เป็นปรากฏการณ์ครั้งแรกในประเทศไทยที่นักร้องเพลงคนหนึ่งวางแผนวิ่งจากเบตงใต้สุดของไทยผ่านจังหวัดต่างๆ ไปถึงแม่สายเขตแดนสุดเหนือของไทย ใช้เวลาห้าสิบกว่าวันได้รับการต้อนรับจากประชาชนทุกจังหวัดทุกอำเภอทุกตำบลตลอดเส้นทางที่ผ่าน มีหลายจังหวัดที่ไม่ได้วิ่งผ่านประชาชนก็พากันรวบรวมเงินมามอบให้ รวมแล้วได้เงินหนึ่งพันสองร้อยกว่าล้านบาทสำหรับมอบให้สิบเอ็ดโรงพยาบาลที่ขาดแคลนอุปกรณ์เครื่องใช้ในการรักษาพยาบาลผู้ป่วย
แสดงว่า “ตูน” ก็ดีประชาชนที่สนับสนุนให้กำลังใจก็ดี ดารานักร้องนักแสดงนักมวยนักกีฬาที่ออกมาร่วมวิ่งในบางช่วงบางตอนก็ดี ประชาชนนักเรียนเด็กเล็กที่ออกมารอตามข้างทางวิ่ง รอให้กำลังใจและมอบเงินก็ดี คหบดีจังหวัดต่างๆ มอบเงินก้อนใหญ่ให้ก็ดี สื่อมวลชนทุกช่อง ทุกคลื่น ทุกฉบับ ต่างพากันลงข่าวทุกวันๆ ละหลายครั้ง ท่านนายกรัฐมนตรีก็แสดงความยินดีชื่นชม ขอให้เอาเป็นตัวอย่าง และเมื่อสิ้นสุดการวิ่ง “ตูน” และคณะก็มีโอกาสเข้าพบท่านนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบฯ อย่างอบอุ่น
บทเรียนคงไม่ใช่ “เงินพันสองร้อยกว่าล้านบาท” เป็นแน่ บทเรียนคงจะไปไกลกว่านั้น
เมื่อประมาณ ๖๐ ปีก่อน เมื่อมีคนไข้ยากจนมารับการรักษาที่โรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขและไม่มีเงินจ่ายค่ารักษา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหรือแพทย์ผู้รักษาก็จะอนุมัติให้ไม่ต้องเก็บค่ารักษาเป็นรายๆ ไป ต่อมาประมาณ ๔๐ ปีก่อนก็มี “โครงการรักษาผู้ป่วยผู้มีรายได้ร้อย” โดยให้กำนันผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้คัดเลือกผู้มีรายได้น้อย ออกบัตรและได้รับการรักษาฟรี ก็ไม่ได้ผู้ป่วยจนจริง ผู้ป่วยบางคนใส่สร้อยคอเส้นโตก็มี ต่อมามอบให้ “อสม.” เป็นผู้คัดเลือก ก็ได้ผู้ป่วยยากจนไม่ทั่วถึง ยังมีผู้ป่วยยากจนอีกจำนวนมากที่อยู่ห่างไกล
การให้บริการผู้ป่วยรักษายากจนก็ดำเนินการแบบผสมผสานเรื่อยมา คือ พบจนจริงก็รักษาฟรั มีบัตรมารักษาฟรี มีเงินมาจ่ายตามบิลก็มี มีจ่ายบางส่วนก็มี มีหลายรายที่ฟรี/ไม่มีเงินจ่าย ทางโรงพยาบาลโดยนักสังคมสงเคราะห์ก็จัดรถส่งกลับถึงบ้านหรือให้เงินค่ารถแก่ผู้ป่วยและญาติ โรงพยาบาลก็อยู่ได้ เพราะได้รับงบประมาณจากกระทรวงสาธารณสุขเป็นค่าเงินเดือน ค่าไฟฟ้าประปา ค่าเครื่องมือแพทย์(บางปี) ค่าซื้อยาบางส่วน ค่าใช้จ่ายนอกเหนือจากนั้นทางโรงพยาบาลก็ใช้เงินบำรุง(เงินที่เก็บได้จากคนไข้) และเงินที่ได้รับบริจาค(ถ้ามี) โรงพยาบาลก็สามารถดำเนินการได้ดีกว่าเมื่อเทียบกับปัจจุบันนี้ ด้วยปัจจุบันนี้โรงพยาบาลได้เงินจากคนไข้คนละ ๓๐ บาทเท่านั้น และได้รับเงินงบประมาณอุดหนุนผ่าน “สปสช.” จำนวน ๓,๒๐๐ กว่าบาท ต่อรายหัวประชากรในเขตพื้นที่รับผิดชอบของโรงพยาบาล ซึ่งก็เพิ่มขึ้นให้ทุกปี แต่ก็ยังไม่พอต่อการบริหารโรงพยาบาลให้มีคุณภาพเป็นที่พอใจของผู้ป่วย ดังที่ทราบกันอยู่ จน “ตูน” และคณะต้องออกวิ่งหาเงินช่วยเหลือ
เมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๗ รัฐบาลได้ออกกฎหมาย “๓๐ บาทรักษาฟรีทุกโรค” มีประชาชนให้การสนับสนุน และคัดค้าน แต่ “สื่อ” ส่วนมากและองค์กรอิสระเอกชนให้การสนับสนุน รวมทั้งนักเศรษฐศาสตร์ใหญ่แห่งค่ายเอกชนย่านวัดเทพลีลา ได้มีการภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรเห็นด้วยเป็นส่วนใหญ่ เมื่อมาถึงวุฒิสภาก็มีการอภิปรายคัดค้านกันมากพอสมควร ผู้อภิปรายสนับสนุนพอมี ผู้เขียนอภิปรายสองประเด็น หนึ่ง การให้การรักษาฟรีแก่ประชาชนทั้งหมดยกเว้นข้าราชการ และประกันสังคมซึ่งมีกฎหมายรองรับอยู่แล้วนั้น จะเป็นภาระต่องบประมาณของประเทศอย่างใหญ่หลวงและต่อไปในอนาคตก็จะไม่สามารถทำได้ มีดังในหลายประเทศที่ใช้แล้วต้องค่อยๆ เลิกไป เห็นได้ชัดที่ประเทศนิวซีแลนด์ หลายที่ประเทศที่ทำได้ดี มีแต่ประเทศแถบสแกนดิเนเวียเท่านั้น เพราะมีประชากรน้อยแต่การศึกษาดีมีงานทำ คอร์รัปชั่นไม่มีหรือมีน้อยมาก รัฐเก็บภาษีได้แพงมากเท่านั้น ที่สามารถทำได้ สอง ของเรานั้นค่าใช้จ่ายจะมีมากขึ้นๆ ไม่มีสิ้นสุด และเรามีภาระต้องใช้งบประมาณที่จำเป็นด้านอื่นอีกมาก รายได้ของประเทศก็ได้จากภาษีจากประชาชน ซึ่งก็ไม่แน่นอน บางปีก็มาก บางปีก็น้อย มีมาตราหนึ่งเขียวว่าค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการใช้เงินร้อยละ ๕ ของงบประมาณที่ได้รับในแต่ละปีและเงินที่เหลือจากการนี้ไม่ต้องส่งคืนคลังเหมือนหน่วยราชการอื่น
เมื่อกฎหมายออกบังคับใช้แล้ว รัฐมนตรี นักการเมืองทุกระดับ ต่างพากันออกข่าวเชิญชวนประชาชนให้ออกไปใช้บริการ คนไข้นอกล้น โอพีดี คนไข้ในเตียงก็ไม่พอนอนในเกือบทุกโรงพยาบาล โรงพยาบาลเริ่มใช้เงินบำรุงที่ได้เก็บจากคนไข้ที่ยังพอมีอยู่ เมื่อเงินบำรุงใช้ไปหมดก็เริ่มเกิดปัญหา
บริการรักษา ๓๐ บาททุกโรค ดำเนินการมาถึงวันนี้แล้วเกือบ ๑๓ ปี มีปัญหา จำเป็นต้องทำการ “ปฏิรูป” เพื่อให้โครงการที่มีประโยชน์ต่อคนจน/ผู้มีรายได้น้อยนี้ สามารถดำเนินการต่อไปได้อย่างยั่งยืน
การปฏิรูป
๑.ปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการ ที่ หนึ่ง
เปรียบเทียบการบริหารจัดการ ระหว่างระบบเดิมก่อนที่จะมี “สปสช” ขอเรียกว่า “ระบบกระทรวงสาธารณุช” หรือ เรียกสั้นๆ ว่า “ระบบกระทรวงฯ” กับ “ระบบ สปสช”
ระบบกระทรวงฯ | ระบบ สปสช |
๑.บริหารโดยข้าราชการ กอง. กรม, สนง. ปลัด ศธ. | ๑. บริหารโดย จนท. นอกสังกัด ศธ. |
๒.ใช้ช้อมูลจาก กอง, กรม, สนง, ป.สธ.,ผู้ตรวจราชการ รพศ. รพท, ศูนย์กพ.อ.,สอ.และ ปัญหาของพื้นที่ และต่างประเทศ | ๒. ใช้ข้อมูลในพื้นที่เขตรับผิดชอบของสถานบริการ และของสถานบริการ และปัญหาของเขตฯ และต่างประเทศ |
