xs
xsm
sm
md
lg

ปัญหารถไฟฟ้าสีเขียว หรือว่าต้องพึ่งมาตรา 44

เผยแพร่:   โดย: นพ นรนารถ


โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว สายเหนือ คือ ช่วงจากหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และสายใต้ คือ ช่วงแบริ่ง- สมุทรปราการ กำลังเป็นปัญหาระหว่างสององค์กรรัฐคือ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. กับกรุงเทพมหานคร หรือ กทม.

รถไฟฟ้าทั้งสองสาย เป็นของ รฟม.ซึ่งได้ลงทุนก่อสร้างงานโยธาไปมากแล้ว โดยเฉพาะสายแบริ่ง-สมุทรปราการ ระยะทาง 13 กิโลเมตร การก่อสร้างเกือบเสร็จแล้ว มีกำหนดเปิดใช้งานประมาณสิ้นปีนี้ ใช้งบประมาณไปทั้งหมด 21,000 ล้านบาท และปัจจุบันได้เปิดใช้งานสถานีสำโรงซึ่งเป็นสถานีแรกของเส้นทางนี้ โดย กทม.จ่ายค่าเช่ารางให้ รฟม.เดือนละ 2 ล้านบาท

สำหรับสายหมอชิต-คูคต ระยะทาง 19 กิโลเมตร เริ่มก่อสร้างกลางปี 2558 คาดว่าจะแล้วเสร็จเปิดใช้งานได้ต้นปี 2562 ใช้เงินลงทุน 40,000 ล้านบาท

รถไฟฟ้าทั้งสองสายเป็นส่วนต่อขยายเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานคร หรือบีทีเอสของ กทม. กทม.จึงต้องการเป็นผู้บริหารจัดการทั้งสองสายนี้ด้วย เพื่อให้เป็นระบบเดียวกัน เดิมมติ ครม.ปี 2551 ให้ กทม.เป็นผู้ลงทุน และบริหาร แต่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยกลับมีมติเมื่อปี 2554 ดึงสองโครงการนี้ไปให้ รฟม.ดูแล

ถึงยุค คสช. กทม.สมัยที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ยังเป็นผู้ว่าฯ กทม.อยู่ เสนอเรื่องนี้ผ่านกระทรวงมหาดไทย ขอให้ ครม.ดึงรถไฟฟ้าทั้งสองสายมาให้ กทม.บริหารเป็นผลสำเร็จ แต่มีเงื่อนไขว่า กทม.จะต้องจ่ายเงินค่าก่อสร้างระบบงานโยธา รวมสองสาย 60,000 ล้านบาทคืนให้ รฟม.ก่อน รฟม.จึงจะโอนกรรมสิทธิ์ให้ โดยขอให้จ่ายค่าก่อสร้างสายแบริ่ง-สมุทรปราการ 21,000 ล้านบาทก่อน เพราะก่อสร้างเกือบเสร็จแล้ว โดยนัดจะโอนกรรมสิทธิ์กันในวันที่ 1 เมษายนปีที่แล้ว

ก่อนจะถึงวันนั้น ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ถูกพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรีใช้มาตรา 44 ปลดจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2559 โดยแต่งตั้งพล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง เป็นผู้ว่าฯ กทม.แทน

ผู้ว่าฯ อัศวิน บอกว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผู้บริหารชุดก่อนทำไว้ โดยไม่มีแผนว่าจะใช้งบประมาณจากไหน กทม.ไม่มีเงิน 20,000 ล้านบาท ไปจ่ายคืนให้ รฟม.จะขอชำระให้ 13 ปีข้างหน้าคือ หลังปี 2473 เมื่อสัมปทานบีทีเอสหมดอายุลง กทม.จะได้เป็นเจ้าของรถไฟฟ้ามหานครทั้งระบบ มีรายได้ที่จะมาจ่ายหนี้ รฟม.

ขณะเดียวกัน กทม.ก็เสนอว่า อยากจะให้รัฐบาลเป็นผู้จ่ายเงินค่าก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งสองเส้นแทน เพราะ กทม.ไม่มีเงิน แต่รัฐบาลปฏิเสธ เพราะทั้งสองโครงการเป็นของรัฐบาลท้องถิ่นไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบที่รัฐบาลจะไปจ่ายเงินลงทุนให้

ตุลาคมปีที่แล้ว กระทรวงคมนาคมขอให้ กทม.รายงานฐานะการเงินเพื่อจะได้รู้ว่า กทม.มีทรัพย์สิน มีหนี้สิน มีภาระค่าใช้จ่ายเท่าไร จะได้ประเมินดูว่าที่ กทม.บอกว่าไม่มีเงินนั้น จริงไหม ถ้าจะให้รัฐบาลช่วยออกเงินจะต้องช่วยทั้งหมด 60,000 ล้านบาท หรือช่วยบางส่วนก็พอ

การประชุมคณะกรรมการติดตามการแก้ปัญหาโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ที่มีนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคมเป็นประธาน ตัวแทนจาก กทม.ยังคงยืนยันว่า ไม่มีเงินจ่าย จะขอให้รัฐบาลจ่ายให้

แต่เมื่อถูกทวงถามข้อมูลฐานะการเงิน เพื่อดูว่าที่ กทม.บอกว่าไม่มีเงินนั้นจริงหรือไม่ ตัวแทน กทม.บอกว่าไม่มี ยังไม่ได้ทำ และขอเวลากลับไปรวบรวมข้อมูลใหม่

ในขณะที่ฝ่าย รฟม.อยากจะได้ข้อยุติโดยเร็ว เพราะการก่อสร้างงานโยธาเกือบเสร็จแล้ว จะต้องดำเนินการหาผู้ลงทุนวางระบบอาณัติสัญญาณ และเดินรถซึ่งต้องใช้เวลา หาก กทม.ยังยื้อจะบริหารการเดินรถเอง แต่ไม่ยอมจ่ายหนี้ รฟม.จะทำให้ไม่สามารถเปิดใช้งานได้แม้จะก่อสร้างเสร็จแล้ว เพราะยังไม่มีระบบ ไม่มีผู้เดินรถ เหมือนรถไฟฟ้าสีแดง ช่วงบางซื่อ ตลิ่งชัน ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งสร้างเสร็จแต่ทิ้งไว้เฉยๆ 5 ปีแล้ว

รถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ อาจจะอยู่ในสภาพเช่นนั้นคือ สร้างเสร็จแล้ว แต่ยังใช้ไม่ได้ เพราะ กทม.ยังต้องการเป็นเจ้าของอยู่ แต่ไม่ยอมจ่ายค่าลงทุนคืนให้ รฟม. ขณะที่ รฟม.พร้อมที่จะรับกลับไปทำเอง

ปัญหาของ กทม.นั้น น่าจะอยู่ที่ไม่มีผู้นำที่กล้าตัดสินใจว่าจะเอาอย่างไร พล.ต.อ.อัศวิน ผู้ว่าฯ กทม.มีความชัดเจนว่า ลอยตัวไม่ยุ่งกับเรื่องนี้ เพราะเป็นผู้ว่าฯ กทม.ที่มาโดยคำสั่ง คสช.และอีกไม่นาน ก็จะมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.แล้ว เรื่องอะไรจะเอามือไปซุกหีบ

หรือว่าจะต้องอาศัยมาตรา 44 ช่วยคลี่คลายผ่าทางตันให้รถไฟฟ้าสายสีเขียวแบริ่ง-สมุทรปราการ วิ่งได้สะดวก


กำลังโหลดความคิดเห็น