xs
xsm
sm
md
lg

เงินบำรุงติดลบ รพ.รัฐกำลังจะเจ๊ง “ก้าวคนก้าวของพี่ตูน” กับ “ก้าวไม่พ้นผลประโยชน์” ของนายหน้าค้าความจนแบบ สปสช.

เผยแพร่:   โดย: อาจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์


อาจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชา Business Analytics and Intelligence
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง คณะสถิติประยุกต์
ผู้อำนวยการศูนย์คลังปัญญาและสารสนเทศ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


ถ้าใครติดตามข่าวบ้างจะเห็นว่า NGO ตระกูล ส และสื่อสาย นปช. ตลอดจนนักการเมืองสายเพื่อไทย ออกมาดาหน้าถล่มรัฐบาลเรื่องบัตรทอง เอาเข้าจริงรัฐบาลกำลังแก้ปัญหา โดยเฉพาะ สภานิติบัญญัติแห่งชาติหรือ สนช. ที่กำลังทำหน้าที่แก้ไขพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ใช้มาแล้ว 15 ปีอย่างเข้มแข็งอย่างยิ่ง

บัตรทองนั้นเป็นของดี และเป็นของที่ต้องเก็บไว้ ยกความดีให้ทักษิณ ชินวัตรสักหน่อยแล้วกัน ที่คิดเอาของดี ๆ อย่างนี้มาให้ประชาชนไม่ว่าจะมีเจตนาใด ๆ ก็ตามเช่นการทำให้ได้คะแนนเสียง แต่ก็ทำให้ระบบบัตรทองนั้นเกิดขึ้นมาได้ แต่การบริหารงานของ สปสช. และตระกูล ส ตลอดจน NGO ตระกูล ส ได้ทำให้โรงพยาบาลของรัฐที่มีแทบทั้งหมดเกิดปัญหาเกินกว่าจะเยียวยา

NGO บางคนบอกว่าโรงพยาบาลของรัฐจะขาดทุนได้อย่างไร อ้าวแล้วทำไมป้าไปนั่งประชุมเป็นกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้เบี้ยประกันเป็นหมื่น ๆ และมูลนิธิที่ป้าทำงานอยู่ก็ได้เงินจาก สสส. และ สปสช. ไปเป็นร้อย ๆ ล้าน ทั้ง ๆ ที่ควรเอาไปรักษาชีวิตและสุขภาพของประชาชน

ผลประโยชน์ทับซ้อน การใช้เงินผิดประเภท และปัญหาธรรมาภิบาล ตลอดจนปัญหาความยั่งยืนของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและความเน่าเฟะสร้างปัญหาในระบบสาธารณสุขของไทยของ สปสช. นั้น ทำให้ สนช. ทำงานหนักมาก เข้มแข็ง และอย่าได้แปลกใจว่าจะได้เห็นอาการฟาดงวงฟาดงาของคนที่เสียผลประโยชน์เหล่านี้อีกมาก แต่ประชาชนกำลังจะได้ประโยชน์จากการกำจัดเหลือบไรปรสิต นายหน้าค้าความจน นายหน้าค้าความตายในระบบบัตรทองออกไป นายหน้าเหล่านี้ทำเพื่อตัวเองมากกว่าประชาชน มีปัญหา Principal-agent problem หรือปัญหาตัวการ-ตัวแทน (ประชาชน) อ้างว่าเป็นตัวแทนประชาชน แต่ทำเพื่อผลประโยชน์ของตัวการคือพวกพ้องตัวเองมากกว่า เช่น เงินส่วนลดค่าซื้อยาเอามาเป็นเงินสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐตัดชุดให้พนักงาน สปสช. ใส่ เช่ารถตู้รับส่งพนักงาน สปสช. ให้ NGO เป็นท่อน้ำเลี้ยงเป็นต้น ทั้งหมดนี้ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ได้เคยตรวจสอบทักท้วงมาแล้วทั้งสิ้นแต่การแก้ไขยากมาก ทำไปอย่างเชื่องช้า

