xs
xsm
sm
md
lg

เพิ่มประชากร หรือ พัฒนาคนให้สร้างหุ่นยนต์มาทำงานแทนคนได้

เผยแพร่:   โดย: อาจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์

(แฟ้มภาพ)
อาจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชา Business Analytics and Intelligence
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง คณะสถิติประยุกต์
ผู้อำนวยการศูนย์คลังปัญญาและสารสนเทศ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


เราต้องยอมรับกันก่อนว่าทุกวันนี้ประเทศไทยขาดแคลนแรงงานแสนสาหัส เราเข้าสู่ภาวะสังคมผู้สูงอายุ (Aging society) แล้วและกำลังเข้าสู่ภาวะสังคมผู้สูงอายุเต็มตัว (Aged society) เมื่อราว 60 ปีที่แล้วเกิด baby boomer หลังสงครามโลกครั้งที่สอง และนับจากปี 2500 จนถึงปี 2535 มีคลื่นสึนามิประชากร โดยประเทศไทยมีเด็กเกิดมากกว่าหนึ่งล้านคนต่อมีติดต่อกันอย่างต่อเนื่องกว่า 35 ปี ในปี 2518 เกิดโครงการวิจัยประชากรศาสตร์ที่โพธาราม จังหวัดราชบุรี ทำให้เกิดความตระหนักว่าหากไม่มีการวางแผนครอบครัวประเทศไทยจะมีประชากรล้นจนไม่พอจะหาเลี้ยงให้อยู่ดีกินดีได้ ผลการวิจัยนั้นทำให้เกิดการรณรงค์การวางแผนครอบครัวอย่างแข็งขัน ทำให้เกิด motto มีลูกมากจะยากนาน ประกอบกับประเทศไทยก็มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและประเทศไทยมีพัฒนาการเศรษฐกิจจนกระทั่งเราก้าวข้ามประเทศที่ยากจน ประชากรเริ่มมีการศึกษาดีขึ้น ทำงานในสังคมเมืองมากขึ้น และมีอายุยืนยาวมากขึ้น ผู้หญิงทำงานนอกบ้านมากขึ้น ประชาชนแต่งงานช้าลง และเริ่มมีลูกน้อยลง

รัฐบาลกังวลว่าเรากำลังขาดแคลนแรงงาน เราขาดแคลนแรงงานสองลักษณะ

ประเภทที่หนึ่ง คือประเภท 3D คือ Dirty, Dangerous, และ Difficult Job ซึ่งเป็นแรงงานระดับล่างหรือ blue collar worker งานที่อันตราย สกปรก งานที่ยาก เช่น งานประมง เป็นงานที่คนไทยไม่ยอมทำแล้วและอาศัยแรงงานต่างชาติ เช่น ชาวพม่า มาทำงานเหล่านี้แทน ซึ่งงานประเภทนี้หากพม่ามีพัฒนาการเศรษฐกิจที่ดีขึ้น คนงานพม่าก็กลับไปบ้านตัวเอง อย่างไรก็ตามงานเหล่านี้ใช้หุ่นยนต์และเครื่องจักรตลอดจนคอมพิวเตอร์และปัญญาประดิษฐ์ทำงานแทนคนได้ไม่ยาก

ประเภทที่สอง คือ แรงงานขั้นสูงที่ใช้ความรู้ (Knowledge workers) ที่ต้องมีความรู้ ความเป็นวิชาชีพ ความรู้ทางเทคนิค ซึ่งประเทศไทยเราก็ขาดแคลนเช่นเดียวกัน และมี expatriate เข้ามาทำงานมากมายที่คนไทยไม่มีความรู้เพียงพอ ประเภทหลังนี้เอาหุ่นยนต์ คอมพิวเตอร์ มาทำงานได้ยากมากขึ้น และไม่ต้องมีความรู้มากมาย เช่น พนักงานเสิร์ฟกาแฟในร้านกาแฟแถวสุขุมวิทซึ่งมีรายได้ดี แต่ต้องมีความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษได้ดีก็ยังต้องจ้างคนฟิลิปปินส์ที่มีภาษาอังกฤษดีกว่าคนไทยมาทำงานเหล่านี้ ซึ่งน่าคิดว่าแม้แต่ภาคบริการที่ไม่ได้เป็นงาน 3D แต่พอต้องใช้ภาษาอังกฤษก็หาคนงานไทยทำไม่ได้เสียแล้ว

