สองสามวันก่อน กระทรวงการคลัง ออกประกาศเตือนประชาชนเรื่อง การซื้อขายสกุลเงินดิจิตัล เช่น บิทคอยน์ อีเทอเรียม ว่า อาจเข้าข่ายผิดกฎหมายพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527
พ.ร.ก.ฉบับนี้กำหนดว่า ผู้ใดอยู่ในประเทศไทยที่มีพฤติกรรมโฆษณาหรือประกาศเชิญชวนให้ลงทุนใดๆ ที่มีพฤติกรรมจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนในอัตราสูง โดยไม่มีกิจการใดที่ถูกต้องตามกฎหมายรองรับ อาจมีลักษณะเป็นการกระทำความผิดตามกฎหมาย
ประกาศฉบับนี้ คงเป็นการ “ปราม” คนบางกลุ่มที่ชักชวนให้ประชาชนมาลงทุนซื้อบิทคอยน์และเงินดิจิตัลอื่นๆ ผ่านแพลตฟอร์มหรือเว็บไซต์ที่ส่วนใหญ่ที่ชื่อลงท้ายด้วย Coi หรือ Chain ซึ่งปัจจุบันมีมากขึ้นเรื่อยๆ
การลงทุนในเงินดิจิตัลสำหรับประเทศไทย แม้ยังไม่ถือว่าผิดกฎหมายเพราะยังไม่มีการออกกฎหมายที่บัญญัติว่า เป็นความผิด แต่ก็ไม่มีกฎหมายใดๆ มารองรับ หากเกิดความเสียหายขึ้น ผู้ลงทุนต้องรับความเสี่ยงเอาเองเพราะไม่มีกฎหมายคุ้มครอง
ประกาศกระทรวงการคลังฉบับนี้ตอกย้ำท่าทีของกระทรวงการคลังต่อการลงทุนในเงินดิจิตัลอีกครั้งว่า ไม่สนับสนุนเพราะมีลักษณะเหมือนการพนัน ในขณะที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต.และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ยังรีๆ รอๆ ไม่ชัดเจนว่า มีมุมมองต่อเงินดิจิตัลอย่างไร
คงจะต้องรอให้มีผู้เสียหายเสียก่อนจึงจะล้อมคอก เหมือนหลายๆ กรณีที่เคยเกิดขึ้น และกำลังเกิดขึ้นในตลาดหุ้นขณะนี้
ความเสี่ยงของการลงทุนในบิทคอยน์ และเงินดิจิตัลในชื่ออื่นๆ นอกจากความเสี่ยงจากมูลค่าที่ขึ้นลงอย่างผันผวน ราคาที่ซื้อมาวันนี้มีโอกาสที่จะลดลงอย่างมากในเวลาสั้นๆ แล้ว ยังมีความเสี่ยงที่เงินดิจิตัลที่นักลงทุนใช้เงินบาท เงินดอลลาร์ซึ่งชำระหนี้ได้ตามกฎหมายไปซื้อมาอาจสูญหายไปได้โดยไม่รู้ว่าจะไปทวงถามความรับผิดชอบกับใคร
บล็อกเชนซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่รองรับการซื้อขายเงินสกุลดิจิตัล ถูกอ้างอิงเสมอว่า มีความมั่นคงปลอดภัยสูง ไม่ต้องกลัวว่าจะถูกโจมตี หรือถูก “แฮ็ก” จากโจรไซเบอร์ แต่เรื่องนี้ไม่เป็นความจริง เพราะแพลตฟอร์มซื้อขายเงินดิจิตัลที่ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนมีข่าวว่าถูก “แฮ็ก” อยู่บ่อยๆ
ล่าสุดเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา แพลตฟอร์มซื้อขายเงินดิจิตัลสกุล NEM ของ Coincheck ซึ่งเป็นตลาดซื้อขายเงินดิจิตัลในโตเกียวถูกเจาะ และถูกขโมยเงินสกุล NEM มูลค่า 58 พันล้านเยน หรือเท่ากับ 530 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งทั้งหมดเป็นเงินของนักลงทุน ที่เป็นลูกค้าฝากเก็บไว้ในระบบของ Coincheck