บัตรทองภายใต้การบริหารงานของ สปสช. ทำให้ โรงพยาบาลของรัฐ เจ๊งอย่างแน่นอน พี่ตูนเลยต้องออกมาก้าวคนละก้าว ผมได้กรองเลือกตัวเลขบัญชีเงินบำรุงโรงพยาบาล 10 แห่งที่เงินจากก้าวคนละก้าวของพี่ตูนจะเข้าไปช่วย ตัวเลขเพิ่งออกมาจากสำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุขสด ๆ ร้อนครับ เห็นตัวเลขแล้วบอกได้คำเดียวว่า พี่ตูน ช่วยได้มากจริง ๆ และประชาชนชาวไทยก็ช่วยกันได้มากจริง ๆ ครับ

เงินบำรุงโรงพยาบาลคือกำไรสะสม (Retained Earnings) ในทางบัญชี กำไรสะสมนี้คือการที่โรงพยาบาลมีรายได้มากกว่ารายจ่ายและได้กำไรก็เก็บสะสมไว้ไปเรื่อย ๆ ทุก ๆ ปีไป แต่ถ้าขาดทุนก็ต้องมาเอาเงินบำรุงหรือกำไรสะสมในอดีตไปใช้ เอามาใช้ก่อน พอขาดทุนมาก ๆ เข้า คือรายได้น้อยกว่ารายจ่าย รายจ่ายที่ว่านี่ก็จ่ายรักษาประชาชนนี่แหละ แต่รายได้หลักมาจาก สปสช. ที่มีค่าจัดการ เงินไปแจก NGO เงินตั้งกองทุนต่าง ๆ มากมาย สารพัด ไม่ถึงโรงพยาบาล (หรือไม่ถึงประชาชนง่าย ๆ) โรงพยาบาลอยู่ได้และซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ได้ โดยใช้เงินบำรุงนี่แหละครับ ถ้าไม่มีก็ต้องไปหาพระเกจิอาจารย์ดัง ๆ ให้ท่านเมตตากรุณาช่วย ไม่เช่นนั้นคนไทยตายกันไปมากกว่านี้แล้ว

เงินบำรุงโรงพยาบาลติดลบ แปลง่าย ๆ ว่า ขาดทุนต่อเนื่องมาหลาย ๆ ปี แต่รวม ๆ แล้วยังมีหนี้สินมากมาย เกินกว่ารายได้ และไปตึ๊งค่ายาจากบริษัทยาต่าง ๆ บริษัทยาต่าง ๆ ก็ใจดีบ้าง ไม่ใจดีบ้าง ช่วยภาครัฐบ้าง แต่ไม่มีเงินจ่ายหนี้เขานาน ๆ เข้าเขาก็ไม่ไหวก็ต้องเลิกส่งยาให้โรงพยาบาลเหมือนกัน

เงินบำรุงติดลบ แปลว่าขาดทุนมากจน เงินทุนที่เป็นกำไรสะสมในอดีตที่ผ่านมาหลาย ๆ สิบปีก็หมดไปแล้ว หลัง ๆ พอตึ๊งค่ายากับบริษัทยาไม่ได้ ก็ไปตึ้งค่าแรงแพทย์ พยาบาล เภสัชกร บุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลแทน เพราะฐานะการเงินยอบแยบมาก บางทีผู้อำนวยการโรงพยาบาลก็ขอยกเลิกหนี้ค่าทำงานล่วงเวลาของแพทย์และพยาบาลในโรงพยาบาลไปดื้อๆ เลย เพราะไม่มีเงินจะจ่าย แพทย์และพยาบาลหลายคนก็ถือว่าทำบุญกันไป

ผมเคยพบอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขที่มาจาก NGO ตระกูล ส แกบอกว่าอาจารย์รู้ไหม พวกโรงพยาบาลแอบซุกเงินบำรุงไว้ ต้องเอามาใช้ให้หมด ต้องไม่ให้เหลืออะไร แกพ้นตำแหน่งไป แล้วที่น่าเศร้าคือ เงินบำรุงโรงพยาบาลในไตรมาส 4 ปีนี้ก็หมดเกลี้ยงกันจริงๆ (หมายถึงทั้งระบบโรงพยาบาลของรัฐ)

แล้วจะให้โรงพยาบาลเอาเงินที่ไหนมาซื้อยารักษาประชาชน จะหาอุปกรณ์การแพทย์มารักษาประชาชนได้อย่างไร แต่ก่อนแต่ไรก็ได้เงินบำรุงที่เป็นกำไรสะสมมาช่วยซื้อ จะวิ่งหาหลวงพ่อองค์ไหนเล่า ตอนนี้โรงพยาบาลของรัฐส่วนใหญ่ไม่มีเงินบำรุงเหลือแล้ว ติดลบกันหมดแล้ว

ไม่มีทุนจะรักษาประชาชนแล้ว จะทำได้อย่างไร โชคดีว่าเป็นของรัฐบาล ก็ไปหาตึ๊งกับบริษัทยาต่อไป และตึ๊งกับบุคลากรในโรงพยาบาลด้วย ว่าแต่ว่าจะตึ๊งกันไปได้ยาวนานแค่ไหน แล้วระบบมันจะไม่ล่มหรือ ใครจะยอมให้ตึ๊งไปได้ตลอดกาลเล่า

กราฟข้างล่างนี้หน่วยเป็นล้านบาท โรงพยาบาล 11 แห่งในโครงการก้าวคนละก้าว มีเพียงสามโรงพยาบาลเท่านั้นที่ยังมีเงินบำรุงโรงพยาบาลเป็นบวก คือ โรงพยาบาลศูนย์เชียงรายประชานุเคราะห์ โรงพยาบาลศูนย์น่าน และ โรงพยาบาลทั่วไปยะลา แต่ทว่ามีแนวโน้มที่ชัดเจนว่าเงินบำรุงกำลังลดลงฮวบฮาบทั้งสามโรงพยาบาลและหากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้อีกต่อไป สามโรงพยาบาลนี้ก็มีโอกาสที่เงินบำรุงจะติดลบได้ง่าย ๆ โดยเฉพาะโรงพยาบาลศูนย์เชียงรายประชานุเคราะห์ที่มีแนวโน้มจะดิ่งระห่ำนรกติดลบเร็วพรวดพราดมากกว่าอีกสองโรงพยาบาล

ที่เหลืออีก 7 แห่งคือ รพศ นครพิงค์ รพศ สระบุรี รพศ ราชบุรี รพศ เจ้าพระยายมราช รพศ เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ รพศ ขอนแก่น รพศ สุราษฎร์ธานี มีอาการร่อแร่ โงหัวไม่ขึ้นทางการเงิน แทบจะไม่เคยมีเงินบำรุงเป็นบวกมานานแล้ว เรียกว่าผจญภัยในแดนติดลบมาตลอด (สมัยก่อนมี สปสช แทบทุกโรงพยาบาลมีเงินบำรุงเป็นบวกกันมากพอสมควร) ขณะนี้มีขาดทุนสะสมต่อเนื่องยาวนานมากๆ การมีเงินบำรุงติดลบขนาดโงหัวไม่ขึ้นเช่นนี้ คือเกิดการขาดทุนมายาวนาน ทำให้โรงพยาบาลเหล่านี้เป็นหนี้ค่ายา เป็นหนี้ค่าแรงบุคลากร ไม่มีเงินจะซื้ออุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์เพื่อรักษาชีวิตคนไข้และประชาชน

สำหรับโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้ายังหาข้อมูลไม่ได้ เพราะไม่ได้สังกัดกระทรวงสาธารณสุข อาการอาจจะไม่หนักเท่าโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขเพราะมีคนไข้สิทธิราชการมากพอสมควร หรืออาจจะหนักกว่าเพราะรับ refer คนไข้มา โรงพยาบาลใหญ่ๆ ที่เป็นโรงเรียนแพทย์นั้นรับ refer คนไข้มาจากทั่วประเทศ ค่าใช้จ่ายสูงมาก ศิริราช ขาดทุนปีหนึ่งเกือบ 700 ล้านบาทจากบัตรทอง รามาธิบดี จุฬาก็หลัก 500 ล้านบาทต่อปีที่ขาดทุนจากคนไข้บัตรทอง ราชวิถีขาดทุนจากบัตรทองประมาณปีละ 400 ล้านบาท โชคดีที่คนไทยใจบุญ ยังช่วยโรงพยาบาลใหญ่ๆ ในกรุงเทพที่เป็นโรงเรียนแพทย์กันค่อนข้างมาก

อย่างไรก็ตามมูลนิธิโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าได้เอาตัวเองเข้าแลกอาสามาจัดก้าวคนละก้าวร่วมกับพี่ตูนเพื่อช่วยคนไทยและโรงพยาบาลอื่นๆ นั้นต้องขอยกย่องในความเสียสละอย่างยิ่ง

โดยภาพรวมโรงพยาบาลของรัฐในกระทรวงสาธารณสุขประมาณ 800 แห่งมีเงินบำรุงติดลบ 558 แห่ง หรือมากกว่าร้อยละ 70 แปลว่ามีขาดทุนสะสมกันมากเป็นส่วนใหญ่ และยังมีหนี้สินล้นพ้น ดูรายละเอียดได้ใน https://thaipublica.org/2017/12/public-health-services-65/

คำทำนายคือถ้าไม่แก้ไขเสียแต่วันนี้โดยการกำจัดนายหน้าค้าความจน นายหน้าค้าความตาย ปรสิตเหลือบไรในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติออกไป ระบบสาธารณสุขไทยจะล่มสลาย ไปไม่รอด และจะลากประเทศไทยเข้าสู่ปัญหาหนี้สาธารณะแบบเดียวกับที่กรีซหรืออาร์เจนติน่าได้เผชิญมา

ปัญหาเงินบำรุงติดลบนั้น Admin จาก Facebook Page ชื่อว่า Infectious ง่ายนิดเดียว ได้เขียนไว้อย่างน่าสนใจและบรรยายภาพได้ตรงตามความเป็นจริงอย่างชัดเจนว่า

• รพ.รัฐบาลขนาดใหญ่ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข เรียงลำดับตามจำนวนเตียงที่มีเตียงเกิน 700 เตียง มี 17รพ.
(1) รพ.มหาราชนครราชสีมา 1,280 เตียง
(2) รพ.สรรพสิทธิประสงค์ อุบลราชธานี 1,218 เตียง
(3) รพ.พุทธชินราช พิษณุโลก 1,063 เตียง
(4) รพ.อุดรธานี 924 เตียง
(5) รพ.บุรีรัมย์ 877 เตียง
(6) รพ.ศูนย์ขอนแก่น 867 เตียง
(7) รพ.ราชบุรี 855 เตียง
(8) รพ.ชลบุรี 850 เตียง
(9) รพ.สุรินทร์ 832 เตียง
(10) รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ 788 เตียง
(11) รพ.ลำปาง 781 เตียง
(12) รพ.สุราษฎ์ธานี 780 เตียง
(13) รพ.ร้อยเอ็ด 763 เตียง
(14) รพ.พระปกเกล้า 755 เตียง
(15) รพ.นครปฐม 722 เตียง
(16) รพ.มหาราชนครศรีธรรมราช 701 เตียง
(17) รพ.สระบุรี 700 เตียง

