด ทั้งนี้การผ่าตัดจะต้องเป็นไปภายใต้การยินยอมจากทุกฝ่าย ทั้งคนในองค์กรและประชาชน” รมว.ท่องเที่ยว กล่าว

นายวีระศักดิ์ กล่าวว่า ตนได้นัดประชุมร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) และสำนักงบประมาณ ในวันที่ 8 ก.พ.นี้ เพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทางการผ่าตัดกระทรวง วิธีดำเนินการ และขั้นตอนที่จะผ่าตัดในส่วนใดก่อน-หลัง โดยมีโจทย์ใหญ่ 2 ข้อในการทำหน้าที่รัฐมนตรีของตน คือ 1.แปลงเครื่องมือการท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือลดการเหลื่อมล้ำ ทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม 2.ทำให้กระทรวงนี้เป็นอุปกรณ์ในการประคองเงื่อนไขของระบบการท่องเที่ยวและกีฬา.


กำลังโหลดความคิดเห็น