xs
xsm
sm
md
lg

ธพ.เล็งเปิดเสรีโรงบรรจุก๊าซหุงต้มปี'61หวังเพิ่มผู้ค้าถังครัวเรือนลดการผูกขาด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน360- กรมธุรกิจพลังงานเตีรยมเปิดเสรีโรงบรรจุก๊าซแอลพีจี ปี 2561 หวังปลดล็อคให้บรรจุข้ามแบรนด์ได้เพื่อเอื้อให้รายใหม่ๆ เกิดขึ้นโดยเฉพาะในตลาดค้าปลีกแอลพีจีครัวเรือนเพื่อให้เกิดการแข่งขันลดการผูกขาด จ่อตั้งศูนย์ซ่อมบำรุงถังกลางดูแลความปลอดภัยของถัง ยอมรับแนวทางปฏิบัติยังมีผู้คัดค้าน

นายวิฑูรย์ กุลเจริญวิรัตน์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน(ธพ.) เปิดเผยว่า ธพ.มีแนวคิดที่จะเปิดเสรีโรงบรรจุก๊าซปิโตรเลียมเหลว(แอลพีจี) ในปี 2561 เพื่อส่งเสริมให้เกิดผู้ค้ารายใหม่ๆในการแข่งขันค้าปลีกแอลพีจีในภาคครัวเรือนมากขึ้นซึ่งจะเกิดประโยชน์ต่อผู้บริโภคโดยในปี 2560 ได้มีการเชิญผู้ค้าแอลพีจีมาตรา 7 ประมาณกว่า 20 รายมาหารือแล้ว 2 ครั้งโดยยอมรับว่ารายละเอียดในการปฏิบัติบางส่วนยังไม่เห็นด้วยซึ่งจะมีการหารืออีกต่อเนื่องเพื่อกำหนดรูปแบบและแนวทางการบริหารจัดการให้เกิดเป็นรูปธรรมให้ได้ต่อไป

" กระทรวงพลังงานมีเป้าหมายในการเปิดเสรีธุรกิจแอลพีจีโดยมีการเปิดให้มีการนำเข้าเสรี และมาตรการต่างๆ แต่ยอมรับว่าส่วนของตลาดค้าปลีกในส่วนของถังครัวเรือนปัจจุบันยังไม่เอื้อให้เกิดรายใหม่ๆเพิ่มขึ้นได้ทำให้เกิดการผูกขาดตลาดอยู่ที่รายใหญ่เพียง 2-3 รายเท่านั้นเพราะรัฐมีระเบียบที่กำหนดให้โรงบรรจุก๊าซแอลพีจีต้องไม่บรรจุข้ามแบรนด์เนื่องจากอดีตระยะแรกต้องส่งเสริมเพื่อให้ธุรกิจเกิดได้ แต่ขณะนี้เมื่อรายใหม่เข้ามาทำตลาดก็ต้องลงทุนสร้างโรงบรรจุและต้องกระจายตามพื้นที่เพื่อลดต้นทุนการขนส่งซึ่งมีต้นทุนสูงมากจึงทำให้ไม่มีผู้ลงทุนหน้าใหม่ๆ หรือรายเล็กที่เข้ามาก็อยู่ไม่รอด"นายวิฑูรย์กล่าว

ปัจจุบันมีผู้ค้ารายกลางและเล็กที่เข้ามาทำตลาดค้าปลีกแอลพีจีภาคครัวเรือนที่เป็นแบรนด์ต่างๆ อยู่พอสมควรแต่ก็เอาเปรียบผู้ค้ารายใหญ่ที่มีการลักลอบบรรจุข้ามแบรนด์ไม่มีการลงทุนถังเป็นของตนเอง ดังนั้นการปลดล็อคให้บรรจุข้ามแบรนด์ได้ก็จะต้องมีมาตรการกำกับดูแลที่จะต้องมีการลงทุนถังเป็นของตนเองและจะต้องบำรุงถังเพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภคเบื้องต้น อาจกำหนดให้มีศูนย์ซ่อมบำรุงถังก๊าซกลาง โดยถังก๊าซแอลพีจีทุกยี่ห้อจะต้องส่งมาซ่อมในศูนย์ฯเดียวกัน

ส่วนวิธีจ่ายเงินเพื่อนำมาใช้เป็นกองกลางนั้น อาจมาจากส่วนแบ่งการตลาด(มาร์เก็ตแชร์)ของผู้ค้าแต่ละราย หรืออาจใช้รูปแบบของสหกรณ์ ซึ่งปัจจุบันเงินที่ใช้สำหรับการซ่อมบำรุงถังก๊าซนั้น ได้รวมอยู่ในค่าน้ำก๊าซและค่าการตลาด(มาร์จิน)ของผู้ค้าอยู่แล้ว และกฎหมายกำหนดว่าทุกๆ 7ปี จะต้องซ่อมบำรุงถังก๊าซจึงเป็นหน้าที่ที่ผู้ค้าต้องดำเนินการตามกฏหมาย อย่างไรก็ตามแนวทางนี้ก็ยังมีผู้คัดค้าน

" ปัจจุบันการเปิดโรงบรรจุก๊าซแอลพีจีก็ทำไม่ได้ง่ายเพราะบางพื้นที่ชุมชนไม่ยอมรับกลัวอันตราย ดังนั้น หากรายใหม่ๆจะค้าก๊าซก็ต้องมีโรงบรรจุเป็นของตัวเองซึ่งมันเป็นไปไม่ได้เลย รายใหม่ๆก็จะไม่มีทางเกิดขึ้น รายเก่าก็จะครองตลาดในพื้นที่นั้น ซึ่งจะไม่เกิดการแข่งขันและเป็นระบบผูกขาด หากเปิดเสรีโรงบรรจุก๊าซได้ ต่อไปผู้ค้าทุกรายก็สามารถนำถังก๊าซของตนเองไปเติมก๊าซได้ทุกโรงบรรจุ เพราะปัจจุบันคุณภาพเนื้อก๊าซเป็นมาตรฐานเดียวกันอยู่แล้วและยังเป็นการใช้โครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพเต็มที่ โดยที่ผู้ค้าแต่ละรายก็สามารถติดยี่ห้อก๊าซของตนเองได้ และทำหน้าที่แข่งขันทางการตลาดเท่านั้น"นายฑูรย์กล่าว

ส่วนการลงทุนถังก๊าซนั้น เชื่อว่าไม่ใช่ปัญหา เพราะเงินที่ใช้ในการลงทุนต่อถังอยู่ที่ประมาณ 800-900 บาท นับว่าไม่แพงนัก หากเทียบกับเงินที่ผู้บริโภคจะต้องจ่ายมัดจำค่าถังก๊าซปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 1,500-1,600 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ขณะเดียวกัน หากไม่สามารถเปิดเสรีโรงบรรจุก๊าซได้ ในอนาคตปัญหาการลักลอบบรรจุก๊าซข้ามแบรนด์ก็ยังมีอยู่ โดยเฉพาะผู้ค้ารายเล็กที่จะเอาเปรียบผู้ค้ารายใหญ่ หากไม่มีถังก๊าซเป็นของตนเอง


กำลังโหลดความคิดเห็น