ในการแถลงข่าวกลางดึกคืนวันศุกร์ ผู้บริหาร Coincheck กล่าวขอโทษลูกค้าที่มีเรื่องเช่นนี้เกิดขึ้น และบอกว่า จะพยายามติดตามเอาเงิน NEM ของลูกค้าที่หายไปกลับคืนมา โดยสัญญาว่า จะเอาเงินทุนของบริษัทชดใช้คืนให้ลูกค้ารวมเป็นเงินประมาณ 423 ล้านเหรียญ เท่ากับ 90% ของเงินที่ถูกขโมยไป อย่างไรก็ตาม Coincheck หยุดการซื้อขายชั่วคราว และไม่ยอมให้ลูกค้าถอนเงินลงทุนที่เหลืออยู่ออกไป
มีลูกค้าที่ได้รับความเสียหายจากการโจรกรรมครั้งนี้ถึง 260,000 คน
ก่อนหน้านี้ในปี 2014 เคยมีการปล้นเงินสกุลดิจิตัลครั้งใหญ่เกิดขึ้นที่ญี่ปุ่นมาแล้วเช่นกัน ครั้งนั้นเป็นบิทคอยน์บนแพลตฟอร์มของผู้ให้บริการตลาดซื้อขายบิทคอยน์ชื่อ Mt. Gox ถูกโจรเจาะขโมยบิทคอยน์มูลค่า 450 ล้านเหรียญออกไป
หลังเกิดเหตุ Mt. Gox ประกาศล้มละลายจนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 4 ปีแล้ว กระบวนการล้มละลายยังไม่จบ และแม้ว่าจะตามเงินที่ถูกขโมยไปกลับมาได้บางส่วน แต่บรรดาเจ้าหนี้ซึ่งรวมทั้งนักลงทุนที่เป็นเจ้าของบิทคอยน์ ที่ถูกขโมยไปยังไม่ได้รับชำระหนี้เลยแม้แต่แดงเดียว
NEM ย่อมาจาก New Economy Movement เป็นหนึ่งในเงินดิจิตัลหลากหลายสกุล ที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2015 ตอนแรกๆ มีมูลค่าน้อยมากไม่กี่เซนต์ต่อหนึ่งหน่วย แต่ช่วงกลางปีที่แล้ว กระแสเงินดิจิตัลมาแรง มูลค่าบิทคอยน์ และเงินดิจิตัลอื่นๆ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับ NEM ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นเป็น 1.91 เหรียญต่อหนึ่งหน่วย
เหตุการณ์ที่แพลตฟอร์มของ Coincheck ถูกเจาะ และถูกขโมยเงินดิจิตัลไป รวมทั้งกรณีที่เกิดขึ้นกับ Mt. Gox เมื่อ 4 ปีก่อนเป็นการเปิดเผยจากเจ้าของแพลตฟอร์ม ไม่ปรากฏว่า มีการสอบสวนจากทางการว่ามีการแฮ็กระบบโดยใคร เงินดิจิตัลที่ถูกขโมยไปนั้นไปอยู่กับใคร เพราะยังไม่มีกฎหมายรองรับ การลงทุนซื้อขายเงินดิจิตัลไม่มีการกำกับดูแลจากองค์กรที่เป็นกลางใดๆ ทั้งสิ้น และเงินดิจิตัลมีลักษณะพิเศษคือไร้ร่องรอย ตรวจสอบไม่ได้ว่ามาจากไหน เป็นเงินของใคร
ดังนั้น ที่เจ้าของแพลตฟอร์มอ้างว่า เงินหายไปเพราะระบบถูกแฮ็กอาจจะไม่ใช่ก็ได้ เงินอาจจะถูกทำให้หายไปโดยเจตนาของผู้คุมแพลตฟอร์มก็ได้ แล้วมาอ้างว่าโดนแฮ็ก
ลองคิดดูว่า ถ้าเรื่องนี้เกิดกับการลงทุนเงินดิจิตัลในประเทศไทยจะเป็นอย่างไร วันดีคืนดีเจ้าของแพลตฟอร์มบอกว่า ถูกแฮ็ก เงินดิจิตัลของนักลงทุนที่ฝากไว้ในระบบถูกขโมยไปทั้งหมดจับมือใครดมไม่ได้ นักลงทุนที่ควักกระเป๋าเอาเงินบาทไปซื้อเงินเข้ารหัสที่ไม่มีตัวตน เพราะหวังว่า มันจะมีมูลค่าสูงขึ้น จะไปร้องทุกข์กับใครได้