๓.งบประมาณ ให้ตามความจำเป็นของสถานบริการนั้นๆ และตามงานฝากของกรม.กอง(ถ้ามี) และ ตามจำนวนเงินบำรุงของสถานบริการ ตลอดจนปัญหาของพื้นที่ | ๓. งบประมาณให้เป็นรายหัวของจำนวนประชากรในเขตรับผิดชอบของสถานบริการ |
๔. การจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ แต่ละแห่งซื้อเองและหลายแห่งรวมกันซื้อตาม บช.ยาหลักฯ และตาม บช.ร่วมของระบบส่งต่อฯ | ๔. สปสช จัดซื้อ ส่งไปให้ |
๕. การแก้ปัญหาเงินขาด เร็วกว่า | ๕. การแก้ปัญหาเงินขาด ทำได้ยาก |
๖. ประหยัดงบประมาณบริหารจัดการได้ดีกว่า เพราะใช้ข้าราชการประจำที่มีอยู่แล้ว | ๖.ใช้งบประมาณเพิ่มจ้าง จนท. เข้าทำงานจำนวนมาก คือ งบประมาณร้อยละ ๕ ถ้าเหลือก็ไม่ต้องคืนคลัง เหมือนกับการมีพ่อค้าคนกลางเพิ่มเข้ามา |
๒.ปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการ ที่ สอง
ให้การรักษาฟรีตามกฎหมาย ๓๐ บาทรักษาทุกโรค เฉพาะคนจน/คนมีรายได้น้อยที่รัฐบาลได้ค้นหาไว้และได้ออกบัตรซื้อของจำเป็นให้แล้ว มีจำนวนประมาณ ๒๒ ล้านคน
๓.ปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการ ที่ สาม
ขอให้ประชาชนที่เหลือที่สามารถช่วยตนเองได้ระดับหนึ่ง ซื้อ “บัตรสุขภาพ” เพื่อการรักษาจากกระทรวงสาธารณสุข ในราคาที่เหมาะสม และใช้รักษาได้เฉพาะที่สถานบริการของกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้นและค่าใช้จ่ายนี้นำไปหักลดภาษีได้
๔.ปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการ ที่ สี่
ขอให้ประชาชนทั่วไป ซื้อ “บัตรสุขภาพ” จากบริษัทเอกชนที่มีอยู่จำนวนมากในประเทศไทย และ มีประชาชนจำนวนไม่น้อยได้ใช้บริการนี้อยู่แล้ว และไปใช้รักษาในโรงพยาบาลเอกชน และค่าใช้จ่ายนี้นำไปหักลดภาษีได้
๕.เร่งรัดดำเนินการให้บริการที่ช่วยให้ประชาชนมีสุขภาพดีขึ้น เพื่อจะได้เจ็บป่วยลดลง คือ
๕.๑ จัดการด้านส่งเสริมสุขภาพให้มีคุณภาพมากขึ้นอย่างทั่วถึงเมื่อมีผู้ป่วยลดลง ค่ารักษาก็จะลดลง และ “สสส” จึงจำเป็นต้องปฏิรูปด้วย เช่นกัน
๕.๒ จัดการด้านป้องกันโรคไม่ติดต่อให้มีคุณภาพมากขึ้นอย่างทั่วถึง เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคตับ โรคไต โรคมะเร็ง โรคถุงลมโป่งพองจากการสูบบุหรี่ โรคพิษสุรา โรคภูมิแพ้ โรคกรรมพันธุ์ อุบัติเหตุ โรคเหตุจากมลพิษสิ่งแวดล้อม การตั้งครรภ์ในเด็ก การทำแท้งอันตราย ฯลฯ
๕.๓ จัดการด้านป้องกันโรคติดต่อที่ไม่ต้องใช้วัคซีนให้มีคุณภาพมากขึ้นอย่างทั่วถึง เช่น โรคท้องร่วงอย่างแรง วัณโรค มาลาเรีย โรคหวัด กามโรค โรคเอดส์ ฯลฯ
๕.๔ จัดการด้านป้องกันโรคติดต่อที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน เช่น คอตีบ บาดทะยัก ไอกรน วัณโรค โปลีโอ ฯลฯ ให้ได้อย่างทั่วถึง โดยเฉพาะประชาชนที่อยู่ห่างไกล แม้จะมีข้อจำกัดที่มีราคาแพงก็ตาม
เภสัชกร นายแพทย์นพดล จิรสันติ์
อดีตสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดลำปาง