xs
xsm
sm
md
lg

ดันศก.สู่ดิจิทัล-ปฏิรูปเกษตรยกระดับฐานราก-ตั้งงบปี62ทะลุ3ล้านล.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการรายวัน360-"สมคิด" ลั่นปี 61 รัฐบาลพร้อมพลิกโฉมเศรษฐกิจไทย มุ่งดูแล ศก. ท้องถิ่นลดความเหลื่อมล้ำ หลังจีดีพีไทยโตต่อเนื่องแต่ขาดสมดุล ก.เกษตรฯ ปฏิรูปเกษตรกรรมกำหนดโซนนิ่ง จัดทำ Big Data ร่วมกับก.พาณิชย์ ทำการตลาดควบคู่การพัฒนาสินค้าชุมชนเชื่อมท่องเที่ยวและก้าวสู่โลกดิจิทัล ชี้ไม่เปลี่ยนวันนี้ไทยตกขอบเวทีโลกแน่ "อุตตม" เผยพ.ร.บ.อีอีซีคลอดแน่เร็วๆนี้ ส่วนงบประมาณปี 62 วางกรอบไว้ 3 ล้านล้านบาท ขาดดุล 4.5 แสนล้านบาท เตรียมเสนอให้ครม.พิจารณาอังคารหน้าพร้อมงบกลางพิเศษปี 61 วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ "พลิกโฉมเศรษฐกิจไทย สู่ยุคดิจิทัล" ว่า ในปี 2561 ภารกิจที่รัฐบาลจะโฟกัสให้มากขึ้นคือการสร้างเศรษฐกิจฐานรากที่จะลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของคนไทยโดยเฉพาะการดูแลราคาสินค้าเกษตร เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจมีความเข้มแข็งอย่างแท้จริงเพราะเศรษฐกิจเปรียบเสมือนรถไฟรางคู่ที่ต้องที่จะต้องมุ่งพัฒนาทั้งเศรษฐศาสตร์สมัยใหม่ Modern Economy และ เศรษฐกิจท้องถิ่น หรือ Local Economy ที่จะต้องมาบรรจบกัน เพราะที่ผ่านมาไทยละเลยในส่วนของ Local Economy มาค่อนข้างมากจึงทำให้เศรษฐกิจไม่สมดุล

"เราดูแล Modern Economy มาพอสมควรแล้วที่มุ่งเน้นการลงทุนและการส่งออกเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจนทำให้สัดส่วนการส่งออกต่อจีดีพีสูงกว่า 60% ซึ่งไม่สมดุล และจีดีพีไตรมาส 4 ปลายปี 60 คาดการณ์ว่าจะโตระดับ 4.5% ก็จะทำให้ทั้งปี 2560 ก็จะโตได้ระดับ 4% แต่จากนั้นก็จะโตได้ระดับ 5% รัฐบาลนี้เข้ามาทำหน้าที่เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจทรุดเราทำเศรษฐกิจโตมาได้ระดับหนึ่งแล้ว และจุดนี้ก็พอดีที่ไทยจะไปสู่การเลือกตั้งเราก็จะต้องใช้เวลาที่เหลือปฏิรูปเพราะถ้าทำได้ดีก็เหมือนหว่านเมล็ดพืชรอให้รัฐบาลใหม่สานต่อแต่ถ้าไม่ทำไทยจะตกเวทีทันที เราจึงรอไม่ได้ ซึ่ง 2 ปีแรกเราก็เหมือนมาจูนเพื่อซ่อมรถต่อไปเราจะเปลียนรถก็ต้องปฏิรูป" นายสมคิดกล่าว

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยตลอดเวลาที่ไม่สมดุลทำให้ไทยเป็นเมือง 2 นครา คือ มีเมืองทันสมัย กับเมืองล้าสมัย ดังนั้นปี 2561 จึงต้องโฟกัสให้เชื่อมโยงกันเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ด้วยการเน้นเศรษฐกิจท้องถิ่นโดยหลังจากช่วยให้ประชาชนมีรายได้จุนเจือตนเองจากบัตรคนจนแล้ว จะต้องปฏิรูปอาชีพเกษตรกรรมอย่างจริงจังที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะยกเครื่องเกษตรกรรมของไทยโดยร่วมกับหน่วยงานทั้งธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กำหนดพื้นที่การเพาะปลูกให้เหมาะสม กระทรวงพาณิชย์จะเน้นเรื่องของการตลาด และร่วมกันจัดทำ Big Data เพื่อที่จะทำให้ทราบถึงปริมาณผลผลิตในอนาคตเพื่อไม่ให้เกิดภาวะล้นตลาด

นอกจากนี้ จะต้องพัฒนาสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเช่น กรมทางหลวงจะต้องสร้างถนนเมืองรองไปไม่ใช่กระจุกแต่เมืองหลักเช่นปัจจุบัน ขณะเดียวกันกระทรวงมหาดไทยก็จะเข้ามาช่วยขับเคลื่อน โดยล่าสุดนายกฯ กำลังจะขอความร่วมมือให้ลงไประดับจังหวัดว่าจะทำอะไรในการพัฒนาที่เป็นการเอากล้องไปโฟกัสให้เห็นชัดเจน

"รัฐจะทำงบประมาณกลางปีว่าด้วยการยกระดับการเกษตรและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่จะกระจายไปยังเมืองรองที่จำเป็นจะต้องร่วมมือกับตามแนวทางประชารัฐเพื่อให้ใช้ได้ในปีนี้เราจะพลิกให้คนที่ยากจนกลายเป็นทรัพย์สินที่มีค่าให้ได้ ขณะเดียวกันกระทรวงศก.ก็ต้องโชว์ครม.ว่าจะทำอะไรบ้างเอาให้เห็นไปเลยเพื่อนำร่องกระทรวงอื่นๆและจะร่วมถึงรัฐวิสหากิจที่เกี่ยวข้องด้วย "นายสมคิดกล่าว

สำหรับภาคธุรกิจเมื่อผู้บริโภคเปลี่ยน การใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไปเพราะเทคโนโลยีใหม่ๆ ธุรกิจก็จำเป็นต้องเปลี่ยนด้วยดังนั้นนโยบายรัฐจะมุ่งส่งเสริมการเปลี่ยนเอสเอ็มอีไปสู่ดิจิทัลมีการเชื่อมโยงด้วยการพัฒนาไปสู่ IoT (Internet of Things ) โดยปีนี้จะต้องโหมพัฒนาระบบค้าขายที่จะต่อยอดจากร้านธงฟ้าที่จะทำให้มีการค้าขายผ่านระบบอีคอมเมิร์ซให้มากขึ้นเพื่อการจำหน่ายสินค้าชุมชนโดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งรัฐและเอกชนช่วยเหลือร่วมกัน

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ยุคดิจิทัลถือว่าเพิ่งเริ่มต้นแต่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การปฏิรูปจึงต้องมี 3 S (เอส) คือ Speed Scope Scale ประเทศกำลังพัฒนาจึงควรมุ่งไปสู่ดิจิทัลเพื่อเปิดโอกาสที่จะปรับตัวในการลดความเหลี่อมล้ำ อย่างไรก็ตามก็ยังมีเรื่องท้าทายแต่ที่สุดก็ต้องก้าวไปสู่ยุคดิจิทัลเพื่อไม่ให้ตกขบวนซึ่งไทยจำเป็นต้องมุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมไปสู่ 4.0

"ปี 2561 ไทยจะก้าวไปสู่ยุคดิจิทัลอย่างแท้จริงเพราะคนไทยเริ่มรับรู้และตื่นตัวแล้วทั้งประชาชนและธุรกิจ รัฐเองก็พร้อมที่จะสนับสนุนเครื่องมือต่างๆ "นายอุตตมกล่าว

นายอุตตม ยังกล่าวถึงความคืบหน้าร่างพ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) ว่าจะสามารถประกาศใช้ได้ภายในปลายเดือนม.ค.นี้หรือต้นก.พ.นี้อย่างแน่นอนซึ่งจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน และจะมีส่วนสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษบกิจไทยโดยคาดว่าจะมีการขอรับการส่งเสริมการส่งเสริมการลงทุนในอีอีซีจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ)ประมาณ 1 แสนล้านบาทในปีนี้และจะทยอยลงทุนต่อเนื่อง โดยในวันที่ 15 ม.ค.นี้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีจะประชุมเพื่อหารือเรื่องอีอีซีที่กระทรวงอุตสาหกรรมซึ่งจะมีความคืบหน้าถึงแนวทางต่างๆ มากขึ้น

นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ระบบการเงินเป็นข้อมูลดาต้าไม่ได้ใช้เงินผ่านธนบัตรผ่านแบงก์ รัฐบาลได้หารือร่วมกันหลายหน่วยงานเกี่ยวกับวิธีการป้องกันระบบแฮกเกอร์ และทดลองเหตุการณ์ฉุกเฉินเพื่อหาแนวทางป้องกันหลายเหตุการณ์ เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นกับผู้ใช้บริการมากขึ้น สำหรับสถาบันการเงินต้องเตรียมพร้อมรองรับนวัตกรรมใหม่ หากไม่ทำคนอื่นทำตนเองจะลำบาก ธนาคารจึงมุ่งเน้นสร้างความมั่นใจ ส่วนปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากความผิดพลาดของบุคคลไม่ใช่ตัวระบบ

*** งบปี 62 วงเงิน 3 ล้านล.-ขาดดุล 4.5 แสนล.

นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวภายหลังการประชุมเพื่อจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2562 ร่วมกับกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) โดยมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานว่า ที่ประชุมฯได้กำหนดกรอบวงเงินการจัดทำงบฯ ปี 62 ไว้ที่ 3 ล้านล้านบาท โดยมีเป้าหมายการจัดเก็บรายได้อยู่ที่ 2.55 ล้านบาท ภายใต้สมมุติฐานอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะอยู่ที่ 4.2% ของมูลค่าผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) และการจัดทำงบประมาณจะยังคงเป็นแบบขาดดุลวงเงิน 4.5 แสนล้านบาท

ขณะที่งบลงทุนรวมจะมีท้องสิ้น 6 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 20% ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายรวม นอกจากนี้ ด้านสัดส่วนของงบประมาณรายจ่ายประจำ 71% จะเป็นรายจ่ายด้านเงินเดือนข้าราชการ และอีก 29.5% จะเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับรายได้ข้าราชการในรูปเงินบำเหน็จบำนาญผู้สูงอายุและการอุดหนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดยส่วนที่เหลืออีกราว 3% จะเป็นการตั้งงบฯเพื่อการชำระหนี้เงินต้น 7 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ ในสัปดาห์หน้าสำนักงบประมาณจะเสนอกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 62 ให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบ และปลายเดือน ม.ค. นี้ จะเริ่มให้หน่วยงานต่างๆ เสนอแผนโครงการเพื่อให้สำนักงบประมาณได้พิจารณาคำขอการจัดสรรเงินงบประมาณในปลายเดือน ม.ค. ก่อนที่จะสรุปร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2562 เพื่อนำเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้พิจารณาร่างพ.ร.บ. วาระแรกในเดือน มิ.ย.

ส่วนการเสนอจัดทำงบกลางปีพิเศษเพิ่มปี 2561 วงเงินรวม 1.5 แสนล้านบาทนั้น นายเดชาภิวัฒน์ กล่าวว่า กระทรวงการคลังเตรียมเสนอ ครม.พิจารณาพร้อมกรอบงบประมาณรายจ่ายปี 2562 วันอังคารนี้ โดยจะแบ่งเป็นงบกลางที่ได้จากการกู้เงินจากระบบรวม 1 แสนล้านบาท และรายได้พิเศษที่มีเพิ่มเข้ามาอีก 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งรัฐบาลจะนำรายได้พิเศษส่วนที่เพิ่มนี้ไปใช้จ่ายเพื่อชดเชยเงินคงคลังและบำเหน็จบำนาญข้าราชการ

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า งบกลางพิเศษ 100,000 ล้านบาท จะต้องจัดหาแหล่งเงินกู้ทั้งหมดช่วงต้นเดือน ก.พ. ก่อนจะเสนอให้ สนช. พิจารณาภายในเดือน มี.ค. โดยเน้นการใช้เงินใน 4 แนวทางหลักคือรองรับโครงการช่วยคนจนระยะที่ 2 จำนวน 35,000 ล้านบาท อีกส่วน 40,000 ล้านบาท ใช้ปฏิรูปภาคเกษตร เช่น ราคายางพาราตกต่ำ ชดเชยการตัดต้นยางเพื่อลดพื้นที่ปลูกยาง 10-20% และผลักดันราคายางเพิ่มขึ้น ส่วนที่เหลืออีก 20,000 ล้านบาทจะใช้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนในตำบลต่าง ๆ 10,000 ล้านบาท เพื่อให้กระทรวงมหาดไทยเสนอโครงการลงทุนมาให้พิจารณาแผนลงทุน และอีก 10,000 ล้านบาท จะส่งให้กองทุนหมู่บ้านเพื่อสร้างความเข้มแข็ง


กำลังโหลดความคิดเห็น