ประเทศไทยมีอัตราการว่างงานต่ำมาก อาจจะน้อยสุดอันดับต้น ๆ ของโลก แต่เรากลับมีปัญหา Underemployment หรือการได้รับการว่าจ้างงานต่ำกว่าระดับการศึกษา เช่น จบปริญญาตรี แต่ไปทำงานเป็นแคชเชียร์ หรือ พนักงาน เสิร์ฟ ซึ่งจบ ป.6 หรือ ม.3 ก็ทำได้ สะท้อนปัญหาว่าจบปริญญาตรีมามีความรู้ทำงานได้แค่ระดับนี้ แล้วประเทศไทยเรายังมี hidden employment หรือการว่างงานแฝงโดยเฉพาะในภาคเกษตรกรรมซึ่งจำนวนมาก ทำนาปีเพียงปีละครั้งและนอกฤดูกาลทำนาก็จะว่างงาน

ถึงกระนั้นก็ตามภาวะประชากรสูงอายุได้ทำให้ประเทศไทยขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก

เมื่อวานนี้มีนักข่าวโทรหาผมเพื่อให้ผมโฟนอินเข้ารายการข่าวว่าการที่รัฐบาลออกกฎหมายลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับคนที่มีลูกคนที่ 2 และ 3 ลดหย่อนได้อีกคนละ 3 หมื่นบาทและไม่จำกัดจำนวนบุตร และให้บริษัทเอกชนสามารถลดหย่อนภาษีเพื่อนำเงินไปสร้างศูนย์รับเลี้ยงเด็กในที่ทำงานไม่เกินหนึ่งล้านบาท ว่าจะได้ผลอย่างไร และควรทำหรือไม่ควรทำอย่างไร

ผมได้เคยพูดคุยกับนักประชากรศาสตร์อย่าง รองศาสตราจารย์ ดร.เดือนเพ็ญ ธีรวรรณวิวัฒน์ ได้ให้ความเห็นว่าในต่างประเทศ มีหลายประเทศที่พอพัฒนาการเศรษฐกิจเติบโตพ้นความยากจนมา และประชากรเริ่มมีการศึกษามีรายได้สูงขึ้น เข้ามาทำงานในภาคการผลิต ภาคบริการ มากขึ้นในขณะที่ภาคเกษตรกรรมมีสัดส่วนลดลง มักจะพบปัญหาสังคมผู้อายุ แต่การแก้ไขและมาตรการต่างๆ มักจะล่าช้าและไม่ได้ผล สาเหตุหลักน่าจะมาจากประชากรสบาย ไม่ต้องมีภาระในการเลี้ยงลูกจำนวนมาก ๆ เหมือนยุค baby boomer หลายคู่แต่งงานเลือกที่จะไม่มีลูกด้วยกัน เมื่อสบายแล้วก็ไม่อยากลำบากเลี้ยงลูกมาก ๆ เหมือนในอดีต

นอกจากนี้การส่งเสริมให้ประชาชนมีลูกมาก ๆ แต่กว่าลูกจะโตจนเข้าสู่ภาคแรงงานได้ก็ใช้เวลายาวนานเกือบ 20 ปี ทำให้มาตรการที่รัฐบาลลดหย่อนภาษีให้กับการมีบุตรไม่ได้ผลในทันที และถึงจะได้ผลก็จะล่าช้ามากจนเกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงานสำหรับการผลิตอยู่เช่นเดิม แต่ไม่ใช่ว่าผมจะไม่สนับสนุนเรื่องการลดหย่อนภาษีให้คนไทยที่มีลูก ผมคิดว่าควรลดหย่อนให้มากกว่าที่ประกาศออกมาด้วยซ้ำ เพราะที่ลดหย่อนให้นั้นน้อยมากจะพอค่านมลูกค่าเลี้ยงดู ค่าเล่าเรียน เด็ก ๆ สมัยนี้ก็หาไม่ และถึงจะเป็นนโยบายที่ออกมาแล้วจะได้ผลช้า (คือใช้เวลามากกว่า 20 ปีขึ้นไปจึงจะได้ผล) หรือหากไม่ทำเลยภาวะการเจริญพันธุ์จะยิ่งแย่มากไปกว่านี้ ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลทำนั้นถูกต้องและต้องทำ

อย่างไรก็ตามในต่างประเทศที่มีภาวะประชากรสูงวัย ภาคอุตสาหกรรมเริ่มปรับตัว เช่น ในญี่ปุ่นเริ่มมีหุ่นยนต์ช่วยพยาบาลยกคนไข้ บริษัทของไทยผลิตดินสอมาไว้ดูแลผู้สูงอายุ ซีพีไปเปิดโรงงานผลิตอาหารสำเร็จรูปแบบ TV dinner ใช้เครื่องจักรและหุ่นยนต์แทนที่คนทั้งหมดในสายพานการผลิต ทำให้ผลิตได้เร็วกว่าด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่า NISSAN เมื่อถูกทรัมป์ข่มขู่ว่าหากไปตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ในเม็กซิโกจะเจอกำแพงภาษีก็ปรับตัวมาผลิตในสหรัฐอเมริกาโดยใช้สายพานการผลิต หุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์เข้ามาแทนที่ แทบจะไม่ต้องจ้างแรงงานอเมริกันและใช้เครื่องจักรและหุ่นยนต์แทน

ถ้าต่อไปแรงงานต่างด้าวที่ทำงาน 3D กลับไปประเทศตนเองกันหมด แล้วประเทศไทยจะทำอย่างไร จะเพิ่มประชากรก็ต้องรออีก 20 ปี ถึงจะได้ใช้งานได้จริง ทางเลือกหนึ่งคือต้องพัฒนาการศึกษาไทยให้เข้มแข็ง ให้คนไทยเก่งเรื่องการพัฒนาเครื่องจักร เครื่องยนต์กลไก หุ่นยนต์ พัฒนาเรื่องปัญญาประดิษฐ์ วิทยาการข้อมูล ให้เข้มแข็ง ให้คนไทยสามารถผลิตสิ่งเหล่านี้มาแทนแรงงานได้ และหลายงานน่าจะทำได้ดีกว่าคนด้วย แม้กระทั่งการวินิจฉัยโอกาสที่จะเป็นโรคหัวใจ คอมพิวเตอร์ก็ทำได้ดีกว่าแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมากนัก แม้งานยาก ๆ เช่น การคิดคำนวณเบี้ยประกันภัยในสมัยนี้ก็สามารถใช้โปรแกรมและคอมพิวเตอร์ทำแทนได้ การตรวจสอบความผิดปกติของการเบิกจ่ายสินไหมก็ให้ปัญญาประดิษฐ์ทำแทนได้เช่นกัน

ประเทศไทยต้องพัฒนาให้เด็กไทย การศึกษาไทย มีการพัฒนาในเรื่องนี้อย่างรวดเร็ว การเรียนการเขียนโปรแกรมและวิทยาการคณนา (Computing science) ควรเริ่มได้ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษา Steve Jobs เองก็สนับสนุนเช่นนี้ การเขียนโปรแกรมทำให้สอนให้คิดเป็น และคิดเป็นระบบได้ ถ้าจะรอว่าลดหย่อนภาษีแล้วจะเพิ่มประชากรให้ทันเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้แต่ก็ยังต้องทำ ระยะสั้นรัฐบาลและมหาวิทยาลัย ตลอดจนเอกชนต้องมาร่วมมือกันเพื่อผลิตคนไทยพันธุ์ใหม่ที่สามารถผลิตสิ่งเหล่านี้มาทำงานแทนคนได้ ซึ่งไม่เพียงแค่ทดแทนแรงงานในประเทศที่กำลังขาดแคลน แต่ยังสามารถส่งออกและเพิ่มมูลค่าภาคบริการของไทยให้เพิ่มขึ้นซึ่งเป็นลักษณะของประเทศที่พัฒนาแล้วที่ภาคบริการที่อาศัยความรู้เป็นฐานจะมีขนาดใหญ่กว่าประเทศกำลังพัฒนาหรือประเทศกับดักรายได้ปานกลางแบบประเทศไทยมาก


กำลังโหลดความคิดเห็น