• แอดมินก็อยู่ใน รพ.1ใน 3 รพ.ที่มีเกิน 1,000 เตียงข้างต้น
ชีวิตจริง.....
(1) จำนวนเตียง มากกว่าที่เห็น มีเตียงเสริม เตียงผ้าใบ อีกเพียบ นอนระเบียง นอนหน้าลิฟท์ ทำไงได้ครับ คนไข้มาส่งต่อมาก็ต้องรับหมดครับ มาเลยไม่อั้น สู้ตายอยู่แล้ว สงสารคนไข้ตาดำๆ
(2) หมอ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ทุกระดับ ภาระงานหนักมากๆ (burn out) เวรตลอดคนลาออกเรื่อยๆ ส่วนรับเข้าใหม่ ถือว่าขึ้นกับดวง อาจมีหรือไม่มีแล้วแต่บุญกรรม
(3) น่าสงสารสุดคงเหล่าพี่ๆน้องๆพยาบาล วนขึ้นเวรกันว่าเล่น ปัจจุบันดีขึ้นบ้างเรื่องการบรรจุราชการ ไม่แปลกทุกปีจะมี early ราชการก่อนอายุ 60 ปี
(4) เงินเดือน เงินเวร เงิน OT เงินพิเศษ อาจออกไม่ตรงเวลา อันนี้เครียดนะ ข้าวก็ต้องกินหนี้ก็ต้องใช้ หนี้นอกระบบกับบุคลากรเพียบบาง รพ.ถึงขนาดต้องลงมาแก้หนี้นอกระบบให้ ลูกเมียผัวก็ต้องเลี้ยงดูไม่แปลกเลย เจ้าหน้าที่ลาออกไปภาคเอกชน
(5) สวัสดิการ ที่ยังพอพึ่งพิงคือ สิทธิราชการ เวลาตัวเอง พ่อแม่ป่วย แต่ปัจจุบันทุก รพ.รัดเข็มขัด สตง. กรมบัญชีกลาง ตรวจสอบมากขึ้น อาจจะต้องมีข้อจำกัดเรื่องการรักษา
(6) สังคมยุค 4G คนไข้มากขึ้นทั้งปริมาณและคุณภาพ แต่เจ้าหน้าที่มีข้อจำกัดเรื่องจำนวนอาจดูแลไม่ทั่วถึง ไม่ทันใจ คิวรอตรวจนาน โดนฟ้องร้อง โดนด่า โดนทำร้ายลงโซเชียลอีก โดนลงคลิปทีไร ก็ไม่มีใครเข้าข้างมันน่าเศร้าตรงนี้ บั่นทอนทั้งร่างกายและจิตใจมากๆ แต่เรื่องแค่นี้ พวกเราชินละครับ ทำงานต่อดีกว่า คิดมากก็ไม่เกิดประโยชน์ เอาเวลาไปดูแลคนไข้ดีกว่า
(7) แถมไม่ได้พักผ่อน กระทรวงบอกไม่มีเจ้าหน้าที่ทำงานเกิน 24 ชม. อยากลองให้คนพูดลองมาอยู่กับคนหน้างานดูสิว่ากี่ชม.ที่ทำงาน แฟนเมียลูกสามีผัวพ่อแม่เวลาเจ็บป่วยอาจไม่ได้ดูแลเท่าที่ควร

สุดท้าย กราบนับถือด้วยใจจริง ๆ สำหรับ_พี่ๆ น้องๆเพื่อนๆ ที่ยังอยู่กันในระบบสาธารณสุขด้วยใจเพื่อคนไข้จริงๆ ครับ

นึกถึงคำพี่ตูน... ตอนที่แอดเจอพี่ตูนตอนวิ่งผ่านจังหวัด..

"สู้ๆนะครับเป็นกำลังใจให้พวกหมอพยาบาลเสียสละมากๆ"


กำลังโหลดความคิดเห็น